เรื่อง : ปาริชาติ เฉลิมศรี 

ในห้วงปี 2565 เกิดความเคลื่อนไหวทางการเมืองหลายเหตุการณ์ที่สำคัญ  โดยส่งผลให้เกิดความเปลี่ยนแปลง ตามมาตลอดทั้งปี  ทั้งในฟาก “รัฐบาล” และ “ฝ่ายนิติบัญญัติ”  การเมืองทั้งในและนอกสภาผู้แทนราษฎร เข้มข้นไม่แพ้กัน

นอกจากนี้ในแวดวง “กองทัพ” ยังประสบเหตุความสูญเสียกำลังพลครั้งใหญ่เหตุการณ์ “เรือหลวงสุโขทัย” อับปาง  “สยามรัฐ”  ได้ประมวลเหตุการณ์ที่น่าสนใจส่งท้ายปี 2565 ดังนี้

# เปิดตัว “พรรครวมไทยสร้างชาติ”  ตามคาด "บิ๊กตู่" ประกาศร่วม

ช่วงไตรมาสสุดท้ายก่อนสิ้นปี65 พบว่ามีพรรคการเมือง ทั้งพรรคเดิม และพรรคใหม่ที่เพิ่งก่อตั้ง จดทะเบียนดำเนินการกับ คณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) พากันเปิดตัว เปิดนโยบายเพื่อเตรียมหาเสียงรับเลือกตั้ง โดยหนึ่งในหลายพรรคการเมืองที่ถูกจับตามาอย่างต่อเนื่อง คือ “พรรครวมไทยสร้างชาติ”  ซึ่งคาดการณ์มาตั้งแต่แรกว่าจะเป็นพรรคที่ทำหน้าที่สนับสนุน “บิ๊กตู่” พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและรมว.กลาโหม ให้กลับมาเป็นนายกฯหลังเลือกตั้ง

สำหรับพรรครวมไทยสร้างชาติ แรกเริ่มมี “แรมโบ้อีสาน” เสกสกล อัตถาวงศ์  อดีตผู้ช่วยรัฐมนตรีประจำนายกรัฐมนตรี ที่ลาออกจากพรรคพลังประชารัฐ แล้วมาตั้งพรรครวมไทยสร้างชาติ เต็มตัว ทั้งนี้พรรคได้จดทะเบียนก่อตั้ง เป็นพรรคการเมือง เมื่อวันที่ 31 มี.ค. 64 มีชื่อว่าที่ร้อยโท ไกรภพ นครชัยกุล เป็นหัวหน้าพรรค          

ต่อมามีความเปลี่ยนแปลงเกิดขึ้นเมื่อพรรคมีการปรับโครงสร้างพรรคครั้งใหญ่ในการประชุมใหญ่วิสามัญครั้งที่ 1/2565 เมื่อวันที่ 3 ส.ค. 2565 เพื่อแก้ไขข้อบังคับพรรคและเปลี่ยนแปลงกรรมการบริหารพรรคชุดใหม่ เปิดทางให้ “พีระพันธุ์ สาลีรัฐวิภาค” ที่ปรึกษานายกรัฐนตรีขณะนั้น ดำรงตำแหน่งหัวหน้าพรรคคนใหม่  

ทั้งนี้พรรครวมไทยสร้างชาติมีกระแสมากขึ้นเรื่อย ๆ เพราะพรรคประกาศสนับสนุนพล.อ.ประยุทธ์ เป็นแคนดิเดตนายกรัฐมนตรี และพรรคนี้จะเป็นพรรคที่พล.อ.ประยุทธ์ ใช้เป็นฐานกำลังทางการเมืองในการเลือกตั้งครั้งต่อไป

ล่าสุดเมื่อวันที่ 23 ธ.ค.ที่ผ่านมา ปรากฏว่าพล.อ.ประยุทธ์ ได้ประกาศชัดเจนแล้วว่า จะมาเป็นสมาชิกพรรคและจะเป็นแคนดิเดตนายกฯให้กับพรรครวมไทยสร้างชาติ ในการเลือกตั้งปี 2566 ถือเป็นวาระการเมืองแห่งปี เมื่อบิ๊กตู่ บอกทิศทางของตัวเองชัดเจนเช่นนี้

# “ประยุทธ์” ฝ่าด่าน “นายกฯ 8ปี ” ฉลุย

เป็นการจบดรามาปม “วาระ 8 ปี” เรื่องการดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรี ของพล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา เพราะเมื่อวันที่ 30 ก.ย. 2565 ศาลรัฐธรรมนูญมีมติเสียงข้างมาก 6 ต่อ 3 วินิจฉัยว่า พล.อ.ประยุทธ์ ดำรงตำแหน่งนายกฯ ตามความในมาตรา 264 ของรัฐธรรมนูญ พ.ศ. 2560 นับตั้งแต่วันที่ 6 เม.ย. 2560 ถึงวันที่ 24  ส.ค.2565 ซึ่งยังดำรงตำแหน่งนายกฯ ไม่ครบกำหนดเวลา และความเป็นรัฐมนตรีไม่สิ้นสุดลงตามมาตรา 170 วรรคสอง ประกอบมาตรา 158 วรรคสี่

ย้อนไปเมื่อวันที่ศาลรัฐธรรมนูญมีมติรับคำร้องไว้พิจารณาและมีมติให้พล.อ.ประยุทธ์ หยุดปฏิบัติหน้าที่ตั้งแต่วันที่ 24 ส.ค. 2565 จนกว่าศาลรัฐธรรมนูญจะมีคำวินิจฉัย แต่สามารถปฏิบัติหน้าที่ในฐานะรัฐมนตรีว่าากระทรวงกลาโหมได้ ส่วนหน้าที่นายกฯ ได้มอบหมายให้พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกรัฐมนตรี ปฏิบัติราชการแทนนายกรัฐมนตรี ตามคำสั่งนายกรัฐมนตรีที่ 23/ 2563

ตลอดระยะเวลา 38 วัน ที่พล.อ.ประยุทธ์ปรับการทำงานเหลือเพียงตำแหน่งรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม พล.อ.ประยุทธ์ ได้แต่เก็บตัวเงียบอยู่ในกระทรวงกลาโหม แม้แต่การประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) ก็ประชุมผ่านระบบวิดีโอคอนเฟอเรนซ์ไม่มานั่งร่วมประชุมที่ทำเนียบรัฐบาล ในฐานะรมว.กลาโหม

แต่พล.อ.ประยุทธ์ ก็ไม่ได้เหงา เพราะมีพี่รองอย่างพล.อ.อนุพงษ์ เผ่าจินดา รมว.มหาดไทย ที่ควงคู่ “เสี่ยหนู” อนุทิน ชาญวีรกูล รองนายกฯ และรมว.สาธารณสุข ในฐานะหัวหน้าพรรคภูมิใจไทย ไปเยี่ยมเยียนถึงกระทรวงกลาโหมบ่อยครั้ง ในท่ามกลางข่าวลือ ต่างๆ แต่สุดท้ายเมื่อศาลรัฐธรรมนูญมีคำวินิจฉัยออกมา กระแสต่างๆก็พลันจบลง

ทั้งนี้ปมวาระ 8ปี การดำรงตำแหน่งนายกฯของพล.อ.ประยุทธ์ ที่ถูกสมาชิกพรรคฝ่ายค้านยื่นเรื่องให้มีการวินิจฉัยชี้ขาดนั้นถือเป็นปัญหาทางข้อกฎหมาย ด่านสุดท้ายสำหรับพล.อ.ประยุทธ์  ที่อาจทำให้เกิดจุดเปลี่ยนในทางการเมืองตามมา

# “เอเปค 2022”  ผลงานชิ้นโบว์แดงรัฐบาล

ถือเป็นภารกิจสำคัญ สร้างชื่อเสียงกับนานาประเทศ เมื่อประเทศไทยเป็นเจ้าภาพในการประชุมผู้นำเขตเศรษฐกิจเอเปค 2022 หรือความร่วมมือทางเศรษฐกิจในภูมิภาคเอเชีย-แปซิกฟิก ครั้งที่ 29 ภายใต้หัวข้อหลัก "เปิดกว้างสร้างสัมพันธ์ เชื่อมโยงกัน สู่สมดุล" ที่จัดขึ้นระหว่างวันที่ 18-19 พ.ย. 2565

โดยมีผู้นำจาก 21 เขตต่างเข้าร่วมประชุมอาทิ นายสี จิ้นผิง ประธานาธิบดีสาธารณรัฐประชาชนจีน สมเด็จพระราชาธิบดี พระองค์ที่ 29 แห่งบรูไนดารุสซาลาม นายคิชิดะ ฟูมิโอะ นายกรัฐมนตรีญี่ปุ่น และนางกมลา แฮร์ริส รองประธานาธิบดีสหรัฐ

 รวมถึงแขกพิเศษอย่าง เจ้าชายมุฮัมมัด บิน ซัลมาน บิน อับดุลอะซีซ อาล ซะอูด มกุฎราชกุมารและนายกรัฐมนตรีแห่งซาอุดีอาระเบีย สมเด็จอัครมหาเสนาบดีเดโชฮุนเซน นายกรัฐมนตรีกัมพูชาและนายเอ็มมานูเอล มาครง ประธานาธิบดีฝรั่งเศสเข้าร่วมประชุม

โดยพล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีได้แถลงความสำเร็จของการประชุมครั้งนี้ โดยผู้นำเขตเศรษฐกิจเอเปค 2022 ได้รับรองปฏิญญาผู้นำเขตเศรษฐกิจเอเปค ค.ศ. 2022 ที่มีแนวคิดเศรษฐกิจชีวภาพ-เศรษฐกิจหมุนเวียน-เศรษฐกิจสีเขียว หรือแนวคิดเศรษฐกิจ BCG ขับเคลื่อน ภายใต้หัวข้อหลัก “เปิดกว้างสร้างสัมพันธ์ เชื่อมโยงกัน สู่สมดุล”  ก่อนที่ประเทศไทยจะส่งไม้ต่อให้กับสหรัฐอเมริกาในการเป็นเจ้าภาพเอเปค 2023 ต่อไป

ทั้งนี้ระหว่างการประชุมเปคกำลังเดินหน้าไป ก็มีการชุมนุมเกิดขึ้น  ทั้งบริเวณแยกอโศกมนตรี อนุสาวรีย์ประชาธิปไตยและลานคนเมืองในนาม "ราษฎรหยุดเอเปค 2022" ซึ่งกลุ่มผู้ชุมนุมได้มีการเคลื่อนการชุมนุมเพื่อไปยังศูนย์การประชุมแห่งชาติสิริกิติ์ สถานที่จัดการประชุม ทำให้เกิดการปะทะกับเจ้าหน้าที่จนเป็นเหตุวุ่นวายและมีผู้ได้รับบาดเจ็บทั้ง 2 ฝ่าย

# แก้รธน. “บัตร 2 ใบ”  สูตร “หาร 100”

สำหรับร่างพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญ (พ.ร.ป.) ว่าด้วยการเลือกตั้งส.ส.ที่เป็นปัญหามานานก็จบลง เพราะเมื่อวันที่ 30 พ.ย. 2565 ศาลรัฐธรรมนูญได้มีการวินิจฉัยเรื่องนี้ โดยที่ประชุมตุลาการศาลรัฐธรรมนูญ มีมติเอกฉันท์ 9 ต่อ 0 ว่า ร่างพ.ร.ป.ว่าด้วยการเลือกตั้งส.ส. ตราขึ้นโดยถูกต้องตามบทบัญญัติแห่งรัฐธรรมนูญมาตรา 132 ไม่มีข้อความขัดหรือแย้งต่อรัฐธรรมนูญมาตรา 93 และมาตรา 94

ทั้งนี้มีการตั้งข้อสังเกตว่าที่คำร้องของ ส.ว.มีการอ้างถึงการประชุมรัฐสภามีเจตนาทำให้การประชุมล่ม และไม่สามารถพิจารณาร่างกฎหมายได้ทันตามกรอบเวลา ทำให้ต้องกลับไปใช้ร่างแรกที่คณะรัฐมนตรี (ครม.) เสนอมา จากสูตรคำนวณ ส.ส. บัญชีรายชื่อหารด้วย 500 กลับไปเป็นหารด้วย 100 เป็นเทคนิคการพิจารณาของรัฐสภา เป็นไปตามข้อบังคับการประชุม ไม่ได้เป็นการกระทำขัดต่อกฎหมาย

นอกจากนี้ที่ประชุมยังได้มีมติเสียงข้างมาก 7 ต่อ2 วินิจฉัยว่า ร่าง พ.ร.ป.ว่าด้วยการเลือกตั้ง ส.ส. มาตรา 26 ไม่มีข้อความขัดหรือแย้งต่อรัฐธรรมนูญมาตรา 93และมาตรา 94

สำหรับบัตรเลือกตั้งนั้น คณะกรรมาธิการวิสามัญ พิจารณาร่างพ.ร.ป.ว่าด้วยการเลือกตั้งส.ส.ที่มี “สาธิต ปิตุเตชะ” รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงสาธารณสุขเป็นประธานได้มีมติเสียงข้างมากให้กติกาการเลือกตั้งทั่วไปใช้บัตรเลือกตั้ง 2  ใบและรัฐสภาลงมติเห็นชอบ

ถึงแม้ “นพ.ระวี มาศฉมาดล”   ส.ส.บัญชีรายชื่อ และหัวหน้าพรรคพลังธรรมใหม่ จะร้องศาลรัฐธรรมนูญว่าการแก้ไขดังกล่าวเป็นการละเมิดสิทธิเสรีภาพของผู้ร้อง ขัดหรือแย้งต่อหลักนิติธรรมตามรัฐธรรมนูญ แต่เมื่อวันที่ 11 พ.ค. 2565 ศาลรัฐธรรมนูญได้มีคำสั่งไม่รับคำร้องไว้พิจารณา

#  “เพื่อไทย” ชู “อุ๊งอิ๊ง” ปลุกชนะแลนด์สไลด์

หลังจากที่พรรคเพื่อไทยเปิดตัว “อุ๊งอิ๊ง” แพทองธาร ชินวัตร  เป็นประธานคณะที่ปรึกษาด้านการมีส่วนร่วมและนวัตรกรรมไปเมื่อปี 2564  ไปแล้วนั้น

โดยเมื่อวันที่ 20 มี.ค. 2565 พรรคเพื่อไทยได้มีการเปิดตัวแพทองธาร อีกครั้งเพื่อเป็นหัวหน้าครอบครัวเพื่อไทย พร้อมตั้งเป้าเป็นแกนนำตั้งรัฐบาล

ทั้งนี้ล่าสุดวันที่ 6 ธ.ค. 2565 แพทองธาร ได้ประกาศแคมเปญใหม่ในการประชุมใหญ่วิสามัญประจำปี  2565 จากของเดิม "พรุ่งนี้เพื่อไทย" เป็น "คิดใหญ่ ทำเป็น เพื่อไทยทุกคน" พร้อมเปิดนโยบาย ลดรายจ่าย เพิ่มรายได้และขยายโอกาส

ซึ่งประเด็นที่ถูกยกนำมาถกเถียงกันคือ เรื่องค่าแรงขั้นต่ำ 600 บาทต่อวัน และเงินเดือนของผู้ที่จบปริญญาตรีอยู่ที่ 25,000 บาทขึ้นไป

โดยทันทีที่นโยบายนี้ออกมาก็มีเสียงจากฝั่งรัฐบาลอาทิ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม ถามกลับมาว่า ต้องไปดูทำได้จริงหรือไหม การจะทำอะไรมันไม่ง่าย แล้วจะไปเอาเงินมาจากไหน

ส่วน อนุทิน ชาญวีรกูล ก็ระบุในเรื่องเดียวกันว่า ฟังดูดี แต่ทำได้หรือเปล่าไม่รู้ เพราะมีหลายปัจจัย รวมถึงอย่าดูเฉพาะเรื่องค่าแรง แต่จะต้องดูว่าทำให้ชีวิตประชาชนดีขึ้นหรือไม่

ทั้งนี้ในส่วนแคนดิเดตนายกฯ ของพรรคเพื่อไทยที่ก่อนหน้านี้มีชื่อ “เสี่ยนิด” เศรษฐา ทวีสิน ประธานอำนวยการและกรรมการผู้จัดการใหญ่ บริษัท แสนสิริ จำกัด (มหาชน) แต่เมื่อไม่นานมานี้กลับมีชื่อ แพทองธาร เป็นหนึ่งในแคนดิเดตนายกฯ ด้วย ซึ่งเจ้าตัวระบุว่า ส่วนตัวจะเป็นหรือไม่อยู่ที่พรรคเพื่อไทยหาคนที่เหมาะสม ซึ่งเป้าหมายหลักของตัวเองนั้น ไม่ใช่การเป็นนายกฯ แต่เป็นการที่พรรคเพื่อไทยได้ทำเพื่อประชาชน

 #  “เรือหลวงสุโขทัย” อับปาง

เหตุการณ์ที่ไม่คาดคิดได้เกิดขึ้น เมื่อเรือหลวงสุโขทัย อับปางในอ่าวไทยเมื่อกลางดึก เวลา 23.30 น.ของวันที่ 18 ธ.ค. 65 ทำให้มีกำลังพลทั้งหมด 105 นาย ในเรือดังกล่าวประสบเหตุเรืออับปางจากพายุ กลางทะเล จ.ประจวบคีรีขันธ์

ทั้งนี้ภายหลังเกิดเหตุ กองทัพเรือได้เข้าช่วยเหลือกำลังพลที่ประสบภัยรอดชีวิตทั้งสิ้น 75 นายจาก 106 นาย และมีผู้สูญหายในวันแรกจำนวน 31 ราย จากนั้นกองทัพเรือ กองทัพอากาศ ตลอดจนหน่วยงานต่างๆ เข้าร่วมระดมค้นหากำลังพล กินเวลากว่า 1สัปดาห์ ในระหว่างนั้นได้พบร่างผู้เสียชีวิตซึ่งต่อมาพิสูจน์อัตลักษณ์ และยืนยันได้ว่าเป็นกำลังพลจากเรือหลวงสุโขทัย อย่างต่อเนื่อง ส่วนผู้ที่ได้รับบาดเจ็บได้เข้ารับการรักษาตัวที่โรงพยาบาลสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ กรมการแพทย์ทหารเรือ อ.สัตหีบ จ.ชลบุรี

ทั้งนี้เมื่อวันที่ 22 ธ.ค. 2565 ได้มีพิธีพระราชทานน้ำหลวงอาบศพข้าราชการเรือหลวงสุโขทัยจำนวน 6 นาย โดยผู้เสียชีวิตทั้ง 6 นายได้รับพระมหากรุณาธิคุณโปรดเกล้าโปรดกระหม่อม จากพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวให้ศพอยู่ในพระบรมราชานุเคราะห์ โดยตั้งบำเพ็ญกุศลฯ กิจการฌาปนสถานกองทัพเรือ สัตหีบ

สำหรับสิทธิกำลังพลผู้เสียชีวิต กองทัพเรือถือว่ากําลังพลดังกล่าวเสียชีวิตจากการปฏิบัติหน้าที่ จะพิจารณาบําเหน็จด้านสิทธิกําลังพลสูงสุดให้แก่กําลังพล โดยพิจารณาเลื่อนชั้นเงินเดือน 3 - 5 ชั้น พร้อมทั้งขอพระราชทานเลื่อนยศ 2 - 4 ชั้นยศ รวมทั้งเงินช่วยเหลืออื่น ๆ ตามสิทธิที่สมควรจะได้รับ 

นับเป็นเหตุการณ์ความสูญเสียครั้งสำคัญของกองทัพเรือ ตลอดจนครอบครัวผู้เสียชีวิต อย่างยิ่ง