วันที่ 27 ธันวาคม 2565  ที่กองบัญชาการกองทัพไทย จัดการประชุมผู้บัญชาการเหล่าทัพ ครั้งที่ ๒ ประจำปีงบประมาณ พ.ศ.2566 โดยมี พลเอก เฉลิมพล  ศรีสวัสดิ์ ผู้บัญชาการทหารสูงสุด เป็นประธาน พร้อมด้วย ผู้บัญชาการทหารบก ผู้บัญชาการทหารเรือ ผู้บัญชาการทหารอากาศ และผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ เข้าร่วมประชุม ณ ห้องประชุม 241 อาคาร 2 ชั้น 4 กองบัญชาการกองทัพบก 

ในโอกาสนี้ ผู้บัญชาการทหารสูงสุด ได้มอบนโยบายให้เหล่าทัพ และสำนักงานตำรวจแห่งชาติ ปฏิบัติตามนโยบายของรัฐบาลและกระทรวงกลาโหม ด้วยความมุ่งมั่น ตั้งใจ ทุ่มเท และเสียสละ เพื่อประโยชน์ต่อประเทศชาติ ประชาชน และสถาบันพระมหากษัตริย์ พร้อมทั้งพัฒนาขีดความสามารถของกำลังพลและยุทโธปกรณ์อย่างต่อเนื่อง เพื่อให้เกิดความพร้อมรองรับภัยคุกคามและรูปแบบการโจมตีที่มีความหลากหลายมากยิ่งขึ้น โดยในวันนี้ที่ประชุมฯ ได้ร่วมกันนำเสนอแนวทางการพัฒนาขีดความสามารถในด้านต่าง ๆ ของหน่วย ดังนี้

กองบัญชาการกองทัพไทย ได้นำเสนอแนวทางการพัฒนากองทัพไทย ซึ่งมุ่งเน้นใน 4  ระบบงาน ประกอบด้วย ระบบงานการปฏิบัติการร่วม เพื่อบูรณาการพลังอำนาจของชาติ ทรัพยากรทางทหาร และการบริหารจัดการการใช้กำลังทหารได้อย่างประสานสอดคล้อง รวมทั้งเสริมขีดความสามารถตามคุณลักษณะของแต่ละเหล่าทัพ

ให้เกิดประสิทธิภาพสูงสุด ระบบงานการฝึก เพื่อพัฒนาระบบการฝึกทุกระดับ ให้ทุกส่วนราชการมีความพร้อมในด้านกำลังพล ยุทโธปกรณ์ และแผนในการปฏิบัติภารกิจได้อย่างมีประสิทธิภาพ ระบบงานการศึกษา เพื่อมุ่งสู่การพัฒนาทรัพยากรบุคคลของกระทรวงกลาโหม ทั้งในด้านการศึกษา การฝึกอบรม และการจัดการเรียนการสอนให้สามารถปฏิบัติงานตามภารกิจหน้าที่รับผิดชอบได้อย่างมีประสิทธิภาพ และระบบงานส่งกำลังบำรุง เพื่อพัฒนาระบบการส่งกำลังบำรุงมุ่งไปสู่การพึ่งพาตนเองด้วยความร่วมมือกับมิตรประเทศและภาคเอกชน เพื่อให้งานด้านส่งกำลังบำรุงสามารถสนับสนุนการปฏิบัติการทางทหารพร้อมเผชิญภัยคุกคามรูปแบบใหม่ และช่วยเหลือประชาชนได้อย่างมีประสิทธิภาพและเป็นรูปธรรม

 

กองทัพบก นำเสนอแนวทางการพัฒนาขีดความสามารถของกองทัพบก เพื่อมุ่งสู่การปฏิบัติการร่วมของกองทัพไทย ตามนโยบายเร่งด่วนของรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม ในด้านการพัฒนากองทัพและการส่งเสริมการบริหารตามหลักธรรมาภิบาลในเรื่อง “การปรับปรุงโครงสร้างกองทัพให้มีขนาดที่เหมาะสมกับภัยคุกคามทุกรูปแบบ ทุกมิติ และทุกระดับความรุนแรง มุ่งเน้นการปฏิบัติการร่วมที่มีความคล่องแคล่วและอำนาจกำลังรบสูง มียุทโธปกรณ์และเทคโนโลยีที่ทันสมัย สามารถปฏิบัติภารกิจที่มีความหลากหลาย” ได้แก่ การปรับปรุงโครงสร้างการจัดหน่วยแบบ “เบา ประหยัด มีความคล่องตัวและมีประสิทธิภาพ” การเสริมสร้างการพร้อมรบ การดำรงความต่อเนื่องในการรบ และการพัฒนาความทันสมัย

กองทัพเรือ ได้มีการเสริมสร้างกำลังกองทัพตามยุทธศาสตร์ และแนวทางการใช้กำลังของกองทัพเรือ เพื่อให้มีขีดความสามารถในการปฏิบัติตามภารกิจที่ได้รับมอบหมาย และสามารถปฏิบัติการยุทธ์ร่วมกับกองบัญชาการกองทัพไทย และเหล่าทัพตามสาขาปฏิบัติการต่าง ๆ ที่เกี่ยวข้อง เช่น การปฏิบัติการยุทธ์สะเทินน้ำสะเทินบก การส่งผ่านกำลังทางบก และการยุทธ์บรรจบกับกำลังทางบก การป้องกันภัยทางอากาศของกองเรือ การบินลาดตระเวนรบ และการโจมตีเป้าหมายทางทะเลกับกำลังทางอากาศ

 

กองทัพอากาศ ได้นำเสนอแนวทางการพัฒนาขีดความสามารถมุ่งสู่การปฏิบัติการร่วมของกองทัพอากาศ ตามแนวคิดการปฏิบัติการหลายมิติ (Multi Domain Operation) เพื่อบูรณาการข้อมูลและขีดความสามารถในทุกมิติ ได้แก่ มิติภาคพื้นดิน มิติทางทะเล มิติทางอากาศ มิติทางอวกาศ และมิติทางไซเบอร์

สำนักงานตำรวจแห่งชาติ ได้นำเสนอแนวทางการพัฒนาขีดความสามารถของสำนักงานตำรวจแห่งชาติ เพื่อมุ่งสู่การปฏิบัติการร่วมตามแผนป้องกันประเทศ โดยได้จัดกำลังเข้าร่วมการฝึกในรูปแบบต่าง ๆ อาทิ การฝึกฝ่ายเสนาธิการ (STAFFEX) กฝร.65 การฝึกฝ่ายเสนาธิการ ในระดับศูนย์ปฏิบัติการกองทัพภาค การฝึกซ้อมแผนเผชิญเหตุ การตรวจสอบและการแข่งขันการยิงปืน ค.60 มิลลิเมตร เพื่อให้สามารถปฏิบัติตามแผนพิทักษ์พื้นที่ส่วนหลังร่วมกับกำลังรบหลักได้อย่างมีประสิทธิภาพ

ทั้งนี้ ผู้บัญชาการทหารสูงสุด ได้สั่งการให้เหล่าทัพ และสำนักงานตำรวจแห่งชาติ สนับสนุนการจัดตั้งจุดบริการประชาชนในห้วงวันหยุดเทศกาลปีใหม่ พ.ศ.2566 ในการช่วยเหลือและอำนวยความสะดวกให้กับกำลังพลและประชาชนให้ได้รับความปลอดภัยระหว่างการเดินทาง เพื่อลดการสูญเสียต่อชีวิตและทรัพย์สิน และให้เหล่าทัพให้ความช่วยเหลือประชาชนที่ประสบภัยหนาว เช่น การแจกจ่ายผ้าห่มและเครื่องกันหนาว รวมทั้งให้คำแนะนำ   แก่กำลังพล ครอบครัว และประชาชนเกี่ยวกับการปฏิบัติตนในห้วงฤดูหนาวอีกด้วย