จากกรณีโลกออนไลน์เผยแพร่ภาพกุ้งเผา ซึ่งมีไข่สีแตกต่างกันพร้อมเผยข้อวามสงสัย 

ล่าสุดนี้ (26 ธ.ค.)  รศ.ดร.เจษฎา เด่นดวงบริพันธ์ อาจารย์ประจำภาควิชาชีววิทยา คณะวิทยาศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย และนักสื่อสารวิทยาศาสตร์  ไขข้อข้องใจผ่าน เพจ  "อ๋อ มันเป็นอย่างนี้นี่เอง by อาจารย์เจษฎ์" โดยระบุข้อความว่า ...

"ไข่กุ้งเป็นสีดำ กินได้ และไม่ได้แปลว่ากุ้งเสียครับ"

ได้คำถามหลังไมค์มา โดยส่งรูปจากจากเพจ ผู้บริโภค  เหมือนเป็นกุ้งเผา ที่มีไข่กุ้งอยู่ แต่กุ้ง 2 ตัวมีไข่กุ้งสีต่างกัน ตัวหนึ่งเป็นสีส้มแบบที่คุ้นเคย กับอีกตัวมีไข่เป็นสีดำ ซึ่งแคปชั่นบนรูปนั้นบอกว่า “ไข่กุ้งตรงขาเป็นแบบนี้มันกินได้ไหม เรากินมาตลอด เป็นอะไรไหมอะ”

คำตอบคือ ไม่มีอะไรผิดปรกตินะครับ กุ้งไม่ได้เสีย หรือไม่ได้เก่าเก็บอะไร เพียงแต่ว่าไข่กุ้งที่มีสีดำแบบนี้ เนื่องจากเป็นไข่ที่ใกล้จะฟักเป็นตัวลูกกุ้งแล้ว (ถ้าเป็นสีส้มที่คุ้นๆ กันนั้น จะเป็นไข่ที่ยังอ่อนอยู) จะนำมากินก็ได้ แต่ไม่ค่อยอร่อยอะไรครับ

ฝากด้วยว่า เรื่องนี้ก็คล้ายกับที่เห็นปูไข่ มีไข่สีดำๆ ออกมาอยู่นอกกระดอง ครับ ซึ่งไข่ของปูนั้น เมื่อปล่อยออกมานอกตัวและยึดเกาะอยู่กับจับปิ้งบนกระดอง ตอนแรกก็มีสีเหลืองอมส้ม เปลี่ยนเป็นสีเหลืองปนเทา สีเทาอมน้ำตาล และดำ (ตามลำดับ) ใช้ระยะเวลาประมาณ 10-15 วัน ก่อนที่ไข่จะฟักกลายเป็นลูกปูวัยอ่อน ตอนนี้ เลยมีการรณรงค์กันมาก ให้ห้ามจับปูไข่นอกกระดองมาขายมาบริโภคกัน เพื่อที่จะได้ยังคงมีลูกหลานปูในทะเลครับ

ขอบคุณ เพจ  อ๋อ มันเป็นอย่างนี้นี่เอง by อาจารย์เจษฎ์ / เพจ ผู้บริโภค