เมื่อวันที่ 25 ธันวาคม วันสุดท้ายของการจัด “นิทรรศการรำลึกสถานีรถไฟโคราช 122 ปี” โดยกรรมาธิการสถาปนิกอีสาน กลุ่มคนรักรถไฟโคราชและภาคีอนุรักษ์เมืองเก่าที่สถานีรถไฟนครราชสีมา เพื่อให้ผู้ที่มีความรักความผูกพันรถไฟไทย คนรุ่นใหม่และผู้ที่สนใจได้ถ่ายรูปเก็บบันทึกความทรงจำและรับรู้ประวัติศาสตร์สถานีที่มีอายุ 122 ปี ก่อนถูกทุบทิ้งตามแผนการรถไฟแห่งประเทศไทย (รฟท.) ในปี 66 ให้ผู้รับจ้างรื้อถอนโครงสร้างอาคารสถานีหลังปัจจุบัน เนื่องจากตั้งอยู่ในแนวเขตแผนพัฒนาระบบราง เพื่อก่อสร้างอาคารสถานีรถไฟหลังใหม่ รองรับการใช้บริการขนส่งโดยสารรถไฟความเร็วสูงและทางคู่พบนักท่องเที่ยวส่วนหนึ่งแต่งกายย้อนยุคและวัยรุ่นมาถ่ายรูปเซลฟี่ตามมุมต่างๆ ที่ได้จำลองบรรยากาศการเปิดเส้นทางรถไฟย้อนยุคก่อนปี พ.ศ 2500 ช่วงสมัยในหลวงรัชกาลที่ 5

 โดยฟื้นฟูรถจักรไอน้ำเลขที่ 261 ซุ้มหัวรถจักรประวัติศาสตร์รัชกาลที่ 9 ซึ่งเป็นรถจักรดีเซลไฟฟ้าดาเวนปอร์ต รุ่น 500 แรงม้า หมายเลข 535 จอดอยู่บนชานชาลาที่ 1 การประดับธงช้างเผือกตามชานชาลารถไฟ การจัดบูธกรมรถไฟหลวง การจัดแสดงหนังสือหายาก สิ่งของเครื่องใช้ยุคกรมรถไฟ โมเดลรถไฟไทยกันอย่างคึกคัก โดยมีคอสเพลย์และจิตอาสาแต่งกายเครื่องแบบทหาร ตำรวจสมัยสงครามโลกครั้งที่ 2 มาสร้างสีสันการเดินเที่ยวชมพร้อมถ่ายรูปซิลๆ

นายสยาม  ศิริมงคล ผวจ.นครราชสีมา เปิดเผยว่า รับทราบความห่วงใยของพี่น้องชาวโคราชและกลุ่มคนรักรถไฟมีความต้องการอนุรักษ์สถานีให้คงอยู่แต่ต้องศึกษาในรายละเอียดอย่างรอบด้านก่อน หากเสียงส่วนใหญ่ตอบรับโดยมีเหมาะสมและความเป็นไปได้รวมทั้งไม่ส่งผลกระทบต่อการดำเนินโครงการพัฒนาระบบราง จ.นครราชสีมา ยินดีรับนำมาพิจารณาอีกครั้ง

 

 ดร.เมตต์  เมตต์การุณ์จิต ประธานชมรมอนุรักษ์ภาษาและวัฒนธรรมพื้นบ้านโคราชรวมทั้งเป็นผู้เขียนหนังสือย้อนเรื่องโคราช ว่า สถานีรถไฟโคราชถือเป็นจุดสำคัญของความเปลี่ยนแปลงทางด้านสังคมและเศรษฐกิจ โดยเป็นแหล่งศูนย์กลางผู้คนจากภูมิภาคเข้าสู่เมืองหลวงกรุงเทพมหานคร ตลอดเส้นทางที่มีสถานีรถไฟตามรายทางมีความเจริญมูลค่าที่ดินเพิ่มสูงขึ้นเศรษฐกิจมีความคึกคักด้วยประโยชน์จากระบบราง 

เมื่อได้ทราบข่าวว่าสถานีแห่งนี้จะถูกรื้อออกไป รู้สึกเสียดาย ฐานะที่ตนเคยศึกษาและเก็บข้อมูลประวัติศาสตร์ฝากถึงรัฐบาลการก่อสร้างหรือการเปลี่ยนแปลงพัฒนาควรสอบถามความเห็นคนในท้องถิ่นก่อน ไม่ใช่ออกแบบแปลนต้องรื้อเท่านั้น ทำให้พวกเราไม่มีโอกาสเรียกร้องใดๆ ซึ่งต้องการอนุรักษ์ไว้เป็นพิพิธภัณฑ์รำลึกถึงประวัติศาสตร์อันสำคัญของชาวโคราชให้ลูกหลานรุ่นหลังได้สัมผัสเรียนรู้ ต้องรู้จักรากเหง้าร่องรอยประวัติศาสตร์ของตนเองจุดเริ่มต้นของวิถีชีวิต การต่อสู้กับชาติฝรั่งเศส ญี่ปุ่น มิใช่แสวงหาแต่สิ่งใหม่เพียงอย่างเดียว อานิสงส์มีรถไฟผ่านทำให้คนโคราชได้กินน้ำแข็งและใช้หลังคาสังกะสีก่อนคนจังหวัดอื่นๆ รวมทั้งเดินทางไปเมืองหลวงสะดวกขึ้น

ด้านผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.การุณย์  ศุภมิตรโยธิน อาจารย์ประจำหลักสูตรสถาปัตยกรรมศาสตร์บัณฑิต มหาวิทยาลัยราชภัฏนครราชสีมา กล่าวว่า ขอให้ชาวโคราชส่งเสียงเรียกร้องผู้มีอำนาจ “อย่าทุบ” เราต้องการอนุรักษ์ไว้ให้เป็นมิวเซียมหรือพิพิธภัณฑ์หัวเมืองอีสาน เพื่อรำลึกถึงประวัติศาสตร์ชาวโคราชที่ต้องภูมิใจเป็นจังหวัดที่มีการเปิดเส้นทางรถไฟสายแรกของประเทศไทย โปรดอย่ามองเป็นภาระแต่เป็นจุดขายจุดดึงดูดให้สถานที่เกิดความน่าสนใจ นำไปสู่การกระตุ้นการท่องเที่ยวในพื้นที่  ถือเป็นโอกาสที่ดีแต่ต้องอาศัยความร่วมมือร่วมใจของคนในพื้นที่และทุกภาคส่วน