อันจะกล่าวถึงจังหวัดตรังนอกจากจะมีความโดดเด่นเรื่องอาหารการกิน เช่น หมูย่างเมืองตรัง เค้กเมืองตรัง ติ่มซำ และขนมเปี๊ยะ เป็นต้น แล้ว การทำการเกษตรก็ไม่น้อยหน้าจังหวัดอื่น ซึ่งนอกจากยางพาราและปาล์มน้ำมันที่เป็นพืชเศรษฐกิจหลักแล้ว ข้าวก็เป็นอีกพืชหนึ่งที่มีความสำคัญและอยู่คู่กับเมืองตรังมาเป็นเวลานาน จากทำเลที่ตั้งซึ่งอยู่ชายฝั่งทะเลอันดามัน ได้รับอิทธิพลจากมรสุมตะวันตกเฉียงใต้ในฤดูการตกกล้า โดยปกติฝนจากมรสุมนี้ไม่ส่งผลเสียหายต่อการปลูกข้าวในจังหวัดตรังมากนัก แต่ในช่วงข้าวออกรวงเป็นช่วงที่ได้รับอิทธิพลจากมรสุมตะวันออกเฉียงเหนือ คนตรังเรียก “ฝนออก” ฝนออกมีความไม่แน่นอน บางปีก็มีปริมาณมากบางปีก็น้อย ส่งผลให้เกิดปรากฏการณ์ข้าวแห้งจากการขาดน้ำและข้าวเปื่อยจากปริมาณน้ำที่มีมากเกินไปอยู่เป็นระยะๆ บรรพบุรุษชาวตรังจึงเลือกพันธุ์ข้าวที่มีอายุเบาออกดอกเร็วสำหรับนำมาปลูกในพื้นที่เพื่อให้เหมาะกับสภาพภูมิอากาศดังกล่าว 

จากข้อมูลในระบบสารสนเทศของกรมการข้าว พบว่า ชื่อพันธุ์ข้าวของจังหวัดตรังมีพันธุ์ “ข้าวเบา” อยู่เป็นจำนวนมาก เช่น ข้าวเบาขี้ควาย ข้าวเบาชายนา ข้าวเบาหอม ข้าวเบานาเกลือ ข้าวเบาน้ำค้าง ข้าวเบาป้าหรี ข้าวเบายอดม่วง ฯลฯ แต่ในปัจจุบันข้าวพันธุ์ดังกล่าวได้เลิกปลูกไปแล้ว เหลือเพียง “พันธุ์เบายอดม่วง” ที่ขาวนาในจังหวัดตรังยังเลือกปลูกและรักษาไว้สืบทอดมาจนถึงทุกวันนี้

ในอดีต 40 ปีก่อน ข้าวเบายอดม่วงมีการปลูกกันโดยทั่วไปภายในจังหวัดตรัง เป็นข้าวประจำถิ่นที่คนตรังยุคก่อนต่างรู้จักกันเป็นอย่างดี ในปี 2550 ได้มีการศึกษาสำรวจรายชื่อพันธุ์ข้าวของจังหวัดตรังและได้รับข้อมูลจากปราชญ์ท้องถิ่นในพื้นที่อำเภอปะเหลียน จังหวัดตรัง ได้กล่าวไว้ว่า “ข้าวพื้นเมืองตรังในอดีตที่มีรสชาติดีที่สุด คือ ข้าวเบายอดม่วง เพราะเป็นข้าวเจ้าเหนียว แต่ตอนนี้ไม่ทราบว่ายังมีสายพันธุ์อีกหรือไม่” ในปี 2557  คณะทำงานประเด็นสุขภาวะคนตรังยั่งยืนด้วยการดูแลนาข้าว สมัชชาสุขภาพจังหวัดตรัง ได้ศึกษาข้อมูลสายพันธุ์ข้าวอย่างเป็นระบบและพบว่าข้าวเบายอดม่วงยังมีพื้นที่ปลูกอยู่ที่ตำบลวังคีรี อำเภอห้วยยอด จังหวัดตรัง โดยปลูกไว้สำหรับให้ผู้สูงอายุรับประทาน เนื่องจากเป็นข้าวนุ่ม มีความนิ่ม รสชาติดี และคุณค่าทางโภชนาการสูง และต่อมาได้มีการขยายพื้นปลูกไปยังอำเภอนาโยง และอำเภอเมือง จังหวัดตรัง

ในปี 2560 จังหวัดตรังได้ดำเนินโครงการพัฒนาเศรษฐกิจฐานรากจากนาข้าวเพิ่มมูลค่าสร้างผลิตภัณฑ์ชุมชน คณะกรรมการได้มีมติให้ข้าวเบายอดม่วงเป็นข้าวประจำจังหวัดตรัง และด้วยความโดดเด่นของพันธุ์ข้าวด้านอัตลักษณ์และความเชื่อมโยงกับวัฒนธรรมภูมิปัญญาท้องถิ่น ในปี 2562 กรมการข้าวโดยศูนย์วิจัยข้าวพัทลุงจึงได้เก็บรวบรวมพันธุ์ข้าวเบายอดม่วงจากอำเภอห้วยยอด อำเภอเมือง และอำเภอนาโยง จังหวัดตรัง มาปลูกศึกษาตามกระบวนการปรับปรุงพันธุ์ โดยปลูกคัดเลือกพันธุ์แบบหมู่ (mass selection) ในฤดูนาปี 2562/63 และ 2563/64 และปัจจุบัน ฤดูนาปี 2564/65 อยู่ระหว่างขั้นตอนการปลูกคัดเลือกสายพันธุ์บริสุทธิ์แบบรวงต่อแถว (pureline selection) และมีแผนขอขึ้นทะเบียนพันธุ์ตามพระราชบัญญัติคุ้มครองพันธุ์พืช พ.ศ. 2542 และขอขึ้นทะเบียนสิ่งบ่งชี้ทางภูมิศาสตร์ (GI) ในปี 2565 ต่อไป 

นายกฤษณะ ศิริรัตน์ ผู้อำนวยการศูนย์วิจัยข้าวพัทลุง เปิดเผยว่า ข้าวเบายอดม่วงเป็นพันธุ์ข้าวไวต่อช่วงแสง ออกดอกประมาณกลางเดือนธันวาคม ทรงกอตั้ง แผ่นใบและกาบใบสีเขียว ใบธงตั้งตรง ลักษณะรวงและการแตกระแง้ปานกลาง คอรวงยาว ข้าวเปลือกสีฟางกระน้ำตาล ผลผลิตเฉลี่ยประมาณ 400 กิโลกรัมต่อไร่ ลักษณะเด่นของข้าวพันธุ์นี้ คือ ปล้องและดอกข้าวมีสีม่วงเหมือนสีของยอดมะม่วงเบา ข้าวกล้องมีสีแดง ข้าวหุงสุกมีความนุ่ม และมีคุณค่าทางโภชนาการสูงโดยเฉพาะกรดเฟอรูลิก และฤทธิ์ต้านอนุมูลอิสระ ซึ่งชาวบ้านในจังหวัดตรังนิยมเรียกข้าวพันธุ์นี้ในอีกชื่อหนึ่งว่า “ข้าวเจ้าเหนียว”

เมื่อปี 2564 สมัชชาสุขภาพจังหวัดตรังได้มีมติควบรวมมติสุขภาวะคนตรังยั่งยืนด้วยการดูแลนาข้าวเป็นมติด้านความมั่นคงทางอาหารในภาวะวิกฤตโควิดด้านข้าว เพื่อยกระดับและรองรับการส่งเสริมจากทางภาครัฐ ซึ่งผู้ว่าราชการจังหวัดตรังได้ประกาศให้ข้าวเบายอดม่วงเป็นสินค้าสำคัญของจังหวัดตรัง พร้อมสนับสนุนงบประมาณในแผนพัฒนาจังหวัดส่งเสริมให้เพิ่มพื้นที่ปลูกข้าวเบายอดม่วงอย่างต่อเนื่อง และให้สำนักงานพาณิชย์จังหวัดเป็นหน่วยงานหลักเพื่อดำเนินการขอยื่นจดทะเบียนข้าวเบายอดม่วงเป็นสิ่งบ่งชี้ทางภูมิศาสตร์ ในขณะเดียวกันสมัชชาสุขภาพจังหวัดตรังก็ได้ประสานงานเพื่อให้เกิดการเรียนรู้ของชุมชน หน่วยงานภาครัฐในการแปรรูปข้าวให้มีมาตรฐานโดยมีแผนการขอสนับสนุนการสร้างโรงสี GMP เพื่อแปรรูปข้าวให้มีคุณภาพตามความต้องการของตลาดในปีถัดไป