บทความพิเศษ / ทีมงานหญ้าแห้งปากคอก(ท้องถิ่น)

ไทยติดอันดับโลกท็อปเทนเมืองอากาศแย่

ขอเปิดสถานการณ์ว่า ประเทศไทยจากข้อมูลรายงานเรียลไทม์เมื่อ 18 มีนาคม 2565 พบว่าเมืองเชียงใหม่ติดอันดับ 9 เมืองอากาศแย่สุดในโลก โดยมี”แม่ฮ่องสอน-นครพนม” ฝุ่นพิษติดโซนแดงอันตราย ข้อมูลเมื่อ 9 เมษายน 2565 พบว่า เมืองเชียงใหม่อยู่ในอันดับที่ 5 ของโลก มีดัชนีคุณภาพอากาศอยู่ที่ 166 US AQI ส่วน กรุงเทพมหานคร(กทม.) ติดอันดับ 6 ของโลก มีดัชนีคุณภาพอากาศอยู่ที่ 163 US AQI ข้อมูลเมื่อ 12 เมษายน 2565 พบว่า ทั่วไทยโซนสีแดงฝุ่นพิษคลุ้งใน 8 พื้นที่ เชียงใหม่ติดอันดับ 7 โลก กทม. อันดับ 8 โลก

ปัญหาวิกฤต PM2.5

ปัญหาเรื่องฝุ่น-หมอกควันประเทศไทยมีมานานร่วมหลายสิบปีแล้ว ปัญหาฝุ่นพิษหมอกควัน หรือ ฝุ่นพิษ ฝุ่นจิ๋ว PM2.5 (อนุภาคขนาดเล็กไม่เกิน 2.5 ไมครอนหรือ Particulate Matter : PM2.5 ) นอกจากนี้ยังมี PM10 (ขนาดไม่เกิน 10 ไมครอน) ด้วย PM ถือเป็น “คาร์บอนไดออกไซด์” ในสถานะหนึ่ง ซึ่งมีผลรายงานว่า “ฝุ่นจิ๋วพิษ” นี้มีผลกระทบสุขภาพ ทำให้หัวใจวายได้ เป็นปัญหาระบบทางเดินหายใจ ในคุณภาพอากาศ

การเผาหญ้า ขยะ และสิ่งไม่พึงประสงค์ในที่โล่งแจ้ง คือหนึ่งในสาเหตุของปัญหาฝุ่นละออง PM2.5 โดยเฉพาะในเขตพื้นที่ชนบท ซึ่งที่ผ่านมารัฐบาลมีการแก้ไขปัญหาเฉพาะหน้านี้เพียงการรณรงค์ให้ชาวบ้านงดเผาหญ้า เผาขยะ เผาซังตอข้าว เผาไร่อ้อย (ก่อนตัด) เพื่อลดปัญหาฝุ่นพิษ PM2.5 โดยเฉพาะในหน้าแล้ง ส่วนไฟป่านั้นก็มีการเฝ้าระวังไฟป่าโดยศูนย์ควบคุมไฟป่า (ราชการส่วนกลาง) ที่มักเกิดขึ้นในเขตพื้นที่ป่าโดยเฉพาะในเขตพื้นที่ภาคเหนือตอนบน (9 จังหวัด) ที่สำคัญคือ เป็นเรื่องระหว่างประเทศ เพราะมีการเผาป่าก่อให้เกิดควัน มลพิษข้ามพรมแดน ถือเป็นภัยพิบัติที่เกิดจากไฟป่าระหว่างประเทศได้

สถานการณ์ฝุ่น PM2.5 เป็นปัญหาวิกฤตที่ต้องมีมาตรการป้องกันและควบคุมที่เหมาะสม เพราะทำให้เกิดสภาวะสิ่งแวดล้อมเป็นพิษ (มลพิษ) อากาศเป็นพิษ รัฐบาลได้ถือเป็น “วาระแห่งชาติ” (National Agenda) มาตั้งแต่ปี 2558 ตามมติ คสช.เมื่อ 17 มีนาคม 2558 ซึ่งต้องมีการใช้อำนาจแก้ไขปัญหาเชิงบูรณาการ (Integrated) ผนึกกำลังร่วมกันทุกภาคส่วนหลายหน่วยงาน รัฐบาลได้มอบหมายกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม (ทส.) เป็นเจ้าภาพบูรณาการแก้ไข “ปัญหาหมอกควัน” อย่างเป็นระบบ โดยเฉพาะใน 9 จังหวัดภาคเหนือ(ตอนบน) โดยมีกฎหมายเกี่ยวข้องหลายฉบับคือ พ.ร.บ.ส่งเสริมและรักษาคุณภาพสิ่งแวดล้อมแห่งชาติ พ.ศ.2535 และกฎหมายเฉพาะเรื่องที่ไม่ใช่เรื่องอากาศ ได้แก่ พ.ร.บ.ทรัพยากรน้ำ พ.ศ.2561 นอกจากนั้นยังกระจัดกระจายอยู่ในกฎหมายอื่นๆ อีกหลายฉบับ เช่น พ.ร.บ.การสาธารณสุข พ.ศ.2535 พ.ร.บ.การขนส่งทางบก พ.ศ.2522

ในการเลือกตั้งผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร (กทม.) เมื่อวันที่ 22 พฤษภาคม 2565 เกิดแนวนโยบายหาเสียงมิติใหม่ของผู้สมัครในปัญหาสิ่งแวดล้อมเมืองเรื่อง “ฝุ่น-ขยะ-พื้นที่สีเขียว” ตาม “กระแสสิ่งแวดล้อม” (Green Policy) เพื่อแก้ไขปัญหาฝุ่น PM2.5 เช่น เสนอส่งเสริมการคมนาคมขนส่งทางระบบรางให้มากขึ้น, การปลูก”ไม้ยืนต้น” สร้างกำแพงกรองฝุ่น เป็นต้น ตามผลสำรวจข้อมูลสถาบันสิ่งแวดล้อมไทย (TEI) พบว่า ปัญหาด้านสิ่งแวดล้อมที่ผู้สมัครผู้ว่าฯ กทม. ควรเร่งดำเนินการแก้ไขปัญหามากที่สุด 3 อันดับแรก ได้แก่ (1) มลพิษทางอากาศ (PM2.5) 39.2% (2) ขยะ 34.2% และ (3) พื้นที่สีเขียว 8.1% เป็น “Bangkok Goals”

มาตรการทางกฎหมายที่เกี่ยวข้อง

เนื่องจากปัญหา “หมอกควันฝุ่นพิษ PM2.5” ดังกล่าวข้างต้นเป็นวิกฤต ต้องแก้ไขร่วมมือกันเชิง “บูรณาการ” ในทุกมิติ ในมิติภาพกว้างของ “Green Policy” หรือ เศรษฐกิจ BCG โมเดล 3 ด้าน คือ Bio-Circular-Green Economy หรือเศรษฐกิจชีวภาพ เศรษฐกิจหมุนเวียน และเศรษฐกิจสีเขียว ซึ่งทั้ง 2 เศรษฐกิจ (B&C) นี้ อยู่ภายใต้ G-Green Economy ซึ่งมุ่งแก้ไขปัญหามลพิษ ซึ่งเป็นวาระสำคัญของการประชุม APEC 2022 (Asia-Pacific Economic Cooperation) หรือ การประชุมสุดยอดผู้นำความร่วมมือทางเศรษฐกิจในภูมิภาคเอเชีย-แปซิฟิก ที่ไทยเป็นเจ้าภาพเมื่อวันที่ 18-19 พฤศจิกายน 2565

เพื่อให้ “การบังคับใช้กฎหมาย” มีผลในทางปฏิบัติและเป็นรูปธรรม นอกเหนือจากยุทธศาสตร์ชาติ 20 ปีแล้ว ในส่วนของภายในประเทศ จึงเป็นหน้าที่ของรัฐต้องมีมาตรการเชิงรุก (Proactive) เพื่อให้การขับเคลื่อนนโยบายการแก้ไขปัญหาประสบผลสำเร็จ มองย้อนในรอบปีที่ผ่านมามีมาตรการสำคัญที่น่าสนใจ ในมาตรการทางกฎหมาย ได้แก่

(1) การกำหนด “เตาเผาศพ” เป็นแหล่งกำเนิดมลพิษ ต้องควบคุมเพราะทำให้ทิ้งอากาศเสีย ตามประกาศกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม (ทส.) เรื่อง กำหนดให้เตาเผาศพเป็นแหล่งกำเนิดมลพิษที่จะต้องถูกควบคุมการปล่อยทิ้งอากาศเสียออกสู่สิ่งแวดล้อม พ.ศ.2565 ตามความในมาตรา 68 แห่งพระราชบัญญัติส่งเสริมและรักษาคุณภาพ สิ่งแวดล้อมแห่งชาติ พ.ศ.2535 ประกาศในราชกิจจานุเบกษาเมื่อ 22 มิถุนายน 2565  

(2) ประกาศ กก.วล. (8 กรกฎาคม 2565) เปลี่ยนค่ามาตรฐาน PM2.5 ใช้วิธีตรวจอ้างอิงวิธีกราวิเมตริก

คือ (2.1) เดิม ค่าเฉลี่ย 24 ชั่วโมง ไม่เกิน 50 มคก./ลบ.ม. มีผลจนถึงวันที่ 31 พฤษภาคม 2565 ปรับใหม่เป็น ไม่เกิน 37.5 มคก./ลบ.ม. มีผลตั้งแต่วันที่ 1 มิถุนายน 2565 (2.2) เดิม ค่าเฉลี่ยราย 1 ปี ไม่เกิน 25 มคก./ลบ.ม. ปรับใหม่เป็น ไม่เกิน 15 มคก./ลบ.ม. มีผลบังคับใช้ตั้งแต่วันที่ 9 กรกฎาคม 2565 เป็นต้นไป

ตามประกาศฉบับนี้มีผลต่อคดีปกครองสิ่งแวดล้อมที่นาย ภูมิ วชร เจริญผลิตผล ชาวบ้าน จ.เชียงใหม่ ยื่นฟ้อง กก.วล. คำสั่งของศาลปกครองเชียงใหม่คดีหมายเลขดำที่ ส.1/2564 คดีหมายเลขแดงที่ ส.1/2564 (8 เมษายน 2564) พิพากษาให้ กก.วล.ประกาศเขตควบคุมมลพิษในพื้นที่ 4 จังหวัด (เชียงใหม่, เชียงราย, ลำพูน, แม่ฮ่องสอน) ตามมาตรา 59 แห่ง พ.ร.บ.ส่งเสริมและรักษาคุณภาพสิ่งแวดล้อม พ.ศ.2535 คดีอยู่ระหว่างการพิจารณา เพราะในเนื้อหาแห่งคดีเป็นเรื่องเดียวกันกับที่ชาวบ้าน จ.เชียงใหม่ และองค์กรรักษ์สิ่งแวดล้อมได้ยื่นฟ้องคดี กก.วล.ดังกล่าว

ต่อมาในประเด็นเรื่องเดียวกันผู้ฟ้องคดีชาวบ้าน จ.เชียงใหม่คนเดียวกัน ได้ยื่นฟ้องคดีปกครองต่อศาลปกครองกลาง หมายเลขคดีดำที่ ส. 22/2564 ลงวันที่ 26 ตุลาคม 2564 ศาลรับคำฟ้องเมื่อวันที่ 28 ตุลาคม 2564 โดยมีคำขอท้ายฟ้องขอให้ กก.วล. ประกาศมาตรฐานฝุ่นที่ 37 มคก./ลบ.ม.ตามมาตรฐาน FRM (Federal Reference Method องค์กรพิทักษ์สิ่งแวดล้อม แห่งสหรัฐอเมริกา) คดีอยู่ในระหว่างการพิจารณาของศาลสูง

มีข้อสังเกตว่า เป็นคดีปกครองที่ดำเนินการล่าช้ามาถึง 2 ปีแล้ว ทั้งที่เป็นคดีการฟ้อง “ละเลยล่าช้า” ของหน่วยงานที่มีหน้าที่และอำนาจ แต่ไม่ดำเนินการตามกฎหมายให้ถูกต้อง สำหรับ “ค่าเฉลี่ยมาตรฐาน” PM2.5 (24 ชั่วโมง) ไม่เกิน 37.5 มคก./ลบ.ม. ตามที่ กก.วล.ได้ประกาศนั้น ปรากฏว่า “คำขอท้ายฟ้อง” ของชาวบ้าน ขอให้ กก.วล.ประกาศค่าที่ 37 มคก./ลบ.ม. ซึ่งตามประกาศนั้น มีค่าความแตกต่างสูงกว่าคำขอท้ายฟ้องเพียง 0.5 มคก./ลบ.ม. ซึ่งไม่มีนัยยะสำคัญใดๆ จึงไม่ทราบว่า กก.วล. อ้างอิงตัวเลขค่าไม่เกิน 37.5 มคก./ลบ.ม. มาจากแหล่งข้อมูลใด

นอกจากนี้ยังมีคดีปกครองอื่นที่ต่อเนื่องสืบเนื่องกันอีก ที่มีเนื้อหาแห่งคดีเป็นเรื่องเดียวกันคล้ายกัน ได้แก่ องค์กรรักษ์สิ่งแวดล้อมได้ยื่นฟ้องรัฐเช่นกัน คือ “กรีนพีซ-หมอชนบท” ฟ้องศาลปกครอง (22 มีนาคม 2565) กรณีการแก้ปัญหาฝุ่นพิษ PM2.5

ในส่วนของท้องถิ่นเขตเมืองใหญ่ ปัจจุบัน กทม.ได้เปิดตัว Line Alert เพื่อแจ้งเตือนว่าจุดพื้นที่ใดที่ PM2.5 เกินกว่า 90 มคก./ลบ.ม. เพื่อการควบคุมป้องกันฝุ่น กทม.เกินเกณฑ์มาตรฐานด้วยข้อมูลแบบเรียลไทม์

(3) นโยบายการเก็บภาษีปล่อยคาร์บอน (Carbon Tax) กรมสรรพสามิต (12 กันยายน 2565) ได้ศึกษาเตรียมจัดเก็บภาษีปล่อยคาร์บอน เป้าหมายใน 5 ประเภทอุตสาหกรรมหลัก  คือ (1) ปูน (2) เหล็ก (3) อลูมิเนียม (4) ปุ๋ย และ (5) ไฟฟ้า ซึ่งเป็นไปตามมาตรฐานโลก และการจัดเก็บก็ทำได้ 2 รูปแบบ คือ (1) คำนวณจากสินค้าหน้าโรงงาน ใครผลิตออกมาเยอะ เก็บเยอะ ใครไม่ปล่อยคาร์บอนก็ไม่เก็บ และ (2) คำนวณจากกระบวนการผลิต ต้นน้ำ ปลายน้ำ ซึ่งจะต้องร่วมมือกับองค์การบริหารก๊าซเรือนกระจก ว่าจะมีแนวปฏิบัติอย่างไร ซึ่งการศึกษาจะได้เห็นผลในปีงบประมาณ 2566 โดยในปี 2566 กรมสรรพสามิตตั้งเป้าหมายการจัดเก็บรายได้ที่ 5.67 แสนล้านบาท เป็นการสนับสนุนเป้าหมายประเทศไทยในการเป็นกลางทางคาร์บอน (Carbon Neutrality) ในปี 2050 และปล่อยก๊าซเรือนกระจกสุทธิเป็นศูนย์ (Net Zero Emission) ภายในปี 2065

ซึ่งสอดคล้องกับ Greenpeace ประเทศไทยที่เห็นว่า รัฐต้องเอาผิดอุตสาหกรรมเนื้อสัตว์ที่ก่อให้เกิดฝุ่น PM2.5 และการทำลายป่า เพราะข้าวโพดเลี้ยงสัตว์อุตสาหกรรมเนื้อสัตว์คือที่ก่อให้เกิดฝุ่น PM2.5 ที่สำคัญ

ทำให้เกิดปัญหาฝุ่นควันภาคเหนือ มลพิษข้ามพรมแดน และการสูญเสียป่าไม้เพื่อเป็นพื้นที่ปลูกข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ ข้าวโพดเลี้ยงสัตว์เป็นส่วนประกอบหลักของอาหารสัตว์เพราะมีราคาถูกกว่า ซึ่งผลผลิตข้าวโพดส่งออกในอุตสาหกรรมเนื้อสัตว์แก่ สหรัฐอเมริกา และจีน ด้วยข้ออ้างว่าปัญหาฝุ่นควัน PM2.5 โดยเฉพาะในภาคเหนือเกิดจาก “การเผาไร่” ของเกษตรกรเป็นตัวการ สาเหตุของการเผาซับซ้อนกว่าที่หลายคนคิดเกษตรกรต้องเป็นจำเลยของสังคม แต่แท้จริงแล้วยังมี “ระบบ” ที่ผลักให้เกษตรกรต้องตกอยู่ในวังวนเกษตรพันธสัญญา

(4) แผนปฏิบัติการด้านการจัดการขยะของประเทศ ฉบับที่ 2 ยกระดับการบริการจัดการขยะมูลฝอยทั่วประเทศ ตั้งแต่ต้นทาง-ปลายทาง ที่ผ่านมายังต่ำกว่าเป้า ข่าวรัฐบาลเน้นย้ำการจัดการขยะทั่วประเทศให้ได้ตามเป้าหมายที่ร้อยละ 80 ยกระดับการบริการจัดการขยะมูลฝอย โดยให้ความสำคัญกับการจัดการขยะ ณ ต้นทาง ตามวัฏจักรชีวิตผลิตภัณฑ์ (Product Life Cycle) ครอบคลุมถึงการกำจัดขยะ ณ ปลายทาง เพื่อนำทรัพยากรกลับมาใช้ใหม่ได้อย่างคุ้มค่า ส่งเสริมการบริโภคที่ยั่งยืน สอดคล้องกับแนวคิดเศรษฐกิจ BCG คณะรัฐมนตรีได้รับทราบแผนปฏิบัติการด้านการจัดการขยะของประเทศ ฉบับที่ 2 (พ.ศ.2565-2570) เมื่อวันที่ 1 พฤศจิกายน 2565 ต่อเนื่องจากแผนแม่บทการบริหารจัดการขยะมูลฝอย (พ.ศ.2559-2564) ซึ่งมีผลการดำเนินการ เช่น การจัดการขยะมูลฝอยอย่างถูกต้อง สำเร็จร้อยละ 69 (เป้าหมายร้อยละ 75)  การจัดการของเสียอันตรายชุมชน สำเร็จร้อยละ 22 (เป้าหมายร้อยละ 30) และการจัดการมูลฝอยติดเชื้อ สำเร็จร้อยละ 90.85 (เป้าหมายร้อยละ 100) ซึ่งส่วนใหญ่ยังไม่บรรลุตามเป้าหมายที่กำหนด จากปัญหาและข้อจำกัดต่างๆ เช่น สถานที่กำจัดขยะมูลฝอยชุมชนของรัฐและเอกชนส่วนใหญ่ไม่ถูกต้องตามหลักวิชาการ ระบบติดตาม กำกับและควบคุมการดำเนินงานของสถานที่กำจัดขยะมูลฝอยยังไม่ทั่วถึงและเพียงพอ รวมถึงกฎหมายในการจัดการขยะมูลฝอยในปัจจุบันไม่สามารถกำกับดูแลให้องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น (อปท.) ดำเนินการอย่างถูกต้องตามหลักวิชาการ ดังนั้น แผนปฏิบัติการฯ ฉบับที่ 2 จึงเน้นการจัดลำดับความสำคัญของการจัดการขยะรูปแบบใหม่และการบริหารจัดการขยะให้มีประสิทธิภาพมากยิ่งขึ้น

โดยแผนปฏิบัติฯ ฉบับที่ 2 มีเป้าหมายที่สำคัญ เช่น ขยะมูลฝอยชุมชนได้รับการจัดการอย่างถูกต้อง ร้อยละ 80, ของเสียอันตรายชุมชนได้รับการจัดการอย่างถูกต้อง ร้อยละ 50 และมูลฝอยติดเชื้อได้รับการจัดการอย่างถูกต้อง ร้อยละ100 ซึ่งทั้งหมดจะเป็นการจัดการที่ครอบคลุมทั้งการจัดการขยะพลาสติก ขยะบรรจุภัณฑ์ ขยะอาหาร ขยะมูลฝอยชุมชน ของเสียอันตรายชุมชน ซากผลิตภัณฑ์เครื่องใช้ไฟฟ้าและอุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์ มูลฝอยติดเชื้อ และกากอุตสาหกรรมที่เป็นอันตราย ให้ความสำคัญกับการจัดการ ณ ต้นทาง ตามวัฏจักรชีวิตผลิตภัณฑ์เพื่อป้องกันการเกิดขยะ ตั้งแต่การออกแบบการผลิตภัณฑ์ที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม (Eco Design) ส่งเสริมการบริโภคที่ยั่งยืนโดยเลือกใช้สินค้าหรือผลิตภัณฑ์ที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม สามารถใช้ซ้ำและเรียกคืนกลับไปรีไซเคิล มีระบบการคัดแยก ณ แหล่งกำเนิด เพื่อให้มีการนำทรัพยากรกลับคืนจากของเสียให้มากที่สุดทั้งในรูปแบบวัสดุรีไซเคิล (Material recovery) และพลังงาน (Energy recovery) เพื่อให้เหลือขยะที่ต้องกำจัดให้น้อยที่สุด (Final disposal)

(5) ทส.เปลี่ยนชื่อ “กรมส่งเสริมคุณภาพสิ่งแวดล้อม” ปรับโครงสร้างหน่วยงานตั้งเป็น “กรมการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศและสิ่งแวดล้อม” (ข่าว 21 ธันวาคม 2565) มีหน้าที่และอำนาจเกี่ยวกับการขับเคลื่อนภารกิจรองรับกับการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศหลายด้าน อาทิ เสนอแนะและจัดทำนโยบาย ยุทธศาสตร์ แผน มาตรการเกี่ยวกับการจัดการการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศของประเทศ การลดก๊าซเรือนกระจก และการปรับตัวต่อการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ และขับเคลื่อนเพื่อนำไปสู่การปฏิบัติที่เป็นรูปธรรม ติดตาม ตรวจสอบ ประเมินผลการดำเนินงานตามนโยบาย ประเมินความเสี่ยงและผลกระทบจากการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศจัดทำและให้บริการข้อมูลและข้อสารสนเทศด้านการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ จัดทำบัญชีก๊าซเรือนกระจกของประเทศ ศึกษา วิจัย พัฒนา ถ่ายทอด และส่งเสริมเทคโนโลยีการจัดการด้านการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ เป็นศูนย์เทคโนโลยีสะอาดและศูนย์ปฏิบัติการอ้างอิงด้านสิ่งแวดล้อม ตลอดจนดูแลภารกิจเพื่อให้ไทยดำเนินการตามพันธกรณีของอนุสัญญา พิธีสาร และความตกลงระหว่างประเทศ เสนอแนะแนวทาง และท่าทีในการเจรจาความตกลงระหว่างประเทศที่เกี่ยวข้องและรายงานข้อมูลตามพันธกรณีระหว่างประเทศด้วย

จากมาตรการทางกฎหมายดังกล่าว เป็นผลการดำเนินการของรัฐในการขับเคลื่อนการแก้ไขปัญหาหมอกควันฝุ่นพิษ PM2.5 ดังกล่าว เพียงเฉพาะบางส่วน แต่ในการดำเนินการเชิงบูรณาการนั้นยังมีมาตรการและวิธีอื่นอีกมากมาย ในหลายๆ โครงการแน่นอนว่า “เป็นโครงการที่ท้องถิ่นสามารถดำเนินการได้โดยตรง” เช่น ในเรื่อง การลดพลังงานฟอสซิล (Fossil Fuel) และหันไปใช้พลังงานทดแทนหรือพลังงานทางเลือก (Alternative Energy) การใช้พลังงานชีวมวลในการผลิตไฟฟ้า โครงการโซลาร์เซลล์ โครงการผลิตพลังงาน(ทดแทน)จากขยะ โครงการรถพลังงานไฟฟ้า โครงการระบบขนส่งมวลชน โครงการถังขยะเปียกลดโลกร้อน โครงการคัดแยกขยะ โครงการกำจัดบ่อขยะรวม ฯลฯ เป็นต้น

ผู้เขียนกำลังมองเน้นในมิติของพื้นที่ แน่นอนว่าต้นธารแห่งพื้นที่ “ฝุ่นพิษ” ล้วนอยู่ในความรับผิดชอบของ “ท้องถิ่น” หรือ อปท.ทั้งสิ้น นับตั้งแต่เมืองใหญ่ ไปถึงเมืองเล็กและชนบท ได้แก่ กทม. เมืองพัทยา เทศบาล และ อบต. ล้วนต้องเผชิญกับภาวะวิกฤต “หมอกควันฝุ่นพิษ PM2.5” แบบเลี่ยงไม่ได้ แต่ “หน้าที่และอำนาจ” ตามกฎหมายนั้น อปท.หาได้มีอำนาจเต็มไม่ เพราะหน้าที่และอำนาจการบริหารจัดการไฟป่า (Forest Fire Control) คืออำนาจของผู้ว่าราชการจังหวัด, สำนักป้องกันรักษาป่าและควบคุมไฟป่า กรมป่าไม้ และ กรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืช ทส. โดยเป็นการบูรณาการร่วมกันระหว่าง อปท. อำเภอ จังหวัด กระทรวง มท. ทส. และ กอ.รมน. รวมทั้งเครือข่ายจิตอาสาฯ องค์กรเอกชน เป็นห่วงว่า “วาระแห่งชาติ” ในการแก้ไขปัญหาวิกฤติฝุ่นหมอกควันพิษ จะมีการขับเคลื่อนกันเพียงใด เพราะว่าเป็นเรื่องใหญ่เกินกว่าที่หน่วยงานใดหน่วยหนึ่งจะรับผิดชอบได้เฉพาะ ที่สำคัญในวิกฤตินี้อย่ามองข้าม “องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น” (อปท.) ไปเสียหล่ะ