ลีลาชีวิต / ทวี สุรฤทธิกุล
เชื่อกันต่อ ๆ มาว่ารักแท้คือ “การเสียสละ” ทั้งที่ความจริงนั้นรักแท้คือรักตัวเอง หรือ “เห็นแก่ตัวอย่างยิ่ง” นั่นเอง
ในยุค 90 หรือช่วง ค.ศ. 1981 – 1990 (พ.ศ. 2524 - 2533) เป็นยุคที่ประเทศไทย “โชติช่วงชัชวาล” คือการเมืองก็สงบนิ่งพอสมควร ภายใต้การนำประเทศของพลเอกเปรม ติณสูลานนท์ มีการค้นพบแหล่งก๊าซธรรมชาติจำนวนมหาศาลในอ่าวไทย ธุรกิจและกิจการการค้าอุตสาหกรรมรุ่งเรือง นำมาสู่การเก็งกำไรและภาวะฟองสบู่ในช่วงท้าย ๆ ส่วนในทางสังคมก็ฟุ้งเฟ้อเห่อสุข ผู้คนรักสนุกแสวงหาความสำราญ ใช้ชีวิตอย่างกับว่าจะไม่มีวันพรุ่งนี้
ชีวิตในมหาวิทยาลัยของไชยาก็เช่นกัน จากชีวิตในโรงเรียนมัธยมชายล้วน มาสู่แหล่งรวมสาวสะคราญหลากหลาย ทำให้เหมือนเป็นโลกใหม่สำหรับเด็กวัยรุ่นทุกคน ในห้องเรียนมีการจับคู่ให้กับคนโน้นคนนี้ มี “ทะแนะ” หรือพ่อสื่อคอยแนะนำให้ลอง “วิชาจีบ” แนวนั้นแนวนี้ แต่สำหรับไชยาแล้วดูเหมือนเขาจะมีส่วนที่ได้เปรียบคนอื่นอยู่มาก นั่นก็คือ “หน้าตา” อย่างที่เรียกในสมัยนี้ว่า “หล่อเลือกได้” จะขาดก็แต่ความกล้าและคารมในการเข้าหาและสื่อสาร ซึ่งเขาก็พยายามพัฒนาและฝึกฝนอยู่อย่างสม่ำเสมอ
ไชยามาเข้าชมรมฟุตบอลในตอนปลายเทอมของการเป็นน้องใหม่ กิจกรรมกลังซ้อมก็คือรุ่นพี่จะพารุ่นน้องไป “ดื่มกิน” ตามร้านต่าง ๆ รอบ ๆ มหาวิทยาลัย ส่วนมากจะเป็นร้านอาหารตามสั่งที่มีราคาไม่แพง ร้านหนึ่งที่ไปกันบ่อยกว่าร้านอื่นก็คือ “ร้านแมงสาบ” เพราะมีแมลงสาบวิ่งออกมาขออาหารในเวลาที่มีคนไปนั่งรับประทานอาหารในร้าน แต่ก็ไม่ได้ขึ้นมาที่จานอาหาร อยู่แต่ตามพื้นและจะกินเฉพาะที่คนทำหล่นหรือโยนให้กินเท่านั้น ที่สำคัญคืออาหารอร่อย ปริมาณเยอะ และปิดดึกเท่าที่ลูกค้ายังอยากนั่งต่อ จึงถูกใจบรรดาคอสุราทั้งหลายที่มักจะนั่งกันจนรากงอก
วันหนึ่งที่ร้านแมงสาบ พวกรุ่นพี่ 3 คน กับรุ่นน้องอีก 3 คน คือพวกที่เหลืออยู่ติดโต๊ะจนถึงสี่ทุ่ม จากที่มานั่งดื่มกินตั้งแต่บ่ายสี่โมงราวสิบกว่าคน ทุกคนจึงกรึ่มกันได้ที่ รุ่นพี่คนหนึ่งสั่งเช็กบิลแล้วพากันเบียดเสียดขึ้นรถรุ่นพี่อีกคนบึ่งออกไปจากร้าน สักพักใหญ่ ๆ ก็มาถึงกลางซอยเอกมัย รถเลี้ยวขวับเข้าไปข้างตึกแถว ไชยาจำได้ราง ๆ ว่าเป็นโรงแรมม่านรูด มีชื่อเป็นตัวเลขว่า “99” อะไรสักอย่าง พอรถเข้าช่องจอดก็มีคนมารูดม่านปิดทันที นิสิตหนุ่มทั้งหกคนมานั่งอยู่ในห้อง ห้องหนึ่ง สักพักก็มีสาว ๆ ที่ไชยาจำไม่ได้ว่าหน้าตาเป็นอย่างไรบ้าง เพราะนอกจากจะเมามึนจนตาลายแล้ว ก็ออกจะประหม่าและตื่นเต้นเอามาก ๆ จำได้แต่ว่ารุ่นพี่จับคู่หญิงสาวคนหนึ่งให้กับเขา แล้วเธอคนนั้นก็เดินนำไชยาไปที่อีกห้องหนึ่ง เธอให้ไชยาไปอาบน้ำ พอออกมาเธอก็พูดเบา ๆ ระหว่างที่เธอก็แต่งตัวด้วยผ้าขนหนูผืนเดียว บอกกับเขาว่า “พี่จะขึ้นครูให้นะ”
หลังจากวันนั้น ไชยาก็มีความมั่นใจว่าเขาเป็น “แมน” ขึ้นมาเป็นอย่างมาก เขาไม่ขัดเขินที่จะคุยกับนิสิตสาว ๆ ทั้งรุ่นพี่และรุ่นเดียวกัน และเมื่อเขาขึ้นชั้นปีสองเขาก็ยังมีความกล้าหาญทที่จะเข้าหาและสื่อสารกับรุ่นน้อง ๆ ต่อไปอีกด้วย กระนั้นเขาก็เพียงแค่ทดสอบ “วิชาหลี” ที่หมายถึงการเกี้ยวพาราสีแบบหนุ่มสาว (คนที่ชอบจีบหญิงเอามาก ๆ จะถูกเรียกในสมัยนั้นว่า “คนแซ่หลี”) แล้วเอาไว้อวดคุยกันในหมู่เพื่อน ๆ แต่ถ้าอยากจะทำอะไรที่เป็นแมน ๆ มากไปกว่านั้น พวกเขาก็จะพากันไปตามแหล่งต่าง ๆ ที่ฮิต ๆ กันมากในสมัยนั้นก็จะเป็นอาบอบนวดแถวถนนเพชรบุรีตัดใหม่ เพราะค่อนข้างจะสะอาดกว่าตามโรงแรมม่านรูด แต่กระนั้นก็ต้องใช้ความระมัดระวังอย่างยิ่ง เพราะมีโรคร้ายที่แพร่กระจายอย่างน่ากลัวอยู่ตอนนั้น ซึ่งก็คือ “โรคเอดส์” ที่ใครเป็นแล้วก็รอดชีวิตได้ยาก ดีที่ว่านิสิตนักศึกษาอยู่ในวัยที่ยังไม่มีรายได้ของตนเอง จึงไม่ได้ไปซื้อบริการที่เสียงภัยต่อชีวิตดังกล่าวนั้น
ไชยาเป็นอีกคนหนึ่งที่อยู่ในกลุ่มที่ชอบจีบสาวไปเรื่อย ๆ แต่ก็ไม่มีอะไรเกินเลยไปกว่าแต่เป็นเพื่อนเที่ยวเพื่อนคุย รวมถึงที่เขาชอบที่จะพิสูจน์ทฤษฎีของผู้คนที่แนะนำเขามา ที่มีรางวัลเดิมพันเป็นอาหารมื้อหนึ่งหรือการดื่มกิน “ 1 เมา” เพียงเพื่ออยากจะพิสูจน์ว่าผู้หญิงที่ไปจีบนั้นเธอชอบหรือหรือไม่ชอบอะไร เช่น ชอบอาหารการกินหรือข้าวของเครื่องใช้อะไร อย่างนี้เป็นต้น และส่วนตัวของไชยาเองเขาก็อยากพิสูจน์ “แรงขับ” บางอย่างในตัวเขาที่มีมาตั้งแต่เด็ก ๆ นั่นก็คือ “สาวในสเปก” ที่เขาพยายามค้นหาว่า “ผู้หญิงในอุดมคติ” ของเขานั้นจะต้องมีรูปสมบัติและคุณสมบัติต่าง ๆ อย่างไร
มหาวิทยาลัยที่ไชยาเข้าเรียนมีระบบอาวุโสหรือ “ซีเนียริตี้” ที่ค่อนข้างเข้มข้น ซึ่งก็มีผลดีกับการช่วยเหลือเกื้อกูลกันทั้งในระหว่างเรียนและเมื่อเรียนจบออกหางานทำ ไชยาเรียนทางด้านการบริหาร เขาก็ได้รับการแนะนำว่าให้ไปหารุ่นพี่ที่บริษัทนั้นบริษัทนี้ ซึ่งก็ล้วนแต่เป็นบริษัทขนาดใหญ่ เพียงบริษัทแรกที่เขาไปสัมภาษณ์งานก็รับเขาเข้าทดลองงานทันที เพราะคนที่สัมภาษณ์นั้นเป็นรุ่นพี่ที่ได้รับการแนะนำจากรุ่นพี่คนอื่น ๆ อีกที และด้วยบุคลิกภาพกับหน้าตาที่เป็นจุดเด่น ก็ทำให้ไชยาได้รับการพิจารณาอย่างง่ายดาย แม้ว่าผลการเรียนของเขาจะอยู่ในระดับปานกลาง แต่ด้วยระบบการฝากฝังและ “รุ่นพี่รุ่นน้อง” ก็ทำให้ข้ามพ้นอุปสรรคเหล่านั้น
ไชยาเป็น “ป๊อปปูลาร์” ในบริษัทเป็นอย่างมาก ในฐานะที่เขาเป็นนักบริหารงานบุคคล หน้าที่การงานของเขาก็จำเป็นต้องคลุกคลีกับผู้คนในบริษัทในทุกระดับ ซึ่งก็แน่นอนว่าเสน่ห์ของเขาเป็นที่ดึงดูดในหมู่สาวมากสาวน้อยในบริษัทจนเลื่องลือ โดยที่เขาก็ไม่ได้แสดงออกว่าเอาใจคนไหนจนประเจิดประเจ้อ เขาทำงานอยู่ที่บริษัทจนได้บรรจุงาน และได้โปรไฟล์ในอายุงานอีก 2 ปี เขาก็ลาออกแล้วไปสมัครทำงานอีกบริษัทหนึ่ง และด้วยโพรไฟล์ที่สวยงามทำให้เขาได้รับเงินเดือนที่ดีกว่าที่เดิมถึงเท่าตัว มาถึงตอนนี้เขาก็รู้สึกว่าเขามีสถานะที่ดีขึ้นพอสมควร เขาจึงพยายามที่จะมองหา “สถานะใหม่ ๆ” คือจากสถานะ “หนุ่มออฟฟิส” ไปสร้างสถานะใหม่ในสังคมภายนอก ที่เขาพยายามที่จะใช้ความเป็นหนุ่มเนื้อหอมเพราะหน้าตาดีติดตัวมา สร้างสถานะเป็น “หนุ่มสังคม” เพื่อพิสูจน์ความสามารถของเขาในโลกภายนอกที่กว้างชวางออกไปกว่าเดิม
เขาดาวน์รถมือสองออกมาใช้คันหนึ่งเพื่อความคล่องตัวในการเดินทางไปในโอกาสต่าง ๆ รวมถึงเอาไว้พาสาว ๆ ที่เขาทดลองจีบไปเที่ยวไปทานอาหาร เพียงแต่เขายังไม่พาใครเข้าบ้าน ทั้งที่แม่ของเขาก็คอยถามอยู่บ่อย ๆ ว่า เขามี “คนรู้ใจ” หรือยัง รวมทั้งตอยตักเตือนอยู่เสมอว่า “อย่าทำร้าย” สาวคนไหน ซึ่งแม่บอกว่ามันจะทำให้เขา “หมดอนาคต” และถ้าจะตกลงปลงใจกับใครก็ขอให้บอกแม่ก่อน อย่างน้อยก็ขอให้แม่ได้รับรู้ว่าเขามีใคร โดยที่แม่จะไม่เป็นเจ้ากี้เจ้าการหรือแทรกแซงอะไรทั้งสิ้น
อย่างที่สำนวนโบราณท่านว่าไว้ “เลือกนักมักได้แร่” ซึ่งไชยาก็เกือบจะเป็นไปในแนวนั้น