ปากกาขนนก / สกุล บุณยทัต
“ความงามอันเกิดจากความถ่องแท้ ในการเห็นแจ้งต่อภาวะชีวิต นับเป็นสิ่งที่แสนจะล้ำค่าที่จิตวิญญาณมีโอกาสได้สัมผัสรับ …มันคือความตระหนักรู้ที่เปี่ยมเต็มไปด้วยค่าความสุข เท่าที่ชีวิตหนึ่งจะพึงได้ประจักษ์ การผูกโยงเกี่ยวเนื่องในกันและกัน นับเป็นอุบัติการณ์แสนงามในปรากฏการณ์ของความหยั่งรู้ ที่เป็นความหมาย...
อะไรคือฐานรากของสิ่งใด?...ในวันเวลาที่เราต่างใช้ชีวิตอยู่ ใช้ชีวิตออกไปเบื้องหน้า ในท่ามกลางมลภาวะของอุปสรรคนานาในการจัดการกับชีวิต...กระทั่งวันใดวันหนึ่ง..ที่เรามีโอกาสได้เปิดประตูกลของชีวิตที่แอบซ่อนคุดคู้อยู่...สู่ทางสว่างของปัญญาญาณ...เราจึงจะเห็นผลว่า...นิยามของสิ่งต่างๆที่ขับเคลื่อนเป็นวัฏจักรอยู่นั้น...มีกลไกเฉพาะตัวที่ยากจะตีความยิ่ง...”
นี่คือ “สาระแห่งใจ” ของหนังสือที่งดงามทางความคิดและเหนือจริงทางความรู้สึกโดย “โวล์ฟ แอร์ลบรูค” (Wolf Erlbruch) นักเขียน นักวาด นัก “คอลราจ” (ศิลปะตัดแปะ) ที่ชอบใช้การเล่าเรื่องสื่อสารถึงสาระเนื้อหานั้นๆ ด้วยการเล่าเรื่องแบบเนื้องานของผู้ใหญ่...ผ่านงานหนังสือภาพของเด็กๆ...ไม่ว่าจะเป็นการเล่าถึง ความหมายของชีวิต ความตายของผู้คน ...ด้วยหวังว่าหนังสือจะสื่อถึงทุกคน ทุกเพศ ทุกวัย ให้ได้รับรู้ โดยเขามีความเชื่อว่า เรื่องทุกเรื่องที่เกิดขึ้นและเป็นไปบนโลกนี้... “เป็นเรื่องของทุกๆคน”
หนังสือเล่มนี้...เป็นหนังสือที่ได้รับการยกย่องว่า..คือหนังสือ “ปรัชญาที่นุ่มนวล” (soft philosophical)....ด้วยสถานการณ์แห่งชีวิตของผู้คนทุกผู้ทุกนาม ล้วนมีความตายอยู่เคียงข้าง...
เหตุดั่งนี้ “...เป็ด ความตาย และ ดอกทิวลิป..”จึงมีโอกาสได้พูดคุยด้วย...
ความตายเป็นสิ่งที่คนเราต่างรู้สึกและคิดไปว่า มันช่างอยู่ห่างไกลจากเราเหลือเกิน ทั้งๆที่ในความจริงแล้วมันช่างอยู่ชิดใกล้กับเรา...ครั้นเมื่อต้องประสบพบเจอ ความหวั่นไหวพรั่นพรึงย่อมต้องเกิดขึ้น...เหมือนดั่งเช่นตัวละคร “เจ้าเป็ดน้อย” ในเรื่อง...ที่รู้สึกหวาดหวั่นเมื่อได้แลเห็นความตาย เข้าจริงๆ..เธอยากจะยอมรับได้..และ เต็มไปด้วยนัยแปลกแยกจนแทบจะหมดพลัง
ยิ่งได้สนทนากัน ความกลัวก็ยิ่งจะคุกคาม...เมื่อครุ่นคิดไปกับบทสนทนาระหว่างกัน เจ้าเป็ดน้อยก็อยากจะสลัดความสัมพันธ์นั้นไปเสียให้พ้น...พวกเขากำลังคุยกันเรื่องอะไร?...มันหาใช่ความสุขหรือความหวังที่ทอดยาวไปเบื้องหน้าแต่อย่างใดไม่...
แต่จริงๆแล้วมันคือ... “วิถีแห่งสัจจะ...” วิถีที่เจ้าเป็ดน้อยต้องจำยอมและยอมรับว่า...ไม่ว่าจะเป็นเมื่อไหร่ก็ตาม...การก้าวไปสู่อนาคตจวบจนวันสุดท้ายของชีวิต..ก็จักต้องมีความตายเป็นเพื่อนร่วมเดินทาง...และจำเป็นที่จะต้องแบ่งปันห้วงเวลาแห่งการเอื้ออาทรสู่กันและกัน...เสมอ..
* “เธอเป็นใคร....เธอมาทำอะไรถึงตามฉันมา?”
*“ดี....ในที่สุดเธอก็สังเกตเห็นฉัน...ฉันคือความตาย”
*”เธอจะพาตัวฉัน...ไปไหนเหรอ..?.”
*”โอ้...ฉันอยู่กับเธอมาตลอดนั่นแหละ...แค่เผื่อไว้”
ที่สุดแล้ว...เจ้าเป็ดน้อยก็กลายเป็นเพื่อนกับความตายโอบประคองกันไปในวันเวลาของชีวิต กระทั่งวันสุดท้ายของการมีลมหายใจ...แน่นอนว่า..คนเราทุกคนย่อมต้องแบ่งปันวันเวลาของชีวิตให้เป็นส่วนหนึ่งของความตายประจำชีวิต... มันคือครรลองของความเป็นจริงที่แท้อันยากจะปฏิเสธ..นั่นหมายถึงว่า...ชีวิตของพวกเราทุกคนต้องยอมรับถึงสิ่งนี้อย่างเข้าใจและน้อมคำนับ..ไปโดยตลอด..
“เป็นเวลานานที่ความตายเฝ้าดูเป็ดห่างไกลออกไป เมื่อลับสายตาสุดขอบแม่น้ำ เขาขยับตัวเล็กน้อย แต่นั่นก็คือชีวิตล่ะ ความตายคิดเช่นนั้น”
“แอร์ลบรูค”...ได้เลือกเป็ด...มาเป็นตัวละครสำคัญของเขา เพื่อเป็นตัวแทนแห่งบทแสดงถึง”ความไม่สมบูรณ์พร้อม”.ซึ่งเป็น..สถานะอันแท้จริงของสัตว์โลกทั้งหลาย...”เป็ด”ย่างก้าวช้า บินได้ไม่สูง ไม่กล้าออกจากฝูง มีเพียงการว่ายน้ำได้เป็นนัยสำคัญของการอยู่รอด...แต่เจ้าเป็ดน้อยตัวละครสำคัญตัวนี้...สามารถใช้ชีวิตแยกออกมาจากฝูงได้ มีการใคร่ครวญที่ลึกซึ้ง แม้จะไม่ฉับไวนัก แต่มันก็สร้างคุณประโยชน์ต่อชีวิตของตัวเองไม่น้อย
... “โลกแห่งความคิด” ...ทำให้ชีวิตก้าวไปข้างหน้าได้อย่างมีทิศทาง...ด้วยความมุ่งมั่นที่เข้าใจ...เป็นแสงฉายแห่งพุทธิปัญญาในการเล่าเรื่อง...ทั้งภาพวาดที่สื่ออารมณ์เฉพาะตัว ตลอดจนอารมณ์นานาของเรื่องที่สื่อทั้งความรู้สึกและความคิดให้ผู้อ่านได้ตระหนัก คิดใคร่ครวญ และ ปลดปลง...นับเนื่องได้ว่ามันคือประโยชน์สุขในการสัมผัสตีความ เรื่องเล่าที่เป็นยิ่งกว่าเรื่องเล่านี้...
เมื่อสัมผัสได้ว่า ความตายนั้นแนบชิดกับชีวิตของเราเสมอ...จิตวิญญาณของการเติบโตจะนำไปสู่สวนดอกไม้ของความกระจ่างแจ้ง...หนังสือเล่มนี้จะนำทางแห่งชีวิตของเราด้วยความคิดที่เปิดทางให้ได้พบกับแสงสว่าง....ที่สุดแล้วไม่ว่าจะต้องเผชิญกับโอกาสแห่งทุกข์หรือสุข...เราทุกคนก็จะสามารถยิ้มออกมาได้ในฐานะของผู้ที่ขึ้นมาอยู่เหนือความขลาดกลัวของตน...เหมือนดั่งการลอยล่องอย่างเสรีในสวนดอกไม้งามที่ไม่ก่อพิษภัยใดๆ
*เป็ดกับความตายได้กลายเป็นเพื่อนกัน...เขาทั้งสองชอบพูดคุยกันในเรื่องของความตาย และ ชีวิตหลังความตายว่ามันจะมีลักษณะเช่นไร..!
พวกเขาไปดำน้ำด้วยกัน....และจะนั่งกันบนกิ่งไม้เพื่อใคร่ครวญถึงว่า...อะไรจะเกิดขึ้นกับทะเลสาบของเป็ดหลังจากที่เธอได้ตายไปแล้ว..คำตอบในห้วงคำนึงของเจ้าเป็ดน้อยมีอยู่หลายมิติของความทรงจำ ไม่ว่าจะเป็น...เป็ดบางตัวได้กลายเป็นเทวดา ไปนั่งอยู่บนก้อนเมฆ และ มองย้อนกลับมายังโลก...จากภาวะดังกล่าวนี้ ความตายได้แสดงความเห็นว่า..มันเป็นไปได้ เพราะเป็ดมีปีกเป็นชีวิตที่สำคัญ
อีกคำตอบหนึ่ง...ถือได้ว่าน่าสนใจมาก..นั่นคือ...มีนรกอยู่ด้านล่าง ซึ่งมีเป็ดเลวรวมอยู่ด้วย ความตายตอบกลับมาว่า สิ่งที่เป็ดทุกตัวคิดถึงนั้นช่างน่าทึ่ง...”ไม่มีใครรู้”และ”ใครจะไปรู้ได้”
ในที่สุด...เป็ดก็ตาย..ความตายได้นำร่างของเธอไปที่แม่น้ำ วางเธอบนแผ่นน้ำเบาๆ..จากนั้นก็วางดอกทิวลิปไว้บนร่างที่ไร้ลมหายใจของเธอ...ดูเหมือนว่า ณ ตอนนั้นเธอจะหลงทาง..
“จะเกิดอะไรขึ้น เมื่อฉันตายไปแล้ว สระน้ำแห่งนี้คงเปลี่ยวเหงาน่าดู”
“เมื่อเธอตาย สระน้ำก็จะหายไปด้วย อย่างน้อยก็สำหรับเธอ”
เพื่อนทั้งสองใช้เวลาอยู่ด้วยกันตลอดฤดูร้อน..และเมื่อหิมะแรกโปรยปราย...เจ้าเป็ดก็หยุดหายใจ นอนตัวแข็งทื่อ..
ความตายอุ้มเจ้าเป็ดไปลอยในแม่น้ำ..บรรจงวางดอกทิวลิปสีแดง อันเป็นสัญญะหมายถึง ..”.ความมั่นคงในความรัก...ความรักหมดหัวใจที่ทั้งซื่อสัตย์และจริงใจของผู้ให้.”..บนหน้าอกของมัน และยืนมองร่างเจ้าเป็ดน้อย ลอยไปจนลับสายตา ภาพเบื้องหน้าทำให้ความตายเกือบร้องไห้.
“แต่นี่ก็คือชีวิตล่ะนะ!”...เขาคิด..
“โวล์ฟ แอร์ลบรูค”ผู้เขียนหนังสือเล่มนี้ เพิ่งเสียชีวิตไปเมื่อวันที่11ธันวาคมที่ผ่านมา..เขามีอายุได้ 74 ปี...ชีวิตและงานของเขานั้นได้รับการยกย่องอย่างมากมากมาย...ได้รับรางวัล “Hans Christian Andersen Medal” ในปี2006 และยังเป็นชาวเยอรมันคนแรกที่ได้รางวัล “Astrid Lindgren Memorial Award” ซึ่งเป็นรางวัลสำหรับวรรณกรรมเด็กระดับนานาชาติ...
ผลงานเล่มอื่นๆของเขาล้วนเป็นผลงานที่ทรงคุณค่าต่อใจอย่างยิ่งไม่ว่าจะเป็น.. “The Big Quesion..”.หนังสือภาพงดงามในลีลากวีนิพนธ์ หรือ The Story of the Mole who know it was none of his business…”ที่เขาได้ทำงานวาด ซึ่งก็ เป็นหนังสือเด็กสุดแสนตลกและขายดีไปกว่า 3 ล้านเล่ม...ทั่วโลก..
“วัชรวิชญ์”..แปลและถ่ายทอดความงามของหนังสืเล่มนี้ออกมาอย่างละเมียดละไมและกินใจยิ่ง...มันคือศิลปะแห่งความรู้สึกด้านลึกที่สื่อถึงกันด้วยหัวใจสู่หัวใจโดยแท้...
เมื่อโอกาสของชีวิตได้เปิดโอกาสให้เราได้พานพบ..ความงามแห่งประพันธกรรม ที่ถูกกลั่นออกมาจากหยาดหยดของอารมณ์ความรู้สึกแห่งชีวิต...นั่นถือว่าเป็นโชคอันวิจิตรตระการที่ควรจะฝังจำและรับไว้...มันไม่ใช่สิ่งที่จะเกิดขึ้นได้ง่ายๆ...ในชีวิตของคนเรา...แม้เมื่อใด!
“ในที่สุดเธอก็สังเกต เห็นฉัน...ฉันคือความตาย...!”