ช่วยกันคิด ช่วยกันทำ / ทหารประชาธิปไตย

ก่อนอื่นคงต้องทำความเข้าใจกับมาตรการแซงก์ชัน ว่าคืออะไรกล่าวโดยย่อ มันคือมาตรการที่จะยุติหรือปิดล้อมทางเศรษฐกิจต่อฝ่ายตรงข้าม ทั้งด้านการค้าและการเงิน ซึ่งประเทศตะวันตกโดยเฉพาะสหรัฐฯ นิยมใช้เป็นเครื่องมือในสงครามพันทาง แทนการทำสงครามกายภาพที่ต้องสิ้นเปลืองทั้งชีวิตผู้คนและทรัพย์สินของฝ่ายตน

ในอดีตสหรัฐฯ และพันธมิตรเคยใช้มาตรการแซงก์ชันมาแล้วบ้างไหม คำตอบคือ เคยทำมาแล้วกับประเทศเล็กๆ เช่น คิวบา เกาหลีเหนือ อิหร่าน ซีเรีย อัฟกานิสถาน เวเนซุเอลา และเมียนมา

แต่กับประเทศใหญ่นี่เป็นครั้งแรก คือ ที่กระทำกับรัสเซีย โดยเริ่มใช้มาตรการนี้เมื่อปี 2014 เมื่อรัสเซียบุกยึดไครเมีย แต่ก็ยังไม่เข้มข้นเท่ากับในปี 2022 เมื่อรัสเซียมีปฏิบัติการพิเศษทางทหารในยูเครน

แล้วมาตรการนี้ได้ผลตอบสนองตามที่ตั้งเป้าไว้ นั่นคือ บีบให้ฝ่ายตรงข้ามยอมจำนน เหมือนกับการทำสงครามโดยตรงหรือไม่ คำตอบคือ นอกจากจะไม่ได้ผลตามเป้าแล้ว กลับได้ผลในทางตรงข้าม นั่นคือ สร้างความเป็นศัตรูที่เข้มข้นมากขึ้นจากฝ่ายตรงข้าม

ถึงกระนั้นตะวันตก หรือ ยุโรป โดยการชักจูงของสหรัฐฯ ก็มิได้ละความพยายาม แต่ยังคงมาตรการแซงก์ชันกับประเทศเหล่านั้น และใช้มาตรการที่เข้มข้นมากขึ้นกับรัสเซีย ซึ่งเป็นประเทศใหญ่ ผลกระทบจึงเป็นวงกว้าง ทั้งกับประเทศอื่นๆในโลกที่ต้องเผชิญกับการขาดแคลนสินค้า พลังงาน จากปัญหา Supply Chain Disruption และ ปัญหาเงินเฟ้อ กับเศรษฐกิจชะลอตัวไปทั่วโลก

ทว่ายุโรปซึ่งเป็นคู่ค้าสำคัญของรัสเซีย โดยเฉพาะก๊าซธรรมชาติและน้ำมัน ซึ่งเป็นปัจจัยหลักในการผลิตและการขนส่งกลับได้รับผลกระทบในทางลบจากการแซงก์ชันมากกว่าเพื่อน

กระนั้นก็ตามยุโรปก็ยังไม่หยุดยั้งความพยายามที่เปรียบเหมือนการทำร้ายตัวเอง ด้วยการเพิ่มมาตรการ การแซงก์ชัน ด้วยการประกาศตั้งเพดาน ราคาน้ำมันดิบจากรัสเซีย ที่ 60ดอลลาร์ ต่อบาร์เรล ทั้งที่รัสเซียก็ขายในราคาต่ำกว่านั้นอยู่แล้ว จนทำให้รัสเซียประกาศเลิกขายน้ำมันให้ยุโรป แต่เปลี่ยนมาเพิ่มการขายให้เอเชีย ซึ่งเป็นลูกค้ารายใหญ่แทน

ล่าสุดยุโรปประกาศเพดานการซื้อก๊าซธรรมชาติ จากรัสเซีย ด้วยราคาประมาณ 1,850 ยูโรต่อก๊าซ 1 พันลูกบาศก์เมตร โดยกำหนดการใช้บังคับวันที่ 15 กุมภาพันธ์ 2023

ผลคือ รัสเซียประกาศงดขายก๊าซให้ยุโรป ซึ่งถ้าเราไปดูราคาที่ยุโรป เคยซื้อก๊าซจากรัสเซียนั้นมันประมาณ 2 เท่าของราคาเพดาน แต่ก็ยังถูกกว่าการซื้อก๊าซจากสหรัฐฯ ถึงกว่า 3 เท่า

ทีนี้มาพิจารณาดูว่ามาตรการแซงก์ชันที่ผ่านมามันเกิดอะไรขึ้นกับยุโรป ที่ชัดเจนคือ ราคาพลังงานเพิ่มสูงขึ้นกว่า 5 เท่า ประชาชนเดือดร้อน เกิดเงินเฟ้อเศรษฐกิจชะลอตัว และเกิดความแตกแยกในอียู เพราะมีหลายประเทศ ยอมรับสภาพนี้ไม่ได้ จึงมีการซื้อก๊าซและน้ำมันจากรัสเซีย แทนที่จะงดซื้อตามมาตรการแซงก์ชัน เช่น ฮังการี ที่ประกาศชัดเจน และมีอีกหลายประเทศที่แม้ไม่ประกาศ แต่ก็ยังคงซื้อทั้งก๊าซและน้ำมันจากรัสเซียอยู่ เพื่อบรรเทาความเดือดร้อนของประชาชน

นอกจากนี้ด้วยมาตรการแซงก์ชัน ยุโรปได้ทำการอายัดทรัพย์สินของรัฐบาลรัสเซีย เช่น ทุนสำรอง เงินตราระหว่างประเทศ จากธนาคารกลางรัสเซีย ตลอดรวมไปถึงเงินฝากและเงินลงทุนของเอกชน รัสเซียนับรวมกันแล้วเกือบ 3 แสนล้านดอลลาร์

เท่านั้นยังไม่พอรัฐบาลยุโรปพยายามหาทางที่จะยึดเงินเหล่านั้น แต่มันมีปัญหาทางกฎหมาย และสนธิสัญญาระหว่างประเทศ โดยเฉพาะมันขัดกับหลักการพื้นฐานของระบบเศรษฐกิจทุนนิยม

แน่นอนว่ารัฐบาลยุโรป อาจนำเรื่องเข้าสู่กระบวนการยุติธรรมเพื่อขออำนาจศาล ในการยึดทรัพย์เหล่านี้ได้ แต่ก็ต้องใช้เวลาต่อสู้กันนานหลายปีมาก

เหตุผลสำคัญคือทรัพย์สินส่วนมาก ถือว่าเป็นการลงทุนโดยต่างชาติ ซึ่งได้รับการคุ้มครอง และหากมีการดำเนินการอย่างใดอย่างหนึ่งก็ต้องตั้งอยู่บนพื้นฐานที่เท่าเทียมกัน กับการลงทุนของต่างชาติทุกประเทศ ตามสนธิสัญญาระหว่างประเทศที่มีรัสเซียเป็นผู้ร่วมลงนามด้วยกับประเทศในยุโรป

ส่วนทุนสำรองเงินตราระหว่างประเทศของธนาคารกลางรัสเซียนั้น ได้รับการคุ้มครองโดยกฎหมายระหว่างประเทศ ดังนั้นหากรัสเซียไม่อนุญาต ก็ไม่มีใครนำทุนสำรองนั้นไปใช้ได้

อีกประเด็นที่สำคัญ คือ หากสหรัฐฯ และพันธมิตรยุโรป ดำเนินการยึดทรัพย์ด้วยมาตรการอะไรก็แล้วแต่ มันเท่ากับยิงเท้าตนเองตามสำนวนฝรั่ง  นั่นคือจะทำลายความเชื่อมั่นของนานาประเทศที่ไปลงทุน ไปฝากเงินหรือนำทุนสำรองระหว่างประเทศไปฝากในสถาบันการเงินในสหรัฐฯ และยุโรป ทำให้หลายประเทศก็คงจะพยายามหาทางโยกย้ายถ่ายโอนเงินออกจากสหรัฐฯและยุโรป ซึ่งจะขาดรายได้ผลกำไร หรือผลประโยชน์อื่นๆในการพัฒนาประเทศของตนอย่างมาก และยังขัดกับหลักการทุนนิยมที่ปกป้องสิทธิในทรัพย์สินส่วนบุคคล และเป็นการทำลายอุดมการณ์ทุนนิยมเสรีลงอย่างสิ้นเชิง

ดังนั้นการดำเนินการเพื่อหาเครื่องมือทางกฎหมายของยุโรป ในการยึดทรัพย์ของรัสเซียที่อายัดไว้ จึงกลายเป็นปัญหางูกินหางในทางกฎหมาย ที่ขัดต่อรัฐธรรมนูญ อันวางรากฐานอยู่บนอุดมการณ์ทุนนิยมเสรี ที่ปกป้องสิทธิบนทรัพย์สินส่วนบุคคล

สวิตเซอร์แลนด์เป็นประเทศหนึ่งที่มีประสบการณ์ตรงจากการอายัดเงินทุนรัสเซียจนต้องยกเลิก เพราะมันทำลายความเชื่อมั่นของนักลงทุน ทั้งหลายต่อสวิส ทำให้เกิดการถอนเงินขึ้นแม้ในระยะสั้นไม่มาก แต่ระยะยาวมีผลทางลบมากแน่

คำถามยังรวมถึงทรัพย์สินอื่นๆ เช่น อสังหาริมทรัพย์ โลหะมีค่า เช่น ทองคำที่หลายประเทศมาลงทุนหรือมาฝากในสหรัฐฯ และยุโรปหากตะวันตกมีมาตรการแซงก์ชันขึ้นมา ตามด้วยการยึดทรัพย์ได้ด้วย แล้วใครจะไว้ใจ

ขนาดยังไม่มีมาตรการดังกล่าว จีนที่หวั่นวิตกเรื่องมาตรการแซงก์ชันจากสหรัฐฯ ยังเริ่มถอนการลงทุนต่างๆ รวมทั้งในตลาดหลักทรัพย์ของสหรัฐฯ ทำให้เป็นส่วนหนึ่งที่ทำให้เศรษฐกิจสหรัฐฯถดถอย แต่ถ้ามันเกิดกระบวนการที่ขาดความเชื่อมั่นขนาดใหญ่ฐานะทางเศรษฐกิจที่เป็นผู้นำของสหรัฐฯ ย่อมต้องสั่นคลอนและลดฐานะในการเป็นผู้นำลงอย่างแน่นอน ซึ่งก็เท่ากับเป็นการส่งเสริมให้เกิดการนำหลายขั้วขึ้นในโลก

คำถามสุดท้ายในบทความนี้ คือ แล้วมาตรการแซงก์ชันมันมีประโยชน์อะไร คำตอบโดยรวมคือ ก่อให้เกิดเศรษฐกิจถดถอย เกิดภาวะเงินเฟ้อ เกิดการล่มสลายในระบบการเงินที่ต้องการความไว้วางใจกัน ทว่าก็ยังมีบางคนบางกลุ่มได้ประโยชน์ นั่นคือกลุ่มคนรวยมหาเศรษฐี จะยิ่งรวยมากขึ้น เช่น ในสหรัฐฯกลุ่มผู้ค้าน้ำมัน ก๊าซธรรมชาติ อาวุธยุทโธปกรณ์ ที่ส่งมาช่วยยูเครนแทนการรบโดยตรง กลุ่มธนาคาร ส่วนรัสเซียกลุ่มเจ้าพ่อมาเฟียทางเศรษฐกิจ เช่น กลุ่มพลังงาน เหมืองแร่ ปุ๋ย สินค้านำเข้า-ส่งออก กลุ่มธนาคาร และกลุ่มที่ค้าสินค้าเกษตรรวยขึ้น คนที่เดือดร้อนมากสุด คือ คนชั้นกลาง อันเป็นรากฐานสำคัญทางการเมือง แต่ในประเทศที่อ้างว่าเป็นประชาธิปไตย นั้นเสียงของประชาชนจะมีบทบาทสำคัญมาก ในขณะที่ประเทศที่แม้มีเลือกตั้ง แต่มีการปกครองแบบระบบรวมศูนย์จะได้รับผลกระทบน้อยกว่ามาก ส่วนคนจนไม่ว่าจะอยู่ในระบอบหรือระบบอะไรก็คงลำบากเหมือนเดิม

สุดท้ายมาตรการแซงก์ชัน เกิดผลลบมากกว่าผลดี และในทางปฏิบัติก็ไม่ได้ผล แม้แต่กับประเทศเล็กๆ เพราะจะมีการลักลอบค้าขายอยู่ดี เกิดตลาดมืด ส่วนการใช้มาตรการแซงก์ชันกับรัสเซีย ซึ่งเป็นประเทศใหญ่มีความแข็งแกร่งทางเศรษฐกิจ ก็จะถูกตอบโต้จนตนเองบอบซ้ำ อย่างยุโรป ผู้ที่ได้ผลประโยชน์คือคนส่วนน้อย แต่ชาวโลกเดือดร้อน

ปัญหายูเครนจึงไม่อาจแก้ได้ด้วยการแซงก์ชัน แต่มีทางเลือกเพียงสองทางคือทำสงครามอย่างเต็มรูปแบบหรือร่วมมือกันสร้างสันติภาพด้วยการเจรจา