กรมชลประทาน เร่งระดมเครื่องจักรเครื่องมือซ่อมคันดินกั้นน้ำ บริเวณประตูระบายน้ำปากคลองระบายน้ำมูโนะ จังหวัดนราธิวาส หลังถูกน้ำกัดเซาะจนเกิดการทรุดตัว ขณะที่พื้นที่น้ำท่วมขังในพื้นที่ภาคใต้ตอนล่างได้เร่งสูบระบายน้ำบรรเทาความเดือดร้อนของประชาชนอย่างต่อเนื่อง จนกว่าสถานการณ์จะกลับเข้าสู่ภาวะปกติ ตามนโยบายของ ดร.เฉลิมชัย ศรีอ่อน รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์

วันที่ 22 ธ.ค.65 นายประพิศ จันทร์มา อธิบดีกรมชลประทาน เปิดเผยว่า เมื่อวันที่ 20 ธ.ค. 65 ที่ผ่านมา คันดินกั้นน้ำบริเวณประตูระบายน้ำปากคลองระบายน้ำมูโนะ อ.สุไหงโก-ลก จ.นราธิวาส เกิดการทรุดตัวลง ทำให้ปริมาณน้ำไหลบ่าเข้าท่วมพื้นที่บ้านเรือนของประชาชน จึงได้สั่งการให้สำนักงานชลประทานที่ 17 เร่งระดมเครื่องจักรเครื่องมือและกำลังพลซ่อมแซมปิดคันดินกั้นน้ำ เพื่อชะลอความแรงของน้ำและลดการกัดเซาะเพิ่มเติม ด้วยการใช้แผ่นเหล็กชีทไพล์ (Sheet pile) ทำเป็นแนวป้องกันบริเวณหน้าคันดินที่ชำรุด เพื่อป้องกันน้ำกัดเซาะหน้าดินเพิ่มเติม จากนั้นจะวางกล่องลวดถักบรรจุหินใหญ่ (Gabion) และกระสอบทราย (Big Bag) เพื่อดำเนินการปิดทางน้ำโดยเร็วที่สุด ลดกระทบต่อประชาชนในพื้นที่ ส่วนที่บริเวณพนังกั้นน้ำริมแม่น้ำโก-ลก ที่เกิดการทรุดตัวลงก่อนหน้านี้ ได้ส่งกำลังเสริมเครื่องจักรเครื่องมือ พร้อมกำลังคนเพิ่มเติม เร่งวางกล่องลวดถักบรรจุหินใหญ่ (Gabion) และกระสอบทราย (Big Bag) เป็นแนวป้องกันเพื่อป้องกันไม่ให้น้ำจากแม่น้ำโก-ลก ไหลเข้าพื้นที่ชุมชนตลาดมูโนะและบ้านเรือนของประชาชน

ด้านสถานการณ์น้ำภาพรวมในพื้นที่ภาคใต้ตอนล่าง หลังมีฝนตกหนักในพื้นที่จังหวัดสงขลา สตูล ปัตตานี ยะลา และนราธิวาส ส่งผลให้ระดับน้ำในลำน้ำต่าง ๆ เพิ่มสูงขึ้นอย่างต่อเนื่อง โดยบางพื้นที่มีน้ำเอ่อล้นตลิ่งเข้าท่วมพื้นที่ลุ่มต่ำ บ้านเรือนประชาชน และพื้นที่การเกษตร กรมชลประทาน ได้เสริมกำลังติดตั้งเครื่องสูบน้ำ เร่งสูบระบายน้ำออกจากในพื้นที่อย่างต่อเนื่อง เพื่อบรรเทาและลดผลกระทบที่เกิดขึ้นกับประชาชนให้มากที่สุด ปัจจุบันภาพรวมหลายพื้นที่เริ่มคลี่คลายลงแล้ว แนวโน้มระดับน้ำในลำน้ำต่าง ๆ เริ่มลดลงต่ำกว่าตลิ่งแล้ว อาทิ คลองหวะ คลองละงู แม่น้ำสายบุรี แม่น้ำโก-ลก เป็นต้น ทั้งนี้ หากไม่มีฝนตกลงมาเพิ่มเติม คาดว่าสถานการณ์จะกลับเข้าสู่ภาวะปกติในเร็ววัน

ทั้งนี้ เนื่องจากยังอยู่ในช่วงฤดูฝนของภาคใต้ จึงได้เน้นย้ำให้โครงการชลประทานในพื้นที่ เฝ้าระวังติดตามสภาพอากาศและสถานการณ์น้ำอย่างใกล้ชิด รวมทั้งเตรียมพร้อมเครื่องจักร เครื่องมือ ไว้เพิ่มเติม ให้สามารถใช้งานได้ทันต่อเหตุการณ์ นอกจากนี้ ให้บูรณาการร่วมกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ประชาสัมพันธ์แจ้งเตือนประชาชนให้รับทราบสถานการณ์น้ำอย่างต่อเนื่องและทั่วถึง หากประชาชนหรือหน่วยงานใด ต้องการความช่วยเหลือสามารถติดต่อได้ที่โครงการชลประทานใกล้บ้าน หรือโทร.สายด่วนกรมชลประทาน 1460