วันที่ 22 ธ.ค.65 นายปานเทพ พัวพงษ์พันธ์ โฆษก และกรรมาธิการคณะกรรมาธิการวิสามัญ พิจารณา ร่าง พ.ร.บ.กัญชา กัญชง พ.ศ…. สภาผู้แทนราษฎร  โพสต์ข้อความผ่านเฟซบุ๊ก ส่วนตัว ปานเทพ พัวพงษ์พันธ์ ระบุว่า...

“ปานเทพ” ประกาศชัยชนะกัญชาขั้นแรกของประชาชน! แต่ยังวางใจไม่ได้

การดำเนินการไปของสภาผู้แทนราษฎร ในวาระการพิจารณาร่าง พระราชบัญญัติ กัญชา กัญชง พ.ศ….ในวาระที่ 2 ได้ดำเนินไปทั้งสิ้น 2 ครั้งเดินทางมาถึงการลงมติอนุมาตราสุดท้ายของมาตรา 7 เมื่อวันที่ 21 ธันวาคม พ.ศ. 2565 ถึงจุดนี้แม้จะมีการอภิปรายกันค่อนข้างมาก แต่ก็มีทิศทางที่ดีและเป็นความก้าวหน้าในการเรียกร้องของภาคประชาชนอยู่ 2 ประการ

ประการแรก สภาผู้แทนราษฎรยังไม่คว่ำร่าง พ.ร.บ.กัญชา กัญชง พ.ศ…. แต่ยอมพิจารณารายมาตราแทน

โดยภายหลังจากการที่สภาผู้แทนราษฎร ได้ลงมติด้วยเสียงข้างมากให้ถอนร่างพระราชบัญญัติ กัญชา กัญชง พ.ศ….ของคณะกรรมาธิการเมื่อวันที่ 14 กันยายน พ.ศ. 2565 [1] คณะกรรมาธิการฯก็ไม่ได้มีการแก้ไขมาตราใดๆทั้งสิ้น เพราะแทบทุกมาตราที่เป็นประเด็นข้อสงสัย บ้างก็เป็นความเข้าใจผิดของสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร บ้างก็มีบัญญัติอยู่ในมาตราต่างๆอยู่แล้ว

แม้จะบางมาตราที่สภาผู้แทนราษฎรบางพรรคการเมืองไม่เห็นด้วยกับกรรมาธิการฯ ก็มีผู้สงวนคำแปรญัตติเอาไว้เพื่ออภิปรายลงมติในสภาผู้แทนราษฎรได้อยู่แล้วจึงไม่เป็นอุปสรรคของสภาผู้แทนราษฎรในการลงมติเห็นชอบให้แก้ไขมาตราต่างๆของคณะกรรมาธิการเสียงข้างมากหรือเห็นด้วยกับการแก้ไขรายมาตราของคณะกรรมธิการเสียงข้างน้อยก็ได้[2]

แต่ในที่สุด “คำขู่” จากพรรคการเมืองต่างๆก่อนหน้านี้ว่าจะคว่ำร่างพระราชบัญญัติกัญชา กัญชง พ.ศ….​ก็ไม่สำเร็จ เพราะพอถึงเวลาจริงเมื่อวันที่ 14 กันยายน พ.ศ. 2565 และวันที่ 21 กันยายน พ.ศ. 2565 ก็ไม่ปรากฏว่าจะมีสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรพรรคการเมืองใดเลยเสนอให้คว่ำพระราชบัญญัติฉบับนี้แต่ประการใด

ชัยชนะที่เกิดขึ้นนี้ส่วนหนึ่งก็เป็นเพราะเสียงเรียกร้องของภาคประชาชนต้องการไม่ให้เล่นการเมืองจนไม่มีกฎหมายกัญชา กัญชง และได้เรียกร้องมาอย่างต่อเนื่องที่ต้องการให้มีการพิจารณาเห็นชอบหรือแก้ไขรายมาตราเพื่อให้มีกฎหมายสำหรับการใช้ประโยชน์และการควบคุมกัญชาอย่างเหมาะสมต่อไป[3]-[5]

ประการที่สอง การพิจารณาในสภาผู้แทนราษฎรในวาระที่ 2 ในการพิจารณา ร่างพระราชบัญญัติ กัญชา กัญชงทั้ง 2 ครั้ง คือ เมื่อวันที่ 14 ธันวาคม พ.ศ. 2565 และวันที่ 21 ธันวาคม พ.ศ. 2565 แม้จะมีการอภิปรายกันอย่างกว้างขวางตั้งแต่คำปรารภ แต่เสียงข้างมากในสภาผู้แทนราษฎรได้ลงมติตามร่างและการแก้ไขของคณะกรรมาธิการฯ ทุกมาตราจนถึงอนุมาตราสุดท้ายของมาตรา 7 แล้ว

และสะท้อนให้เห็นว่าคำอภิปรายชี้แจงของคณะกรรมาธิการเสียงข้างมากยังคงได้รับการตอบสนอง ตอบรับโดยการลงมติเห็นด้วยกับสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรเสียงข้างมากอยู่

ปรากฏการณ์ดังกล่าวข้างต้น นอกจากจะสะท้อนให้เห็นว่าเสียงเรียกร้องของภาคประชาชนได้รับการตอบสนองแล้ว ยังสะท้อนให้เห็นในอีกด้านหนึ่งด้วยว่าการพูดคุยเจรจาฝ่ายการเมืองต่างๆของสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรที่สนับสนุนแนวทางของภาคประชาชนนี้ คือ พรรคภูมิใจไทย พรรคก้าวไกล และอีกจำนวนหนึ่งจากพรรคพลังประชารัฐ พรรคชาติไทยพัฒนา ยังคงรวบรวมเสียงข้างมากในสภาผู้แทนราษฎรเอาไว้ได้ในขณะนี้

ประเด็นที่จะต้องจับตาดูในเรื่องสำคัญที่สุดก็คือมาตรา 18 ที่คณะกรรมาธิการเสียงข้างมากเห็นว่าประชาชนควรที่จะปลูกกัญชา กัญชงเพื่อการใช้ประโยชน์ในครัวเรือนได้ไม่เกิน 15 ต้นนั้นจะได้รับการตอบสนองจากเสียงข้างมากในสภาผู้แทนราษฎร หรือไม่อย่างไร

และก่อนจะไปถึงมาตรา 18 ก็ต้องดูว่าการอภิปรายที่ยืดเยื้อที่ทำให้การพิจารณาเป็นไปอย่างล่าช้านั้น จะทันมีกฎหมายก่อนการยุบสภาของพลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีในไตรมาสแรกของ ปี พ.ศ.2565 หรือไม่?

โดยเฉพาะบางพรรคการเมืองที่อาจจะใช้วิธีสกปรกทำให้องค์ประชุมไม่ครบโดยการไม่เข้าประชุม หรือเข้าประชุมแต่ไม่ยอมกดบัตรรายงานตัว เพียงเพราะขัดขวางไม่ให้กฎหมายฉบับนี้เดินหน้าต่อไปได้

แต่ใครทำเช่นนั้นก็คงจะเห็นการเปิดโปงของประชาชนให้ทราบว่าสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรคนใดมีพฤติกรรมที่หวังจะไม่ให้การพิจารณากฎหมายในการใช้ประโยชน์หรือการควบคุมกัญชาเดินหน้าต่อไปหรือไม่ และมีใครบ้าง?

สำหรับการปลูกกัญชา กัญชงใช้ในครัวเรือนเพื่อการพึ่งพาตัวเองของชาวบ้านนั้น ภาคประชาสังคมที่เคลื่อนไหวในเรื่องนี้ยังคงเห็นความจำเป็นที่ประชาชนควรจะปลูกเพื่อการพึ่งพาตัวเองได้ เพราะถือเป็นความมั่นคงทางยาในครัวเรือน[5]

สำหรับการปลูกกัญชา 15 ต้นนั้น นอกจากจะสำรวจสภาพความเป็นจริง (พิจารณาการสอบถามข้อมูลในคณะกรรมาธิการ)และโพลในประเทศไทยแล้ว ยังสามารถพิจารณาอ้างอิงการบริโภคกัญชาสด รักษาป้องกันโรคตามสูตรของ นายแพทย์วิลเลียม คอร์ทนีย์ ผู้เชี่ยวชาญการใช้ประโยชน์จากกัญชาจากมูลนิธิกัญชาระหว่างประเทศได้ด้วยว่า

“รับประทานดอกสด 15 กรัม หรือใบสด 30กรัมต่อวัน[6] โดยเท่ากับใบ 10,950 กรัมต่อปี (30 กรัม x 365 วัน) เท่ากับ 10.95 กิโลกรัมต่อปี หรือประมาณ 11 กิโลกรัมต่อปี โดยต้นกัญชา 1 ต้น อายุ 3-4 เดือน ให้น้ำหนักประมาณ 1 กิโลกรัม (รวมราก ต้น กิ่ง ใบ) โดยเฉพาะใบมีน้ำหนักประมาณร้อยละ 70 ดังนั้นถ้าต้องการใบ 10.95 กิโลกรัม จึงควรปลูกประมาณ 15.64 ต้น ต่อคนเป็นอย่างน้อย (ไม่ใช่ครัว เรือนละ 15ต้น) ยังไม่นับการเผื่อการปลูกแล้วตาย”

อย่างไรก็ตามยังมีการศึกษาอีกชิ้นหนึ่งที่น่าสนใจอย่างยิ่งที่จะแสดงให้เห็นว่าสังคมไทยมีองค์ความรู้ วุฒิภาวะเพียงพอ ที่จะอยู่ร่วมกับกัญชาเพื่อการพึ่งพาตัวเองได้

โดยเฉพาะอย่างยิ่ง ถ้าผู้ที่ใช้กัญชาทางการแพทย์ซึ่งส่วนใหญ่ใช้แบบใต้ดินได้กลับมาถูกรับรองและปลูกเพื่อพึ่งพาตัวเองได้ย่อมจะดีกว่าต้องอยู่ภายใต้การซื้อกัญชาได้ในราคาแพงจากเฉพาะพ่อค้ากัญชาใต้ดินที่มีเส้นสาย หรือต้องซื้อกัญชาไม่มีคุณภาพที่ดีพอ หรือถูกจับกุมดำเนินคดีเข้าคุก/รีดไถ หรือไม่สามารถตรวจสอบคุณภาพได้ ฯลฯ

การศึกษาชิ้นนี้ คือ ผลการศึกษาติดตามสถานการณ์การใช้และการให้บริการกัญชาทางการแพทย์ระยะที่สอง เผยแพร่ในปี พ.ศ. 2565 โดย ศูนย์ศึกษาปัญหาการเสพติด (ศศก.) ซึ่งเป็นผลงานของนักวิชาการเมื่อปี 2565 โดย ศ.ดร.พญ.สาวิตรี อังษณางค์กรชัยและคณะ ซึ่งได้แสดงให้เห็นได้ว่าคนไทยส่วนใหญ่ที่ใช้กัญชาเพื่อทางการแพทย์นั้นคือใช้แบบนอกระบบและผิดกฎหมาย แต่ก็ได้ประโยชน์ต่อสุขภาพที่ดีขึ้นจนลดหรือเลิกการใช้ยาแผนปัจจุบันจำนวนมาก และมีประสบการณ์พอจนมีผลข้างเคียงน้อย สอดคล้องไปในทิศทางเดียวกับที่เคยเกิดขึ้นในต่างประเทศมาแล้ว

โดยในผลการศึกษาพบว่าประชาชนกลุ่มสำรวจที่ได้รับกัญชาเพื่อประโยชน์ทางการแพทย์​ สามารถรับกัญชาจากแพทย์แผนปัจจุบันในกระทรวงสาธารณสุขเพียงร้อยละ ๐.๙ เท่านั้น

ในขณะที่ผู้ป่วยที่ได้รับกัญชาจากแพทย์แผนไทยในกระทรวงสาธารณสุขเพียงร้อยละ 4.7 ส่วนที่ได้รับกัญชาจากแพทย์พื้นบ้านทั้งที่มีทะเบียนและไม่มีทะเบียนนอกระบบกระทรวงสาธารณสุขร้อยละ 32.3 [7]

ย่ิงไปกว่านั้นตัวเลขที่ได้รับกัญชาในระบบอย่างถูกต้องตามโรคที่กำหนดในประกาศกระทรวงสาธารณสุขนั้นมีเพียงร้อยละ 16 เท่านั้น ซึ่งแปลว่ามีประชาชนใช้ประโยชน์กัญชาทางการแพทย์นอกระบบมากถึงร้อยละ 84 เช่น ได้จากญาติ ตลาดมืด และที่ไม่สามารถระบุที่มาของกัญชาได้[7]

ถึงแม้ว่าประชาชนส่วนใหญ่ที่ใช้กัญชาทางการแพทย์จะใช้อย่างผิดกฎหมาย แต่ผลสำรวจก็ได้พบว่าหลังใช้กัญชาประชาชนมีการเปลี่ยนแปลงโรคในทางที่ดีขึ้นถึงดีขึ้นมากจำนวนมากถึงร้อยละ 93.4[7] และส่วนใหญ่ใช้ปริมาณเท่าเดิมจากที่เคยใช้ครั้งแรกโดยไม่ต้องเพิ่มปริมาณ และส่วนใหญ่ของผู้ที่ใช้กัญชามากถึง 86.4ไม่เคยได้รับผลกระทบใดๆจากกัญชา[7]

สุดท้ายนี้ขอขอบคุณที่สุดสำหรับภาคประชาสังคมและนักวิชาการ สื่อมวลชนทุกท่านที่ได้ร่วมกันเคลื่อนไหวและสนับสนุนในทุกรูปแบบมาโดยตลอด และขอขอบคุณสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรทุกท่านที่ได้กลับมาพิจารณากฎหมายฉบับนี้ตามระบบและครรลองที่ควรจะเป็น โดยเฉพาะสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรเสียงข้างมากที่เห็นประโยชน์และยืนยันเห็นชอบตามร่างแก้ไขกฎหมายกัญชา กัญชงของคณะกรรมาธิการฯ