“ชาวนาไม่ใช่อาชีพที่ดีที่สุด แต่ทุกอาชีพต้องกินข้าวจากชาวนา” คำพูดของนางพินโย มีชนะ เกษตรกรปราดเปรื่อง Smart Farmer ด้านข้าว จังหวัดนครศรีธรรมราช ที่กล่าวถึงความภาคภูมิใจในการเป็นเกษตรกรผู้ปลูกข้าวจนประสบความสำเร็จอีกขั้น สามารถส่งต่อความรู้ที่มีสู่เกษตรกรในพื้นที่ได้อย่างดีเยี่ยม

กรมการข้าว โดยศูนย์วิจัยข้าวนครศรีธรรมราช ได้มุ่งเน้นผลักดัน พัฒนาองค์ความรู้เกษตรกรภายในพื้นที่ เพื่อเพิ่มศักยภาพในการผลิตข้าวให้มีคุณภาพ ส่งผลให้ชีวิตของเกษตรกรดีขึ้น มีความมั่นคง มั่นคั่ง และยั่งยืน

นางดลตภร โพธิ์ศิริ ผู้อำนวยการศูนย์วิจัยข้าวนครศรีธรรมราช กล่าวว่า คุณพินโย เกษตรกรปราดเปรื่องเรื่องข้าว ได้ชักชวนเกษตรกรที่ทำนาในชุมชนมาจัดตั้งกลุ่มเพื่อเข้าร่วมโครงการนาแปลงใหญ่ของกรมการข้าว ในปี 2560ต่อมาได้จัดตั้งเป็น“กลุ่มศูนย์ข้าวชุมชนตำบลสามตำบล” ในปี 2562 โดยนางพินโย ทำหน้าที่เป็นประธานกลุ่ม และปัจจุบันสามารถผลิตเมล็ดพันธุ์ข้าวเล็บนกปัตตานีไว้จำหน่ายให้กับเกษตรกรในพื้นที่ได้เนื่องจากกลุ่มของนางพินโยมีศักยภาพจึงได้รับการคัดเลือกให้เข้าร่วมโครงการยกระดับแปลงใหญ่ด้วยเกษตรสมัยใหม่และเชื่อมโยงตลาด ในปี 2564 โดยได้จัดซื้อเครื่องจักรกลเพื่อแก้ไขปัญหาขาดแคลนแรงงานคนในการทำนา และเป็นการลดต้นทุนในการผลิต ในอนาคตสำหรับกลุ่มศูนย์ข้าวชุมชนตำบลสามตำบลจะมีการผลักดันให้เกษตรกรในชุมชนเข้ารับการอบรมมากยิ่งขึ้น เพื่อเตรียมความรู้ ความพร้อมในการปลูกข้าว จนเกษตรกรสามารถนำความรู้ที่ได้รับมาต่อยอดสร้างรายได้ สร้างอาชีพสู่ชุมชนต่อไป

นางพินโย มีชนะ เล่าว่า ปัจจุบันมีการปลูกข้าวพื้นเมืองพันธุ์เล็บนกปัตตานี มีการแปรรูปเป็นข้าวสาร ภายใต้แบรนด์ “ข้าวสามวัง”และผลิตเมล็ดพันธุ์จำหน่ายในกลุ่มเกษตรกร ชุมชน และผู้ที่สนใจ ลูกค้าส่วนใหญ่จะเป็นลูกค้าประจำเพราะเขาเชื่อมั่นในเรื่องของคุณภาพ และในฐานะผู้ผลิตก็มีความมั่นใจ ไม่ว่าจะเรื่องความงอก เรื่องสิ่งเจือปน ไม่มี100% และตอนนี้เป็นศูนย์เรียนรู้เกี่ยวกับข้าว จะมีคนเข้ามาศึกษา ขอคำแนะนำอยู่เรื่อย ๆ เช่นเรื่องการทำนาลดต้นทุน เพิ่มผลผลิตให้กับเกษตรกร เรื่องการหว่าน ปีนี้ควรหว่านกี่กิโลกรัมต่อไร่เทคนิคการดูแล การใส่ปุ๋ยการกำจัดโรคหรือแมลงต่าง ๆ แต่ส่วนมากข้าวพันธุ์พื้นเมืองจะทนทานต่อโรคและแมลงทำให้การดูแลง่ายยิ่งขึ้น และกลุ่มศูนย์ข้าวชุมชนตำบลสามตำบลได้มีโอกาสประกวดทำแปลงเกษตรกรปราดเปรื่อง โดยใช้ข้าวพื้นเมืองพันธุ์เล็บนกปัตตานี ในการปลูก ปรากฏว่าในครั้งนั้นสามารถผลิตข้าวได้เกือบ 800 กิโลกรัม/ไร่ ทำให้กลุ่มได้รับรางวัลชนะเลิศอันดับ 1 ในอนาคตก็จะมีการแปรรูปข้าวเป็นข้าวพอง และ ข้าวแต๊น เพื่อเพิ่มรายได้ให้กับกลุ่มมากยิ่งขึ้น