นางพินโย มีชนะ เกษตรกรปราดเปรื่อง Smart Farmer ด้านข้าว เล่าถึงจุดเริ่มต้นในการปลูกข้าวว่า ครอบครัวของตนเองมีอาชีพทำนา ตนเองเห็นแม่ปลูกข้าวตั้งแต่เด็กจึงได้เริ่มเดินตามรอยแม่คือทำตามแม่และศึกษาจากแม่มาเรื่อยๆ พอผ่านมาสักระยะทาง กรมการข้าว เจ้าหน้าที่จากศูนย์วิจัยข้าวนครศรีธรรมราชก็มาสอน มอบองค์ความรู้ต่างๆ เกี่ยวกับการปลูกข้าว ครบทุกกระบวนการผลิตจนถึงขั้นตอนการเก็บเกี่ยว มีการสาธิตการทำนา ทำให้เกิดความสนใจและเกิดการเรียนรู้ ศึกษามาเรื่อยๆ ทางศูนย์วิจัยข้าวฯ ก็ได้ให้ความช่วยเหลือและสนับสนุนสิ่งต่างๆ

อย่างในปีแรกทางศูนย์วิจัยนครศรีธรรมราชได้ให้ยืมเมล็ดพันธุ์ข้าวคุณภาพดีมาทดลองปลูก ทำให้ข้าวมีคุณภาพดี ผลผลิตได้เยอะต้นทุนลดลง จึงมีการปรึกษาภายในกลุ่มเกี่ยวกับเรื่องของเมล็ดพันธุ์ มีการวางแผนการผลิตเมล็ดพันธุ์ที่มีคุณภาพที่ดีไว้ใช้เองภายในกลุ่ม และจำหน่ายให้แก่เกษตรกรในพื้นที่ใกล้เคียง ทำให้กลุ่มมีเงินทุนในการพัฒนาปัจจัยการผลิตข้าวมาจนถึงปัจจุบัน 

ด้านนางดลตภร โพธิ์ศิริ ผู้อำนวยการศูนย์วิจัยข้าวนครศรีธรรมราชกล่าวว่า สำหรับคุณพินโย มีชนะ ได้ร่วมมือกับกรมการข้าวเข้าร่วมโครงการอบรมความรู้ต่าง ๆ จนเป็นเกษตรกรปราดเปรื่องและเป็นประธานกลุ่มศูนย์ข้าวชุมชนตำบลสามตำบล เป็นผู้นำกลุ่มเกษตรกรผลิตเมล็ดพันธุ์ข้าวเล็บนกปัตตานี ซึ่งเป็นพันธุ์พื้นเมืองที่ได้รับความนิยมสูงสุดของจังหวัดนครศรีธรรมราช และยังเป็นที่นิยมบริโภคของคนในพื้นที่อีกด้วย ในส่วนของศูนย์วิจัยข้าวนครศรีธรรมราชได้ให้การสนับสนุนเมล็ดพันธุ์ข้าว กระสอบบรรจุเมล็ดพันธุ์ และเครื่องทำความสะอาดเมล็ดพันธุ์ เพื่อให้เกิดคุณภาพในการผลิตยิ่งขึ้น นอกจากนี้ในส่วนของโครงการพัฒนาเกษตรกรปราดเปรื่อง ศูนย์วิจัยข้าวนครศรีธรรมราชได้เข้าไปอบรม ให้ความรู้แก่เกษตรกร และดำเนินการตรวจแปลงตลอดการผลิต เพื่อให้ได้เมล็ดพันธุ์ที่ผ่านมาตรฐานเมล็ดพันธุ์ในระดับศูนย์ข้าวชุมชน เมื่อคุณพินโยมีความรู้ ความพร้อมในทุกด้านแล้ว ก็จะสามารถถ่ายทอดองค์ความรู้แก่เกษตรกรภายในชุมชนและบริเวณพื้นที่ใกล้เคียงได้

"ทางศูนย์วิจัยข้าวนครศรีธรรมราช ได้เข้ามาแนะนำและพาไปอบรมโครงการต่างๆ ของหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ซึ่งข้อมูลที่ได้รับในแต่ละครั้งถือว่าดีมาก มีความรู้ที่ถูกต้องจนสามารถนำมาปรับใช้กับพื้นที่ของตนเองและพัฒนาไปสู่การทำนารูปแบบเกษตรอินทรีย์ เดิมทีข้าวที่ปลูกมีคุณภาพในระดับหนึ่ง ได้มาตรฐานตามหลัก GAP อยู่แล้ว แต่พอมีองค์ความรู้มากขึ้น ก็สามารถยกระดับไปสู่การปลูกข้าวแบบเกษตรอินทรีย์ซึ่งได้รับรองมาตรฐานจากกรมการข้าวและยังคงรักษามาตราฐานผลิตข้าวอินทรีย์ไว้ ในความคิดส่วนตัวคือจะยังคงทำเกษตรอินทรีย์ต่อไป เพราะผลลัพธ์ที่ได้คือดีมาก เราสามารถปลูกข้าวที่มีคุณภาพ ปลอดภัย ไร้สารเคมี ปลอดภัยทั้งผู้ผลิตและผู้บริโภค ต้นทุนในการผลิตต่ำ แต่ปริมาณผลผลิตสูง เมื่อส่งจำหน่ายก็สามารถเพิ่มราคาให้สูงกว่าเดิมได้ จึงตัดสินใจที่จะไม่ถอยหลังกลับไปแน่นอน" นางพินโย มีชนะ กล่าว