แพทย์ ระบุ ขณะนี้อัตราผู้ป่วยภาวะหยุดหายใจขณะหลับจากการอุดกั้นเพิ่มขึ้น พบในเพศชายมากถึงร้อยละ 4.8 ชี้ มีโอกาสเสี่ยงสูงเป็นโรคความดันโลหิตสูง ภาวะหัวใจล้มเหลว และโรคหลอดเลือดหัวใจตีบ
ปัญหาเรื่องการนอนไม่หลับ ถูกหยิบยกขึ้นมาเป็นหัวข้อบรรยายในการ อบรมหลักสูตรประกาศนียบัตรบัณฑิตนวัตกรรมการจัดการสุขภาพยุคดิจิทัล หรือ HIDA รุ่นที่ 2 เนื่องจาก การนอนหลับมีความสำคัญกับสุขภาพ โดย 1 ใน 3 ของชีวิตคนเราในแต่ละวันเป็นเรื่องการพักผ่อนด้วยการนอนหลับ หรือ 8 ชั่วโมง จาก 24 ชั่วโมง ในแต่ละวัน การนอนจึงมีความสำคัญที่จะทำให้ทุกคนมีสุขภาพที่ดี
แพทย์หญิงกัลยา ปัญจพรผล อุปนายกสมาคมโรคจากการหลับแห่งประเทศไทย กล่าวถึงนิยามของการนอนหลับ ว่า เป็นสภาวะทาวงพฤติกรรมซึ่งมีการหลุดพ้นของการรับรู้ และการไม่ตอบสนองต่อสิ่งแวดล้อมโดยที่สามารถกลับคืนสู่สภาพปกติได้ ซึ่งมีความแตกต่างจากสภาวะหมดสติ หมายถึง สภาวะการหมดสติแต่ไม่สามารถปลุกได้ด้วยการกระตุ้นด้วยสิ่งเร้าต่างๆ
ทั้งนี้ การนอนหลับเป็นปัจจัยพื้นฐานในการดำรงชีวิตของสิ่งมีชีวิตซึ่งการนอนหลับมีความซับซ้อนในแง่ของสรีระวิทยาและกลไกพฤติกรรม เป็นปัจจัยหนึ่งที่สำคัญกับชีวิตไม่น้อยกว่าการรับประทานอาหารที่ดี การออกกำลังกาย และ การดูแลสุขภาพอนามัยที่ดี ปกติคนเราจะใช้เวลา 1 ใน 3 ของชีวิตในการนอนหลับ ซึ่งปัจจุบันได้มีการพิสูจน์แล้วว่า การนอนหลับที่ดีนั้น จะส่งผลดีต่อสุขภาพ เนื่องจากการนอนหลับมีความสำคัญกับร่างกาย เช่น ซ่อมแซมส่วนต่างๆของร่างกาย ฟื้นฟูสมอง กำจัดสารพิษในร่างกาย บันทึกความทรงจำ ควบคุมระบบภูมิคุ้มกัน ควบคุมอุณหภูมิร่างกาย เพิ่มสมาธิ และ ลดอัตราการเสียชีวิต
การนอนหลับที่ดีควรนอนอย่างน้อย 6 - 7ชั่วโมง การนอนในแต่ละวัยต่างกัน ขณะที่ ผู้ใหญ่ไม่ควรนอนกลางวัน การนอนหลับลึก เป็นระยะที่ดีมาก เนื่องจาก มีการซ่อมแซมส่วนที่สึกหรอของร่างกาย ระยะการนอนหลับที่ดีต่อร่างกาย คือ การหลับลึก ดังนั้น การจะนอนหลับที่ดีต้องปิดไฟนอนเนื่องจากความมืดกระตุ้นจอประสาทตา กระตุ้นศูนย์สมองในการหลับ การหลับได้ดีมีหลายปัจจัย อุณหภูมิที่เย็นลง จะทำให้หลับดีขึ้น
ในกลุ่มผู้สูงอายุ จะพบกับการเปลี่ยนแปลงของการนอนหลับ เนื่องจาก มีการลดลงของจำนวนเวลาในการนอนหลับ ใช้เวลาในการนอนหลับยาวนานขึ้น มีการตื่นระหว่างคืน มีประสิทธิภาพในการนอนหลับลดลง มีการหลับตื้น การหลับฝันลดลง และ มีการเปลี่ยนแปลงของนาฬิกาชีวิต
ขณะที่ การอดนอน น้อยกว่า 6-7 ชั่วโมงเสี่ยงเสียชีวิต เนื่องจาก ผลเสียของการอดนอน จะก่อให้เกิดอาการง่วงนอนระหว่างวัน ความผิดพลาดในการตัดสินใจอารมณ์แปรปรวน การตอบสนองที่ช้าลงต่อสิ่งเร้าภายนอก และเกิดอาการวูบหลับ นอกจากนี้ส่งผลเสียต่อระบบภูมิคุ้มกัน ทำให้เกิดการเจ็บปวดที่มากขึ้นกว่าปกติ ส่งผลเสียต่อประสิทธิภาพการทำงานและเพิ่มความเสี่ยงต่อการเกิดอุบัติเหตุ
ปัจจุบันพบว่าประชากรอย่างน้อยร้อยละ 10 - 20 มีปัญหาด้านการนอนหลับที่ส่งผลต่อสุขภาพและสังคม ก่อให้เกิดโรคต่างๆ เช่น โรคนอนไม่หลับ โรคความแปรปรวนของนาฬิกาชีวิต ปัจจุบันมีผู้ป่วยที่เป็น โรคนาฬิกาชีวิตนอนดึกตื่นสายมากขึ้น เนื่องจากพฤติกรรมการนอนที่เปลี่ยนไป โรคง่วงนอนมากผิดปกติ โรคนอนกัดฟัน โรคขาไม่อยู่สุข โรคขากระตุกขณะหลับ โรคละเมอ และภาวะหยุดหายใจขณะหลับจากการอุดกั้น
ทั้งนี้ จากการศึกษาในต่างประเทศ พบว่า ภาวะหยุดหายใจขณะหลับจากการอุดกั้น ร้อยละ 4 ในเพศชาย และ ร้อยละ 2 ในเพศหญิง โดยในประเทศไทย ปี 2553 พบว่า มีผู้ป่วยที่มีภาวะหยุดหายใจขณะหลับจากการอุดกั้น ร้อยละ 4.4 เป็นเพศชายมีอัตราการเป็นโรคร้อยละ 4.8 และ หญิง ร้อยละ 1.9
แพทย์หญิงกัลยา กล่าวว่า ภาวะหยุดหายใจขณะหลับจากการอุดกั้นทำให้เกิดการหยุดหายใจเป็นช่วงๆขณะนอนหลับ ซึ่งมีผลกระทบที่สำคัญต่อสุขภาพ คือ จะทำให้ผู้ป่วยนอนหลับได้ไม่สนิท มีการสะดุ้งตื่นเป็นช่วงๆ ส่งผลให้นอนหลับ ได้ไม่เต็มที่ ดังนั้นผู้ป่วยที่มีภาวะนี้จะมีแนวโน้มที่จะทำงานได้ไม่เต็มที่ เนื่องจากมี อาการง่วงมากผิดปกติในเวลากลางวัน และมี แนวโน้มที่จะเกิดอุบัติเหตุได้ง่ายเมื่อเทียบกับคนปกติ เนื่องจากการหลับในขณะขับ ขี่รถ และขณะทำงานกับเครื่องจักรกล นอกจากนี้ ยังพบว่าผู้ป่วยที่มีภาวะหยุดหายใจขณะหลับนั้น มีอัตราเสี่ยงสูงที่จะเป็นโรคอื่นๆหลายโรค ได้แก่ โรคความดัน โลหิตสูง ภาวะหัวใจล้มเหลว ภาวะความดันหลอดเลือดปอดสูง ภาวะหัวใจเต้นผิด จังหวะ โรคหลอดเลือดหัวใจตีบ โรคหลอดเลือดในสมอง และเพิ่มอัตราการเสียชีวิต
วิธีการรักษาภาวะหยุดหายใจขณะหลับจากการอุดกั้น เบื้องต้น ต้องมีการประเมินสลีบเทส เพื่อเช็กภาวะการหยุดหายใจขณะหลับ ส่วนวิธีการรักษามีหลายวิธี เช่น เครื่องอัดอากาศแรงดันบวก (continuous positive airway pressure, CPAP) แก้ไขที่ระบบโครงสร้างของร่างกาย ผ่าตัดลิ้นไก่เพดานอ่อน ผ่ากรามให้ยื่นออกมาข้างนอน ผ่าตัดลดน้ำหนัก ปรึกษาทันตแพทย์เพื่อใส่ฟันยาง หากผู้ที่ภาวะหยุดหายใจขณะหลับจากการอุดกั้น ต้องปรึกษาแพทย์ผู้เชี่ยวชาญ เพื่อพิจารณาการรักษาเป็นรายๆไป
แพทย์หญิงกัลยา กล่าวย้ำว่า การนอนหลับไม่ดี ส่งผลต่อระบบร่างกาย เช่น ทำให้เกิดโรค ทำงานผิดพลาด มีอุบัติเหตุต่อการทำงาน ดังนั้น การนอนที่ดี คือ ระยะเวลานอนหลับอย่างพอเพียงในแต่ละวัย หลับอย่างต่อเนื่อง ส่วนเคล็ดลับของการนอนที่ดี ควรเข้านอน ตื่นนอนให้เป็นเวลาเป็นประจำทุกวัน ไม่ควรนอนกลางวัน ไม่ควรงีบเกิน 30 นาที และไม่ควรเกินหลังบ่าย 3 โมง ควรหลีกเลี่ยงการดื่มแอลกอฮอล์และสูบบุหรี่อย่างน้อย 4 ชั่วโมงก่อนนอน หลีกเลี่ยงอาหารและเครื่องดื่มที่มีส่วนผสมของคาเฟอีน เช่น กาแฟ น้ำอัดลม ชา ช็อคโกแลต หลีกเลี่ยงอาหารมื้อหนัก อย่างน้อย 4-6 ชั่วโมงก่อนนอน ออกกำลังกายอย่างสม่ำเสมอ อย่างน้อย 30 นาทีต่อวัน หลีกเลี่ยงออกกำลังกายอย่างน้อย 2 ชั่วโมงก่อนนอน
ใช้วิธีการผ่อนคลาย ด้วยการนั่งสมาธิ สวดมนต์ ใช้เตียงนอนที่นอนแล้วสบาย ห้องนอนไม่ควรมีทีวี งดการใช้คอมพิวเตอร์ มือถือ อย่างน้อย 30 นาทีก่อนนอน ควรใช้ห้องนอนเพื่อการนอนเท่านั้น หากนอนไม่หลับภายใน 30 นาที ควรลุกจากที่นอนทำกิจกรรมอื่นๆ เช่น อ่านหนังสือ ฟังเพลงเบาๆ และ รับแสงแดดให้เพียงพอ ทำอย่างน้อยต่อเนื่อง 4 สัปดาห์จะทำให้นอนหลับสบาย จะส่งผลดีต่อสุขภาพร่างกาย