วันที่ 21 ธ.ค.65 กรุงเทพมหานครจัดงานแถลงข่าว ‘ด้าน 9 ดี ก้าวสู่ปี 66 กรุงเทพฯ เมืองน่าอยู่’ โดยมีรองผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานครทั้ง 4 ท่าน ได้แก่ รศ.ดร.ทวิดา กมลเวชช นายวิศณุ ทรัพย์สมพล นายศานนท์ หวังสร้างบุญ นายจักกพันธุ์ ผิวงาม และผู้บริหารกรุงเทพมหานคร เข้าร่วม ณ ห้องบางกอก ชั้น B2 อาคารไอราวัตพัฒนา ศาลาว่าการ กทม.ดินแดง
รศ.ดร.ทวิดา กล่าวว่า กรุงเทพมหานครพัฒนาแผน กรุงเทพมหานคร 20 ปี ประกอบด้วย 7 ยุทธศาสตร์ ซึ่งเชื่อมโยงกับนโยบาย 9 ด้าน 9 ดี กลายเป็น 74 เป้าหมาย ถ่ายทอดไปยังหน่วยงานที่เกี่ยวข้องของกรุงเทพมหานครเรียบร้อยแล้ว ปัจจุบันมีการสนับสนุนจ้างงานคนพิการ 323 คน โดยเดือนมีนาคม 2566 จะจ้างงานคนพิการเพิ่ม 11 อัตรา พัฒนาทักษะเดิม เพิ่มทักษะใหม่ให้เจ้าหน้าที่สังกัดกรุงเทพมหานคร ให้เป็นนักจัดการเมือง นักสุขภาพเมือง นักสิ่งแวดล้อมเมือง นักปลอดภัยเมือง วิศวกรเมือง พร้อมทั้งกระจายอำนาจสู่ประชาชนใน 2 พื้นที่ Sandbox เขตบางเขน และคลองเตย ปรับโครงสร้างให้สำนักงานเขต มีสิทธิบริหารตัดสินใจการบริการสาธารณะให้สอดคล้องกับพื้นที่
ทั้งนี้ ยังมีการให้บริการ One stop service ในโรงพยาบาลสังกัดกรุงเทพมหานคร 9 แห่ง ซึ่งมีผู้ใช้บริการแล้ว 2,345 ราย Telemedicine ให้คำปรึกษา ตรวจรักษา ตรวจสอบสิทธิ นัดหมายจองคิว และส่งต่อข้อมูลในโรงพยาบาลสังกัดกรุงเทพมหานคร 9 แห่ง รับบริการแล้ว 45,583 ราย พร้อมเปิดใช้งานระบบ E-Referral ระหว่างศูนย์บริการสาธารณสุขกับโรงพยาบาล ประหยัดเวลารักษาพยาบาล ลดเวลาตอบรับนัด เหลือไม่เกิน 30 นาที และยกเลิกการใช้ใบส่งตัว ซึ่งให้บริการแล้วที่ ดุสิตและราชพิพัฒน์ Sandbox โดยในเดือนมกราคม 2566 จะเปิดใช้งานระบบ E-Referral เต็มรูปแบบในทุกโรงพยาบาล และศูนย์บริการสาธารณสุข สังกัดกรุงเทพมหานคร ทั้งนี้ยังเปิดให้บริการ BKK Pride Clinic ใน 11 แห่งทั่วกรุงเทพมหานคร
นอกจากนี้ ยังเปิดข้อมูล Bangkok Risk Map แผนที่เสี่ยงภัยในกรุงเทพมหานคร เปิดข้อมูล 5 ภัย ได้แก่ อุทกภัย อัคคีภัย จุดเสี่ยงอันตราย ความปลอดภัยทางถนน และมลพิษทางอากาศ PM 2.5 ให้ประชาชนร่วมกันแจ้งเตือนภัย อนาคตอาจเชื่อมต่อกับ Traffy Fondue ใช้ข้อมูลเพื่อวางแผนป้องกันสาธารณภัย และยกระดับศักยภาพชุมชนปลอดภัย โดยในปีงบประมาณ 2566 เพิ่มประปาหัวแดง 248 จุด ในพื้นที่เสี่ยงสูง เพิ่มเครื่องดับเพลิงในชุมชนแออัด 451 แห่ง เพิ่มรถกู้ภัยทางถนน 15 คัน ทำ MOU ร่วมกับมูลนิธิกู้ชีพกู้ภัย 7 แห่ง แบ่งโซนการปฏิบัติการแพทย์ฉุกเฉิน และพัฒนาแผนอำนวยการเหตุการณ์สำหรับ ผู้อำนวยการเขต โดยในปี 2566 จะนำร่องซ้อมใน 438 ชุมชน
นายวิศณุ กล่าวว่า ปีนี้ปริมาณน้ำฝนสะสมมากกว่าค่าเฉลี่ยในรอบ 30 ปี 40% โดยเฉพาะในเดือนกันยายนปี 2565 มีปริมาณน้ำฝนสะสมสูงกว่าค่าเฉลี่ยในรอบ 30 ปีถึง 2.48 เท่า กรุงเทพมหานคร มีจุดเสี่ยงน้ำท่วมจากน้ำฝน 661 จุด จึงได้ปรับปรุงบ่อสูบน้ำ 69 แห่ง เพิ่ม Mobile Pump 124 ตัว ปรับปรุงสถานีสูบน้ำ 39 แห่ง ลอกท่อไปแล้ว 3,357 กิโลเมตร พร้อมซ่อมแซมแนวป้องกัน และแนวฟันหลอ 21 แห่ง
ทางเท้า ปรับปรุงแล้ว 1,000 กิโลเมตร ดำเนินการแล้วเสร็จ 150 กิโลเมตร ขณะที่การปรับปรุงทางเท้าจากการรายงานของประชาชนผ่าน Traffy Fondue กว่า 836 รายการ ดำเนินการเสร็จสิ้นแล้ว 624 รายการ ส่วนการปรับปรุงทางวิ่ง 500 กิโลเมตร ดำเนินการแล้ว 20 กิโลเมตร โดยในปี 2566 จะดำเนินการ 100 กิโลเมตร หรือ 10 เส้นทาง สำหรับการจัดระเบียบสายสื่อสาร ร่วมกับ กสทช. และการไฟฟ้านครหลวง ดำเนินการแล้ว 37 เส้นทาง 161 กิโลเมตร โดยปี 2566 จะดำเนินการ 442 กิโลเมตร ส่วนการนำสายสื่อสารลงดินดำเนินการแล้ว 6.3 กิโลเมตรโดยในปี 2566 จะดำเนินการอีก 29.2 กิโลเมตร รวมถึงการล้างทำความสะอาดทางม้าลายมากกว่า 42 แห่ง ทาสีตีเส้น ทำไฟกะพริบเตือน เพื่อให้ผู้ขับขี่มีความระมัดระวังมากยิ่งขึ้น ส่วนจุดฝืดรถติด 266 จุด จะเร่งกวดขันวินัยจราจร
และใช้เทคโนโลยีบริหารจัดการไฟจราจร
นายจักกพันธุ์ กล่าวว่า การแก้ปัญหาฝุ่น PM 2.5 ตลอด 6 เดือนที่ผ่านมามีการตรวจรถยนต์ รถประจำทาง รถบรรทุก 58,711 คัน สั่งห้ามใช้ 1,020 คัน ตรวจโรงงาน แพลท์ปูน ไซต์ก่อสร้าง ถมดิน 1,900 แห่ง สั่งห้ามใช้รถยนต์ รถประจำทาง รถบรรทุก 1,020 คัน สั่งปรับปรุงแล้ว 41 แห่ง พร้อมสั่งให้ตรวจสอบแหล่งกำเนิดฝุ่น 2 ครั้งต่อเดือน
ส่วนนโยบายสวน 15 นาที มีพื้นที่แล้ว 98 แห่ง จำนวน 641 ไร่ แบ่งเป็น ที่ดินของกรุงเทพมหานคร 39 แห่ง หน่วยงานรัฐ 34 แห่ง และเอกชน 25 แห่ง ปัจจุบันเปิดให้บริการแล้ว 13 แห่ง ส่วนการจัดระเบียบหาบเร่แผงลอย ขณะนี้มีจุดผ่อนผัน 95 แห่ง แล้วเสร็จ 55 จุด กำลังดำเนินการ 31 จุด และขอทบทวน 9 จุด ส่วนหาบเร่นอกจุดผ่อนผัน มีทั้งหมด 618 แห่งใน 50 เขต จำนวนผู้ค้า 13,964 ราย พร้อมเร่งสำรวจพื้นที่ 125 จุด พัฒนาทำ Hawker Center ภายใต้หลักการสะดวก สะอาด สนุก นำร่องใน 2 พื้นที่ ได้แก่ เขตมีนบุรี และสวนลุมพินีประตู 5
นายศานนท์ กล่าวว่า ได้จัดทำสวัสดิการทั่วถึงสำหรับเด็ก เพิ่มค่าอาหารจาก 20 บาท เป็น 32 บาท อาหารเช้า อาหารกลางวัน ชุดนักเรียน และผ้าอนามัยฟรี สวัสดิการสำหรับคนไร้บ้าน จัดจุด Drop-in 4 จุด บริการตัดผม ซัก อบ อาบ ตรวจสอบสิทธิ สวัสดิการ ตรวจสุขภาพ ลงทะเบียนจ้างงาน และจัดระเบียบการแจกอาหาร จัดที่อยู่อาศัยระยะยาว และที่อยู่อาศัยชั่วคราว เช่น บ้านพักคนละครึ่ง รวมถึงยังมีสวัสดิการคนพิการ พัฒนาระบบ LIVE CHAT AGENT โรงเรียนเรียนร่วม 158 โรงเรียนนำร่องอบรมครูเรียนรวม 2 โรงเรียน เปิด LINE OA กรุงเทพเพื่อทุกคน 15 นาทีฐานข้อมูลและสิทธิประโยชน์สำหรับคนพิการ รถรับส่งคนพิการจากบริษัท กรุงเทพธนาคม จำกัด
นอกจากนี้ ยังส่งเสริมผลิตภัณฑ์ชุมชนให้ขายในแพลตฟอร์มออนไลน์ 93 ร้านค้า มียอดขาย 1.85 ล้านบาทใน 1 เดือนที่ผ่านมา พร้อมพัฒนาอาสาสมัครเทคโนโลยี ชุมชนละ 1 คน ปัจจุบันมี 266 คน จาก 31 เขต การจัดทำ Food Bank จุดบริจาคอาหาร นำร่องใน 10 เขต ส่งเสริมอาชีพ สร้างแรงงานให้ตอบโจทย์ความต้องการของตลาด รวมถึงการสร้างสังคมการเรียนรู้ การคัดกรองเด็กยากจนพิเศษ เพื่อขอรับทุนทางการศึกษาจาก กสศ. จำนวน 6,159 คน ปลดล็อกครู เพิ่มเจ้าหน้าที่การเงินและธุรการ ลดภาระงานเอกสาร ปรับเกณฑ์วิทยฐานะให้เป็นมาตรฐานสากล พร้อมเปิดโรงเรียนสู่การเรียนรู้ Open Education 85 แห่ง พัฒนาทักษะ Coding ตัดต่อวิดิโอ E-Sports และ Digital Marketing พัฒนาพื้นที่นวัตกรรมทางการศึกษา 54 แห่ง ในปีการศึกษา 2566 ตามประกาศสำนักนายกรัฐมนตรี พื้นที่เรียนรู้นอกห้องเรียน ห้องสมุด 34 แห่ง บ้านหนังสือ 140 แห่ง ร้านกีฬา 970 แห่ง ศูนย์กีฬา 12 แห่ง พิพิธภัณฑ์เด็ก 2 แห่ง พิพิธภัณฑ์ท้องถิ่น 24 แห่งศูนย์เยาวชน 35 แห่ง และสวนสาธารณะอีก 103 แห่ง ซึ่งที่ผ่านมามีผู้เข้าร่วมมากกว่า 500,000 คน