วันที่ 20 ธ.ค.65 ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ที่แปลงเพาะพันธุ์ต้นกล้าทุเรียนแห่งหนึ่งในพื้นที่ หมู่ 10 (บ้านนาแซะ) ตำบลบ้านนา อ.เมืองชุมพร จ.ชุมพร ว่าที่ร้อยตรี คมเดช ทองอำพล อายุ 52 ปี ประธานกลุ่มเกษตรกรการเพาะพันธุ์กล้าทุเรียนตำบลบ้านนาและตำบลวังใหม่ และตัวแทนเกษตรกรเพาะพันธุ์กล้าทุเรียน 2 ตำบลบ้านนาและวังใหม่กว่า 30 คน โดยมีนายนิพันธ์ ศิริธร สมาชิกสภาผู้แทนราษฎร(สส.) จังหวัดตรัง เขต 1 พรรคพลังประชารัฐ นายสมมิตร ทองเหลือ อดีต สจ.จังหวัดชุมพร และสมาชิกสภาเทสบาลตำบลวังใหม่ ผู้นำชุมชนที่เกี่ยวข้อง เข้าร่วมประชุมหาแนวทางแก้ไขปัญหาพ่อค้าคนกลางหยุดรับซื้อกล้าทุเรียน ทำให้ไม่สามารถระบายออกสู่ตลาดได้ประมาณ 80 เปอร์เซ็นต์ เกษตรกรขาดรายได้ประมาณ 250 ราย มูลค่าความเสียหายนับ 1 พันล้านบาท
ว่าที่ร้อยตรี คมเดช ทองอำพล ประธานกลุ่มเกษตรกรการเพาะพันธุ์กล้าทุเรียนตำบลบ้านนาและตำบลวังใหม่ กล่าวว่า ในนามของเกษตรกรคนหนึ่งไม่ทราบว่าปัญหาดังกล่าวเกิดขึ้นได้อย่างไร เนื่องจากตลอดระยะเวลาประมาณ 20 ปีทำอาชีพผลิตเพาะต้นกล้าไม้ทุเรียน ที่ผ่านมาสามารถขายได้ตลอดเวลาตลอดทั้งปี แต่ ณ ปัจจุบันเริ่มเกิดปัญหาขายไม่ได้ตั้งแต่ต้นฤดูคือ เดือน มิถุนายน-กรกฎาคม 2565 รวมเม็ดเงินที่สูญเสียไปเกือบ 1 พันล้านบาท ซึ่งเป็นรายได้หลักของเกษตรกรทั้ง 2 ตำบลคือ บ้านนาและวังใหม่ ประมาณ 250 ครัวเรือน จึงอยากให้คณะกรรมาธิการ การเกษตรและสหกรณ์ สภาผู้แทนราษฎรเข้ามาดูแลช่วยเหลือและขอความอนุเคราะห์ด้วย เพราะเป็นปัญหาหนักมากสำหรับเกษตรกร
ประธานกลุ่มเกษตรกรการเพาะพันธุ์กล้าทุเรียน กล่าวอีกว่า ทางเกษตรกรสามารถส่งขายให้กับต่างประเทศได้อย่างเช่น ลาว เขมร เวียดนาม พม่า กัมพูชา แต่ติดอนุสัญญาไซเตสซึ่งเข้าถึง แต่อยากให้ดูแลและแก้ปัญหาเพื่อไม่ให้เกษตรกรประสบปัญหาดังกล่าว เมื่อถามว่าปัญหาดังกล่าวขึ้นอยู่กับคุณภาพของพันธุ์กล้าด้วยหรือไม่ ประธานกลุ่มฯ บอกว่าไม่ใช่คุณภาพต่ำเพราะผลิตเหมือนกันทุกปี ตลอดระยะเวลา 20 ปีไม่เคยมีปัญหา
ซึ่งประธานกลุ่มฯ กล่าวต่ออีกว่า เบื้องต้นแก้ปัญหาโดย ทำหนังสือร้องเรียนยื่นให้คณะกรรมาธิการ การเกษตรฯแจ้งถึงปัญหาให้ทราบ จะมีวิธีการช่วยเหลืออย่างไรได้บ้าง เกษตรกรนทำทุกอย่างด้วยความถูกต้องสุจริตใจโดยเกษตรกรทำอาชีพโดยไม่มีอะไรแอบแขวง ทำทุกอย่างเพื่อมีรายได้เลี้ยงดูครอบครัวมีชีวิตที่ดีขึ้น
ทั้งนี้ช่องทางในการจัดจำหน่าย ส่งให้กับพ่อค้าคนกลางร้อยละ 90 เปอร์เซ็นต์ มารับซื้อถึงพื้นที่แต่ปัจจุบันขาดหายไปหมด เมื่อถามถึงปัญหาไม่มารับซื้อกับพ่อค้าคนกลาง ซึ่งได้รับคำตอบว่า “พ่อค้าคนกลางเองก็ขายไม่ได้เมื่อซื้อต้นพันธุ์ไป เมื่อขายไม่ได้ก็ไม่รู้จะซื้อไปทำไม"
ด้านนายสมมิตร วรรณณิยม เกษตรกรเพาะปลูกต้นกล้าทุเรียนไว้จำหน่าย กล่าวว่า ในแปลงเพาะปลูกพื้นที่ตนเองมีต้นเล็กและใหญ่ประมาณ 50,000 ต้น มีต้นเล็กเพียง 2000-3000 ต้น แต่ขณะนี้มีต้นใหญ่ที่เกินจำหน่ายแล้วมีเป็นจำนวนมากโดยที่ไม่มีพ่อค้ามารับซื้อ มีเพียงเจ้าของสวนทุเรียนมาซื้อไปปลูกซ่อมต้นที่ตายเพียงไม่กี่ต้นซึ่งเป็นจำนวนน้อย การส่งขายพ่อค้าคนกลางจะดีกว่าโดยจะไปจำหน่ายกระจายไปทั่วทุกภูมิภาคของประเทศ ส่วนราคามีหลายเกรด เมื่อขายไม่ได้ต้องเพิ่มต้นทุนในการดูแลรักษา เช่นต้องเปลี่ยนซื้อถุงใส่ขนาดใหญ่ขึ้น
ส่วนนางขวัญเรือน วัฒนาพันธ์ อายุ 58 ปี เกษตรกรผู้เพาะพันธุ์ต้นกล้าทุเรียนในพื้นที่ 7 ตำบลบ้านนา เล่าด้วยความกล้ำกลืนว่า วิงวอนให้หน่วยงานภาครัฐเข้ามาช่วยเหลือเหมือนกลุ่มอาชีพเกษตรกรปลูกข้าว ยางพารา ปาล์มน้ำมันและพืชเกษตรอื่นๆ ในเมื่อกล้าทุเรียนขายไม่ได้ต้นทุนในการดูแลรักษาก็ตามมาเช่น ค่าปุ๋ยก็แพงขึ้นกระสอบกว่า 1000 บาท ค่ายาฆ่าแมลง ค่าจ้างคนงาน จากไม่เคยเป็นหนี้ กลับกลายมีหนี้สิน บางรายไปหยิบยืมกู้เงินมาลงทุน
ผู้สื่อข่าวรายงานเพิ่มเติมว่า กลุ่มเกษตรกรยืนยันว่า ในพื้นที่ 2 ตำบลบ้านนา และตำบลวังใหม่ เป็นพื้นที่เพาะพันธุ์ต้นกล้าทุเรียนที่ใหญ่ที่สุดในโลกก็ไม่ผิดเพราะจัดจำหน่ายไปทุกพื้นที่ของประเทศและยังมีต่างประเทศสั่งซื้อต้นพันธุ์จากทั้งสองตำบลเนื่องจากเป็นต้นพันธุ์ที่มีคุณภาพดีเป็นที่ยอมรับสร้างชื่อเสียงมากว่า 20 ปี
ต่อมาประธานกลุ่มเกษตรกรการเพาะพันธุ์กล้าทุเรียนตำบลบ้านนาและตำบลวังใหม่ ยื่นหนังสือร้องเรียนแก่ นายนิพันธ์ ศิริธร สมาชิกสภาผู้แทนราษฎร(สส.) จังหวัดตรัง เขต 1 พรรคพลังประชารัฐ หลังจากนายสมมิตร ทองเหลือ อดีต สจ.จังหวัดชุมพร ได้ประสานให้เป็นตัวแทนรับเรื่อง พร้อมกล่าวว่า รับทราบความเดือดร้อน เพื่อนำเรื่องเข้ากรรมธิการ การเกษตรและสหกรณ์ฯหาแนวทางให้การช่วยเหลือฉพาะหน้าอย่างไรและระยะยาววางมาตรการป้องกันไม่ให้เกิดปัญหาขึ้นอีกต่อไป