วันที่ 20 ธ.ค.65 รศ.นพ.ธีระ วรธนารัตน์ คณะแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย โพสต์ข้อความผ่านเฟซบุ๊ก Thira Woratanarat ระบุข้อความว่า...
เมื่อวานทั่วโลกติดเพิ่ม 226,430 คน ตายเพิ่ม 1,066 คน รวมแล้วติดไป 658,101,669 คน เสียชีวิตรวม 6,673,138 คน
5 อันดับแรกที่ติดเชื้อสูงสุดคือ ญี่ปุ่น บราซิล เกาหลีใต้ ฮ่องกง และสหรัฐอเมริกา
เมื่อวานนี้จำนวนติดเชื้อใหม่มีประเทศจากยุโรปและเอเชียครอง 6 ใน 10 อันดับแรก และ 12 ใน 20 อันดับแรกของโลก
จำนวนติดเชื้อใหม่ในแต่ละวันของทั่วโลกตอนนี้ มาจากทวีปเอเชียและยุโรป รวมกันคิดเป็นร้อยละ 70.65 ของทั้งโลก ในขณะที่จำนวนการเสียชีวิตคิดเป็นร้อยละ 73.82
...หลังติดเชื้อไปแล้ว ควรหมั่นสังเกตและดูแลสุขภาพด้วย
Raisi-Estabragh Z และทีมงานจากสหราชอาณาจักร ได้เผยแพร่ผลการศึกษาในวารสารการแพทย์ด้านโรคหัวใจ เมื่อเดือนตุลาคมที่ผ่านมา
โดยเปรียบเทียบความเสี่ยงในการเกิดปัญหาเกี่ยวกับหัวใจและหลอดเลือด และการเสียชีวิต ระหว่างกลุ่มผู้ที่เคยติดเชื้อโรคโควิด-19 จำนวน 17,871 คน และกลุ่มที่ไม่เคยติดเชื้อ จำนวน 35,742 คน
พบว่า คนที่ติดเชื้อโรคโควิด-19 จะมีความเสี่ยงต่อการเกิดปัญหาด้านโรคหัวใจและหลอดเลือด รวมถึงการเสียชีวิตทั้งจากทุกสาเหตุและจากปัญหาหัวใจและหลอดเลือด มากกว่าคนที่ไม่เคยติดเชื้อ ทั้งในช่วงภายใน 30 วันหลังติดเชื้อ และหลังจาก 30 วันไปแล้วก็ตาม
ทั้งนี้คนที่ติดเชื้อแล้วต้องนอนรักษาตัวในโรงพยาบาล จะเสี่ยงต่อภาวะผิดปกติต่างๆ ในระบบหัวใจและหลอดเลือด ทั้งกล้ามเนื้อหัวใจขาดเลือด โรคหลอดเลือดสมอง หัวใจห้องบนสั่นพลิ้ว ลิ่มเลือดอุดตัน หัวใจล้มเหลว และกล้ามเนื้อหัวใจอักเสบ รวมถึงเสี่ยงต่อการเสียชีวิตจากสาเหตุต่างๆ และจากโรคหัวใจและหลอดเลือดด้วย
ที่สำคัญคือ ความเสี่ยงต่างๆ ที่กล่าวมาข้างต้น ครอบคลุมไปถึงคนที่นอนรักษาตัวในโรงพยาบาล ทั้งจากการติดเชื้อโรคโควิด-19 เดี่ยวๆ เป็นสาเหตุหลัก (primary COVID-19 diagnosis) และคนที่มีโรคประจำตัวแล้วตรวจพบว่าติดเชื้อโควิด-19 ด้วย (secondary COVID-19 diagnosis)
ส่วนคนที่ติดเชื้อแต่อาการน้อย ไม่ต้องนอนรักษาตัวในโรงพยาบาล ก็พบว่าเสี่ยงต่อภาวะลิ่มเลือดอุดตัน และการเสียชีวิตจากทุกสาเหตุ มากกว่ากลุ่มคนที่ไม่เคยติดเชื้อ
...ผลการศึกษานี้ตอกย้ำให้เรารับทราบว่า การติดเชื้อโรคโควิด-19 นั้นไม่ได้จบเหมือนเป็นหวัดธรรมดาแล้วหาย แต่มีความเสี่ยงต่อผลกระทบตามมาในระยะยาว
การป้องกันตัวไม่ให้ติดเชื้อ หรือไม่ให้ติดเชื้อซ้ำ ย่อมดีที่สุด
สถานการณ์ระบาดในไทยขณะนี้มีการติดเชื้อแต่ละวันจำนวนมาก สถิติรายสัปดาห์ชี้ให้เราเห็นว่ามีจำนวนเสียชีวิตเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่องหลายสัปดาห์ติดกันแล้ว
ใช้ชีวิตอย่างมีสติ ไม่ประมาท
ทำงาน เรียน เดินทาง ท่องเที่ยว ควรป้องกันตัว ใส่หน้ากากอย่างถูกต้องสม่ำเสมอ พกสเปรย์แอลกอฮอล์เพื่อใช้ล้างมือบ่อยๆ ระวังการคลุกคลีใกล้ชิดกินดื่มหรือแชร์สิ่งของกับคนอื่น และหลีกเลี่ยงที่แออัด ระบายอากาศไม่ดี เลือกใช้บริการร้านค้าร้านอาหารที่พนักงานมีการป้องกันอย่างดี
การไปรับวัคซีนเข็มกระตุ้นจะช่วยลดเสี่ยงป่วยรุนแรง เสียชีวิต และปัญหา Long COVID
...การใส่หน้ากากอย่างถูกต้องนั้นสำคัญมาก...
อ้างอิง
Raisi-Estabragh Z et al. Cardiovascular disease and mortality sequelae of COVID-19 in the UK Biobank. Heart. October 2022.