รัฐมนตรีเกษตรฯ เรียกประชุม Pig Board รายงานสถานการณ์การผลิตการตลาดสุกร มาตรการการลักลอบนำเข้าเนื้อสุกรผิดกฎหมาย และมาตรการป้องกันโรค ASF พร้อมกำกับดูแลอย่างใกล้ชิด และนำข้อเสนอแนะมาปรับปรุงการดำเนินงาน

วันที่ 19 ธ.ค.65 ดร.เฉลิมชัย ศรีอ่อน รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ เป็นประธานการประชุมคณะกรรมการนโยบายพัฒนาสุกรและผลิตภัณฑ์ (Pig Board) ณ ห้องประชุมกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ โดยที่ประชุมรับทราบสถานการณ์การผลิตการตลาดสุกร ประจำไตรมาส 3/2565 (ก.ค.-ก.ย.) มีปริมาณการผลิตสุกรขุน 3.81 ล้านตัว (ประมวลผลจากข้อมูลการเคลื่อนย้ายสัตว์) คิดเป็นเนื้อสุกร 286.05 พันตัว ปรับลดลงจากช่วงเวลาเดียวกันของปี 2564 คิดเป็นร้อยละ 20.63 เนื่องจากปริมาณแม่พันธุ์สุกรในระบบลดลง จากปัญหาความเสี่ยงด้านสุขภาพในสุกร ประกอบกับเกษตรกรบางรายอยู่ในช่วงปรับตัวเข้าสู่ระบบมาตรฐานใหม่ และภาระต้นทุนการผลิตที่ปรับเพิ่มขึ้นจากราคาพันธุ์สุกรและอาหารสัตว์ที่ปรับเพิ่มขึ้น จึงชะลอการนำสุกรเข้าเลี้ยง

สำหรับต้นทุนการผลิตสุกร (กรณีซื้อลูกสุกรมาเลี้ยงเอง) เฉลี่ย 98.06 บาท/กก. ลดลงจากไตรมาสที่แล้วร้อยละ 1.64 ราคาสุกรมีชีวิตที่เกษตรกรขายได้ เพิ่มขึ้นร้อยละ 1.76 จากไตรมาสที่ผ่านมา เป็น 100 บาท/กก. และเพิ่มขึ้นร้อยละ 39.72 จากช่วงเวลาเดียวกันของปีที่แล้ว ราคาขายปลีกเนื้อสุกรชำแหละ เฉลี่ยกิโลกรัมละ 202.96 บาท เพิ่มขึ้นจากไตรมาส 2/65 ร้อยละ 4.48

การส่งออกสุกรมีชีวิตและผลิตภัณฑ์ ในช่วง 9 เดือนแรกของปี 2565 มูลค่ารวม 2,264.47 ล้านบาท โดยเริ่มมีการส่งออกสุกรมีชีวิตในไตรมาส 2/2565 เนื่องจากประกาศของคณะกรรมการกลางว่าด้วยราคาสินค้าและบริการห้ามส่งออกสุกรมีชีวิตไปนอกราชอาณาจักร เป็นเวลา 3 เดือน สิ้นสุดลงเมื่อวันที่ 5 เม.ย. 2565 ที่ผ่านมา การส่งออกสุกรมีชีวิตเป็น 2,619 ตัว มูลค่า 17.44 ล้านบาท เป็นการส่งออกสุกรพันธุ์ รวม 2,444 ตัว มูลค่า 15.69 ล้านบาท สำหรับการส่งออกเนื้อสุกรและผลิตภัณฑ์รวมทั้งสิ้น 19,596.66 ตัน มูลค่า 2,247.03 ล้านบาท เป็นหนังฟอก 11,998.59 ตัน เนื้อสุกร 984.41 ตัน เนื้อสุกรแปรรูป 6,430.31 ตัน 

การนำเข้าผลิตภัณฑ์สุกร ในช่วง 9 เดือนแรกของปี 2565 มูลค่ารวม 1,916.41 ล้านบาท ลดลงจากช่วงเวลาเดียวกันของปี 2564 ร้อยละ 4.24 ส่วนใหญ่เป็นการนำเข้าชิ้นส่วนอื่นของสุกร จำนวน 66,745.05 ตัน ประกอบด้วย หนังสุกร และเครื่องในสุกร

นอกจากนี้ ยังได้รับทราบผลการประชุมคณะอนุกรรมการต้นทุนการผลิตสุกร เมื่อวันที่ 10 พฤศจิกายน 2565 รวมถึงมาตรการป้องกันปราบปรามการลักลอบนำเข้าสินค้าสุกร โดยมีปริมาณการเข้าตรวจสอบห้องเย็นทั่วประเทศ จำนวน 428 ครั้ง ได้ดำเนินการปราบปรามการลักลอบนำเข้าเนื้อสุกรมาขายในประเทศ โดยมีการดำเนินคดี 29 คดี ของกลางจำนวน 1,069,954 กิโลกรัม (ข้อมูล ณ วันที่ 8 ธ.ค. 65) ทำลายไปแล้ว 75,886 กิโลกรัม มีแผนทำลาย (เดือน ธ.ค. 65) 994,068 กิโลกรัม มูลค่า 123,800,224 บาท 

ในส่วนของมาตรการควบคุม ป้องกันโรคอหิวาต์แอฟริกาในสุกร (African swine fever : ASF) มีการเฝ้าระวังอย่างใกล้ชิด โดยมีการเฝ้าระวังเชิงรับและเชิงรุก ทั้ง พ.ร.บ. โรคระบาดสัตว์ พ.ศ. 2558 ระบบสารสนเทศเพื่อการเฝ้าระวังโรคระบาดสัตว์ (E-smart surveillance) การเฝ้าระวังทางอาการ การเฝ้าระวังทางห้องปฏิบัติการสุกรในโรงฆ่าหรือสุกรเคลื่อนที่ เป็นต้น รวมถึงมีการกำหนดหลักเกณฑ์การลงเลี้ยงสุกรใหม่ ที่ต้องผ่านการอบรมการเลี้ยงและป้องกันโรคปีละ 1 ครั้ง ในรัศมี 5 กม. ไม่มีรายงานโรคอย่างน้อย 30 วัน และเป็นฟาร์ม GFM ขึ้นไป หรือได้รับการประเมินฟาร์มเบื้องต้นตามแบบ ฟป.2 เป็นต้น และรับทราบความก้าวหน้าการพัฒนาวัคซีน้องกันโรคอหิวาต์แอฟริกาในสุกรด้วย

ทั้งนี้ ที่ประชุมยังได้เห็นชอบในหลักการโครงการพัฒนาระบบการติดตามยานพาหนะบรรทุกสัตว์และซากสัตว์ผ่านระบบ GPS Tracking ที่จะช่วยเพิ่มประสิทธิภาพกลไกการตลาดด้วยเทคโนโลยีดิจิตัล สามารถตรวจสอบย้อนกลับแหล่งที่มาของสัตว์-ซากสัตว์ได้ เพื่อเป็นการลดปัจจัยเสี่ยงในการเกิดโรคระบาด และโครงการยกระดับ ปรับระบบการจัดการ และส่งเสริมการเลี้ยงสุกรรายย่อย-เล็ก เพื่อยกระดับ ปรับระบบการจัดการ และอบรมการเลี้ยงสุกร พัฒนาระบบป้องกันและควบคุมโรค ASF และโรคที่สำคัญในสุกร ที่ฟาร์มเกษตรกร และสนับสนุนสุกรขุนแก่เกษตรเพื่อความมั่นคงทางด้านอาหารของประเทศ และเป็นอาชีพที่ยั่งยืน