"ประจวบ เกตุนิ่ม" เกษตรกรปราดเปรื่อง ต้นแบบ Smart Farmer ด้านข้าว ตำบลควนขนุน อำเภอเขาชัยสน จังหวัดพัทลุง จากข้าราชการเกษียณอายุ สู่การพลิกชีวิตเป็นเกษตรกรผู้ปลูกข้าวเต็มตัวอย่างมีประสิทธิภาพ

การทำนาของ นายประจวบ เกตุนิ่ม อายุ 63 ปี เกษตรกรกลุ่ม Smart Famer และทำหน้าที่เป็นประธานกลุ่มแปลงใหญ่ข้าวตำบลควนขนุน อำเภอเขาชัยสน จังหวัดพัทลุง ซึ่งช่วงก่อนเกษียณอายุราชการทำเพื่อใช้เลี้ยงครอบคัว ประสบปัญหาต้นทุนการผลิตสูง ผลผลิตต่ำ เพราะมีเวลาที่เอาใจใส่น้อยต้องจ้างคนในพื้นที่เป็นส่วนใหญ่ แต่ปัจจุบันอาชีพหลักคือเกษตรกร อาชีพรองคือการมีเงินเดือนประจำ มีพื้นที่ทำนาทั้งหมด 11 ไร่ ปลูกปีละ 2 ครั้ง คือ นาปีและนาปรัง หลังจากมีเวลาว่างและทำนามากขึ้น จึงได้มีการศึกษาทดลองว่าจะทำนาอย่างไรเพื่อให้ได้ผลผลิตสูง ต้นทุนต่ำ ขายได้ราคาดี จึงได้ลงมือทำเองและปฏิบัติจริง ในฐานะที่เป็นเกษตรกรต้นแบบ Smart Famer ด้านข้าว และเป็นผู้นำกลุ่มแปลงใหญ่ข้าว เนื่องจากภารกิจตรงส่วนนี้จึงมีแนวคิดที่จะแนะนำให้ผู้อื่นทำ ต้องทำให้เกษตรกรเห็นก่อนเป็นการเน้นย่ำความน่าเชื่อถือ

นายประจวบ เกตุนิ่ม เกษตรกรกลุ่ม Smart Famer และทำหน้าที่เป็นประธานกลุ่มแปลงใหญ่ข้าวตำบลควนขนุน อำเภอเขาชัยสน จังหวัดพัทลุง เปิดเผยว่า กลุ่ม Smart Famer เป็นกลุ่มย่อยกลุ่มหนึ่งที่อยู่ในกลุ่มแปลงใหญ่นาข้าว มีสมาชิก 20 คน ชึ่งถ้าเปรียบเหมือนโรงเรียน กลุ่มแปลงใหญ่ข้าวคือโรงเรียนและกลุ่ม Smart Famer เป็นห้องเรียนห้องหนึ่ง จึงมีการบริหารจัดการในการกิจกรรมในกลุ่ม อาทิ 1.การลดต้นทุนโดยการใช้เทคโนโลยีและนวัตกรรม โดยการใช้เครื่องจักรกลทางการเกษตร ใช้เครื่องอบลดความชื่น ใช้ปุ๋ยตามค่าวิเคราะห์ดิน การไถกลบตอซังแทนการเผา การใช้น้ำหมักในนาข้าว การใช้โดรนและเครื่องพ่นเอนกประสงค์ในการหว่านเมล็ดพันธุ์และปุ๋ย และการใช้แหนแดงในนาข้าวเพื่อเพิ่มธาตุไนโตรเจนแทนการใช้ปุ๋ยยูเรีย 2.การเพิ่มผลผลิตและราคา จัดหาเมล็ดพันธุ์ที่ให้ผลผลิตสูง ทรงต้นเตี้ยไม่ล้ม ตรงตามความต้องการของตลาด และทำ MOU ประกันราคากับโรงสีเพื่อให้เกษตรกรขายผลผลิตในราคาสูงกว่าบุคคลทั่วไป

หลังจากที่ได้ปรับปรุงวิธีการทำนาโดยเน้นการลดต้นทุน เพิ่มผลผลิตและขายผลผลิตได้ราคาสูง ในรอบนาปรังปี 2565 ทำนา 11 ไร่ ได้ผลผลิต 8,283 กิโลกรัม ขายได้กิโลกรังละ 8.50 บาท คิดเป็นเงิน 70,405 บาท ต้นทุน 41,250 บาท เฉลี่ยต่อไร่ ต้นทุน 3,750 บาท ได้ผลผลิต 753 กิโลกรัม คิดเป็นเงิน 6,400 บาท กำไร 2,650 บาท ใช้เวลาประมาณ 100 วัน และคิดว่าจะมีการพัฒนากิจกรรมการทำนาเพื่อให้ได้ผลผลิตที่สูงกว่านี้และต้นทุนก็ต่ำลง

นอกจากนี้ได้นำเอาข้าวพันธุ์ใหม่มาทดลองปลูกในพื้นที่ประมาณ 3 งาน ชึ่งเป็นข้าวที่มีคุณสมบัติ คือ ข้าวสารนุ่ม กลิ่นหอม สามารถขายได้ในราคาตันละ 9,000 บาท ซึ่งถ้าหากได้ผลผลิตดีก็จะแนะนำให้สมาชิกในกลุ่มได้ปลูกในฤดูนาปรังปี 2566 และจะได้ทำ MOU กับโรงสีเรื่องของราคาเพราะทางโรงสีบอกว่าถ้าทำได้จะให้ราคาที่สูงกว่าราคาที่เคยคุยกับทางโรงสีไว้ ทั้งนี้ในการพัฒนาให้เกษตรกรในพื้นที่กินดี อยู่ดีมากยิ่งขึ้น จะต้องเป็นแบบอย่างในการพัฒนาให้กับเกษตรกรเห็นก่อน เพื่อสร้างความเชื่อมั่นในการพัฒนาการปรับเปลี่ยนได้อย่างมีประสิทธิภาพต่อไป