ศูนย์วิจัยข้าวพัทลุง คัดเลือกข้าวพันธุ์ดีเด่นผลักดันการผลิตข้าวให้กับเกษตรกร และการท่องเที่ยวของจังหวัดพัทลุง ให้เป็นซิกเนเจอร์ใหม่ของจังหวัดพัทลุง

ถ้าจะกล่าวว่า “เขา ป่า นา เล” เป็นคำนิยามสั้นๆ ของจังหวัดพัทลุงก็คงไม่ผิด ด้วยพื้นที่ราบที่อยู่ระหว่างทิวเขาบรรทัดกับผืนน้ำใหญ่ทะเลสาบสงขลา มีความอุดมสมบูรณ์ไปด้วยธรรมชาติ แหล่งน้ำ และสภาพผืนดินที่เอื้ออำนวยแก่การทำนา ทำให้ดินแดนแห่งนี้เป็นแหล่งอู่ข้าว อู่น้ำของคนในภาคใต้ เนื่องจากเป็นแหล่งกำเนิดข้าวพันธุ์พื้นเมืองมากมาย โดยเฉพาะข้าวสังข์หยดพัทลุง ซึ่งถือได้ว่าเป็นพืชเศรษฐกิจที่สร้างชื่อเสียงและรายได้ให้แก่จังหวัดพัทลุงเป็นอย่างมาก และด้วยเหตุผลของวัฒนธรรม ค่านิยมในการทำนาที่มีมาก ควบรวมกับความหลากหลายทางด้านพันธุกรรมของข้าวพื้นเมือง จึงทำให้พัทลุงเป็นจังหวัดหนึ่งที่ทางภาครัฐให้ความสำคัญจัดตั้งหน่วยงานด้านข้าวขึ้น เพื่อตอบสนองนโยบายต่างๆ อันจะทำให้คุณภาพการทำนา รวมถึงคุณภาพของชาวนาในภาคใต้นั้นดีขึ้น

ศูนย์วิจัยข้าวพัทลุง ถือเป็นหนึ่งในหน่วยงานที่ถูกตั้งขึ้นภายใต้กระทรวงเกษตรและสหกรณ์เมื่อปี พ.ศ. 2494 เพื่อพัฒนาระบบการผลิตข้าวของจังหวัดพัทลุง และรวมถึงในหลายจังหวัดของภาคใต้ให้มีคุณภาพดีขึ้น ด้วยงานวิจัย การผลิตเมล็ดพันธุ์ดีมีคุณภาพ และถ่ายทอดองค์ความรู้สู่ชาวนา มีเนื้อที่กว่า 1,496 ไร่ ตั้งอยู่ที่บ้านควนกุฎ หมู่ที่ 15 ตำบลควนมะพร้าว อำเภอเมือง จังหวัดพัทลุง”

ด้าน นายกฤษณะ ศิริรัตน์ ผู้อำนวยการศูนย์วิจัยข้าวพัทลุง เปิดเผยว่า ปัจจุบันศูนย์วิจัยข้าวพัทลุง อยู่ภายใต้สังกัดของกรมการข้าว กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ถือได้ว่าเป็นหน่วยงานหลักในการค้นคว้าวิจัยด้านข้าวของภาคใต้ ภายใต้วิสัยทัศน์ “การเป็นศูนย์กลางการพัฒนาพันธุ์ข้าวพื้นเมืองและข้าวคุณภาพ เสริมสร้างประสิทธิภาพการผลิตข้าวสู่การพึ่งพาตนเองและสร้างความเข้มแข็งให้ชาวนาอย่างยั่งยืน ด้วยเจตนารมณ์ที่จะอนุรักษ์ความหลากหลายและใช้ประโยชน์จากข้าวพื้นเมือง เพิ่มผลผลิตและคุณภาพข้าว สร้างมูลค่าทางการตลาดของสินค้าข้าว และเพิ่มองค์ความรู้เรื่องการทำนาให้แก่ชาวนาในภาคใต้ และมีการพัฒนาให้เกษตรกรทั้งกลุ่มเกษตรกรแปลงใหญ่ เกษตรกรปราดเปรื่อง (Smart Farmer) และกลุ่มศูนย์ข้าวชุมชน

สิ่งสำคัญคือการตลาด เนื่องจากการปลูกข้าวที่ได้คุณภาพ มาตรฐานแล้ว ต้องมีตลาดรองรับผลผลิตด้วย และทางศูนย์วิจัยข้าวพัทลุงดำเนินการคือการหาตลาดโดยการเสนอกับผู้ประกอบการร้านอาหารในพื้นที่จังหวัดพัทลุง ว่า ปลาดุกร้า ทะเลน้อยท่านกับข้าวอะไรถึงจะอร่อย เช่น ข้าวสังข์หยด ข้าวดอกพะยอม เพื่อเป็นซิกเนเจอร์ให้กับร้านอาหาร จะเป็นการเชิญชวนนักท่องเที่ยวให้มาเที่ยวเมืองพัทลุง รวมถึงเป็นการสร้างรายได้เพิ่มให้กับเกษตรกรผู้ปลูกข้าวได้อีกด้วย 

นอกจากภารกิจหลักทางด้านการวิจัยแล้ว ศูนย์วิจัยข้าวพัทลุงยังให้ความสำคัญกับงานนโยบายต่างๆ ของรัฐ ซึ่งเป็นกลไกที่สำคัญอย่างหนึ่งที่สามารถเพิ่มคุณภาพชีวิตที่ดีให้แก่เกษตรกรผู้ปลูกข้าวได้ โครงการอันเนื่องมาจากพระราชดำริซึ่งถือเป็นแบบอย่างที่ดีของคำว่า “เศรษฐกิจพอเพียง” การบูรณาการงานด้านข้าวกับหน่วยงานต่างๆ รวมถึงการเป็นแหล่งเรียนรู้เรื่องข้าวที่สำคัญของภาคใต้ให้แก่เกษตรกร นักศึกษาจากสถาบันต่างๆ และบุคคลภายนอกผู้สนใจเรื่องข้าว เนื่องจากข้าวไม่เพียงแต่มีความสำคัญในเชิงเป็นอาหารหลักสำหรับการบริโภคเพียงเท่านั้น หากแต่ในภาคใต้ข้าวยังมีความสำคัญต่อวิถีชีวิต วัฒนธรรม และประเพณีต่างๆ ของชุมชนเป็นอย่างมาก และด้วยสถานการณ์ปัจจุบันที่พื้นที่ปลูกข้าวของภาคใต้ลดลงเป็นอย่างมากจากการถูกทดแทนด้วยพืชเศรษฐกิจชนิดอื่น

ดังนั้นการพัฒนาและรักษาไว้ซึ่งข้าวพันธุ์ดี คิดค้นวิธีการเพิ่มผลผลิตและคุณภาพ รวมถึงการผลิตเมล็ดพันธุ์ดี และนำนโยบายที่เป็นประโยชน์ของภาครัฐให้ถึงมือชาวนา จึงเป็น ภารกิจที่สำคัญของศูนย์วิจัยข้าวพัทลุง ด้วยความคาดหวังที่จะเป็นส่วนหนึ่งของรักษาไว้ซึ่งพื้นที่การปลูกข้าวในภาคใต้ และพัฒนาระบบผลิตข้าวให้มีคุณภาพ อันจะนำประโยชน์สูงสุดสู่ชาวนาในภาคใต้ ทำให้มีคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้น และประชากรในภาคใต้ก็จะได้บริโภคข้าวพันธุ์ดีที่มีคุณภาพต่อไป