“ภาคประชาชน” จัดเวที ฟาดกลับ ส.ส. อภิปรายให้ร้าย กัญชา โดยไม่สนใจข้อเท็จจริงเอาแต่หวังผลทางการเมือง จี้พิจารณาให้แล้วเสร็จ 21 ธันวาคม พร้อมลงมติ ไม่นำกัญชากลับไปเป็นยาเสพติด ประชาชนปลูกใช้ในครัวเรือนได้ โดยไม่ติดคุก
เมื่อวันที่ 19 ธันวาคม 2565 เครือข่ายภาคประชาชน นำโดย สมาคมนักวิจัยแห่งประเทศไทย เครือข่ายประชาชนเพื่อการมีกฎหมายควบคุมกัญชาในประเทศไทย กลุ่มวิสาหกิจชุมชน และกลุ่มหมอยาพื้นบ้าน จัดเวทีเสวนาในรูปแบบ “สภาประชาชน” โดย Live สด ผ่านเพจ “กัญชาทีวี” โดยได้มีการการอภิปรายคู่ขนานกับ ส.ส.ในสภาผู้แทนราษฎร ในวันจันทร์ที่ 19 ธันวาคม โดยการอภิปรายมุ่งเน้นทั้งในเชิงกฎหมาย และเหตุผลสนับสนุนข้อกฎหมาย รวมทั้งให้ข้อมูลข้อเท็จจริง หักล้างข้อมูลในการอภิปรายในสภา ที่มีความคลาดเคลื่อนจากความจริงค่อนข้างมาก
นายประสิทธิ์ชัย หนูนวล กมธ.พิจารณาร่าง พ.ร.บ.กัญชา กัญชง พ.ศ. … และเครือข่ายเขียนอนาคตกัญชาไทย กล่าวว่า บรรยากาศในการประชุมสภาผู้แทนราษฎรเพื่อพิจารณา พ.ร.บ.กัญชา แบ่งเป็น 2 ประเด็นคือ 1. ความไม่เข้าใจในข้อมูล และ 2. เลือกใช้ข้อมูลมากเพื่อสนับสนุนเป้าหมายความต้องการเขาของตัวเอง คือต้องการให้กัญชากลับไปเป็นยาเสพติด ดังนั้นในการพิจารณาจึงมีการใช้ข้อมูลข้อเท็จจริงน้อยมาก สวนใหญ่จะเป็นการหยิบยกปรากฎการณ์ สรุปผลภาพรวมของประเทศเพื่อต้องการเบี่ยงเบนให้ พ.ร.บ. กัญชามีปัญหาเพื่อหวังผลทางการเมือง จะเห็นว่าเมื่อสัปดาห์ที่ผ่านมามีการใช้เวลาพิจารณามาตรา 3 หลายชั่วโมงและไม่ลงมติ
นายประสิทธิ์ชัย กล่าวว่า พรรคประชาธิปัตย์ และพรรคเพื่อไทย แสดงท่าทีชัดเจนมาตลอดว่าไม่สนับสนุนให้ประชาชนปลูกกัญชา ซึ่งมี 2 มาตราที่เกี่ยวข้องคือ มาตราคือ 15 ปลูกเพื่อขาย และมาตรา 18 ปลูกใช้ในครัวเรือน ซึ่งทั้งสองมาตรานี้ควรคงไว้ และที่เบี่ยงเบนว่าหากชาวบ้านปลูกได้ 15 ต้น ก็จะทำให้ประชาชนติดกัญชากันทั้งประเทศ ซึ่งมายาคติเหล่านี้ ได้ขยายกันไปเยอะในสังคม และสร้างปรากฎการณ์ในทางลบขึ้นมาก ในฐานะกรรมาธิการฯ มาตรา 18 สำคัญมาก เพราะเป็นสิทธิหลักประชาชนที่มีสิทธิใช้กัญชาในครัวเรือน ส่วนการที่จะเอากัญชาไปทำอะไรให้ถูกต้องตามกฎหมายนั้น ก็จะมีหลักเกณฑ์ในการควบคุม และขอยืนยันว่ากัญชาเสรี ไม่ได้ถูกพูดถึงใน พ.ร.บ.ฉบับนี้เลย
ดร.พิพัฒน์ นนทนาธรณ์ นายกสมาคมนักวิจัยแห่งประเทศไทย กล่าวว่า อยากให้ สภารีบพิจารณา พ.ร.บ.กัญชา ให้เสร็จภายใน 21 ธันวาคม เนื่องจากในชั้น กรรมาธิการฯ เขาถกกันมาเยอะ และมีการสงวนคำแปรญัตติไว้อยู่แล้ว พอมาถึงสภาใหญ่ อาจจะมีความเห็นอื่นที่แตกต่าง แต่ในทางการเมือง วิป รัฐบาล ก็ลงมติแล้วว่า ต้องช่วยกันผ่านร่าง พ.ร.บ. เมื่อสัปดาห์ที่ผ่านมาใช้เวลาในการพิจารณาหลายชั่วโมง ผ่านไม่กี่มาตรา แสดงให้เห็นชัดเจนว่าต้องการเตะถ่วง อย่างไรก็ตาม เชื่อว่า สงครามกัญชาจะไม่สิ้นสุดลงง่าย ๆ เพราะมีการเชื่อมโยงกับกลุ่มผลประโยชน์ และกลุ่มการเมือง
พ.ต.ท.หญิง ฐิชาลักษณ์ ณรงค์วิทย์ คณะทำงานภาคีเครือข่ายเพื่อประชาชน กล่าวว่า ในฐานะที่ตนทำเรื่องเกี่ยวกับประชาชนมาตั้งแต่ต้นและในภาคีเครือข่ายฯ เองก็มุ่งเน้นเรื่องนี้มาก จึงอยากให้ประชาชนสามารถใข้กัญชาได้อย่างถูกกฎหมาย หากท่านไม่ผ่านมาตรา 18 ประชาชนทั้งประเทศก็คงผิดกฎหมายกันหมด อย่างไรก็ตามหากท่านเกรงว่าประชาชนจะใช้กัญชาในทางที่ผิด ทำไมเมื่อ 3-4 ปีที่ผ่านมา ท่านไม่ออกแบบให้การศึกษา หรือออกแบบในการควบคุมกำกับการใช้ไว้ ทั้งที่ กระทรวงสาธารณสุขเองก็มีการเยี่ยมบ้าน มีบุคลากรใกล้ชิดกับประชาชนอยู่แล้ว ตอนนี้ รพ.สต.บางส่วนก็ไปอยู่กับกระทรวงมหาดไทย มีการเยี่ยมบ้าน เยี่ยมผู้ป่วยติดเตียง ผู้ป่วยสูงอายุ และผู้ป่วยที่ต้องใช้กัญชา อยู่แล้ว
“ประชาชนต้องมีสิทธิปลูกกัญชาโดยถูกกฎหมาย แต่กลไกการควบคุมท่านต้องออกแบบมา โดยมีบุคลากรสาธารณสุข เป็นผู้กำกับ และอบรมบุคลากรเพื่อให้เข้าใจ และมีการนำระบบกำกับที่เหมาะสมกับบริบทของประเทศไทยมาใช้ หากออกแบบได้ ก็จะไม่มีปัญหาอะไร ไม่มีใครอยากทำร้ายตัวเองหรอก ทุกคนก็อยากใช้ของดี ๆ แล้วในส่วนของเยาวชนท่านก็ไม่ต้องเป็นห่วง ก็ไปให้การศึกษาอบรมเขา เพราะสมัยก่อน เขาก็ใช้กัญชากันทุกบ้านทำไมพวกเขาจึงเติบโตกันมาได้” พ.ต.ท.หญิง ฐิชาลักษณ์ กล่าว
ด้าน รศ.ดร.นพ.ปัตพงษ์ เกษสมบูรณ์ จากคณะแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยขอนแก่น กล่าวว่า ข้อกังวลที่ว่ากัญชาจะทำให้เยาวชนจะติดยาเสพติดกันทั้งประเทศนั้น ไม่ได้อิงข้อมูลหลักฐานข้อเท็จจริงอย่างหนักแน่นเพียงพอ จากการวิจัยที่มลรัฐโคโลราโด้ สหรัฐอเมริกา พบว่า กัญชา ทำให้การใช้ยาเสพติดชนิดอื่นลดน้อยลง ทั้งนี้ ผู้เชี่ยวชาญด้านยาเสพติดของโลกยืนยันว่า เมื่อจะลำดับการเสพติดของสารเสพติดทั้งหลายถือว่า กัญชาเป็นมีฤทธิเสพติดน้อยกว่ากาแฟ ดังนั้นการจัดให้กัญชาเป็นยาเสพติด จึงเป็นสิ่งไม่สมเหตุสมผล การกำหนดโทษ จึงไม่สอดคล้องกับการเสพติด
“ผลกระทบที่ตามมา นอกจากไม่สามารถเข้าถึงกัญชาได้แล้ว ประชาชนยังถูกจับเข้าคุก โดนปรับ ทำลายเศรษฐกิจของครอบครัว ทำลายชาติ และเยาวชน ๆ คนเหล่านี้ จะเกิดผลกระทบทางสังคมมากมาย ไม่มีการอบรมเลี้ยงดู เข้าไม่ถึงการศึกษา เนื่องจากพ่อแม่ติดคุก ซึ่งนอกจากจะไม่สามารถแก้ปัญหาสังคมได้จริงแล้ว ยังส่งในทางตรงกันข้ามคือการใช้ยาเสพติดทำร้ายเยาวชนมากกว่าปกป้อง ” รศ.ดร.นพ.ปัตพงษ์ กล่าว
นายรุ่งโรจน์ อเล็ก มิตรธัญ อดีตนักบิน กล่าวว่า ถ้ากัญชากลับไปยาเสพติด ก็เท่ากับต้องกลับไปสู่ระบบเดิม กลายเป็นใครก็เข้าถึงได้ โดยไม่มีกฎหมายควบคุม และไม่มีการสอนหรือไม่มีข้อมูลทางวิชาการรองรับ ว่าปลูกอย่างไรเพื่อไม่ให้ปนเปื้อน ใช้อย่างไรให้เป็นผลดีต่อสุขภาพ ควบคุมการจำหน่ายอย่างไรให้ถูกต้อง และใช้ที่ไหนอย่างไรในทางการแพทย์ ซึ่งสามารถทำได้ถูกต้องตามกฎหมาย ทางด้านเศรษฐกิจ เม็ดเงินที่หมุนเวียน ก็สามารถพัฒนาประเทศชาติได้อย่างมหาศาล
นาย ธนโชติ เธียรรุ่งโรจน์ ประธานวิสาหกิจชุมชนสมุนไพรอากานิกส์ เขาฉกรรจ์ จ.สระแก้ว กล่าวว่า วันนี้เรามีความหวังว่า มี พ.ร.บ. จะต้องออกมาเป็นต้นแบบ อย่ารอให้ประเทศเพื่อนบ้านนำหน้าเราไปเหมือนพืชเศรษฐกิจตัวอื่น ตนอยากให้สภาผ่านร่าง พ.ร.บ.กัญชา โดยพรรคการเมืองก็สามารถมาทำงานร่วมกันได้ พรรคไหนถนัดงานด้านไหน ก็เอามาบรรจุไว้ในพรบ.ฉบับนี้เพื่อที่จะเป็นโมเดลให้ประเทศไทยมีพืชเศรษฐกิจ คำว่าประชาชนปลูกได้ 15 ต้น ก็เหมือนให้ ทองคำ 15 ก้อน กับประชาชน วันนี้เราไม่ต้องไปซื้อยาขวดละ 5,000 ขวดละ 10,000 แต่สามารถใช้ภูมิปัญญารักษาตัวเอง มันเหมือนเขามียาสามัญประจำบ้านที่มีคุณค่า
ขณะที่นายสนธยา แซ่โย้ หมอยาเกาะพะงัน กล่าวว่า ในฐานะผู้แทนของกองทุนแบ่งปันเพื่อผู้ป่วยรักษาฟรี เราเห็นความสำคัญ ของการเข้าถึงรักษาพยาบาล และวิถีชีวิตของคนเกาะพะงัน ที่ชาวบ้านรู้จักใช้กัญชาเพื่อประโยชน์ทางสุขภาพ สมัยก่อนคนเกาะพะงันจะมีกัญชาไว้ต้อนรับนักท่องเที่ยว โดยส่วนตัวเท่าที่ตรวจสาร สาระสำคัญในกัญชาที่ปลูกบนเกาะพะวันพบว่าให้ แต่ละต้นให้สารสำคัญสูง ที่ใช้ประโยชน์ในทางการแพทย์ โดยเฉพาะรักษามะเร็ง โลหะหนักสารตกค้างน้อยมาก กัญชาเกาะพะงันจึงเป็นกัญชาเชิงสุขภาพ ที่จะสามารถพัฒนาไปสู่ การท่องเที่ยวเชิงสุขภาพ ตอนนี้เกาะพะงันปลูกกัญชากลางแจ้งขายได้กิโลกรัมละ 650,000 บาท ส่วนที่ห่วงเรื่องเยาวชนจะติดกัญชากันทั้งประเทศ นั้นก็ไม่ต้องกังวล เพราะเกาะพะงันมีกัญชามาตลอด ยังไม่ติดกันทั้งเกาะเลย
ภญ.ดร.สุภาภรณ์ ปิติพร เภสัชกรเชี่ยวชาญด้านสมุนไพร กล่าวว่า เรามีภูมิปัญญาการใช้กัญชาที่ไม่มีที่ไหนในโลก ใช้กัญขาทุกส่วน ใบ ต้มกินแก้ปวด ทำให้นอนหลับ กิ่งก้านใบใช้เป็นยาอบหลังคลอด ราก ต้มกินให้ร่างกายอบอุ่น น้ำมันกัญขาทั้ง 5 ของลุงดำ แก้ปวด ช่วยให้นอนหลับ เราควรให้ประชาชนทำยารักษาตนเองได้ แค่นอนไม่หลับ ก็คุ้มแล้ว ยานอนหลับแผนปัจจุบันเข้าถึงยากและทำให้เสพติดด้วย เหตุที่ประชาชนต้องปลูกเองทำยาเองเพราะหมอแผนปัจจุบันไม่จ่ายยาจากกัญขาอยู่แล้ว เข้าถึงยากมาก รอยาที่มีทะเบียนก็มีราคาแพงและมีไม่ตำรับที่ผ่านออกมาได้ ซื้อกัญขาใต้ดินก็เสี่ยงกับยาฆ่าแมลงและโลหะหนักประชาชนต้องทีสิทธิปลูกกัญชารักษาตนเองซึ่งมีการจำกัดจำนวนต้น มีสิทธิที่จะเอามาทำยา ใส่ในอาหาร ซึ่งเป็นภูมิปัญญาของไทย เชื่อว่าสังคมไทยต้องมีปัญญาที่จะใช้ประโยชน์จากส่วนดีและควบคุมผลกระทบ ซึ่งเกาะพงันเป็นหลักฐานเชิงประจักษ์ในดำรงอยู่ของความรู้ใคการใช้กัญชาและผลเสียก็ไม่ได้มีผลกระทบอย่างที่กลัวกัน
ขณะที่นาย ธนาวุฒิ ยุวรัตน์ อายุ 63 ปี ผู้ป่วยมะเร็งลำไส้ระยะที่ 3 ซึ่งเป็นผู้ใช้กัญชาในการรักษาว่า ตอนนี้ตรวจไม่เจอเชื้อมะเร็งแล้ว ที่ผ่านมาตนต้องบินไปประเทศลาว เพื่อเอากัญชามาทำยาเพื่อรักษาตัวเอง ลักลอบผ่านตม. มาด้วยความเสี่ยงว่าจะติดคุก ดีใจมากที่จะมีกฎหมายให้ประชนปลูกกัญขารักษาตัวเองได้ จะได้ไม่ต้องลำบากเหมือนตนเอง