วันที่ 17 ธ.ค.65 นพ.อารักษ์ วงศ์วรชาติ ผู้อำนวยการโรงพยาบาลประจวบคีรีขันธ์ โพสต์เฟซบุ๊กเผยกรณีตัวผู้ป่วยหญิงรายหนึ่งว่า ..

#ก้อนเนื้องอกรังไข่ขนาดใหญ่ในช่องท้อง

พบชิ้นส่วน เส้นผม หนังศีรษะ เล็บ ฟัน กระดูก ไขมัน ในก้อนเนื้อ

เป็นกรณีตัวอย่างผู้ป่วยหญิง อายุประมาณ 35 ปี ยังไม่หมดประจำเดือน ให้ประวัติว่า ปวดถ่วงท้องน้อยมานานกว่า1 ปี ประจำเดือนมาบ้าง หยุดเว้นไปบ้าง หลายเดือน ตอนมีประจำเดือน ปวดท้องมากขึ้น ไม่คิดว่าผิดปกติอะไร ต่อมาระยะหลังรู้สึกได้ว่ามีอาการ ปัสสาวะบ่อยขึ้น ท้องผูก ปวดถ่วงท้องน้อยตลอดเวลา เวลานั่งจะดีขึ้น ซื้อยากินเองพอบรรเทา

อยู่มาวันหนึ่ง ขณะทำกิจกรรมงานบ้าน ปวดท้องทันทีทันใด จึงตัดสินใจไปพบแพทย์ที่โรงพยาบาลประจวบคีรีขันธ์ แพทย์เวรตรวจร่างกายเบื้องต้น สงสัยเนื้องอกในอุ้งเชิงกราน ส่งอัลตราซาวด์ช่องท้อง รังสีแพทย์อ่านผลว่าเป็นก้อนเนื้อในช่องท้องส่วนล่าง มีส่วนที่เป็นของเหลวผสมปนกัน จึงส่งปรึกษา แพทย์ผู้เชี่ยวชาญด้านสูตินรีเวช รับผู้ป่วยนอนในโรงพยาบาล วางแผนการรักษาด้วยการผ่าตัดทันที

หลังผ่าตัด พบก้อนเนื้อรังไข่ขนาดใหญ่ประมาณ 18 เซนติเมตร 1 ข้าง เริ่มมีขั้วบิดพันกัน 1 รอบ แต่ก้อนเนื้อยังไม่มีภาวะขาดเลือดมาเลี้ยง จึงได้ตัดก้อนเนื้อออก นอกจากนั้นรังไข่อีกข้าง พบเป็นเนื้องอกไม่ใหญ่มาก จึงได้ตัดออกไปด้วย เหลือเนื้อเยื่อรังไข่ไว้บางส่วนเพื่อให้ยังคงผลิตฮอร์โมนได้

เมื่อผ่าก้อนชิ้นเนื้อ พบเส้นผมเป็นกระจุกปนกับ ชิ้นส่วนเล็บ หนังศีรษะ กระดูก ไขมัน อยู่เต็มก้อน

ก้อนเนื้อในอุ้งเชิงกรานขนาดใหญ่ เป็นเหตุให้ไปกดทับลำไส้ใหญ่ ทำให้ท้องผูก กดทับกะเพาะปัสสาวะ ทำให้ปัสสาวะบ่อย

หากมีอาการผิดปกติเช่นนี้ไม่ควรละเลย รีบปรึกษาแพทย์ ปล่อยทิ้งไว้เสี่ยงต่อการเกิดภาวะแทรกซ้อน เช่น ถุงน้ำบิดขั้วจนขาดเลือดไปเลี้ยง ส่งผลให้รังไข่เน่า ถุงน้ำแตก รั่ว ติดเชื้อรุนแรงตามมา อันตรายมากขึ้น และมีโอกาสพัฒนาเป็นมะเร็งมีน้อยเพียง1%เท่านั้น

ก้อนเนื้อชนิดนี้เรียกชื่อทางการแพทย์ว่า เดอร์มอยด์ซีสต์ เป็นความผิดปกติที่เซลล์ต้นกำเนิดเจริญเติบโตอยู่ผิดที่ แทนที่จะพัฒนาเป็นเซลล์ผิวหนัง กลับมาเจริญในรังไข่ ตั้งแต่เกิด เจริญเติบโตเรื่อยมา จนมีขนาดใหญ่แสดงอาการดังกล่าวมาข้างต้น ไม่ใช่ไสยศาสตร์แต่อย่างใด

ข้อแนะนำการตรวจอัลตราซาวด์ในช่องท้อง ไม่ใช้รังสี ตรวจง่าย รู้ผลเร็ว ไม่เจ็บตัว ไม่ต้องงดอาหาร แพทย์ทั่วไปก็สามารถตรวจคัดกรอง วินิจฉัยโรคได้ หากมีความผิดปกติของร่างกายต่อเนื่อง ควรปรึกษาแพทย์

ขอบคุณ เฟซบุ๊ก Arak Wongworachat