วันที่ 16 ธ.ค. 65 เวลา 14.40 น. ที่หอศิลปวัฒนธรรมกรุงเทพมหานคร นายภาณุมาศ สุขอัมพร ที่ปรึกษาของผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร กล่าวภายหลังร่วมกิจกรรมงาน Bangkok For All ว่า การจัดงานครั้งนี้ จัดขึ้นระหว่างวันที่14-18 ธ.ค.65 มีเป้าหมายเพื่อให้คนพิการเข้ามาลงทะเบียนผ่านแอพพลิเคชั่น ชื่อว่า กรุงเทพฯเพื่อทุกคน โดยกทม.กำลังรวบรวมจำนวนคนพิการทั้งหมดไว้ในแอพฯเดียว เพื่อการจัดการที่ง่ายขึ้น ในการนำผู้พิการเข้าถึงสิทธิ์ตามกฎหมาย รวมทั้งการจำแนกผู้พิการด้านต่างๆ เช่น สถานภาพ ความพิการ ที่อยู่อาศัย มีปัญหาติดขัดเรื่องใด โดยกทม.ได้เชื่อมโยงกับผู้ประกอบการที่ต้องการสนับสนุนผู้พิการ เช่น หากผู้พิการลงทะเบียนกับแอพพลิเคชั่นกรุงเทพฯเพื่อทุกคน จะได้รับสิทธิ์พิเศษจากลาซาด้า แกร็บ รวมถึงผู้ประกอบการและสินค้าต่างๆ ที่ กทม.ตกลงทำความร่วมมือไว้ เพื่อมอบสิทธิ์ให้ผู้พิการอย่างหลากหลายมากขึ้น และลดค่าใช้จ่ายของผู้พิการและครอบครัว

จุดประสงค์อีกประการ คือ กทม.ต้องการสร้างชุมชนของผู้พิการในรูปแบบแอพพลิเคชั่น เพื่อทราบว่าผู้พิการกลุ่มใดต้องการความช่วยเหลือเร่งด่วน และกลุ่มใดไม่ต้องการความช่วยเหลือ รวมถึงกลุ่มที่สามารถช่วยเหลือผู้อื่นได้ ทำให้การสนับสนุนเงินหรือความช่วยเหลือต่างๆ จาก กทม.สามารถทำได้ตรงจุดมากขึ้น ไม่หว่านทั้งหมดเหมือนที่ผ่านมาทำให้สูญเสียงบประมาณโดยเปล่าประโยชน์ เนื่องจากผู้พิการบางกลุ่มสามารถดูแลตนเองได้ ไม่ต้องการความช่วยเหลือ หรือผู้พิการบางกลุ่มไม่ได้ต้องการเงิน แต่ต้องการคนดูแล การช่วยเหลือต่างๆ ต้องปรับเปลี่ยนให้ตรงความต้องการของผู้พิการแต่ละกลุ่ม

ทั้งนี้ การลงทะเบียนคนพิการในแอพฯกรุงเทพเพื่อทุกคน จะบันทึกที่อยู่อาศัยของผู้พิการไว้ในแอพฯ กทม.สามารถติดตามไปเยี่ยม หรือมอบหมายให้เจ้าหน้าที่ กทม.ประจำเขต เข้าไปช่วยเหลือ ติดตาม สนับสนุนสิ่งของจำเป็นสำหรับกลุ่มผู้พิการที่ไม่มีคนดูแล อย่างไรก็ตาม กทม.จะเปลี่ยนการดูแลคนพิการรูปแบบใหม่ โดยจะใช้การสนับสนุนแบบสงเคราะห์น้อยลง และสนับสนุนให้ผู้พิการอยู่ได้ด้วยตัวเองมากขึ้น ผ่านเครือข่ายผู้พิการซึ่งเป็นกำลังสำคัญในการสนับสนุนซึ่งกันและกัน ทั้งนี้ จะมีการประชาสัมพันธ์ให้ผู้พิการลงทะเบียนมากขึ้น เพื่อสิทธิ์ของผู้พิการเอง

ปัจจุบัน กรุงเทพมหานครมีผู้พิการเกือบ 100,000 คน และมีผู้พิการแฝงเกือบ 1,000,000 คน การเปิดให้ลงทะเบียนจะทำให้ทราบจำนวนของการช่วยเหลือได้มากขึ้น เพื่อไม่ให้ผู้พิการคนใดเสียสิทธิ์ตกหล่นไป

นายภาณุมาศ กล่าวว่า การจัดงานในครั้งนี้ ต้องการการมีส่วนร่วม ถึงแม้จะเป็นงานคนพิการ แต่ต้องลบภาพความแบ่งแยกแตกต่างในสังคมให้ได้ ไม่ว่าจะเป็นผู้พิการหรือไม่พิการต้องสามารถใช้ชีวิตร่วมกันได้ ร่วมงานหรือร่วมกิจกรรมเดียวกันได้ ไม่ใช่เพียงงานกิจกรรม ปัจจุบัน กทม.ทดลองนำเด็กพิการมาเรียนร่วมห้องเดียวกับเด็กปกติแล้วเพื่อขจัดความแตกต่างในใจเด็กพิการซึ่งมีความรู้สึกไม่เท่าเทียมแต่ไม่พูดออกมา กทม.ต้องการสร้างการอยู่ร่วมกันอย่างปกติ ไม่แบ่งพื้นที่สำหรับกลุ่มใดกลุ่มหนึ่ง ทุกคนควรใช้ชีวิตร่วมกันได้

ด้านนางอรทัย ด่านดอน มารดาของน้องแบงค์ซึ่งเป็นผู้พิการออทิสติกที่มาร่วมงาน กล่าวว่า ปัจจุบันผู้พิการสามารถเข้าถึงสิทธิ์ได้มากขึ้น โดยการสนับสนุนจากรัฐเดือนละ 800 บาท แต่ยังคงถูกจำกัดสิทธิ์ในหลายด้าน เช่น การจะนำลูกออกไปนอกบ้าน ต้องตรวจสอบสถานที่ก่อนว่าเหมาะสมกับลูกหรือไม่ เพราะบางคนไม่เข้าใจว่าเด็กออทิสติกบางคนอาจไม่เรียบร้อย และมีความก้าวร้าวบางครั้งเวลามีอะไรมากระทบจิตใจ เช่น ถูกบูลลี่ ถูกคนมองว่าแปลกประหลาด การพาลูกมางานกรุงเทพฯเพื่อทุกคนครั้งนี้ ถ้าไม่ได้รับการอำนวยความสะดวกจากกลุ่มผู้พิการก็คงไม่กล้าพาลูกมา เพราะกลัวลูกไปสร้างความรำคาญให้ผู้อื่น รวมถึงเกรงว่าผู้อื่นอาจทำให้ลูกไม่สบายใจ หากจะพาลูกมาชมหอศิลป์ฯ ตามลำพังคงไม่กล้ามา กลัวสังคมไม่เข้าใจเพราะลูกไม่เหมือนคนปกติ อีกอย่าง การจะพาลูกขึ้นระบบขนส่งสาธารณะทำได้ยาก เพราะไม่มีพื้นที่สำหรับอำนวยความสะดวกผู้พิการได้จริง รวมถึงเกรงว่าจะควบคุมลูกไม่ได้เวลาเจอคนเยอะๆ จำเป็นต้องใช้บริการแท็กซี่เท่านั้น และถ้าไม่จำเป็นก็จะไม่ออกไปไหน เพราะหาพื้นที่สำหรับคนพิการได้ยาก 

“อยากให้รัฐช่วยสนับสนุนคนพิการด้านความเป็นอยู่ สังคม สิ่งแวดล้อม อาชีพ เอื้ออำนวยความสะดวก เพราะคนพิการ ถ้าสังคมให้โอกาสและมีอาชีพที่ยั่งยืน ผู้ปกครองพ่อแม่ไม่เคยเรียกร้องความสงสารจากใครเลย หากไม่เท่าเทียมก็ขอให้เขาได้ใช้ศักยภาพอย่างมีศักดิ์ศรีก็พอ” มารดาบุตรชายออทิสติก กล่าว