ดร.พิพัฒน์ นนทนาธรณ์ นายกสมาคมนักวิจัยแห่งประเทศไทย กล่าวว่า จากการฟังการอภิปรายในสภา เมื่อวันที่ 14 ธันวาคม ที่ผ่านมา ทางสมาคมฯ มีความกังวลว่า การพิจารณาร่าง พ.ร.บ.กัญชาฯ จะไม่ทันในสมัยประชุมนี้ จะทำให้ประเทศไทยเสียโอกาสการพัฒนากัญชาทั้งระบบ ทั้งที่ประเทศไทยทำมาดีแล้ว อย่างไรก็ตาม เท่าที่ได้ฟังการอภิปรายในสภา เราพบว่า ส.ส.ยังขาดความรู้ ความเข้าใจในกัญชาศาสตร์อย่างมาก ทั้งความรู้ที่เกิดขึ้นจากงานวิจัยสมัยใหม่ทางระบาดวิทยาของกัญชา เมื่อเปรียบเทียบกับตัวอื่น องค์ความรู้พื้นบ้าน การใช้กัญชาในวิถีชุมชน ทางสมาคมฯ ยินดีที่จะจัดอบรมให้ฟรี เนื่องจากเราอยากเห็นกฎหมายที่เหมาะสมกับกัญชาบนพื้นฐานของวิชาการ และหวังที่จะเห็นรัฐสภาเป็นที่มีการวิเคราะห์ วิพากษ์ บนข้อมูล ข้อเท็จจริง มีหลักฐานเชิงประจักษ์ มากกว่าการพูดที่เลื่อนลอยขาดหลักฐาน สร้างความเข้าใจผิดคลาดเคลื่อนจากความจริง และให้ชี้ชัด เช่น หากบอกว่ากฎหมายกำกวม ไม่ชัดเจน ก็ต้องระบุให้ชัดเจนว่าตรงไหนที่ต้องแก้ไขด้วยเหตุผลทางวิชาการและหลักฐานเชิงประจักษ์อะไร ซึ่ง ก็อยากให้อ่านและศึกษากันให้มาก โดยเฉพาะกฎหมายที่กำลังพิจารณา ซึ่งกรรมาธิการที่ร่างได้มีการส่งให้ทุกพรรคไปพิจารณาและให้ความเห็นมาแล้ว ควรอภิปรายกันในประเด็นนั้น ๆ ทางสมาคมฯ พร้อมที่จะสนับสนุนข้อมูล เอกสารทางวิชาการให้กับทั้งฝ่ายที่เห็นด้วย และไม่เห็นด้วยเพื่อนำไปสู่ข้อยุติ บนพื้นฐานของวิชาการและข้อเท็จจริง
“เช่นหากมีข้อสงสัยว่า กัญชามีฤทธิเสพติดระดับเดียวกับกาแฟ ติดยากกว่าแอลกอฮอล์ และบุหรี่จริงหรือไม่ เราก็จะทำให้ ทางสมาคมฯ เน้นย้ำว่า การเข้ามาเรียกร้องให้มี พ.ร.บ.ที่เหมาะสมกับกัญชาครั้งนี้ไม่ได้เรียกร้องกัญชาเสรี แต่ให้มีกฎหมายควบคุมที่เหมาะสม สามารถนำกัญชามาทำให้เป็นประโยชน์แก่ประเทศชาติ เรามาไกลแล้วจึงขอวิงวอนให้สภาพิจารณาร่าง พ.ร.บ.ให้ทันมาประชุมสภาในสมัยนี้คือให้มีการพิจารณาให้เสร็จในวันที่ 21 ธันวาคมนี้” ดร.พิพัฒน์ กล่าว
นายสฤษดิ์ โชติช่วง ปราชญ์ชาวบ้านวัย 72 ปี จากเกาะพะพัน จ.สุราษฎร์ธานี เปิดเผยถึงการใช้กัญชาตามวิถีของเกาะพะงัน ว่า สมัยเมื่อ 60 กว่าปีที่แล้วที่ตนเองจำความได้ การแพทย์ยังไม่เจริญก้าวหน้า ชาวบ้านก็ใช้ภูมิปัญญาดั้งเดิม ในการดูแลสุขภาพ สมัยที่ตนและน้อง ๆ เกิด พอหลังคลอด หมอตำแยก็จะให้แม่อยู่ไฟ โดยใช้ไอน้ำจากความร้อนของหม้อต้ม เพื่อให้เกิดความอบอุ่นต่อร่างกาย เนื่องจากไม่มีตู้อบเหมือนในปัจจุบัน และในหม้อต้มก็จะมีส่วนผสมของต้นกัญชาที่ไม่ออกดอกเพื่อกระตุ้นให้มดลูกเข้าอู่ และร่างกายฟื้นตัว ตอนนั้นเราเด็กมากจึงไม่รู้เหตุผลทำไมต้องเลือกต้นที่ไม่ออกดอกแต่เห็นหมอตำแยและเพื่อนบ้านใช้สืบต่อกันมา จนกระทั่งมีการออกกฎหมายให้กัญชาเป็นยาเสพติดประเภท 5 การใช้กัญชาตามภูมิปัญญาก็เริ่มหายไป แต่บ้านไหนที่ยังมีคนโบราณอยู่ด้วย ก็ยังพอมีคนใช้กัญชาในการอยู่ไฟบ้างประปราย
“สมัยก่อนกัญชามีทุกบ้าน พ่อแม่เล่าว่าเขาใช้กันมาตั้งแต่ปู่ย่าตายายหลายร้อยปี นอกจากใช้ในการดูแลสุขภาพแล้ว ก็ยังใช้ในทางโภชนาการ ทำอาหารได้รสชาติอร่อยและมีประโยชน์ ซึ่งหลังจากประกาศนโยบายกัญชาเสรีทางการแพทย์ มันก็เกิดการทบทวนรื้อฟื้นภูมิปัญญาเพื่อนำมาพัฒนาให้เกิดประโยชน์ ให้ได้ประสิทธิภาพตามหลักวิชาการ ก็ได้หารือกันว่าจะทำกันได้มากน้อยแค่ไหน ที่จะใช้กัญชาในการดูแลสุขภาพร่วมกับแพทย์แผนไทยและแผนปัจจุบัน ในส่วนของ พี่น้องประชาชนชาวเกาะพะงัน คาดหวังว่า สายพันธุ์กัญชาดั้งเดิม คือเขียวพะงันนั้น ยังมีประโยชน์กับสุขภาพของเขาอยู่ ใครจะว่าล้าหลังก็ตาม แต่กัญชาก็เป็นวิถีของชาวเกาะพะงันให้มีชีวิตอยู่รอดกันมาได้ ตั้งแต่ไม่มีแพทย์แผนปัจจุบันมาช่วยรักษา อยากฝากผู้เกี่ยวข้อง ให้ทบทวนการใช้กัญชาของชาวบ้าน เพื่อสร้างคุณูปการให้เกิดกับประโยชน์พี่น้องประชาชนของประเทศเรา ขอให้มีกฎหมายที่เหมาะสม ที่ให้ชาวบ้านใช้ได้ ชุมชนใช้ได้” นายสฤษดิ์ กล่าว
ด้านนายณรงค์ฤทธิ์ เกษสุวรรณ หรือ ที่ชาวบ้านเรียกว่า ลุงหีตปอย หมอยาพื้นบ้านเกาะพะงัน กล่าวว่า กัญชาอยู่คู่กับเกาะพะงันมานานมาก เฉพาะตระกูลของตนก็ใช้กัญชาในการรักษาโรคมานาน 3 ชั่วอายุคน ตั้งแต่สมัยปู่ทวด มีการบันทึกไว้เป็นลายลักษณ์อักษร เป็นตำรายา ส่วนตนก็ได้ศึกษา และใช้วิธีการท่องจำจนขึ้นใจ และใช้รักษาคนไข้มานาน 40 กว่าปี พอมีการพลิกฟื้นให้มีการนำกัญชามาใช้ได้ตนก็ดีใจ เพราะในพื้นที่ เกาะพะงัน เขาใช้กันเป็นวิถีปกติ ทั้งการสูบ เพื่อช่วยเรื่องหอบหืด ลดความเครียด ใช้รักษามะเร็ง แก้ปวดหัว เป็นไข้ กินข้าวไม่ได้ นอนไม่หลับ ทั้งการรักษาแผลพุพอง บวม ช้ำ ฯลฯ ซึ่งเป็นโรคภัยที่เกิดขึ้นได้กับทุกคน และกัญชาก็สามารถรักษาได้ อย่ามองในทิศทางลบ อย่ามองกัญชาเป็นผู้ร้าย เหล้า บุหรี่ ยาบ้า อันตรายกว่ามากมาย ทำไมท่านปล่อยให้มีได้โดยใช้กฎหมายควบคุม
“ชาวบ้านเคยสนับสนุน ส.ส.ที่ทำงานเพื่อส่วนรวม และเข้าใจวิถีของชาวเกาะพะงัน แต่เมื่อวันนี้ เขาไม่ส่งเสริม ให้มีการปลูกกัญชาเพื่อใช้ในวิถีของชาวเกาะ พวกเราก็จะไม่ขอสนับสนุนท่านอีกต่อไป” หมอยาพื้นบ้านกล่าว