ผ่านไปแล้ว 4 เดือนกับการอบรมหลักสูตรประกาศนียบัตรบัณฑิตนวัตกรรมการจัดการสุขภาพยุคดิจิทัล หรือ HIDA รุ่นที่ 2 ณ โรงแรมชาเทรียม ริเวอร์ไซค์ ยังคงมุ่งเน้นการดูแลสุขภาพแบบศาสตร์องค์รวม ผู้เข้าอบรมสามารถนำไปปฏิบัติและดูแลสุขภาพของตนเองให้แข็งแรง รวมทั้งดูแลบุคคลใกล้ชิดให้ปลอดภัยจากโรค และลดการใช้ยา
ในช่วงของงานวิชาการสัปดาห์นี้ ให้ความสำคัญกับเรื่องการดูแลบาดแผล และวิธีการปฐมพยาบาลเบื้องต้น นายแพทย์ชาญเวช ศรัทธาพุทธ ที่ปรึกษาสมาคมศัลยแพทย์ทั่วไปแห่งประเทศไทย ในพระบรมราชูปถัมภ์ กล่าวว่า บาดแผลในชีวิตประจำวัน เกิดขึ้นได้ตลอดเวลา ทั้ง ที่บ้าน ที่ทำงาน และ ท้องถนน ทำให้การปฐมพยาบาลเบื้องต้นเป็นสิ่งสำคัญ ทั้งนี้ ผิวหนังของมนุษย์แต่ละส่วนมีความหนาบางไม่เท่ากัน จึงเป็นปัจจัยสำคัญในการเย็บแผล โดยระดับชั้นผิวหนังแบ่งเป็น ผิวหนัง ใต้ผิวหนัง กล้ามเนื้อ และ กระดูก เมื่อเกิดบาดแผลบนร่างกายขึ้นอยู่กับความลึกของชั้นผิวหนัง โดยผิวหนังชั้นสำคัญ คือ Dermis ผิวหนังชั้นหนังแท้ เป็นชั้นผิวหนังที่ไม่สามารถงอกใหม่ทดแทนได้
ทางการแพทย์ กำหนดแผลไว้ 2 ประเภท คือ แผลที่มีเลือดออกภายนอก และ แผลภายในที่เกิดจากการฟกช้ำมีเลือดออกใต้ชั้นผิวหนัง ส่วนใหญ่เกิดจากอุบัติเหตุบนท้องถนน โดยบาดแผลที่บริเวณลำตัว คอ และท้อง เป็นบาดแผลชนิดพิเศษ เช่นเดียวกับ แผลถูกยิง ซึ่งเป็นแผลที่รุนแรง ต้องใช้การเอ็กซ์เรย์เพื่อดูความลึกของแผล
สำหรับโครงสร้างของแขน และ ขา ประกอบด้วย ผิวหนัง ใต้ผิวหนัง กล้ามเนื้อ และ กระดูก หากเกิดบาดแผล แพทย์จะทำการวินิจฉัยตรวจให้ละเอียดว่ามีแผลลึกไปถึงชั้นกล้ามเนื้อหรือไม่ โดยเฉพาะ บาดแผลที่มือ ต้องให้ความสำคัญในการเย็บบาดแผลต้องมีความระมัดระวัง เพราะ อาจจะกระทบถึงเอ็นนิ้วมือได้
ส่วนแผลอีกประเภทหนึ่ง คือ ตะปูตำ หรือ เสี้ยนตำ อาจเกิดบาดทะยักได้ง่าย เมื่อเกิดบาดแผลประเภทดังกล่าว ต้องรีบทำการรักษาพยาบาลทันที เพื่อป้องกันการติดเชื้อ แผลที่มีความลึกที่เกิดจากอาวุธ ต้องมีการดูแลรักษาพยาบาลโดยการเปิดปากแผล รักษาความสะอาด แผลหนังเปิดเป็นแผ่น มีวิธีการรักษายาก ทำให้ขาดเลือดไปเลี้ยงอาจทำให้เสียชีวิตได้
แผลไฟไหม้น้ำร้อนลวก หากมีแผลวงกว้างจะทำให้ร่างกายสูญเสียน้ำ แพทย์ต้องให้น้ำเกลือทดแทนภายใน 48 ชั่วโมงแรก แผลที่ถูกสัตว์กัด เช่น สุนัข แมว มีอันตรายอาจทำให้เกิดแผลติดเชื้อไม่ควรปล่อยทิ้งไว้ต้องรีบนำส่งโรงพยาบาล ส่วนแผลที่รุนแรงที่สุด คือ แผลที่เกิดจากระเบิด ไม่สามารถเย็บบาดแผลได้ เพราะมีวงกว้าง วิธีการปฐมพยาบาลเบื้องต้น คือ ห้ามเลือด ทำความสะอาดบาดแผล การสมานแผลใช้วิธีรักษา เย็บแผล หายเอง และ ปลูกถ่ายหนัง
นายแพทย์ชาญเวช กล่าวต่อว่า การเกิดบาดแผล แบ่งเป็น 3 ระยะ คือ ระยะอักเสบใช้เวลา 2-3 วัน ระยะสร้างเซลล์ใหม่ และ ระยะปรับคืนสู่สภาพเดิม ใช้ระยะเวลาตั้งแต่ 2 เดือน – 1 ปี และอาจจะเกิดแผลเป็น ดังนั้น วิธีการปฐมพยาบาลเบื้องต้นเมื่อเกิดบาดแผล ให้ใช้วิธีห้ามเลือด ล้างทำความสะอาดบาดแผลด้วยน้ำสะอาดเพื่อชะล้างสิ่งแปลกปลอมออกจากบาดแผล และ รีบพบแพทย์ทันที ไม่ควรชะล่าใจปล่อยทิ้งไว้ เพราะอาจจะทำให้เกิดการติดเชื้อได้
ผศ.ดร.ศิริลักษณ์ จิตต์ระเบียบ ผู้อำนวยการโรงเรียนการบริบาล เดอะพาเร้นท์ส ที่ปรึกษาประจำคณะกรรมาธิการ การสาธารณสุข กล่าวถึง วิธีการดูแลเท้าผู้ป่วยเบาหวาน ว่า ผู้ป่วยที่เป็นโรคเบาหวานต้องมีการตรวจคัดกรองเพื่อประเมินความเสี่ยงต่อการเกิดบาดแผลที่เท้า ทั้งนี้ ปัญหาเรื่องเท้าในผู้ป่วยเบาหวาน พบร้อยละ 2-10 ในผู้ป่วยโรคเบาหวาน ซึ่งเป็นสาเหตุสำคัญของการถูกตัดขาที่พบบ่อยที่สุด
ดังนั้น ผู้ที่ป่วยโรคเบาหวานต้องได้รับการประเมินเท้าอย่างน้อยละปีละ 1 ครั้ง เช่น ผิวหนัง เป็นตาปลาและการอักเสบติดเชื้อ ตรวจดูว่ามีเล็บขบหรือไม่ ตรวจลักษณะการผิดรูปของเท้าจากปลายประสาทเสื่อม เช่น นิ้วเท้าจิก เท้าแบน การเลือกรองเท้าที่เหมาะสม ควรใส่รองเท้าหุ้มส้น รองเท้าที่มีหน้ากว้าง ใส่พอดี ไม่หลวม การดูแลเท้าด้วยตนเอง หากเกิดบาดแผลไม่ควรใช้ของร้อนประคบ เนื่องจาก ผู้ป่วยโรคเบาหวานจะมีปัญหาระบบปลายประสาทเสื่อม ทำให้เกิดการรับรู้ช้า
ด้านอาจารย์เทิดธูร บุญชู พยาบาลวิชาชีพ กล่าวแนะนำวิธีการปฐมพยาบาลเบื้องต้นที่เกิดขึ้นจากบาดแผล ซึ่งเป็นหลักการประเมินที่ทางการแพทย์ใช้ โดยบาดแผลที่พบบ่อยที่สุด คือ ขาผิดรูป วิธีปฐมพยาบาลให้ใช้ขาอีกหนึ่งข้างมาประกบ ไม่ให้ดึง หรือ จัดขา โดยใช้ผ้ามาผูกช่องว่างของขา ผูกมัดและให้ผู้ประสบเหตุนอนนิ่ง
วิธีการปฐมพยาบาลแขนที่ได้รับบาดเจ็บ หรือ แขนผิดรูป ให้ผู้ประสบเหตุอยู่นิ่ง อยู่ในท่าที่พักกล้ามเนื้อ โดยพักแขนผิดรูปไว้ที่ด้านข้างลำตัว จากนั้นให้ใช้แขนอีกหนึ่งข้างประคองแขนที่ได้รับบาดเจ็บ และให้ใช้อุปกรณ์ เช่น เชือก ผ้าพันคอ ผ้าเช็ดหน้า มาคล้องไว้ที่แขนผิดรูป เพื่อให้กระดูกและกล้ามเนื้ออยู่นิ่ง
วิธีการปฐมพยาบาลแผลฟกช้ำ ใช้การประคบเย็น ภายในระยะเวลา 24 ชั่วโมง ความเย็นจะช่วยทำให้เส้นเลือดฝอยที่แตกหยุดการไหลของเลือด จากนั้น ใช้การประคบร้อนมาช่วยให้เลือดที่อยู่ตามเส้นเลือดฝอยละลาย จะทำให้แผลฟกช้ำเริ่มจางหายไป ส่วนวิธีการปฐมพยาบาลแผลถลอก ให้รีบล้างน้ำสะอาด จากนั้นใช้เบตาดีนใส่ที่แผล จะช่วยทำให้แผลถลอกดีขึ้นภายใน 24 ชั่วโมง
อาจารย์เทิดธูร กล่าวเน้นย้ำว่า หากเกิดกรณีผู้ได้รับบาดเจ็บจากวัสดุของมีคมปักคาในร่างกาย เช่นมีด วิธีการปฐมพยาบาลที่ถูกต้อง คือ ให้ของวัสดุมีคมอยู่นิ่งที่สุด ห้ามดึงออกเด็ดขาด ไม่ควรเลียนแบบภาพยนตร์ เพราะจะทำให้เกิดภาวะเลือดออกเสียชีวิตได้ เมื่อปฐมพยาบาลเบื้องต้นแล้วรีบนำส่งโรงพยาบาลโดยเร็วที่สุด
นอกจากนี้ อาจารย์เทิดธูร กล่าวแนะนำ วิธีปฐมพยาบาลน้ำร้อนลวก ให้ใช้น้ำสะอาด หรือ น้ำเย็นชะล้างแผล หากเกิดแผลพุพอง อย่าเจาะเด็ดขาด เพราะจะเกิดการติดเชื้อได้ เมื่อปฐมพยาบาลแล้ว ให้รีบไปโรงพยาบาลทันที
วิธีปฐมพยาบาลแผลตัดขาด ต้องใช้วิธีการห้ามเลือดโดยเร็วโดยการขันชะเนาะ ใช้ผ้าผูกมัดเหนือบาดแผล ใช้อุปกรณ์ที่หาง่าย เช่นปากกา ทำการขันชะเนาะหมุนไปจนเลือดหยุดไหล จากนั้นปิดแผล และเก็บอวัยวะที่ขาดใส่ถุงพลาดสติก และรีบไปโรงพยาบาลโดยเร็ว ภายในระยะ 6 ชั่วโมง สามารถนำไปต่อกลับได้เหมือนเดิม
อาจารย์เทิดธูร กล่าวด้วยว่า หากพบผู้ประสบเหตุได้รับบาดเจ็บ ให้รีบโทรแจ้ง 1669 แจ้งเหตุแจ้งพิกัด ผู้แจ้งอาการผู้ที่ได้รับบาดเจ็บ และช่วยปฐมพยาบาลเบื้องต้น เพราะจะช่วยต่อลมหายใจให้กับผู้ได้รับบาดเจ็บมีโอกาสรอดชีวิตได้
นายแพทย์อนุชา เศรษฐเสถียร อดีตเลขาธิการสถาบันการแพทย์ฉุกเฉินแห่งชาติ และ ผู้ทรงคุณวุฒิ คณะกรรมการศูนย์อำนวยการความปลอดภัยทางถนน กล่าวบรรยายในหัวข้อ “Road Safety แก้ทุกข์บนท้องถนนไทย” ว่า การเกิดอุบัติเหตุบนถนน ทำให้เกิดแก่ เจ็บ ตาย และ พิการ ทำให้เกิดปัญหาเรื่องความสูญเสียส่งผลมาถึงบุคคลในครอบครัว อัตราการเสียชีวิตจากการจราจรบนท้องถนน ปี 2554 – 2564 ประเทศไทยเสียชีวิตปีละ 20,000 คน
ทั้งนี้ สาเหตุการเกิดอุบัติเหตุบนท้องถนน เช่น ความหย่อนยานของกฎหมาย ปล่อยให้มีการขับขี่รถจักรยานยนต์โดยไม่มีใบขับขี่ ไม่สวมหมวกกันน็อค ขณะที่ประเทศไทย เพิกเฉย และ ไม่จริงจังในการแก้ปัญหาอุบัติเหตุบนถนน
นายแพทย์อนุชา กล่าวว่า ได้ใช้หลักการ 5 ส แก้ไขปัญหาอุบัติเหตุบนถนน ประกอบด้วย สารสนเทศการให้ข้อมูลข่าวสาร เน้นกลุ่มเสี่ยง นักเรียน ข้าราชการ พนักงาน ปัญหาสุดเสี่ยงต้องถูกนำมาแก้ไขอย่างเร่งด่วน สหสาขาประชุมอย่างต่อเนื่อง ส่วนร่วมจากคนในพื้นที่หรือ เครือข่าย และ การดำเนินมาตรการต่างๆ อะไรมีความคุ้มค่ามากที่สุด เบื้องต้นได้นำหลัก 5 ส มาใช้นำร่องลดการเกิดอุบัติเหตุบนท้องถนน ที่จังหวัดอุดรธานี พบว่า ภายในระยะเวลา 4-5 ปี สามารถลดอัตราการเสียชีวิตการอุบัติเหตุท้องถนนได้ เหลือ 4-5 รายต่อเดือน จากเดิม 20 รายต่อเดือน รวมถึง พัฒนาวงจรการสร้าง Road Safetyและ เวชศาสตร์การจราจร Traffic Medicine.