ละโว้ หรือ ลพบุรี เป็นเมืองโบราณ ปรากฏหลักฐานว่ามีมนุษย์ตั้งหลักแหล่งตั้งแต่สมัยก่อนประวัติศาสตร์ มีการค้นพบศิลปะทวารวดีมีอายุในราวพุทธศตวรรษที่ 12-16 กระจายอยู่ทั่วไป ทั้ง พระพุทธรูป พระเครื่อง จารึกภาษาสันสกฤตและภาษามอญ ก่อนศิลปะขอมเมืองพระนคร (Angkorian period) จะเข้ามาปะปน จะเห็นได้ชัดเจนจาก ‘เทวสถานปรางค์แขก’ มีการค้นพบจารึกภาษาขอมที่ศาลสูง หรือ ‘ศาลพระกาฬ’ เอ่ยพระนามพระเจ้าสุริยวรมันที่ 1 ราวพุทธศักราช 1565 ต่อมามีการสร้าง ‘ปรางค์สามยอด’ อันกลายเป็นสัญลักษณ์อย่างหนึ่งของเมืองลพบุรี ซึ่งสร้างในสมัยพระเจ้าชัยวรมันที่ 7 (พ.ศ.1724) ระยะนี้ลพบุรีมีอิทธิพลของพุทธแบบมหายานในระดับสูง ซึ่งเรื่องราวของมหากาพย์รามายณะ มหาภารตะ ก็หลั่งไหลเข้ามาก่อเกิด เป็นตำนานเสมือนจริงของ “เทพหนุมาน” ขึ้น เมื่อมีการสร้างศาลสูง โดยใช้ศิลาแลงและอัญเชิญ ‘รูปสลักหินองค์พระนารายณ์’ ขึ้นสถิตสถานเป็นหลักชัยของเมือง ตามเรื่องราวในรามเกียรติ์ ผู้คนทั้งไกลใกล้ต่างประจักษ์ในฤทธานุภาพอันศักดิ์สิทธิ์ พากันเรียกขานกันว่า “ศาลพระกาฬ”
บริเวณที่ตั้งของศาลสูงหรือศาลพระกาฬนั้น เดิมเป็นป่าเบญจพรรณมีส้มสูกลูกไม้ โดยเฉพาะมะขาม ขึ้นอยู่ร่มรื่น รอบอาณาบริเวณมีฝูงลิงอพยพมาอยู่อาศัยแต่เก่าก่อน มิได้มีความดุร้าย ผู้คนพากันเรียกว่า ‘ลูกศิษย์เจ้าพ่อศาลพระกาฬ’ แม้เมื่อเมืองจะเจริญขึ้น ฝูงลิงเหล่านั้นก็มิได้โยกย้ายหลบหนี หากแต่อยู่ในตัวเมืองโดยมี ‘ศาลพระกาฬ’ เป็นศูนย์กลางเรื่อยมา
ฝูงลิงเหล่านี้ก่อให้เกิดกระแสเรื่องราวของ “หนุมาน” อันเป็นทหารเอกของ “พระราม” ตามวรรณคดีรามเกียรติ ที่มีพลทหารเป็นวานรช่วยพระรามจนเสร็จศึกทศกัณฐ์ พระรามได้ยกเมืองลพบุรีให้แก่หนุมานเป็นบำเหน็จรางวัล และมอบหน้าที่ให้เป็นผู้คอยตอกศรที่พระรามยิงตรึงท้าวกกขนาก ยักษ์เพื่อนทศกัณฐ์ไว้ ณ เขา วงพระจันทร์ เมื่อใดที่ศรเขยื้อนจะมีไก่ร้องบอกให้หนุมานเหาะมาตอกศร เกิดเป็นไฟลุกเผาเขาต่างๆ เช่น เขาทับควาย ดินกลายเป็นสีแดง ต่อมามีผู้มาถลุงเหล็กเป็นอาชีพ ไฟบางส่วนก็ลามมายังพื้นดิน ก่อเกิดเป็น ‘ดินขาว’ หรือ ‘ดินสอพอง’ อันเป็นของดีอีกอย่างหนึ่งของเมืองลพบุรี เรียกว่า “หนุมาน” ผูกพันกับเมืองลพบุรี จนกลายเป็นเอกลักษณ์ แม้ในเทศกาลท่องเที่ยวก็มีการจัด ‘งานโต๊ะจีนลิง’ ซึ่งมีแห่งเดียวในประเทศไทย
เมืองลพบุรีผ่านวันเวลาแห่งอดีตกาล มีความเจริญรุ่งเรืองอย่างยิ่งในสมัยสมเด็จพระนารายณ์มหาราชแห่งกรุงศรีอยุธยา (พ.ศ.2199-2231) มีอิทธิพลของตะวันตกเข้ามาปะปนในงานสถาปัตยกรรม ศิลปกรรม ตลอดจนของหวาน เช่น มีการสร้าง ‘นารายณ์ราชนิเวศน์’ เป็นพระราชวังสำหรับทรงประทับอีกแห่งหนึ่ง โดยมีงานสถาปัตยกรรมทั้งของไทย เปอร์เซีย และฝรั่งเศส ผสมผสานกันอย่างลงตัว มีการสร้างหอดูดาวแสดงให้เห็นความเจริญทางด้านดาราศาสตร์ ที่วัดเซนต์ปอล ซึ่งเรียกกันทั่วไปว่า ‘วัดสันเปาโล’ ตลอดจนการหล่อท่อประปา และนำระบบประปาแบบอย่างตะวันตกเข้ามาใช้ในตัวเมือง เป็นต้น บางครั้งเมืองลพบุรีก็โรยราห่างหายไปจากหน้าประวัติศาสตร์ จนกระทั่งพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว (รัชกาลที่ 4) แห่งกรุงรัตนโกสินทร์ ทรงบูรณปฏิสังขรณ์ ‘นารายณ์ราชนิเวศน์’ และสร้างวัดขวิด ซึ่งปัจจุบันเรียก ‘วัดกวิศราราม’ ต่อมา จอมพล ป. พิบูลสงคราม ได้เล็งเห็นความสำคัญของเมืองลพบุรี ว่ามียุทธศาสตร์ดีเลิศ จึงปรับปรุงพัฒนาให้ลพบุรีเป็นเมืองทหาร จนเจริญรุ่งเรืองมาถึงปัจจุบัน
แม้จะผ่านกาลเวลาหลายยุคหลายสมัย "เทพหนุมาน" ก็ยังฝังอยู่ในมโนคติของผู้คนทั้งในและนอกจังหวัดลพบุรี ด้วยความมีฤทธานุภาพเก่งกล้าสามารถจากเรื่องรามเกียรติ์ ‘หนุมาน’ ถูกนำไปผูกพันกับเกล็ดตำนานต่างๆ ในท้องถิ่นของลพบุรี ซึ่งในรามเกียรติก็ได้กล่าวถึงหนุมานโดยสรุปได้ว่า ‘หนุ’ แปลว่า คาง ‘มาน’ แปลว่า เบือนหรือบิด ‘หนุมาน’ จึงแปลได้ว่า ผู้มีคางเบือน เนื่องจากตอนเล็กซนมาก ขึ้นไปแสดงอิทธิฤทธิ์บนสวรรค์จนพระอิศวรต้องขว้างจักรเข้าขวาง โดนคางยุบไปหน่อย จึงได้ชื่อดังกล่าว นอกจากจะมีกายเผือกขาวแล้ว หนุมานยังมีฤทธานุภาพในอันที่จะจัดการเสี้ยนศึกศัตรู เวลาหาวเป็นดาวเป็นเดือน สามารถแก้ไขอุปสรรค กำจัดศัตรูให้แคล้วคลาด และเนื่องจากความเชื่อผูกพันอยู่กับ “เจ้าพ่อศาลพระกาฬ” หนุมานจึงยิ่งมีฤทธิเดชในฐานะศิษย์เอกเจ้าพ่อฯ ยิ่งใหญ่ขึ้น และมีความเชื่อว่า ผู้ใดมี ‘หนุมาน’ อยู่เคียงกาย ก็จะช่วยเหลือกำจัดอุปสรรคนานัปการให้หมดไป เช่นเดียวกับที่ช่วยพระรามปราบทศกัณฐ์ อธิษฐานสิ่งใดก็จะได้สมความปรารถนา
นับได้ว่า ลพบุรีเป็นเมืองสำคัญมาหลายยุคหลายสมัย ถึงพร้อมด้วยปัจจัยต่างๆ ทั้งในอดีตและปัจจุบัน เช่น เป็นศูนย์กลางการคมนาคม มีแม่น้ำลพบุรีไหลผ่าน สามารถควบคุมเส้นทางน้ำจากดินแดนตอนบนของลุ่มแม่น้ำเจ้าพระยา และแม่น้ำป่าสัก เป็นศูนย์กลางติดต่อกับเมืองท่าค้าขาย นับเป็นเมืองแห่งการเชื่อมต่อและศูนย์รวมแห่งวัฒนธรรมอย่างแท้จริง
ทางสมาคมผู้สื่อข่าวทีวีและสื่อมวลชนลพบุรี และ หจก.ศิลปพระเครื่อง ได้เล็งเห็นศักยภาพอันโดดเด่น จึงต้องการเผยแพร่เกียรติคุณของเมืองลพบุรี และเรื่องราวในอดีตที่ถ่ายทอดผ่านวรรณคดีและตำนานพื้นเมืองในเรื่องราวของหนุมาน เพื่อขจรขจายชื่อเสียงของจังหวัดให้กว้างขวางยิ่งขึ้น อีกทั้งในปีนี้เป็นปีนักษัตร “วอก” อันหมายถึง วานร ทางคณะจึงประสงค์จะสร้างวัตถุมงคล "เทพหนุมานทรงฤทธิ์" เต็มรูปแบบ คือ มี 8 กร ถือเครื่องสูงและศาตราวุธอันทรงคุณวิเศษ โดยขอพรจากองค์พระนารายณ์ เจ้าพ่อศาลพระกาฬ อันเป็นที่เคารพสักการะของทุกผู้ทุกนาม ให้เกิดเดชะอำนาจช่วยขจัดอุปสรรค เป็นขวัญกำลังใจให้กับผู้ที่ร่วมบุญบูชา และได้นํามวลสารศักดิ์สิทธิ์ในการจัดสร้างวัตถุมงคลครั้งนี้จาก 8 วัด 8 พิธีมหาพุทธาภิเษก ที่ยิ่งใหญ่ท่ามกลางฟ้า - ดิน เช่น วัดพระพุทธบาทราชวรมหาวิหาร จ.สระบุรี, วัดอินทรวิหาร กทม., วัดสะตือ จ.พระนครศรีอยุธยา, อนุสรณ์ดอนเจดีย์ จ.สุพรรณบุรี, วัดพระปฐมเจดีย์ราชวรมหาวิหาร จ.นครปฐม, วัดพระศรีรัตนมหาธาตุ จ.สุพรรณบุรี, วัดเสาธงทอง จ.ลพบุรี และ วัดพระศรีรัตนมหาธาตุ จ.สุโขทัย
โดยจะมีพิธีเทวาภิเษกอย่างยิ่งใหญ่ท่ามกลางฟ้า-ดิน ณ ศาลพระกาฬ ตลอดจนสถานที่ใกล้เคียง อันเป็นมณฑลพิธีศักดิ์สิทธิ์ ซึ่ง “พิธีเทวาภิเษกเทพหนุมาน” ครั้งประวัติศาสตร์นี้ จะมีขึ้นในวันเสาร์ที่ 5 นักษัตรปี “วอก” ตรงกับวันอาทิตย์ที่ 9 เมษายน พุทธศักราช 2560 ซึ่งเป็นพิธีในวันเสาร์ห้า ตามตำราที่โบราณจารย์สืบทอดไว้ว่า เป็นวันอันควรประกอบพิธีที่ศักดิ์สิทธิ์ จะเกิดผลสัมฤทธิ์ไพศาล พลานุภาพของ "เทพหนุมานทรงฤทฺธิ์" จะประสบผลสำเร็จสมประสงค์ทุกประการครับผม
สัปดาห์พระเครื่อง
โดย ราม วัชรประดิษฐ์