บทความภูมิภาค / ทีมงานหญ้าแห้งปากคอก(ท้องถิ่น)

สงครามยาเสพติดภาคแรก

ย้อนอดีตการปราบปรามยาเสพติดครั้งใหญ่แบบถอนรากถอนโคนสมัยรัฐบาลทักษิณช่วงตั้งแต่ปี 2546-2549 ด้วย “ยุทธศาสตร์ประกาศสงครามขั้นเด็ดขาดกับยาเสพติด” ที่เริ่มตั้งแต่วันที่ 1 กุมภาพันธ์ 2546 ในสมัยนั้นข้าราชการฝ่ายปกครอง ตำรวจ สาธารณสุข รวมทั้งข้าราชการส่วนท้องถิ่นรู้จักกันดี เพราะเป็นฝ่ายปฏิบัติการปราบปราม ป้องกัน ฟื้นฟู อปท. เป็นด่านหน้าแต่ระวังหลัง เพราะเป็นพื้นที่ปฏิบัติการต่อกลุ่มเป้าหมาย โดยเฉพาะกลุ่มผู้เสพ ที่ส่วนใหญ่เป็นเยาวชนในพื้นที่ ลองมาดูความต่อเนื่องในสงครามยาเสพติดภาคสอง

พฤติการณ์ที่เข้าข่ายเป็นผู้มีอิทธิพล

มีการรวบรวมพฤติการณ์ของผู้มีอิทธิพล เพื่อให้การหาความหมาย และนิยามต่อเป้าหมายได้ง่ายขึ้น วิธีการแยกแยะผู้มีอิทธิพลนี้ใช้มาแต่สมัยสงครามยาเสพติดภาคแรก ซึ่งได้ผลมากในระดับหนึ่ง เพื่อสาวหาตัวการ ตัวต้นเหตุ ปัจจุบันจำแนกได้เป็น 16 พวก คือ (1)นายทุนปล่อยเงินกู้นอกระบบ (2)ฮั้วประมูลงานราชการ (3)หักหัวคิวรถรับจ้าง (4)ขูดรีดผู้ประกอบการ (5)ลักลอบขนสินค้าหนีภาษี (6)เปิดบ่อนการพนัน (7)ลักลอบค้าประเวณี (8)ลักลอบนำคนเข้า-ออกประเทศโดยผิดกฎหมาย (9)ล่อลวงแรงงานไปยังต่างประเทศ (10)แก๊งต้มตุ๋นนักท่องเที่ยว (11)มือปืนรับจ้าง (12)รับจ้างทวงหนี้ด้วยการข่มขู่ใช้กำลัง (13)ลักลอบค้าอาวุธสงคราม/ปืนเถื่อน (14)บุกรุกที่ดินสาธารณะ/ทำลายทรัพยากรธรรมชาติ (15)เรียกรับผลประโยชน์บนเส้นทางหลวงสาธารณะ (16)ผู้มีอิทธิพลที่เกี่ยวข้องกับยาเสพติด

ข่าวการปราบปรามยาเสพติด เกิดการฆ่าตัดตอนนับพันศพเป็นการละเมิดสิทธิมนุษยชน อธิบายได้ 2ทาง คือ โดยปฏิบัติการของฝ่ายเจ้าหน้าที่ (ตำรวจทหาร) หรือ ปฏิบัติการของพวกเดียวกันเอง เพื่อตัดตอนตัวเล็กไม่ให้ไปถึงตัวการใหญ่ การตัดตอนเจ้าหน้าที่รัฐมีโอกาสน้อย เพราะมีการตรวจสอบจากบัญชีดำ หรือบัญชีผู้มีอิทธิพล ที่ฝ่ายปกครองและตำรวจพื้นที่ได้จัดทำไว้น่าเชื่อถือ แต่เหนือฟ้ายังมีฟ้า จึงมีข่าวในสงครามยาเสพติดภาคแรกว่า บุคคลอิทธิพลสูงสุดสาวแตะไม่ถึง แม้จะมีข่าวผู้มีอิทธิพลสูงอยู่ แต่การกลับลงไปมีอิทธิพลต่อลูกน้อง หรือเส้นสายยาเสพติดในระดับล่างๆ จึงไม่มี กล่าวคือบุคคลอิทธิพลสูงเหล่านี้จะหยุดการเคลื่อนไหวเรื่องยาเสพติดไปเฉยๆ เพื่อมิให้สาวถึงตนเอง นี่คือสังคมไทยที่อุดมไปด้วยระบบอิทธิพล ระบบอุปถัมภ์เส้นสายคอนเนกชั่น

ปฐมเหตุสงครามยาเสพติดภาคสอง

ปัญหายาเสพติดมีมาช้านาน สมัยเมื่อสี่สิบปีก่อนจำได้ไหม ราชายาเสพติดคือขุนส่า ที่เป็นฐานยาเสพติดในย่านภูมิภาคอาเซียนนี้มานานร่วมหลายทศวรรษ ว่ากันว่ายาเสพติดนี่แหละที่สร้าง “คอนเนกชั่นทางการเมือง” เป็นเงินทุนในสนามเลือกตั้ง นับแต่สมัยรัฐบาลพลเอกเกรียงศักดิ์ ลามมาถึงอดีตนักการเมืองที่ถูกแบล็กลิสต์จากสหรัฐอเมริกา มาจนถึงปัจจุบัน มันคือแป้ง เงินซื้อกล้วย และ จีนเทา (ดำ) ในที่สุด เสียงสะท้อนยอดเงินซื้อเข้าตำแหน่งนักเรียนนายสิบตำรวจอาจเป็นเสียงสะท้อนที่ชี้เบาะแสอะไรได้บางอย่าง

สถานการณ์ยาเสพติดในท้องถิ่นปัจจุบันอยู่ในพื้นที่ของ อปท. โดยเฉพาะในเขตชนบทบ้านนอก และเขตเมือง ชุมชนเมือง ท้องถิ่นต้องรับมือกับปัญหายาเสพติดที่เป็นปัญหาสังคมปัญหาหนึ่ง แต่ปรากฏว่า “ยาเสพติด” ไม่อยู่ใน "หน้าที่และอำนาจ" งบซื้อสารตรวจยาเสพติด อปท.ต้องอุดหนุนตำรวจ อปท.ตรวจเองไม่ได้ เพราะมิใช่หน้าที่ดังกล่าว เจ้าหน้าที่ท้องถิ่นมิได้เป็นเจ้าพนักงานสอบสวน และเจ้าพนักงาน ป.ป.ส. แต่อย่างใด แต่ อปท. กลับถูกสั่งการให้ทำหน้าที่ป้องกันฟื้นฟูยาเสพติด มี MOU ร่วม ป.ป.ส. ราชทัณฑ์ ตำรวจและสาธารณสุข

ภารกิจของ อปท. จึงปิดทองหลังพระ แม้จะบอกว่าเป็นภารกิจก่อนการเสพ แต่ภารกิจจัดการต้นตอ การจำหน่ายยาเสพติด อปท.ยังไม่มีอำนาจ อปท.เพียงนั่งดูทำตาปริบๆ ทำได้เพียงเท่าที่ทำ อปท.เคยทำมาแล้วในสมัยสงครามภาคแรกเมื่อปี 2546 แต่หลังรัฐบาล คสช.มาถึงปัจจุบัน ภาครัฐใส่ใจปัญหายาเสพติดน้อยลง แม้ว่ารัฐบาล คสช.จะมีอำนาจเต็ม มีข้อสังเกตว่า การขับเคลื่อนนโยบาย ปราบปราม แก้ไขปัญหายาเสพติด ทั้งการปฏิบัติตรงหรือการออกอีเวนต์สร้างภาพก็ตาม ช่วงหลายปีที่ผ่านมาไม่มีข่าวใหญ่การเผายาเสพติดของกลาง จึงทำให้การมียาเสพติดเป็นเรื่องปกติของสังคม เพราะมิได้ตระหนักถึงความร้ายแรงของมันที่มีต่อสังคม

ลึกๆ นักการเมืองในรัฐบาลที่สืบทอดอำนาจ จะไม่ห่วงฐานเสียงประชาชน ไม่ผูกติดกับการเลือกตั้ง ไม่ดีไปกว่านักการเมืองที่มาจากเสียงเลือกตั้ง แม้ว่ารัฐบาลประเภทนี้จะมีอำนาจมากกว่า จะใช้อำนาจอย่างไร ในทางที่ถูกที่ควร ประชาชนย่อมไม่คัดค้าน และไม่ต่อต้านแน่นอน เช่น การใช้อำนาจตามมาตรา 44

มีข้อตำหนิคำถามข้อฉงนมากมาย เหตุใดยาเสพติดเช่นยาบ้ามีราคาถูก (คนเสพเข้าถึงได้ง่าย) ทำไมยาเสพติดจึงมีมากมาย ของกลางยาเสพติดที่เจ้าหน้าที่ตรวจจับได้มีการควบคุมอย่างไร หายไปไหน มีการกั๊กยาไว้หรือไม่ มีจำนวนมากน้อยเพียงใด ตรวจสอบจำนวนของกลางได้ไหม

ต่อคำถามว่า ฝ่ายตำรวจหรือฝ่ายปกครองทราบหรือไม่ว่า ใครเสพ ใครค้า และเมื่อรู้ตัวแล้ว ได้ดำเนินการต่ออย่างไร ศูนย์ปฏิบัติการต่อสู้เพื่อเอาชนะยาเสพติดกระทรวงมหาดไทย (ศตส.มท.) ประชุมครั้งสุดท้ายเมื่อใด จังหวัด อำเภอ ประชุมครั้งสุดท้ายเมื่อใด ประชุมสรุปว่าอย่างไร ใช้งบประมาณทำอะไรบ้าง การเหลียวแลติดตามผลยาเสพติดเป็นอย่างไร มิใช่ว่าเมื่อจะมีการเลือกตั้งที ก็มาเขียนนโยบาย มาขยับอีกที

นี่เพิ่งมาขยับกันเมื่อเกิดเหตุการณ์ฆ่าหมู่ (ยิง-ฟัน-แทง)เด็กปฐมวัยศูนย์พัฒนาเด็กเล็ก (ศพด.) บ้านอุทัยสวรรค์ อบต.อุทัยสวรรค์ อำเภอนากลาง จังหวัดหนองบัวลำภู ที่ทำให้เด็กและผู้ใหญ่เสียชีวิตเป็นจำนวนมาก ถึง 38 ราย เหตุเกิดเมื่อวันที่ 6 ตุลาคม 2565 จากฝีมือของอดีตข้าราชการตำรวจที่ถูกไล่ออกจากราชการเหตุมีพฤติการณ์พัวพันยาเสพติด(ยาบ้า) และการเสพยาเสพติด

ถือเป็น drama addicted แห่งปี เป็นข่าวใหญ่ไปทั่วโลก ขอบคุณที่จะมีการเลือกตั้งปีหน้า นโยบายนี้จึงถูกพูดถึงอีกครั้ง รัฐประกาศ “ลุยปราบยา-ปืนวาระแห่งชาติ” ซึ่งนักข่าวตั้งข้อสังเกตว่า การโทษแค่ยาบ้า แล้วก็ประกาศสงครามยาเสพติด เป็นการแก้ปัญหาที่ตื้นเขิน ง่ายดี

การโปรโมตกระจายเผยแพร่ข่าวสารมากมายในการโชว์ผลงานการปราบปรามยาเสพติด ในหลากหลายมิติ เช่น การจับกุมยาเสพติดลอตใหญ่ เครือข่ายยาเสพติดรายใหญ่ การป้องปรามคดีต่างๆ จากสาเหตุการเสพยา ข่าวคนเมายาบ้า ปรากฏเป็นข่าวก่ออาชญากรรมแทบทุกวัน แต่ในอีกด้าน รัฐบาลห่วงมากในการรักษาภาพลักษณ์ ข่าวการขับเคลื่อนปราบปรามยาเสพติด การบำบัด การแสกนค้นผู้ป่วยผู้เสพ ที่ผ่านมาหลายปีไม่ปรากฏข่าวใหญ่ การแจ้งเบาะแสของชาวบ้าน ไม่ได้รับการเหลียวแล

ยาบ้ามีมากราคาถูกเพราะเหตุใด

แก้กฎหมายการครอบครอง “ผู้เสพเป็นผู้ป่วย” เพื่อส่งไปบำบัด ตามมติ ครม.เมื่อวันที่ 9 สิงหาคม 2565 แก้ปริมาณยาเสพติดตามหลักสันนิษฐานว่าเป็นผู้เสพ มิใช่ผู้ค้ายาบ้าจำนวนไม่เกิน 15 เม็ด หรือน้ำหนักไม่เกิน 375 มิลลิกรัม เป็นอีกมิติหนึ่งของการแก้ไขปัญหายาเสพติด เพื่อลดจำนวนคดี และ ลดจำนวนผู้เสพลง แต่คงมิใช่เรื่องง่ายในทางปฏิบัตินัก เพราะยาเสพติดราคาถูก ยังมีเจ้าหน้าที่เกี่ยวข้องกับการขาย จำหน่ายทั้งในเรือนจำ (ผู้คุม-ผู้ต้องขัง) และที่จำหน่ายทั่วไปด้วย

แม้ข้อมูล ป.ป.ส.พบว่า ผู้เสพยาบ้าลดลงต่อเนื่องทุกปี แต่​ยาบ้ากลับราคาถูกลงมาก เหมือนขนม ยาบ้ามีมากหาง่าย เหลือราคาเม็ดละ 2 บาท เพราะมีต้นทุนการผลิตต่ำ ทุนผลิตร้อยขายได้ราคาหมื่น(สิบเท่า) สารตั้งต้นหาได้ง่าย​กิโลกรัมละไม่ถึง 100 นำมาผลิตยาบ้าได้ประมาณ 22,000 เม็ด ค่าขนส่งจาก 3 หมื่นเหลือ 80 บาท เทคโนโลยีเปลี่ยน​ ผลิตได้เร็วมากถึงร้อยเท่า โรงงานผลิตยาบ้าจึงมีต้นทุนเม็ดละ 50 สตางค์ การป้องกันเบื้องต้น ป.ป.ส.จัดระเบียบขนส่งเอกชน เพื่อป้องกันลักลอบขนส่งยาเสพติด พร้อมอัตราโทษปรับ 5 หมื่น

ข้อคิดการแก้ไขปัญหายาเสพติดปัจจุบัน

รัฐประกาศ “ปราบยาเสพติดและอาวุธปืน” ไปพร้อมกัน ในประเด็นเรื่อง “อาวุธปืน” ตาม พ.ร.บ.อาวุธปืนเครื่องกระสุนปืน วัตถุระเบิด ดอกไม้เพลิงและสิ่งเทียมอาวุธปืน พุทธศักราช 2490 เป็นกฎหมายที่เก่ามาก มีผู้ศึกษาปัญหาอาวุธปืน สรุปปัญหาไว้ใน 2 กรณีคือ (1) การมีอาวุธปืนไว้ในครอบครองโดยได้รับอนุญาต คือ ปัญหาปริมาณอาวุธปืน การถือ “ปืนผิดมือ” การไม่มีมาตรการทางกฎหมายควบคุม และ ปัญหาการตรวจสอบประวัติอาวุธปืน การจัดเก็บข้อมูลใบอนุญาตมีและใช้อาวุธปืน แต่ไม่สามารถตรวจสอบหัวกระสุนปืนและปลอกกระสุนปืนที่คนร้ายใช้ก่อเหตุว่ามาจากอาวุธปืนกระบอกใด (2) การมีอาวุธปืนไว้ใครอบครองโดยไม่ได้รับอนุญาต คือ ปัญหาการถือ “ปืนผิดมือ” ในปืนของผู้อื่น และ ปัญหาอาวุธปืนไม่มีทะเบียน “ปืนเถื่อน” เป็นปัญหาสำคัญในปัจจุบันที่ยากแก่การควบคุม ผู้เขียนมีข้อสังเกตว่า การควบคุมอาวุธปืน และควบคุมการอนุญาตให้มีและใช้อาวุธปืน (แบบ ป.3 และ ป.4) การเข้มงวดการเบิก-ใช้อาวุธปืนของส่วนราชการ (ปืนหลวง) รวมทั้งการนิรโทษกรรมอาวุธปืนเถื่อนโดยให้นำมาขึ้นทะเบียน เหมือนดังที่กระทรวงมหาดไทยได้ทำเมื่อปี พ.ศ.2517 เนื่องจากในรอบหลายสิบปีที่ผ่านมาส่วนราชการต่างๆ ทั้งตำรวจ ทหาร พลเรือน (ฝ่ายปกครอง) ได้ดำเนินการตามโครงการจัดซื้ออาวุธปืนสวัสดิการแก่ข้าราชการและเจ้าหน้าที่เป็นจำนวนมาก ทำให้ประเทศไทยมีสถิติจำนวนผู้ถือครองอาวุธปืนสูงเป็นอันดับต้นๆ ของโลก ซึ่งขาดการตรวจสอบควบคุม เป็นช่องทางในการทุจริตต่างๆ ได้ เช่น การเรียกรับหัวคิว การขายครอบครองแบบนอมินี การใช้สิทธิซื้ออาวุธปืนแล้วนำมาโอน(ขาย)ต่อให้บุคคลอื่น ฯลฯ ทำให้อาวุธปืนตกไปอยู่ในมือของบุคคลที่ไม่เหมาะสม เป็นบ่อเกิดของอาชญากรรมได้ง่าย เป็นต้น

อย่างไรก็ตาม เรื่องยาเสพติดต้องเฝ้าระวังการทะลักเข้าไทย เพราะไทยเป็นทางผ่าน ทางระบายยาเสพติดออกสู่ตลาด นอกจากนี้ยังมียาเสพติดประเภทใหม่ๆ อีกทั้งกระท่อม และกัญชาด้วย ขอฝากข้อคิดข้อสังเกต

(1) เสนอว่ารัฐต้องมีนโยบายเอาจริงเอาจังเดินหน้าปราบปรามอาชญากรรมและยาเสพติดเชิงรุก บูรณาการร่วมกับทุกภาคส่วน ในทุกมิติแบบครบวงจรและต่อเนื่องอย่างยั่งยืน เช่น การระดมปิดล้อม ตรวจค้นเป้าหมายที่เกี่ยวข้อง ต้องสาวให้ถึง "ต้นตอ" หากมีคดีฟอกเงินต้องสืบสวนด้วย ควรประสานกองทัพ ให้แก้กฎหมายอุดช่องโหว่กันผู้ที่ทำผิดวนเวียนซ้ำซาก มิใช่เพียงการส่งบำบัด ควรป้องกันผู้เสพรายใหม่ด้วย

(2) การฆ่าตัดตอนในอดีต นักการเมืองอดีตตำรวจให้ข้อมูลว่า การปราบปรามอย่างจริงจังทำให้มีผู้เสียชีวิต ไม่ใช่เพราะเจ้าหน้าที่ตำรวจเพียงอย่างเดียว มีการฆ่ากันเองของพ่อค้ายาเสพติดด้วย พ่อค้ายาเสพติดรายใหญ่ส่งให้รายเล็ก แต่ส่งบ้างไม่ส่งบ้าง และถูกจับบ้าง สุดท้ายเก็บกันเอง จึงเสนอให้ปรับเพิ่มรางวัลการนำจับล่อใจเจ้าหน้าที่ ปัจจุบันจเรตำรวจเปิดแจ้งเบาะแสยาเสพติดทุกประเภท ผ่านทาง JCOMS ออนไลน์เป็นความลับข้อมูลปลอดภัยมีรางวัลนำจับร้อยละ 5 ของมูลค่าทรัพย์ที่ยึดได้

(3) มาตรการป้องปราม โดยการสนับสนุนชุดตรวจสารเสพติด ให้กับสำนักงานตำรวจแห่งชาติ งานป้องกันปราบปราม ในการตรวจสารเสพติดของผู้ใช้บริการ สถานบริการในพื้นที่ ซึ่งเป็นจุดล่อแหลมในการใช้ยาเสพติดเพื่อสันทนาการ และใช้ในการค้นหาผู้เสพยาเสพติดในชุมชน คัดกรองผู้เสพยาเสพติดให้เขาสู่กระบวนการบำบัด ซึ่งจะนำไปสู่การลดอาชญากรรม กล้องวงจรปิด (CCTV) ที่ อปท.ติดตั้งไว้เต็ม อปท. ก็เห็นๆ ส่งยากันที่ไหน ทำไมไม่ใช้ให้เป็นประโยชน์ แต่ไม่กล้าบอกตำรวจ การสั่งบอกให้ลบภาพหรือการลบภาพออกง่ายกว่าการจับคนผิดใช่หรือไม่

(4) มาตรการป้องกันเจ้าหน้าที่ในการประพฤติมิชอบ เช่น การรีดเงินผู้ค้าผู้เสพ, รับส่วยสินบนจากผู้ค้า, นำเอาของกลางยาเสพติดที่จับได้วนกลับมาขายใหม่, เจ้าหน้าที่มีเอี่ยวช่วยเหลือกลุ่มยาเสพติด ฯลฯ เป็นต้น

การปราบปรามยาเสพติดคงมิใช่เรื่องง่ายหากตั้งต้นไม่ถูก

ปัญหายาเสพติดลึกซึ้งเกินกว่าที่หน่วยงานเดียว หรือส่วนราชการเดียวจะจัดการแก้ไขได้ คำถามคือกระบวนการปราบปรามยาเสพติดเบ็ดเสร็จอยู่ในหน่วยงานใด เป็นคำถามที่รัฐต้องหาคำตอบ คงมิใช่หน้าที่ของ ป.ป.ส.เท่านั้น ต้นตอต้นเหตุสำคัญต้องจัดการแก้ไขให้ได้ก่อนการขนย้ายยา กระบวนการขายยาก็มีการชักชวนหลอกล่อกลุ่มผู้เสพ มีการใช้อิทธิพลคุ้มกันยาเสพติด เพื่อให้การขนย้ายและการจำหน่ายง่ายขึ้น ฝ่ายรัฐแม้จะมีเจ้าหน้าที่รัฐที่เป็นสายสืบก็ตาม ยังต้องต่อสู้กับอำนาจอิทธิพลของฝ่ายตรงข้ามด้วย การควบคุมฝ่ายรัฐมิให้ร่วมในกระบวนการด้วย หรือเป็นตัวการเสียเองจึงบกพร่อง ตรวจสอบควบคุมยาก

รัฐมัวแต่ห่วงเรื่องนโยบายประชานิยม (Populism) จนลืมเรื่องง่ายๆ ที่มีผลต่อสังคมแลคุณภาพชีวิตของคนไป ต่อให้นำนโยบายประชานิยมมาใช้มากเพียงใดก็ตาม มันไม่สามารถไปชดเชยแก้ไขในส่วนที่เสียไปได้เลย เพราะสังคมมันเสียหายไปมากกว่า ฉะนั้น “ประชานิยมโดยไม่คำนึงถึงการพัฒนาประเทศให้เจริญในหลากหลายมิติ” ย่อมไม่เกิดประโยชน์มากกว่าสิ่งที่มันได้สูญเสียไปแล้ว

นักการเมืองที่มาจากการเลือกตั้งแม้ไม่ดี แม้ไม่เด่นดัง ก็ยังพอมีนโยบายได้ขายให้ประชาชนได้คิดถึงบ้าง พอจะทำงานตามนโยบายที่ตนได้หาเสียงไว้ แต่รัฐบาลที่มาจากอำนาจ และที่สืบทอดอำนาจ จะเน้นการรักษาอำนาจของตนมากกว่ารักษาประเทศชาติและประชาชน การรักษาอำนาจของตนอย่างเหนียวแน่น ขาดความสนใจในนโยบายที่ตนมีต่อประชาชน ที่มิได้รับปากกับประชาชนไว้โดยตรง เพราะจุดเกาะเกี่ยวจากการเลือกตั้งไม่มี ในครั้งนี้ก็เช่นกัน การรณรงค์แก้ไขปัญหายาเสพติดจะมาทำในช่วง 3 เดือนสุดท้ายคงไม่เกิดผลแน่

เมื่อประเมินในภาพรวมแล้ว แทบจะเรียกว่ารัฐบาลขาดคะแนนในส่วนนี้ไป ด้วยเหตุผลเชิงตรรกะอย่างง่าย ที่ไม่ต้องอธิบายข้างต้น ยาเสพติดราคาถูกลง เพราะอะไร การรณรงค์แม้จะเป็นการสร้างภาพก็ตามในช่วง 8 ปีที่ผ่านมา มีการเผาทำลายยาเสพติด มีการปราบที่ต้นตอเพียงใด มีมาตรการการควบคุมป้องกันทั้งทางกฎหมายทางปฏิบัติ ทั้งเชิงรุกเชิงรับเพียงใด เป็นตัวชี้วัดที่ชาวบ้านอธิบายเพื่อตอบคำถามในความนิยมต่อรัฐ และต่อเจ้าหน้าที่ผู้มีอำนาจได้

เจ้าหน้าที่รัฐสายสืบ สายปราบปราม แม้จะมีเงินประจำตำแหน่ง แต่ฝ่ายตรงข้ามก็มีส่วยมีสินบน ใต้โต๊ะเป็นเดิมพัน แม้ภาครัฐจะมีการปูนบำเหน็จรางวัลในตำแหน่งหน้าที่การงานให้อีกก็ตาม อาจทำให้เงินค่าตอบแทนเงินประจำตำแหน่งหมดค่าได้ มันอีนุงตุงนังไปหมด เจ้าหน้าที่งง ยิ่งมาเจอสภาพการสร้างภาพสร้างผลงาน เพื่อล่าตำแหน่งหน้าที่การงาน การล่อซื้อล่อจับ หรือการจ่ายเงินในการซื้อขายตำแหน่ง ถือเป็นจุดบอดยิ่งของฝ่ายรัฐ เพราะเงินสีเทาสีดำเหล่านี้แหละคือ “เงินซื้อตำแหน่ง” ฉะนั้น ข่าวการวิ่งเต้นซื้อขายตำแหน่ง ตั๋วช้าง จึงมีให้เห็น แม้กฎหมายตำรวจใหม่จะแก้ไขจุดนี้ว่า การแต่งตั้งตำรวจระดับสูงให้ยึดหลักตำรวจอาวุโสร้อยละ 33 บังคับไว้ก็ตาม มันจะสู้ระบบ “สีเทาสีดำ” เดิมๆ ที่มีมาตลอดร่วมหลายทศวรรษได้หรือไม่อย่างไร

น่าเป็นห่วงว่า คะแนนการแก้ไขปัญหาเรื่องยาเสพติดของรัฐบาลเมื่อเปรียบเทียบรัฐบาลก่อนๆ คงสอบผ่านยาก โดยเฉพาะนโยบายการป้องกันแก้ไขปัญหายาเสพติด ที่มีผลต่อเยาวชนลูกหลานคนไทยโดยตรง เพราะเด็กเป็นคนรุ่นใหม่ที่จะมาแทนคนรุ่นเก่า หากคุณภาพชีวิตแย่ๆ แล้วจะเอาแรงบันดาลที่ไหนมาต่อยอดพัฒนาสังคมประเทศชาติ