ลีลาชีวิต / ทวี สุรฤทธิกุล

วิทยาศาสตร์บอกว่าความรักเป็นเรื่องของเคมีและฮอร์โมน ที่สร้างอารมณ์พลุ่งพล่านชั่วเวลาสั้น ๆ แต่ในประสบการณ์ของไชยา ความรักเป็นอาการเรื้อรังที่ฝังรอยลึกและส่งผลตลอดชีวิต

ไชยามีความรู้สึกต่อผู้หญิงเกิดขึ้นจริง ๆ ก็ในช่วงที่เขาเริ่มเป็นวัยรุ่น ตอนนั้นเขาขึ้นชั้นมัธยมปีที่ 2 โรงเรียนของเขาตั้งอยู่ใกล้โรงเรียนหญิงชื่อดังที่ตั้งอยู่ตรงถนนคอนแวนต์ สีลม  ส่วนโรงเรียนของเขาอยู่ที่ปลายถนนสาธร(เขียนตามแบบสมัยนั้น) เขาต้องนั่งรถเมล์ผ่านไปมาทั้งเช้าและเย็น นานครั้งก็จะเจอนักเรียนหญิงของโรงเรียนนี้ขึ้นรถเมล์มาเหมือนกัน ซึ่งนับเป็นเรื่องที่ประหลาดมาก เนื่องจากส่วนใหญ่จะมีผู้ปกครองหรือคนรถมาส่ง เพราะเป็นโรงเรียนของ “คุณหนู” หรือลูกหลานของไฮโซมาเรียนทั้งสิ้น

สมัยเมื่อ 40 ปีก่อน ปัญหาการจราจรแม้จะเริ่มมีบ้าง แต่ก็ไม่โหดร้ายแสนสาหัสเหมือนในทุกวันนี้ ไชยาออกจากบ้านแถวกลางถนนลาดพร้าวในตอน 7 โมง นั่งรถเมล์เรื่อย ๆ เอื่อย ๆ มาสองต่อก็ถึงโรงเรียนที่ปลายถนนสาธรก่อน 8 โมงทุกวัน เขามาต่อสี่แยกราชประสงค์ แล้ววันหนึ่งเขาก็เจอกับนักเรียนหญิงกระโปรงน้ำเงิน เสื้อขาว ผูกโบสีน้ำเงินตรงหน้าอก แสดงว่าเป็นนักเรียนชั้นมัธยมปลาย ซึ่งแน่นอนว่าต้องมีอายุมากกว่าเขาที่เป็นนักเรียนมัธยมต้น วันนั้นรถเมล์ค่อนข้างแน่น มีคนลุกให้เธอนั่งเพราะเธอถือกระเป๋าค่อนข้างใหญ่และหนัก ไชยาได้ยืนข้าง ๆ เธอ โดยถือกระเป๋าใบใหญ่เช่นเดียวกัน แล้วเธอก็มีน้ำใจถือกระเป๋าให้เขา พร้อมกับคำพูดหวานซึ้งที่เขาจำติดใจ “น้องจ๊ะ ให้พี่ช่วยถือกระเป๋านะจ๊ะ”

ไชยาได้เจอเธออีกหลายครั้งบนรถเมล์สายเดิมนั้น บางทีเธอก็เห็นเขา แต่อยู่คนละส่วนของตัวรถ จึงไม่ได้ทักทายกัน จนวันหนึ่งเขาก็ได้นั่งคู่กับเธอ เขารู้สึกตัวร้อนวูบวาบเหมือนมีใครมาก่อกองไฟใกล้ ๆ ซึ่งก็คงเป็นฮอร์โมนในร่างกายนั่นเอง แล้วก็มีเสียงใส ๆ หวานเจื้อยแจ้วลอยขึ้นมา “น้องขึ้นรถมาจากไหนคะ” เขาจำได้แต่ว่าเขาตอบเธอด้วยเสียงสั่น ๆ จากนั้นเธอก็ชวนคุยไปจนถึงป้ายรถเมล์ริมคลองสาธรตรงข้ามโรงเรียนของเธอ เขามองตามเธอแล้วอยากเดินไปโบกรถให้หยุดแล้วให้เธอข้ามถนนจนเธอเดินเข้าประตูโรงเรียนไป ไชยาคิดถึง “พี่หญิง” คนนั้นเอามาก ๆ ถึงขั้นลงทุนมาแอบดูที่หน้าโรงเรียนของพี่หญิงตอนเลิกเรียน แล้วแอบขึ้นรถเมล์ตามไปดูว่าพี่หญิงบ้านอยู่ที่ไหน จึงได้รู้ว่าอยู่แถวซอยพร้อมพงษ์ ถนนสุขุมวิท เขาเดินตามไปจนเห็นพี่หญิงเดินเข้าบ้าน เขามองข้ามรั้วสูงเข้าไปที่บ้านหลังใหญ่ข้างใน เพียงแค่มองเห็นหลังคาบ้านก็มีความสุขเสียเหลือเกิน (เขานึกถึงเรื่องนี้ครั้งใดก็ต้องแอบยิ้มในใจทุกครั้ง เพราะเคยฟังเพลงที่เนื้อร้องว่าอย่างนี้แล้วก็นึกว่าช่างเพ้อเจ้อเสียเต็มประดา แต่ก็เกิดขึ้นกับตัวเขาแล้วจริง ๆ)

ปีต่อมาเขาขึ้นมัธยม 3 พี่หญิงก็ขึ้นชั้นมัธยม 5 ไชยาได้ไปงานชุมนุมวิชาการที่จัดขึ้นในกลุ่มโรงเรียนคริสเตียน ซึ่งมีโรงเรียนของเขาและของพี่หญิงร่วมในกิจกรรมนั้นด้วย เขาได้เจอพี่หญิงมาเล่นกีตาร์และร้องเพลง เขาไปนั่งฟังตลอด 3 วันที่จัดงานนั้น และทุกครั้งเขาก็ได้เข้าไปทักทายพี่หญิง จนได้รู้ชื่อของเธอว่า “พิมพ์ประกาย” และชื่อเล่นว่า “หน่อย” รวมถึงเบอร์โทรศัพท์ จนวันหนึ่งเขาก็รวบรวมความกล้าหาญโทรไปหาเธอในตอนหัวค่ำ เธอก็มารับแต่บอกว่าให้โทรมาอีกทีสักสี่ทุ่ม ซึ่งเมื่อเขาโทรไปจึงรู้เหตุผลว่าเพื่อให้พ่อแม่ของเธอขึ้นนอนก่อน เพียงครั้งแรกทั้งคู่ก็คุยกันเป็นชั่วโมง แม้จะเป็นเรื่องสัพเพเหระ เรื่องหนังเรื่องเพลง ของกินและที่เที่ยวโน่นนี่ แต่ทั้งสองคนก็ไม่เบื่อเลย พร้อมกับนัดกันคุยต่อมาแทบทุกสัปดาห์

ไชยาเชื่อว่าพิมพ์ประกายคงชอบเขาอยู่ไม่น้อย เพราะจากการพูดคุยทางโทรศัพท์มันแสดงออกไปในแนวนั้นอย่างชัดเจน จนถึงต้นปีต่อมาซึ่งเป็นเทอมสุดท้ายของนักเรียนมัธยมปลายที่จะต้องไปสมัครสอบเอนทรานซ์เข้ามหาวิทยาลัย เขาจึงกะจะสร้างเซอไพรส์กับพิมพ์ประกาย โดยจะหาซื้อของขวัญไปอวยพรเธอในวันนั้น เพราะรู้จากการคุยโทรศัพท์ว่าเธอจะไปซื้อใบสมัครในวันไหน แต่หัวใจเขาก็แตกสลายในทันทีที่ได้เห็นว่ามีนักเรียนชายคนหนึ่งเดินตามไปข้าง ๆ เธอ ทั้งสองคนมีท่าทางสนิทสนมกันมาก ไชยาแอบตามดูจนเห็นทั้งสองคนเดินออกมาจากศาลาพระเกี้ยว ในจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย สถานที่ขายใบสมัคร แล้วคนทั้งสองก็ไปขึ้นรถเมล์ที่ถนนอังรีดูนังต์ ซึ่งเขาไม่ได้ขึ้นตามไป แต่ในตอนกลางคืนเขาก็โทรศัพท์ไปถามเหตุการณ์กับเธอ

ตอนที่เริ่มต้นการสนทนา ไชยาได้ใส่อารมณ์ต่อว่าพิมพ์ประกายไปมากมาย แต่พิมพ์ประกายกลับดูเยือกเย็นและนิ่งฟังไชยาต่อว่าไปเรื่อย ๆ กระทั่งเหมือนว่าไชยาจะหมดถ้อยคำต่อว่าแล้ว เธอก็พูดขึ้นเบา ๆ ด้วยประโยคแรกว่า “พี่ไม่ได้ชอบเธอแบบนั้น” ไชยาแทบจะไม่ได้ยินเสียงอะไรอีกเลย หัวสมองนั้นมึนตึ้บ จมูกเหมือนจะหยุดหายใจ และร่างกายหมดแรงไปเสียเฉย ๆ ก่อนที่จะเป็นฝ่ายต้องนิ่งฟัง “การอบรม” จากพิมพ์ประกายอย่างยาวนาน เขาจับใจความได้บ้างว่า รักในวัยรุ่นนั้นไม่จริงจังยั่งยืน ควรจะรักตัวเองให้มาก ๆ ด้วยการทำอนาคตให้ดีที่สุด สุดท้ายเขาได้ยินคำปลอบใจจากเธอว่า “คนที่ไม่เคยผิดหวังคือคนที่ไม่หวังอะไรเลย”

ไชยาขึ้นชั้นมัธยมปลายด้วยความรู้สึกว่าอยากเป็นอิสระจากทุกสิ่งทุกอย่าง แต่เขาก็อดที่จะคิดล้างแค้นพิมพ์ประกายไม่ได้ เขาพยายามไปจีบเด็กนักเรียนหญิงบางโรงเรียน ครั้นดูเหมือนจะสำเร็จเขาก็ต้องปรับเปลี่ยนใจไม่ไปต่อ เพราะความรู้สึกไม่เหมือนกับที่เขามีกับพิมพ์ประกาย เขาไม่ชอบผู้หญิงที่ชอบทำท่าเป็นเด็กไร้เดียงสา รวมถึงที่ยั่วยวนจนออกหน้าออกตา เขาชอบผู้หญิงที่เหมือนว่าจะปลอบประโลมเขาได้ รวมถึงที่มีสายตามองมาที่เขาแล้วเหมือนคนที่จะมาคอยดูแลและช่วยเหลือแนะนำเขาได้ ซึ่งเขามารู้ภายหลังว่านั่นคือ “ปม” ชนิดหนึ่งในตัวคน เป็นปมที่เกิดจากจิตใต้สำนึกของ “ลูกติดแม่” หรือขาดแม่แล้วเรียกร้องหาความรักอื่นมาทดแทน ซึ่งก็คือชีวิตในช่วงวัยเด็กของเขานั่นเอง

ในปีที่เขาเข้าเรียนในมหาวิทยาลัย เขารู้สึกมีความสุขมากเพราะมีรุ่นพี่คอยดูแลเป็นอย่างดี ด้วยความที่ไชยามีหน้าตาหล่อเหลา จึงเป็นที่เลื่องลือไปในหมู่รุ่นพี่สาว ๆ แล้วพากันมาดูตัวเขาอยู่เป็นประจำ บางคนก็เหมือนจะมาเอาใจเขาเป็นพิเศษ แต่แรกเขาเลือกอยู่ในชมรมยิงปืน แต่ก็มีพี่ผู้หญิงคนหนึ่งมาชวนเขาไปอยู่ชมรมฟันดาบ กิตติศัพท์ในเรื่องเสน่ห์ของเขาทำให้พวกผู้ชายทั้งรุนพี่และรุ่นเดียวกันกับเขาพากันหมั่นไส้ บ้างก็ไปลือว่าเขาเป็น “ตุ๊ด” จึงเข้าไปอยู่ในกลุ่มพวกสาว ๆ ได้อย่างแนบเนียน เขาพยายามจะไปอยู่ในชมรมฟุตบอล แต่ก็ไม่มีใครต้อนรับ จนได้มาอยู่ที่ชมรมกรีฑาซึ่งก็ให้การต้อนรับเขาดีพอสมควร และในชมรมกรีฑานี้เขาก็พยายามพิสูจน์ “ความเป็นแมน” ด้วยการเข้าแข่งขันให้ชมรมในกีฬาหลายประเภท ซึ่งเขาก็ทำผลงานได้ดีเป็นชื่นชมทั้งในชมรมและในคณะ

ในช่วงที่อยู่ในมหาวิทยาลัยนี่เอง ไชยาได้เรียนรู้ถึงความรักแบบใหม่ ที่ไม่ใช่ความรักแบบหนุ่มสาวทั่วไป แต่มันคือความรักแบบประชันขันแข่ง เพื่อแสดง “ความเป็นชายแท้”