นายชัชชาติ สิทธิพันธ์ุ ผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร กล่าวในงาน “INTANIA DINNER TALK 2022” จัดโดยสมาคมนิสิตเก่าวิศวกรรมศาสตร์แห่งจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย หัวข้อ “ความยั่งยืน 3 มุมมอง Survive or Sustain” ที่ห้องแกรนด์ฮอลล์ โรงแรมดิแอทธินี โฮเทล แบงค็อก ว่า ความยั่งยืนในมุมมองของตน ประกอบด้วย การไม่เบียดเบียนทรัพยากรของคนในอนาคตมาใช้ในปัจจุบัน การศึกษา และเด็ก ซึ่งที่ผ่านมา กทม.พยายามผลักดันเรื่องเด็กและโรงเรียนมากขึ้น มีการเพิ่มงบประมาณให้สำนักการศึกษา เพื่อขับเคลื่อนหลักสูตรและรูปแบบการบริหารใหม่ ทั้งด้านอาหาร มีการนำเทคโนโลยีมากำหนดโภชนาการให้เด็กนักเรียนในสังกัด กทม.อย่างสมวัย และการเปิดโอการเรียนรู้นอกห้องเรียนโดยให้ประชาชนเข้ามามีส่วนร่วมในการถ่ายทอดความรู้ที่ตนเองเชี่ยวชาญสู่เด็กในชุมชน รวมถึงการเปิดเทศกาลและโครงการต่างๆ ตามกิจกรรมที่ กทม.กำหนด เพื่อให้เด็กและเยาวชนมีส่วนร่วมในการแสดงความคิดเห็นและตั้งคำถามต่อเมืองที่พวกเขาอาศัย
นายชัชชาติ กล่าวว่า ที่ผ่านมา กทม.เน้นทำแต่โครงการใหญ่มูลค่ามหาศาล พัฒนาเชิงโครงสร้างของเมืองในด้านต่างๆ มากมาย ขณะที่เด็กในศูนย์ดูแลเด็กเล็กตามชุมชนต่างๆ ยังรับค่าอาหารหัวละ 20 บาท อาสาสมัครดูแลเด็กไม่เคยได้รับการปรับเงินเดือนและสวัสดิการ ซึ่งย้อนแย้งกับทิศทางการพัฒนาโดยสิ้นเชิง เพราะเมืองเป็นเพียงสิ่งปลูกสร้าง สิ่งสำคัญที่สุดคือคนที่อาศัยในเมืองต่างหาก และคนส่วนใหญ่คือคนในชุมชน ขณะที่การพัฒนาเชิงโครงสร้างดำเนินไป ไม่มีใครสนใจว่าประชาชนในชุมชนต่างๆ ทั่ว กทม.เข้าถึงการรักษาได้สะดวกหรือไม่ ผู้ป่วยติดเตียง ผู้พิการ ผู้ไร้บ้าน พวกเขาเข้าถึงสิทธิ์ต่างๆ ที่ควรได้รับในฐานะประชาชนหรือไม่ ซึ่งตนพยายามผลักดันเรื่องชุมชนรากหญ้าหรือเส้นเลือดฝอยตลอดมา เพราะเป็นความยั่งยืนของเมืองจริงๆ
รวมถึงการเปิดสถานที่ท่องเที่ยวต่างๆ เปิดจุดสนใจ ดึงดูดการท่องเที่ยวลงสู่ชุมชน เพื่อต้องการให้เกิดเศรษฐกิจหมุนเวียนในชุมชน ประชาชนมีรายได้มากขึ้น ปรับฐานระบบสาธารณสุขเชิงรุกมากขึ้นเพื่อบริการประชาชนในพื้นที่ห่างไกล ซึ่งตนมองว่า เมืองจะยั่งยืนได้ รัฐต้องเป็นที่ไว้ใจของประชาชนด้วย สนับสนุนประชาชนในวัยเด็กและวัยชราอย่างเต็มที่ เพื่อให้ประชาชนมีความมั่นใจในชีวิตของตน ปัจจุบัน คนรุ่นใหม่ไม่กล้ามีลูก เพราะเขาไม่ไว้ใจสถานการณ์บ้านเมืองและเศรษฐกิจ รัฐ รวมถึงระบบการรักษาและความเป็นอยู่ เรื่องนี้ส่งผลต่อความยั่งยืนโดยตรง เพราะเมืองในอนาคตจะมีแต่ผู้สูงอายุเพิ่มขึ้น แล้วจะพัฒนาต่อไปอย่างไร ดังนั้น ขณะที่การพัฒนาเชิงโครงสร้างต่างๆ ของเมืองดำเนินไป อย่าลืมพัฒนาเด็กและเยาวชนคนรากหญ้าในชุมชนด้วย เพราะนี่คือคนส่วนใหญ่ เป็นหัวใจของความยั่งยืน
นายชัชชาติ กล่าวทิ้งท้ายว่า การจะทำให้เมืองยั่งยืน ต้องดูแลซึ่งกันและกัน ยึดประโยชน์ของส่วนรวมเป็นหลัก ที่ผ่านมามีการใช้ทรัพยากรกันอย่างมากมาย โดยไม่ได้คำนึงว่าเด็กที่เกิดมาใหม่หรือคนรุ่นใหม่จะมีทรัพยากรเหลือให้ใช้หรือไม่ ส่วนคนรุ่นตนสบายแล้ว เพราะใช้ทรัพยากรมาอย่างเต็มที่และมีอายุอีกไม่กี่ปี ซึ่งตนมองว่า เรากำลังปล่อยให้คนรุ่นใหม่เผชิญกับสภาวะโลกร้อน อากาศเป็นพิษ จากฝีมือการใช้ทรัพยากรของคนรุ่นก่อน และหากยังไม่เลิกเบียดเบียนทรัพยากรของคนในอนาคตมาใช้ในปัจจุบัน การพัฒนาและความยั่งยืนเกิดขึ้นได้ยาก