จากปัญหาอุทกภัยที่เกิดขึ้นตั้งแต่ช่วงเดือนมิถุนายน-กันยายนที่ผ่านมา ส่งผลให้น้ำท่วมขังนาข้าวและพื้นที่ทำการเกษตรในหลายพื้นที่ได้รับความเสียหาย กระทรวงเกษตรและสหกรณ์จึงได้มอบหมายให้กรมพัฒนาที่ดินเตรียมวางแนวทางการฟื้นฟู เพื่อช่วยลดปัญหาที่เกิดขึ้นให้กับเกษตรกร นายสุรเดช เตียวตระกูล อธิบดีกรมพัฒนาที่ดิน นายสุรเดช เตียวตระกูล อธิบดีกรมพัฒนาที่ดิน เปิดเผยว่า ในช่วงนี้ประเทศไทยมีมรสุมพัดผ่านทำให้เกิดฝนตกปานกลางถึงหนักมากในหลายพื้นที่ ส่งผลให้เกิดปัญหาน้ำท่วมขังเน่าเสีย มีกลิ่นเหม็น เพื่อเป็นการช่วยลดปัญหาที่เกิดขึ้นให้กับพี่น้องชาวนาและเกษตรกร ทางกรมพัฒนาที่ดินจึงได้วางแนวทางดำเนินการฟื้นฟูนาข้าวและพื้นที่แปลงเพาะปลูกของเกษตรกร โดยได้สั่งการให้เจ้าหน้าที่ของกรมพัฒนาที่ดินรวมถึงเครือข่ายหมอดินอาสาในทุกจังหวัด ลงพื้นที่ตรวจเยี่ยมเกษตรกรที่พบกับปัญหาน้ำท่วมขัง เพื่อสอบถามถึงความต้องการของพี่น้องเกษตรกร และหลังจากน้ำลดแล้วนั้น กรมพัฒนาที่ดินได้วางแผนเพื่อช่วยลดปัญหา น้ำเน่า น้ำเสีย มีกลิ่นเหม็น ซึ่งเกิดจากเศษวัชพืชนั้นเน่าขณะที่น้ำท่วมขัง โดยรณรงค์ให้เกษตรกรหันมาใช้ผลิตภัณฑ์เทคโนโลยีชีวภาพกรมพัฒนาที่ดิน สารเร่งซุปเปอร์ พด.6 เพื่อทำสารบำบัดน้ำเน่าเสียและช่วยขจัดกลิ่นเหม็นซึ่งเกษตรกรนั้นสามารถทำใช้เองได้ง่ายในพื้นที่แปลงของตน โดยวิธีทำส่วนผสมนั้น ได้แก่ นำเศษอาหารและกากน้ำตาลผสมลงในถังหมัก ละลายสารเร่ง พด.6 ในน้ำ 10 ลิตร แล้วเทลงในถังหมักอีกที คลุกเคล้าให้เข้ากันจากนั้นทำการปิดฝาไม่ต้องสนิท อากาศสามารถถ่ายเทได้ ใช้ระยะเวลาในการหมัก 20 วัน ควรให้ถังหมักอยู่ในที่ร่ม เพราะถ้าหากโดนแสงแดดมากไปการทำปฏิกิริยาของจุลินทรีย์จะเจริญเติบโตเร็วเกินไป อาจทำให้เน่าเสียใช้งานไม่ได้ ส่วนวิธีการใช้สารเร่ง พด.6 ในการบำบัดน้ำเน่าเสีย ให้เทอัตรา 1 ส่วน ต่อน้ำ 10 ส่วน ในบริเวณที่เป็นน้ำขังหรือน้ำเน่าเหม็น ทุกวัน หรือทุกๆ 3 วัน ในกรณีใส่ในบ่อกุ้งและบ่อปลานั้นให้ใส่ในอัตราส่วน 100 มิลลิลิตรต่อปริมาตรน้ำในบ่อ 1 ลูกบาศก์เมตร ใส่ทุกๆ 10 วัน จนสังเกตได้ว่าน้ำในบ่อใสสะอาดขึ้น และไม่ส่งกลิ่นเหม็น สารเร่ง พด.6 ยังมีประโยชน์อีกมากมาย เช่น สามารถนำไปใช้ย่อยสลายเศษอาหารเปียกในครัวเรือน เพื่อนำไปใช้เป็นปุ๋ยอินทรีย์ได้อีกด้วย เป็นต้น อธิบดีกรมพัฒนาที่ดิน กล่าวว่า นอกจากนี้ กรมพัฒนาที่ดินยังส่งเสริมให้เกษตรกรใช้สารเร่งซุปเปอร์ พด.2 ในการฉีดพ่นหลังจากน้ำลด เพื่อเป็นการย่อยสลายเศษวัชพืชให้เร็วขึ้น และหลังจากนั้นจะส่งเสริมให้เกษตรกรปลูกพืชปุ๋ยสด เช่น ปอเทือง เพื่อเป็นการปรับปรุงบำรุงดินในพื้นที่แปลงของตนหลังจากที่น้ำลดแล้ว ทั้งนี้ เกษตรกรและประชาชนทั่วไปสามารถขอรับสารเร่งพด. ได้ที่สำนักงานพัฒนาที่ดินในทุกเขตทุกจังหวัด ที่ใกล้บ้าน หรือสอบถามรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ สำนักวิจัยและพัฒนาการจัดการที่ดิน กรมพัฒนาที่ดิน ถนนพหลโยธิน เขตจตุจักร กทม.10900 หรือ สายด่วน 1760