ในอดีตอุตสาหกรรมนมไทยประสบปัญหาผลผลิตเกินความต้องการบริโภคในประเทศ บ่อยครั้งที่เกษตรกรผู้เลี้ยงโคนม รวมตัวกันประท้วงรัฐบาลให้รับซื้อน้ำนมดิบของพวกเขาในราคาประกัน และสนับสนุนเรื่องการตลาดให้มีตลาดรองรับผลิตภัณฑ์ จนเกิดเป็นโครงการนมโรงเรียนตามนโยบายของรัฐบาลไทยที่จัดตั้งขึ้นตั้งแต่ พ.ศ. 2535 เพื่อแก้ปัญหาการขาดสารอาหารในเด็กวัยเรียน และสนับสนุนอุตสาหกรรมโคนมไทย โดยใช้น้ำนมดิบจากเกษตรกรในประเทศ ซึ่งเป็นการยืงปืนนัดเดียวได้นกสองตัว เด็กไทยไม่ขาดโปรตีนและเป็นส่วนสำคัญของตลาดนมไทย 

โครงการดังกล่าวส่งเสริมสมดุลอุปสงค์-อุปทานและราคาน้ำนมดิบในอุตสาหกรรมนมไทยมาอย่างต่อเนื่อง มีสหกรณ์ผู้เลี้ยงโคนมทั่วประเทศซึ่งมีจำนวนไม่มากเท่าปัจจุบัน มีส่วนร่วมในการกำหนดราคาให้สอดคล้องกับปริมาณการผลิต ซึ่งในเวลานั้นมีการนำเข้าส่วนใหญ่เป็นนมผงคุณภาพสูงสำหรับใช้เลี้ยงทารกและใช้อุตสาหกรรมอาหาร จวบจนมีการพัฒนาการผลิตนมเชิงพาณิชย์ตามกระแสความต้องการของผู้บริโภค ทำให้ความต้องการเพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็ว จนทำให้ผลผลิตในประเทศไม่เพียงพอต่อความต้องการอีกต่อไป โดยรัฐบาลควบคุมปริมาณนำเข้าไม่ให้เกิดผลกระทบต่อราคากับผู้เลี้ยงโคนมในประเทศ แต่ความต้องการยังคงเพิ่มขึ้นต่อเนื่องหลังไทยส่งออกไปจำหน่ายยังประเทศเพื่อนบ้านสร้างมูลค่าเพิ่มให้กับผลิตภัณฑ์นมของไทย ส่งผลน้ำนมดิบในประเทศเริ่มขาดแคลน

รัฐบาลโดยคณะกรรมการโคนมและผลิตภัณฑ์นม (มิลค์บอร์ด) ได้ประกาศแผนยุทธศาสตร์พัฒนาโคนมและผลิตภัณฑ์นมของไทย ระยะเวลา 10 ปี (2560-2569) ที่มีเป้าหมายให้องค์กรโคนมบริหารงานมีกำไร ไม่น้อยกว่า 80% ช่วยเพิ่มรายได้ให้เกษตรกรผู้เลี้ยงโคนมเฉลี่ย 5% ต่อปี เพิ่มผลผลิตน้ำนมเฉลี่ย 4% ต่อปี เพิ่มมูลค่าการส่งออกผลิตภัณฑ์นมไม่ต่ำกว่า 5% ต่อปี และเพิ่มอัตราการบริโภคนมภายในประเทศเฉลี่ย 4% ต่อปี หรือมากกว่า 20 ลิตร/คน/ปี รวมถึงเพื่อแก้ปัญหาผลผลิตน้ำนมในประเทศไม่เพียงพอต่อการบริโภค 

โดยมียุทธศาสตร์ 5 ด้านคือ 1.การสร้างความเข้มแข็งให้กับเกษตรกรผู้เลี้ยงโคนมและองค์กรโคนม ให้มีการบริหารธุรกิจแบบมืออาชีพ 2.การพัฒนาการผลิตน้ำนมโคและอุตสาหกรรมโคนมให้ได้มาตรฐานสากล โดยการทำแปลงใหญ่โคนม 3.การส่งเสริมการบริโภคนมและพัฒนาผลิตภัณฑ์นม โดยเพิ่มการแปรรูปผลิตภัณฑ์ 4.การพัฒนาระบบฐานข้อมูลและการใช้ประโยชน์ และ 5.การวิจัยและพัฒนาองค์ความรู้การเลี้ยงโคนมให้กับเกษตร โดยปรับเป้าหมายเพิ่มอัตราการบริโภคนมภายในประเทศ จาก 17-18 ลิตร/คน/ปี ให้มากกว่า 20 ลิตร/คน/ปี 

จากสถานการณ์สงครามรัสเซีย-ยูเครน ส่งผลให้ต้นทุนการผลิตโคนมสูงขึ้นมากทั้งจากวัตถุดิบอาหารสัตว์ ปัจจัยการผลิตและปัจจัยการป้องกันโรค ตลอดจนราคาพลังงาน แม้ราคาจะปรับลงบ้างเล็กน้อยแต่ยังคงอยู่ในระดับสูง ซึ่งการเลี้ยงโคนมต้นทุนอาหารสัตว์มีสัดส่วนมากกว่า 60% ของต้นทุนผลิต รองลงมาคือต้นทุนแรงงานมากกว่า 17% ทำให้เกษตรกรต้องแบกภาระขาดทุนสะสม จากนโยบายควบคุมราคาน้ำนมดิบและผลิตภัณฑ์ของรัฐบาล 

ปีนี้ 2565 นับว่ามาเกินครึ่งทางของแผนยุทธศาสตร์ฉบับนี้ แต่สิ่งที่เกิดขึ้นดูจะไม่เป็นไปตามแผน เมื่อเกษตรกรผู้เลี้ยงโคนมรายย่อย ซึ่งเป็นอัตราส่วน 60% ของเกษตรกรผู้เลี้ยงโคนมในประเทศไทย ทยอยเลิกอาชีพไปแล้วบางส่วน จากมูลเหตุสำคัญคือ “ขาดทุน” เพราะต้นทุนการผลิตน้ำนมดิบสูงขึ้น ทั้งราคาอาหารสัตว์ที่ผันแปรตามราคาวัตถุดิบที่พุ่งสูงขึ้นจากสงครามรัสเซีย-ยูเครน ค่าน้ำมันเชื้อเพลิง ตลอดจน ต้นทุนการป้องกันโรคในโค แต่เกษตรกรไม่สามารถขายน้ำนมดิบได้ในราคาที่มีกำไร ตามสถานการณ์ที่เปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็ว

จากตารางจะเห็นว่า เกษตรกรรายย่อยต้องขายนมในราคาขาดทุน ขณะที่รายกลางและรายใหญ่ยังพออยู่ได้ รัฐจึงควรต้องเร่งสนับสนุนมิลค์บอร์ด เพื่อช่วยเหลือเกษตรกรรายย่อยโดยด่วน แต่ประเด็นคือ “นม” เป็นสินค้าควบคุมตลอดห่วงโซ่อุปทานที่ถูกคุมราคาตั้งแต่ราคาน้ำนมดิบไปจนถึงราคานมกล่อง การที่นโยบายของรัฐในการกำหนดให้น้ำนมดิบ และผลิตภัณฑ์นมเป็นสินค้าควบคุมราคา ซึ่งจำเป็นต้องใช้เวลาในการพิจารณาให้เกษตรกรขายนมในราคาที่สอดคล้องกับต้นทุน กลายเป็นปัญหาใหญ่ของห่วงโซ่การผลิตนมทั้งระบบที่อุตสาหกรรมนมกำลังเผชิญ ปัญหาผลผลิตน้ำนมดิบไม่เพียงพอต่อความต้องการใช้ ซึ่งจะส่งผลกระทบเป็นลูกโซ่ไปถึงปริมาณนมในโครงการนมโรงเรียนในอนาคตอันใกล้ หากรัฐบาล ไม่พิจารณาแก้ปัญหานี้ให้แล้วเสร็จโดยเร็ว 

ทั้งนี้ ปริมาณความต้องการน้ำนมดิบของประเทศไทยอยู่ที่ 3,100 ตัน/วัน ส่วนผลผลิตน้ำนมดิบในปัจจุบันอยู่ที่ราว 2,700 ตัน/วัน ขณะที่ปริมาณแม่โครีดนม ในปีนี้มีอยู่ราว 280,000 ตัว คาดว่าในปีหน้าจะเหลือเพียง 250,000 ตัว ลดลง 30,000 ตัว ขณะที่ความต้องการบริโภคนมมีแนวโน้มเพิ่มขึ้น โดยคาดว่าปี 2565 ความต้องการในประเทศจะอยู่ที่ 1.26 ล้านตัน เพิ่มขึ้น 0.90% โดยปัจจุบันไทยมีโรงงานรับน้ำนมดิบเพื่อแปรรูปกระจายอยู่ทุกภูมิภาคของประเทศ 161 แห่ง ทั้งศูนย์รวบรวมน้ำนมของสหกรณ์โคนม 93 แห่ง และของเอกชน 68 แห่ง ซึ่งได้การรับรอง GMP เรียบร้อยแล้ว 

ทางออกที่ดีที่สุดของวันนี้ คือการปล่อยราคาน้ำนมดิบให้เป็นไปตามกลไกตลาดซึ่งจะช่วยให้เกษตรกรอยู่ได้ และมั่นใจที่จะเลี้ยงโคนมต่อไป หากรัฐบาลต้องการให้แผนยุทธศาสตร์พัฒนาโคนมและผลิตภัณฑ์นมฉบับนี้เดินหน้าต่อไปได้ จำเป็นต้องทบทวนแผนยุทธศาสตร์เสียใหม่ โดยพิจารณาปรับราคาน้ำนมดิบให้สะท้อนตามราคาวัตถุดิบอาหารสัตว์ที่เพิ่มขึ้นเพื่อช่วยเกษตรกร และปล่อยเรื่องการควบคุมราคาปลีกของผลิตภัณฑ์นมให้เป็นไปตามราคาต้นทุน เพื่อให้อุปสงค์-อุปทานทำงานได้อย่างสอดคล้องกันซึ่งจะส่งผลดีต่อเกษตรกรและห่วงโซ่การผลิตนมทั้งระบบกว่าที่เป็นอยู่ในปัจจุบัน

โดย : ภูวดล รัดเกล้า