กรมชลประทาน เร่งซ่อมแซมระบบชลประทานพร้อมใช้งานเพื่อการบริหารจัดการน้ำและการเพาะปลูกพืชฤดูแล้ง ปี 2565/2566 

วันที่ 8 ธ.ค.65 ที่สำนักงานชลประทานที่ 12 จังหวัดชัยนาท นายประพิศ จันทร์มา อธิบดีกรมชลประทาน พร้อมด้วย ดร.ทวีศักดิ์ ธนเดโชพล รองอธิบดีกรมชลประทาน ดร.ธเนศร์ สมบูรณ์ ผู้อำนวยการสำนักบริหารจัดการน้ำและอุทกวิทยา และผู้เกี่ยวข้อง ลงพื้นที่ติดตามสถานการณ์น้ำและการเตรียมความพร้อมการส่งน้ำเพื่อการเกษตรในพื้นที่โครงการส่งน้ำและบำรุงรักษาบรมธาตุ และโครงการส่งน้ำและบำรุงรักษาผักไห่ พร้อมพบปะเกษตรกรในพื้นที่ เพื่อรับฟังความคิดเห็นในการบริหารจัดการน้ำร่วมกัน โดยมี นายวัชระ ไกรสัย ผู้อำนวยการสำนักงานชลประทานที่ 12 นายโสภิญญา เกิดสกุล ผู้อำนวยการโครงการส่งน้ำและบำรุงรักษาบรมธาตุ และนายศุภชัย มะพล ผู้อำนวยการโครงการส่งน้ำและบำรุงรักษาผักไห่ นายชวลิต ฉลอม ผู้อำนวยการส่วนบริหารจัดการน้ำและบำรุงรักษา สำนักงานชลประทานที่ 12 ร่วมลงพื้นที่และบรรยายสรุปสถานการณ์น้ำภาพรวม

นายประพิศ กล่าวว่า ปัจจุบัน (8 ธ.ค. 65) สถานการณ์น้ำใน 4 เขื่อนหลักลุ่มน้ำเจ้าพระยา (เขื่อนภูมิพล เขื่อนสิริกิติ์ เขื่อนแควน้อยบำรุงแดน และเขื่อนป่าสักชลสิทธิ์) มีปริมาณน้ำใช้การได้รวมกันประมาณ 14,098 ล้าน ลบ.ม. ซึ่งมากกว่าปีที่แล้วถึง 6,000 ล้าน ลบ.ม. ภาพรวมปริมาณน้ำต้นทุนอยู่ในเกณฑ์ดี แต่หากเปรียบเทียบปริมาณน้ำระหว่างเขื่อนภูมิพลและเขื่อนสิริกิติ์ จะเห็นได้ว่าเขื่อนสิริกิติ์มีปริมาณน้ำน้อยและการใช้น้ำส่วนใหญ่จะอยู่ในพื้นที่ลุ่มน้ำน่าน ซึ่งมีพื้นที่ชลประทานมากกว่า 1 ล้านไร่ ขณะที่เขื่อนภูมิพลมีปริมาณน้ำมากกว่า และการใช้น้ำในพื้นที่ลุ่มน้ำปิงจนถึงลุ่มน้ำเจ้าพระยาน้อยกว่า ทำให้การบริหารจัดการน้ำในปีนี้ กรมชลประทาน จะใช้น้ำจากเขื่อนภูมิพลเป็นหลัก

สำหรับสถานการณ์น้ำในพื้นที่สำนักงานชลประทานที่ 12 มีปริมาณน้ำในอ่างเก็บน้ำขนาดใหญ่และขนาดกลางรวมประมาณ 518 ล้านลูกบาศก์เมตร (ลบ.ม.) หรือ 98% ของความจุอ่างฯ รวมกัน เป็นน้ำใช้การได้ประมาณ 458 ล้าน ลบ.ม. กรมชลประทานได้วางแผนจัดสรรน้ำให้สอดคล้องกับปริมาณน้ำต้นทุนในแต่ละพื้นที่ ตามลำดับความสำคัญของกิจกรรมการใช้น้ำ ได้แก่ อุปโภคบริโภค รักษาระบบนิเวศ การเกษตร และอุตสาหกรรม ตามลำดับ และอีกส่วนหนึ่งจะสำรองไว้ใช้ในช่วงต้นฤดูฝนเดือนพฤษภาคม-กรกฎาคม 2566 

ด้านสถานการณ์อุทกภัยในพื้นที่ภาคกลาง ปัจจุบันหลายจังหวัดได้กลับเข้าสู่ภาวะปกติแล้ว เหลือเพียงบริเวณคลองระบายใหญ่สองพี่น้อง จังหวัดสุพรรณบุรี ที่ยังมีน้ำล้นตลิ่ง กรมชลประทาน ได้ติดตั้งเครื่องสูบน้ำ 32 เครื่อง และเครื่องผลักดันน้ำอีก 28 เครื่อง เร่งระบายน้ำที่ท่วมขัง เพื่อให้ประชาชนกลับไปดำเนินชีวิตประจำวันได้ตามปกติโดยเร็ว ส่วนการบริหารจัดการน้ำในทุ่งพื้นที่ลุ่มต่ำ ได้แก่ ทุ่งป่าโมก คงเหลือน้ำค้างทุ่งไว้ให้เกษตรกรได้เตรียมแปลงเพาะปลูก ส่วนทุ่งผักไห่และทุ่งโพธิ์พระยา อยู่ระหว่างเร่งระบายน้ำออกจากทุ่ง และจะคงเหลือน้ำค้างทุ่งไว้ให้เกษตรกรได้เตรียมแปลงเพาะปลูกเช่นกัน คาดว่าจะสามารถระบายน้ำออกเสร็จสิ้นในช่วงกลาง-ปลายเดือนธันวาคม 2565 นี้

ส่วนการซ่อมแซมคันคลองส่งน้ำ 1 ซ้าย ในพื้นที่โครงการส่งน้ำและบำรุงรักษาบรมธาตุ นั้น ได้ทำการซ่อมแซมแล้วเสร็จครบทั้ง 13 จุด ในช่วงกลางเดือนพฤศจิกายน 2565 ที่ผ่านมา สามารถส่งน้ำเพื่อการเพาะปลูกได้แล้ว ด้านบริเวณพื้นที่ที่เคยถูกน้ำท่วม กรมชลประทาน ได้ระดมเครื่องจักร เครื่องมือเข้าไปช่วยเหลือฟื้นฟู ปรับปรุงระบบชลประทานที่ได้รับผลกระทบในช่วงน้ำหลากที่ผ่านมา ให้สามารถกลับมาใช้งานได้ตามปกติ เพื่อรองรับการส่งน้ำสำหรับใช้ในการอุปโภคบริโภคและการเกษตร ที่ปัจจุบันได้เริ่มเพาะปลูกข้าวนาปรังแล้วในหลายพื้นที่

ทั้งนี้ อธิบดีกรมชลประทาน ได้กำชับให้โครงการชลประทานในพื้นที่ ดำเนินการตาม 10 มาตรการรองรับฤดูแล้งปี 2565/66 ที่คณะกรรมการทรัพยากรน้ำแห่งชาติ (กนช.) กำหนดไว้อย่างเคร่งครัด เพื่อให้มีน้ำเพียงพอใช้ตลอดช่วงฤดูแล้งนี้ ตลอดจนให้บูรณาการร่วมกับหน่วยงานท้องถิ่น เข้าไปช่วยเหลือประชาชนในพื้นที่อย่างเต็มกำลัง เพื่อให้เกษตรกรได้มีน้ำเพาะปลูกอย่างทั่วถึง พร้อมประชาสัมพันธ์แนวทางการบริหารจัดการน้ำให้ประชาชนรับทราบอย่างต่อเนื่องและทั่วถึงด้วย

"แม้ว่าภาพรวมในปีนี้จะมีน้ำมากกว่าปีที่แล้ว แต่กรมชลประทานจะบริหารจัดการน้ำอย่างคุ้มค่ามากที่สุด จึงอยากฝากทุกภาคส่วนช่วยกันรณรงค์ประหยัดน้ำ เพื่อให้มีน้ำใช้อย่างเพียงพอไปจนถึงต้นฤดูฝนหน้า"อธิบดีกรมชลประทาน กล่าว