นับถอยหลังเตรียมโบกมือลารถไฟทางไกลจาก “สถานีหัวลำโพง” ไปเริ่มส่งเสียงหวูดๆ ที่ “สถานีกลางกรุงเทพอภิวัฒน์" หรือ สถานีกลางบางซื่อ ที่เตรียมเปิดใช้ประโยชน์เชิงพาณิชย์เต็มรูปแบบ หลังจากที่ปรับเปลี่ยนแผนกันหลายตลบ เพราะมีเสียงไม่เห็นด้วยที่จะปิดสถานีรถไฟหัวลำโพงที่อยู่คู่กับกรุงเทพมหานครมากว่า 100 ปี  

ผลสุดท้ายจึงเป็นเพียงการย้ายเฉพาะ “ขบวนรถเชิงพาณิชย์” รถไฟทางไกล ให้บริการที่สถานีกลางกรุงเทพอภิวัฒน์ เท่านั้น ส่วนรถชานเมือง ขบวนรถธรรมดา และขบวนรถนำเที่ยวทุกเส้นทาง ยังคงให้บริการต้นทาง-ปลายทางที่สถานีหัวลำโพงเช่นเดิม 

ทั้งนี้จากการประชุมคณะกรรมการ (บอร์ด) การรถไฟแห่งประเทศไทย ครั้งที่ 13/2565 เมื่อปลายเดือนพฤศจิกายนที่ผ่านมา ได้รับทราบแผนการเตรียมความพร้อมการปรับเปลี่ยนขบวนรถไฟทางไกล และขบวนรถไฟชานเมือง ณ สถานีกลางกรุงเทพอภิวัฒน์ เพื่อพัฒนาสถานีกลางกรุงเทพอภิวัฒน์เป็นสถานีหลักและลดปัญหาการจราจรติดขัดทางรถไฟในพื้นที่กรุงเทพมหานคร โดยการรถไฟฯมีกำหนดเริ่มให้บริการรถไฟทางไกล ณ สถานีกลางกรุงเทพอภิวัฒน์ตั้งแต่วันที่ 19 ม.ค. 2566 เป็นต้นไป โดยในวันดังกล่าวจะมีการเปิดเดินขบวนรถไฟเที่ยวปฐมฤกษ์ในเวลา 13.19 น. ด้วยขบวนรถดีเซลรางปรับอากาศ KIHA เดินรถจากสถานีกลางกรุงเทพอภิวัฒน์-สถานีอยุธยา  

โดยขณะนี้ได้เตรียมความพร้อมในการปรับเปลี่ยนขบวนรถไฟทางไกลไปให้บริการที่สถานีกลางกรุงเทพอภิวัฒน์ในทุกๆ ด้าน ซึ่งจะมีการประกาศแจ้งประชาสัมพันธ์ข้อมูลรายละเอียดต่างๆ ล่วงหน้าไม่น้อยกว่า 30 วัน หรือภายในวันที่ 19 ธ.ค. 2565 นี้ เพื่อให้ประชาชนรับทราบอย่างเป็นทางการ  

รวมถึงการจำหน่ายตั๋วโดยสารที่สถานีกลางกรุงเทพอภิวัฒน์ โดยตั้งแต่วันที่ 1 พ.ย. 2565 ที่ผ่านมา ได้เปิดให้บริการเคาน์เตอร์จำหน่ายตั๋วโดยสารของระบบรถไฟทางไกล ที่บริเวณชั้น 1 ฝั่งทางด้านทิศเหนือ ที่ให้บริการขบวนรถไฟทางไกล (ฝั่ง LD) และฝั่งทางด้านทิศใต้ อยู่ระหว่างระบบรถไฟชานเมืองสายสีแดง และรถไฟฟ้า MRT (ฝั่ง CT) ซึ่งเป็นการอำนวยความสะดวกให้ผู้โดยสารที่มีความประสงค์ซื้อและจองตั๋วโดยสารขบวนรถไฟทางไกล สามารถซื้อตั๋วโดยสารได้ทุกขบวน ทั้งตั๋วประจำวัน ตั๋วล่วงหน้า และตั๋วขบวนรถนำเที่ยว 

สำหรับขบวนรถไฟทางไกลที่จะเข้าจอด ณ “สถานีกลางกรุงเทพอภิวัฒน์” ตามแผนการปรับเปลี่ยนสถานีต้นทางและปลายทาง จากสถานีกรุงเทพ (หัวลำโพง) เป็นสถานีกลางกรุงเทพอภิวัฒน์ (สถานีกลางบางซื่อ) ระยะที่ 1 จะเป็นกลุ่มขบวนรถด่วนพิเศษ ขบวนรถด่วน และขบวนรถเร็วทุกสาย (ยกเว้นสายตะวันออก) ส่วนกลุ่มขบวนรถชานเมือง ขบวนรถธรรมดา และขบวนรถนำเที่ยวทุกสาย ยังคงให้บริการต้นทาง-ปลายทางที่สถานีหัวลำโพงตามเดิม 

ขบวนรถไฟทางไกลเชิงพาณิชย์มีทั้งหมด 66 ขบวน แต่เนื่องจากสถานการณ์โควิดที่ผ่านมาได้มีการงดเดินรถไปจำนวนหนึ่ง ปัจจุบันทำการเดินรถบริการจำนวน 52 ขบวน ซึ่งทั้ง 52 ขบวนนี้จะเข้าให้บริการที่สถานีกลางกรุงเทพอภิวัฒน์ตั้งแต่วันที่ 19 ม.ค. 2566 เป็นต้นไป ประกอบด้วย 

รถไฟทางไกลสายเหนือ 14 ขบวน ได้แก่ กรุงเทพฯ-เชียงใหม่, กรุงเทพฯ-เด่นชัย ซึ่งเดิมสายเหนือมีจำนวน 18 ขบวน ปัจจุบันงดเดินรถ 4 ขบวน เช่น กรุงเทพฯ-สวรรคโลก-ศิลาอาสน์ 

รถไฟทางไกลสายตะวันออกเฉียงเหนือ 18 ขบวน ได้แก่ กรุงเทพฯ-อุบลราชธานี, กรุงเทพฯ-หนองคาย ซึ่งเดิมสายอีสาน มี 24 ขบวน ปัจจุบันงดเดินรถ 4 ขบวน 

รถไฟทางไกล สายใต้ 20 ขบวน ได้แก่ กรุงเทพฯ-ชุมทางหาดใหญ่, กรุงเทพฯ-สุราษฎร์ธานี, กรุงเทพฯ-ตรัง, กรุงเทพฯ-นครศรีธรรมราช, กรุงเทพฯ-สุไหงโก-ลก ซึ่งเดิมมีจำนวน 24 ขบวน ปัจจุบันงดเดินรถ 4 ขบวน 

ในการเดินรถจะปรับเส้นทางวิ่งขบวนสายเหนือ และสายอีสาน ยกขึ้นไปวิ่งบนทางยกระดับ ตั้งแต่สถานีกลางกรุงเทพอภิวัฒน์ ถึงสถานีรังสิต โดยจะมีสถานีให้บริการ 3 สถานี ได้แก่ สถานีกลางกรุงเทพอภิวัฒน์ สถานีดอนเมือง และสถานีรังสิต และยกเลิกรับ-ส่งผู้โดยสารที่ที่หยุดรถนิคมรถไฟ กม.11 สถานีบางเขน (สถานีระดับพื้นดิน) ที่หยุดรถทุ่งสองห้อง สถานีหลักสี่ (สถานีระดับพื้นดิน) ที่หยุดรถการเคหะ กม.19 และเปลี่ยนที่ตั้งสถานีดอนเมือง จากเดิมระดับพื้นดิน ไปยังสถานียกระดับ (ที่เดียวกับสถานีรถไฟฟ้าสายสีแดง) 

ระยะที่ 2 ในอนาคต เมื่อมีการก่อสร้างโครงการระบบรถไฟชานเมืองสายสีแดง ส่วนต่อขยาย จากสถานีกลางกรุงเทพอภิวัฒน์ ถึงสถานีหัวหมาก และสถานีกรุงเทพ (หัวลำโพง) จะปรับเปลี่ยนสถานีต้นทางและปลายทาง กลุ่มขบวนรถชานเมือง ขบวนรถธรรมดา และขบวนรถด่วนพิเศษสายตะวันออกบางขบวน เป็นสถานีมักกะสัน 

พร้อมปรับเปลี่ยนสถานีต้นทางและปลายทาง กลุ่มขบวนรถชานเมือง ขบวนรถธรรมดา สายเหนือ สายอีสาน และสายใต้บางขบวน เป็นสถานีชุมทางบางซื่อ (สถานีระดับพื้นดิน) สถานีดอนเมือง (สถานียกระดับ) และสถานีชุมทางตลิ่งชัน 

ทำความเข้าใจง่ายๆ นับจากวันที่ 19 ม.ค. 2566 ขบวนรถไฟสายเหนือ สายตะวันออกเฉียงเหนือทุกขบวน จะวิ่งบนโครงสร้างทางยกระดับ เหมือนรถไฟสายสีแดง จะไม่เห็นขบวนรถไฟวิ่งบนระดับพื้นดินอีกแล้ว ตั้งแต่รังสิต-ดอนเมือง-บางเขน เมื่อยกรถไฟทุกขบวนขึ้นไปวิ่งข้างบน ก็จะไม่มีจุดตัดถนนอีกต่อไป 

เป็นการปิดหน้าประวัติศาสตร์จุดตัดรถไฟบนถนนหลวงในเมือง!!!