บทความพิเศษ / ทีมงานหญ้าแห้งปากคอก(ท้องถิ่น)

เกมการเมืองเรื่องกัญชา

เป็นข่าวโต้แย้งกันไปมามานานหลายเดือน คงปฏิเสธไม่ได้ว่าเป็นเกมการเมือง แต่เป็นการเมืองแบบไทยๆ ท่ามกลางความขัดแย้งความเห็นต่าง และการแบ่งขั้ว สีเสื้อ แม้พรรคแกนนำยืนยันว่านี่มิใช่ประเด็นทางการเมือง อย่าได้หยิบมาเป็นประเด็นทางการเมือง แต่การปฏิบัติกับคำประกาศดังกล่าว ดูจะย้อนแย้งในตัวเองตามที่ฝ่ายค้านแถลงคัดค้าน ฝ่ายที่เสนอกฎหมายอ้างการใช้กัญชาเพื่อการแพทย์ มิใช่เพื่อการนันทนาการ แต่อีกฝ่ายแย้งเรื่องการควบคุมตามกฎหมายที่ยังไม่มี ทั้งเพื่อการแพทย์หรือการนันทนาการ จึงเป็นภาระและน่าเป็นห่วงกังวลมากต่อเด็กและเยาวชน ประชาชนทั่วไป และกลุ่มคนป่วยจิตเวชที่เสพกัญชา ไม่ว่าจะนำไปใช้เพื่อทางการแพทย์หรือนันทนาการหรืออื่นใดก็ตาม เพราะปราศจากการควบคุมจะเป็นผลเสียมากกว่า

การปลดล็อกกัญชาให้ปลอดภัยในหลายมิติเป็นเรื่องยาก ท่ามกลางการต่อรองผลประโยชน์ของกลุ่มการเมือง นับจากวันที่ร่าง พ.ร.บ.กัญชาถูกถอนให้กลับไปแก้ไข ซูเปอร์โพลระบุประชาชน 81.3% เห็นว่าการขวางนโยบายกัญชาเป็น “เกมการเมือง” ยิ่งในช่วงท้ายๆ ของอายุสภาข่าวการเมือง 2-3 ฝ่ายตีกันวุ่น

เร่งสภาบรรจุร่างกฎหมายกัญชาเข้าวาระอีกรอบ

หลัง 14 กันยายน-ช่วงตุลาคม 2565 กมธ.จะนำร่าง พ.ร.บ.กัญชากัญชง ที่ปรับปรุงใหม่เร่งถึงประธานสภาบรรจุวาระอีกรอบให้ทันสมัยประชุมภายในเดือนพฤศจิกายน 2565 พร้อมการวิงวอน ขอให้อีกฝ่ายยุติเกมการเมือง อย่าเอากัญชาไปผูกกับยาบ้า เพื่อการรีบออกกฎหมายคุ้มครอง

จากข้อท้วงติงของพรรคฝ่ายค้านและแนวร่วมได้ส่งความคิดเห็นข้อห่วงใยเข้ามายัง กมธ. เพื่อพิจารณาให้กฎหมายนี้ให้มีความสมบูรณ์ที่สุด ในความห่วงใยเยาวชน ในการนำใช้ไปในทางที่ไม่ถูกต้อง ประธาน กมธ.ชี้แจงว่า ร่างพระราชบัญญัตินี้มุ่งประสงค์ที่จะนำมาใช้ประโยชน์อย่างสูงสุด เป็นประโยชน์ในเชิงทางการแพทย์ และในเชิงเศรษฐกิจต่อไปในอนาคต ที่สำคัญ ซึ่งควรจะเป็นร่างของประชาชนคนไทยทั้งประเทศที่จำเป็นที่จะต้องใช้ ในขณะเดียวกันร่างพระราชบัญญัตินี้ก็ได้ปกป้องสังคมอย่างสมบูรณ์ที่สุด และขอร้องว่า อย่าทำเรื่องนี้เป็นเรื่องการเมือง เพราะเป็นผลประโยชน์ของบ้านเมือง โปรดก้าวข้ามเรื่องการเมืองเสีย อีกทั้งได้นำเอากฎหมายที่มีอยู่แล้วดั้งเดิมของประเทศไทย อย่างเรื่องของกฎหมายยาสูบ สุรา หรือ กระท่อม ซึ่งได้มีการพิจารณาแล้วเสร็จ และประกาศออกมาเป็นกฎหมายนำมาใส่ร่าง พ.ร.บ.นี้ทั้งหมด ขอวิงวอนต่อสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรว่า ได้โปรดเร่งที่พิจารณาร่างพระราชบัญญัติฉบับนี้ให้แล้วเสร็จเสียโดยเร็วเพื่อจะได้ใช้ได้ทัน

ไฮไลท์คือข่าวร่างกฎหมายกัญชาที่ปรับปรุงใหม่เร่งเข้าสภาภายในพฤศจิกายน 2565 แต่จนแล้วจนรอดก็ไม่จบ เพราะอีกฝ่ายแย้งว่า ร่าง พ.ร.บ.กัญชากัญชง ซึ่งที่ประชุมสภาผู้แทนราษฎรมีมติถอนร่างเมื่อวันที่ 14 กันยายน 2565 ให้นำกลับไปพิจารณาทบทวนแก้ไขเสียใหม่อีกครั้งหนึ่ง แต่ฝ่ายค้านอ้างว่าประธาน กมธ.ไม่ได้แก้ไข แต่กลับเสนอร่างเก่าคืนมายืนยันตามร่างเดิมโดยไม่มีแก้ไข

ฝ่ายสนับสนุนร่าง พ.ร.บ.อ้างนโยบาย “กัญชาเสรี” ได้เกิดขึ้นจริงทั้งทางทฤษฎีและปฏิบัติแล้วตั้งแต่วันที่ 9 มิถุนายน 2565 เสมือนเป็นวันประกาศอิสรภาพกัญชาที่พรรคแกนนำได้เสนอนโยบาย มิใช่ราคาคุย เพราะว่ากัญชาถูกถอดออกจากบัญชียาเสพติดทำให้ “ทุกส่วนของกัญชา” ไม่ถือว่าเป็นยาเสพติด และสารสกัดกัญชาที่มีสาร THC หรือ CBD ไม่เกิน 0.2% ไม่ถือเป็นยาเสพติด ซึ่งโหมโรงเมื่อวันที่ 10 มิถุนายน 2565 ด้วย “มหกรรมกัญชา 360 องศา ปลดล็อกกัญชา ประชาชนได้อะไร” ถูกจัดขึ้นที่จังหวัดบุรีรัมย์

สมุนไพรกัญชาในทางวิชาการ

ข่าวสรรพคุณในทางยาของกัญชา เช่นจาก รพ.เจ้าพระยาอภัยภูเบศร จังหวัดปราจีนบุรี โปรโมทว่า ใบกัญชาสด ต้มน้ำดื่มมีคุณค่ากว่าอาหารเสริม และยาใดๆ ซึ่งก่อนหน้านั้นราวปี 2562 มีข่าวปราชญ์ภูมิปัญญาชาวบ้านได้นำเสนอมาก่อนบ้างแล้วในการรณรงค์ประโยชน์ทางยาของกัญชาทางการแพทย์เพื่อช่วยเพื่อนมนุษย์ เช่นใบกัญชาสด เป็นต้น จึงปรากฏข่าวกัญชาว่ามีประโยชน์มหาศาลในด้านอาหารโภชนาการ และยา ฝ่ายผู้สนับสนุนได้อ้างงานวิจัยกัญชาโต้แย้งกลุ่มแพทย์ที่ออกมาคัดค้านว่า กัญชาบรรเทาเบาหวาน และมะเร็ง

ในทางวิชาการสมุนไพร นั้นพืชทุกชนิดมีสมบัติทางยา เพียงแต่จะมากหรือน้อยเท่านั้น และคนเราที่ประเมินค่าว่าสมบัติทางยาที่พืชแต่ละชนิดมีอยู่นั้นจำเป็นและคุ้มค่าที่จะจัดพืชชนิดนั้นเป็นสมุนไพรหรือไม่ เพราะพืชบางชนิดในต้นเดียวกันมีทั้งสารที่มีคุณประโยชน์ต่อร่างกายและสารพิษรวมอยู่ด้วย ในยุโรปและสหรัฐอเมริกาเรื่องกัญชามีการโต้แย้งกันตลอดมาร่วม 30 ปี มีแนวคิดหรือทางเลือกอยู่สองแนวทาง สำหรับกัญชา คือ (1) ถ้าให้กัญชาเป็นยาเสพติดเหมือนเดิมแต่ผ่อนคลายความเข้มงวด เสพได้เฉพาะในสถานที่ที่รัฐกำหนด ภายใต้การควบคุมของเจ้าหน้าที่ มีกระบวนการรักษา และการค่อยๆ ถอนยาควบคู่ไปด้วย วิธีนี้หมายความว่ายอมรับแล้วว่าเป็นสารเสพติดที่ไม่ค่อยมีพิษต่อร่างกายคล้ายๆ บุหรี่ แต่สถานภาพด้อยกว่าบุหรี่เพราะอันตรายกว่า และต้องมีการควบคุมเข้มงวดกว่า (2) ถ้าอนุโลมให้กัญชาเป็นสมุนไพร ก็ให้มีการควบคุมผู้จำหน่าย เช่นขึ้นทะเบียนผู้จำหน่าย หรือจำหน่ายโดยร้านยาสมุนไพร จำหน่ายโดยโรงพยาบาล และให้มีการควบคุมการใช้

จากประกาศกระทรวงสาธารณสุขสมุนไพรควบคุม(กัญชา) เมื่อวันที่ 11 พฤศจิกายน 2565 ตาม พ.ร.บ.คุ้มครองและส่งเสริมภูมิปัญญาการแพทย์แผนไทย พ.ศ.2542 โดยคณะกรรมการคุ้มครองและส่งเสริมภูมิปัญญาการแพทย์แผนไทย ก็ยังไม่ชัดเจนว่า ร่าง พ.ร.บ.ฉบับนี้เป็นแนวทางที่ 1 หรือ แนวทางที่ 2

กัญชากับเด็กและเยาวชนควบคุมยาก

ข่าวการเสพกัญชาในโรงเรียน ที่สาธารณะ มีการขายกัญชาอย่างเปิดเผยในที่สาธารณะ อีกทั้งมีการขายออนไลน์ นโยบายถูกโจมตีว่ามุ่งแต่กัญชาเสรี โดยละเลยการบำบัดฟื้นฟูผู้ติดยาเสพติด ในขณะที่ในต่างประเทศในช่วงนี้ สหรัฐอเมริกาประกาศนิรโทษกรรมชาวอเมริกันทุกคน ที่ถูกรัฐบาลกลางตัดสินความผิดข้อหาครอบครองกัญชาจำนวนเล็กน้อย กระทรวงสาธารณสุขญี่ปุ่น แนะแก้กฎหมายเปิดทางการนำเข้า การใช้ผลิตภัณฑ์กัญชาทางการแพทย์

ข่าวขายให้เด็กนักเรียนประถมต่างจังหวัดสูบกัญชาแพร่คลิปโซเชียลฯ รับซื้อมาจากตลาดนัด ตำรวจให้คำแนะนำก่อนมอบตัวให้ ผอ.โรงเรียนรับไปดูแล วิตกว่าการปล่อยกัญชาเสรีทำให้เด็กนักเรียนเยาวชนของชาติพากันมั่วสูบกัญชา อนาคตของชาติกลับมาเป็นทาสยาเสพติดแล้วฝ่ายผู้มีอำนาจใหญ่จะแก้ไขกันอย่างไร

ฝ่ายคัดค้านร้องศาลปกครองให้เพิกถอน “กัญชาเสรี”

พรรคแกนนำที่สนับสนุนนโยบายกัญชาเสรี เผยว่าได้ทำถูกต้องผ่าน กกต.แล้ว ไม่กังวลใด ในขณะที่ฝ่ายค้านได้เตรียมยื่นยุบพรรค ข่าวเมื่อวันที่ 17 ตุลาคม 2565 ผู้นำพรรคฝ่ายค้าน (พท.) เห็นว่าการประกาศปลดล็อกกัญชาออกจากยาเสพติดมิชอบด้วยกฎหมาย ได้แถลงว่าจะยื่นเรื่องต่อศาลปกครองให้คุ้มครองชั่วคราว เนื่องจากเป็นการประกาศใช้กฎหมายมิชอบ และจะยื่นต่อคณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) เพื่อยุบพรรคการเมืองที่สนับสนุนนโยบายดังกล่าวโดยเฉพาะพรรคภูมิใจไทย (ภท.)

ในที่สุดประกาศกระทรวงสาธารณสุขควบคุมกัญชา “ช่อดอก” เมื่อ 11 พฤศจิกายน 2565 เป็นสมุนไพรควบคุมห้ามจำหน่ายแปรรูปเพื่อการค้า เป็นการประกาศปลดล็อกเฉพาะช่อดอกกัญชา

เริ่มจาก (1) ประกาศกระทรวงสาธารณสุข เรื่อง การยกเลิกประกาศกระทรวงสาธารณสุข เรื่อง การดำเนินการเกี่ยวกับผลิตภัณฑ์สมุนไพรที่มีส่วนประกอบสารสกัดจากกัญชาหรือสารสกัดจากกัญชง (hemp) ที่ได้รับการยกเว้นจากการเป็นยาเสพติดให้โทษ 2564 ประกาศราชกิจจานุเบกษาเมื่อวันที่ 12 ตุลาคม 2565 (2) ประกาศกระทรวงสาธารณสุข 3 ฉบับ ลงวันที่ 21 ตุลาคม 2565 ปรับปรุงข้อกำหนดผลิตภัณฑ์อาหารมีส่วนประกอบกัญชา-กัญชง สารสกัด CBD มีผลบังคับตั้งแต่วันที่ 22 ตุลาคม 2565 เป็นต้นไป (3) ประกาศกระทรวงสาธารณสุข เรื่อง สมุนไพรควบคุม (กัญชา) ปลดล็อกดอกกัญชา เฉพาะช่อดอกกัญชา เป็นสมุนไพรควบคุม ห้ามสูบ-ขาย ลงวันที่ 11 พฤศจิกายน 2565 และกระทรวงสาธารณสุขได้ขอรับฟังความเห็นจากสาธารณะหลายภาคส่วน ได้ประกาศในราชกิจจานุเบกษาเมื่อวันที่ 23 พฤศจิกายน 2565 จึงมีผลบังคับใช้ตั้งแต่วันที่ 24 พฤศจิกายน 2565 เป็นต้นไป

เมื่อวันที่ 10 พฤศจิกายน 2565 ก่อนหน้าประกาศกระทรวงสาธารณสุขปลดล็อกดอกกัญชาเพียง 1 วัน ส.ส. 5 พรรคฝ่ายค้าน ร่วมกับกรรมการแพทยสภาและสมาคมแพทย์นิติเวชแห่งประเทศไทย ร้องศาลปกครองกลางให้เพิกถอนประกาศกระทรวงสาธารณสุข ลงวันที่ 8 กุมภาพันธ์ 2565 เรื่อง ระบุชื่อยาเสพติดให้โทษในประเภท 5 ปี 2565 โดยให้มีผลย้อนหลังไปถึงวันที่มีการออกประกาศฉบับดังกล่าว และให้กัญชาจัดเป็นยาเสพติดให้โทษประเภทที่ 5 ตามประกาศกระทรวงสาธารณสุข ลงวันที่ 8 ธันวาคม 2563 เรื่อง ระบุชื่อยาเสพติดให้โทษในประเภทที่ 5 พ.ศ.2563 ดังเดิมเป็นประกาศโดยมิชอบ เพราะการออกประกาศฉบับดังกล่าว ไม่มีมาตรการทางกฎหมายออกมาควบคุม คุ้มครองประชาชนผู้บริโภคเกี่ยวกับกัญชาโดยเฉพาะ ขัดต่อนโยบายของรัฐบาลที่ได้แถลงไว้ต่อรัฐสภา อีกทั้งการกำหนดดังกล่าวไม่เป็นการชัดเจนกรณีใดจะเป็นใช้ทางการแพทย์หรือทางการ นันทนาการหรือไม่เพียงใด การออกประกาศฉบับพิพาทดังกล่าว จึงเป็นการเพิ่มภาระแก่ ประชาชนเกินสมควร เป็นการกระทำที่ไม่ชอบด้วยกฎหมายเช่นกัน

เหตุผล เพราะเป็นประกาศฉบับปล่อยผี “กัญชาเสรี” โดยฝ่ายร้องย้ำว่าไม่ได้ค้านนโยบายกัญชาทางการแพทย์ แม้ไม่มีประกาศ ประเทศไทยก็ยังใช้ประโยชน์ได้ ซึ่งกระทรวงสาธารณสุขพลันได้ออกประกาศกระทรวงสาธารณสุข เรื่อง สมุนไพรควบคุม (กัญชา) ปลดล็อกดอกกัญชา เฉพาะช่อดอกกัญชาทันทีวันรุ่งขึ้น

รายละเอียดประกาศ สธ.ปลดล็อกช่อดอกกัญชา ประกาศลงวันที่ 11 พฤศจิกายน พ.ศ.2565 ประกาศกระทรวงสาธารณสุขลงราชกิจจานุเบกษาแล้วเมื่อวันที่ 21 พฤศจิกายน 2565 รวม 6 ข้อ ดังนี้

ข้อ 1 ให้ยกเลิกประกาศกระทรวงสาธารณสุข เรื่อง สมุนไพรควบคุม (กัญชา) พ.ศ.2565 ลงวันที่ 16 มิถุนายน พ.ศ.2565

ข้อ 2 ให้กัญชา ซึ่งมีชื่อวิทยาศาสตร์ว่า Cannabis sativa L วงศ์ Cannabaceae รวมทั้งชื่อ วิทยาศาสตร์อื่นๆ อันเป็นชื่อพ้อง เฉพาะส่วนของช่อดอก เป็นสมุนไพรควบคุม

ข้อ 3 ผู้ใดประสงค์จะศึกษาวิจัย ส่งออก จำหน่าย หรือแปรรูปสมุนไพรควบคุมเพื่อการค้า จะกระทำได้ก็ต่อเมื่อได้รับใบอนุญาตตามมาตรา 46 และผู้รับใบอนุญาตต้องปฏิบัติตามเงื่อนไข ดังต่อไปนี้

(1) ผู้รับใบอนุญาตให้ศึกษาวิจัย ส่งออก จำหน่าย หรือแปรรูปสมุนไพรควบคุมเพื่อการค้าต้องจัดทำข้อมูลเกี่ยวกับแหล่งที่มา การนำไปใช้ และจำนวนที่เก็บไว้ ณ สถานประกอบการ และให้รายงานข้อมูลนั้น ต่อนายทะเบียนตามแบบที่อธิบดีประกาศกำหนด

(2) ผู้รับใบอนุญาตให้ส่งออกสมุนไพรควบคุมเพื่อการค้า ต้องแจ้งรายละเอียดการส่งออกต่อผู้อนุญาตเป็นรายครั้ง ตามแบบที่อธิบดีประกาศกำหนด

(3) ห้ามจำหน่ายสมุนไพรควบคุม หรือแปรรูปสมุนไพรควบคุมเพื่อการค้า ให้กับผู้ที่มีอายุต่ำกว่า 20 ปี สตรีมีครรภ์หรือสตรีให้นมบุตร

(4) ห้ามจำหน่ายสมุนไพรควบคุม หรือแปรรูปสมุนไพรควบคุมเพื่อการค้า ให้กับนักเรียน นิสิตหรือนักศึกษา

(5) ห้ามจำหน่ายสมุนไพรควบคุมเพื่อการสูบในสถานที่ประกอบการ เว้นแต่การจำหน่าย โดยผู้ประกอบวิชาชีพเวชกรรม ตามกฎหมายว่าด้วยวิชาชีพเวชกรรม ผู้ประกอบวิชาชีพการแพทย์แผนไทย ผู้ประกอบวิชาชีพการแพทย์แผนไทยประยุกต์ หมอพื้นบ้านที่ได้รับการรับรองตามระเบียบกระทรวงสาธารณสุข ว่าด้วยการรับรองหมอพื้นบ้าน พ.ศ.2562 และที่แก้ไขเพิ่มเติม ตามกฎหมายว่าด้วยวิชาชีพการแพทย์แผนไทย ผู้ประกอบโรคศิลปะสาขาการแพทย์แผนจีน ตามกฎหมายว่าด้วยการประกอบโรคศิลปะ และผู้ประกอบวิชาชีพทันตกรรม ตามกฎหมายว่าด้วยวิชาชีพทันตกรรม ที่ใช้ในการรักษาผู้ป่วยของตน หรือผู้ประกอบวิชาชีพการสัตวแพทย์ ตามกฎหมายว่าด้วยวิชาชีพการสัตวแพทย์ ที่ใช้ในการรักษาสัตว์

(6) ห้ามจำหน่ายสมุนไพรควบคุม หรือสินค้าที่แปรรูปจากสมุนไพรควบคุมเพื่อการค้าผ่านเครื่องจำหน่ายสินค้าอัตโนมัติ (Vending Machine) ผ่านช่องทางอิเล็กทรอนิกส์หรือเครือข่ายคอมพิวเตอร์

(7) ห้ามโฆษณาสมุนไพรควบคุมในทุกช่องทางเพื่อการค้าในสถานที่

(8) ห้ามจำหน่ายสมุนไพรควบคุม หรือสินค้าที่แปรรูปจากสมุนไพรควบคุมเพื่อการค้า ดังต่อไปนี้ (ก) วัดหรือสถานที่สำหรับปฏิบัติพิธีกรรมทางศาสนา (ข) หอพักตามกฎหมายว่าด้วยหอพัก (ค) สวนสาธารณะ สวนสัตว์ และสวนสนุก

ข้อ 4 ให้ผู้รับใบอนุญาตตามมาตรา 56 อยู่ก่อนวันที่ประกาศนี้ใช้บังคับ เฉพาะในส่วนที่เป็นสมุนไพรควบคุมตามประกาศนี้ ต้องปฏิบัติตามเงื่อนไขที่กำหนดไว้ในข้อ 3 ของประกาศฉบับนี้ด้วย

ข้อ 5 แบบการรายงาน และแบบการแจ้งรายละเอียดการส่งออกสมุนไพรควบคุมรายครั้งให้เป็นไปตามแบบที่อธิบดีประกาศกำหนด

ข้อ 6 ประกาศนี้ให้ใช้บังคับตั้งแต่วันถัดจากวันประกาศในราชกิจจานุเบกษาเป็นต้นไป

เรื่องกัญชาถือเป็นทางสองแพร่ง (Dilemma) โดยเฉพาะทางจริยธรรมที่ต้องเลือกในส่วนที่ดีที่สุด แม้ประโยชน์อ้างเพื่อการแพทย์ ส่งเสริมเศรษฐกิจ การท่องเที่ยว การลงทุน ภูมิปัญญาไทย ฯ แต่ในอีกมุมที่ย้อนแย้งกันคือ อบายมุข ขาดกฎหมายมาตรการที่ควบคุมในกลุ่มเปราะบางเช่น เด็กเยาวชน คนป่วยฯ ไม่ว่าจะใช้ในทางการแพทย์หรืออื่นใดก็ตามล้วนต้องแลกมาด้วยราคาแพง จากความร่วมมือทางสังคมทั้งหมดที่มี หรือที่เรียกว่า “ทุนทางสังคม” (Social capital) ที่มิใช่เฉพาะค่าใช้จ่าย “ต้นทุนทางสังคม” (Social cost) เท่านั้น