“อลงกรณ์” ปาฐกถานานาชาติชูนโยบายเทคโนโลยีเกษตร 4.0 ยกระดับการผลิตภาคเกษตรของไทยสู่เป้าหมาย 3 สูง “ประสิทธิภาพสูง มาตรฐานสูง รายได้สูง” ภายใต้แนวทางเศรษฐกิจใหม่ BCG โมเดล

วันที่ 8 ธ.ค.65 นายอลงกรณ์ พลบุตร ที่ปรึกษารัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ในฐานะประธานคณะกรรมการขับเคลื่อนนโยบายเทคโนโลยีเกษตร 4.0 ได้ให้เกียรติ เป็นองค์ปาฐกในงานการอบรมเชิงปฏิบัติการนานาชาติว่าด้วย “การจัดการฟาร์มแบบอัจฉริยะอย่างยั่งยืน” (Sustainable Smart Farming Workshop) จัดโดย SUNSpACe ERASMUS+ CBHE Project ณ Bamboo Whisper Garden เขตวังทองหลาง กรุงเทพฯ โดยมี นายชยดิฐ หุตานุวัชร์ ประธานคณะกรรมการบริหาร CTPI, Professor Yacine Ouzrout, Director of IUT, University Lumiere Lyon 2 และ Professor Aicha SEKHARI SEKLOULI, ผู้ประสานงานโครงการ SUN Space ให้การต้อนรับ

นายอลงกรณ์ ได้กล่าวปาฐกถาว่า ถือเป็นโอกาสอันดี ที่ภาคเอกชน ภาควิชาการ นานาชาติ ให้ความสนใจและขับเคลื่อนเกษตรกรรมยั่งยืน และมีการจัดอบรมเชิงปฏิบัติการ “การจัดการฟาร์มแบบอัจฉริยะอย่างยั่งยืน” เป็นแนวทางหรือเครื่องมือในการสร้างองค์ความรู้ ส่งเสริมเทคโนโลยีและนวัตกรรมเพื่อพัฒนาการเกษตรอย่างยั่งยืน ในส่วนของกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ มีวิสัยทัศน์ "เกษตรกรมีคุณภาพชีวิตที่ดี มีรายได้เพิ่มขึ้น ได้ขับเคลื่อนนโยบาย “3S” คือ ความปลอดภัยของอาหาร (Safety) ความมั่นคงของภาคเกษตรและอาหาร (Security) และความยั่งยืนของภาคการเกษตร (Sustainability) สนับสนุนการเปิดตลาดต่างประเทศใหม่ๆ โดยกำหนด Model การค้าเพื่อให้เกิดระบบการค้าที่เป็นธรรม (Fair Trade) รวมถึงการนำเทคโนโลยี Smart Farming มาใช้ในการพัฒนา Packaging และสร้างแบรนด์อีกด้วย โดยได้จัดตั้งศูนย์เทคโนโลยีและนวัตกรรมการเกษตร (Agritech and Innovation Center: AIC) ใน 77 จังหวัดทั่วประเทศ เป็นศูนย์การศึกษา การวิจัยและพัฒนา การอบรมบ่มเพาะและ การถ่ายทอดเทคโนโลยีและนวัตกรรมการเกษตร

รวมทั้งยังจัดตั้งศูนย์ความเป็นเลิศ (Center of Execellence: CoE) จำนวน 23 ศูนย์ ที่มีการคัดเลือกจากมหาวิทยาลัยให้เป็นศูนย์ความเป็นเลิศด้านเทคโนโลยีและนวัตกรรมตลอดห่วงโซ่อุปทานการเกษตร ตั้งแต่ ต้นน้ำด้านการวิจัยและพัฒนา กลางน้ำ ด้านการแปรรูป และปลายน้ำ ด้านการตลาด การขาย เพื่อเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันและเพิ่มรายได้ให้แก่เกษตรกรและผู้ประกอบการ โดยการบูรณาการร่วมกับหน่วยงานภาคี เครือข่ายทั้งภาคเอกชน สถาบันเกษตรกร ภาควิชาการ ภาคประชาสังคม นอกจากนี้ กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ได้ส่งเสริมช่องทางการตลาด “ตามนโยบายการตลาด นำการผลิต” ร่วมกับกระทรวงพาณิชย์และภาคเอกชนทั้งการค้าออนไลน์และออฟไลน์

นายอลงกรณ์ กล่าวต่อไปว่า การขับเคลื่อนการพัฒนาภาคการเกษตรบนฐานความหลากหลายทางชีวภาพ ด้วยแนวคิดเศรษฐกิจ BCG Model (the Bio-Circular and Green Economic Model) ภายใต้เป้าหมายและทิศทางการพัฒนาที่ชัดเจนซึ่งเป็นไฮไลท์ในการจัดประชุมAPEC ที่ประเทศไทยเป็นเจ้าภาพเมื่อเดือนที่แล้ว โดยเน้นการปรับเปลี่ยนระบบการผลิตภาคเกษตรของประเทศไทยสู่ 3 สูง ได้แก่ ประสิทธิภาพสูง มาตรฐานสูง และ รายได้สูง ซึ่งประสิทธิภาพสูง คือการใช้เทคโนโลยี นวัตกรรมยกระดับผลผลิตเกษตร มาตรฐานสูง ด้วยระบบการผลิตที่ยั่งยืน ครอบคลุมทั้งด้านคุณภาพผลผลิต โภชนาการมีความปลอดภัย ทั้งผู้ผลิตและผู้บริโภค และ รายได้สูง ด้วยการผลิตสินค้าเกษตรที่เน้นความเป็นพรีเมียม หรือตลาดเฉพาะ และสามรถกำหนดราคาขายได้ตามคุณภาพของผลผลิตเกษตร เพื่อให้การทำการเกษตรเป็นอาชีพที่สร้างความมั่นคง

ทั้งนี้ ในงาน Sustainable Smart Farming Workshop เมื่อวันที่ 7 ธันวาคม 2565 ได้มีการจัดสัมมนาแลกเปลี่ยนความรู้ ข้อคิดเห็น ในช่วงเช้าเป็นสัมมนาในหัวข้อ 1) Smart Farming: Economic Challenges for the future และในช่วงบ่ายในหัวข้อ 2) Smart Farming: Up-Skilling and Qualification อนึ่ง โครงการ SUNSpACe (Sustainable Development Smart Agriculture Capacity) เป็นโครงการที่ได้รับทุนสนับสนุนจากอีราสมุสพลัส รูปแบบ Capacity Building in Higher Education Projects (CBHE) โครงการนี้เกิดจากความร่วมมือของ 8 มหาวิทยาลัยพาร์ตเนอร์ทั้งในเอเชียและยุโรป ฝรั่งเศส สกอตแลนด์ ฮังการี ไทย ภูฏาน และเนปาล เน้นการพัฒนาและออกแบบหลักสูตรจากองค์ความรู้ด้านเทคโนโลยีที่ทางยุโรป ผสานกับจุดแข็งและความท้าทายด้านเกษตรกรรมในเอเชีย นำไปสู่การอบรมและสร้าง Smart Farmer ที่จะช่วยให้ประเทศไทยเป็นศูนย์กลางการทำเกษตรแบบออร์แกนิก และช่วยให้เกษตรกรในเนปาลและภูฏานสามารถทำเกษตรทั้งในและนอกฤดูได้อย่างมีคุณภาพและยั่งยืน ในขั้นตอนการทำงานร่วมกันเพื่อออกแบบหลักสูตรที่ทันสมัยและสามารถนำไปปรับใช้ได้ในบริบทที่แตกต่างกันของแต่ละประเทศ