ช่วยกันคิด ช่วยกันทำ / ทหารประชาธิปไตย

กลุ่มประเทศ G7 และออสเตรเลีย พร้อมใจกันประกาศว่า ในต้นเดือนธันวาคมนี้ พวกเขาจะตั้งเพดานราคาน้ำมันดิบของรัสเซียที่ขนส่งทางทะเล ณ ราคา 60 ดอลลาร์สหรัฐฯ

ทั้งนี้เป้าหมายหลักก็คือการหยุดยั้งการนำเข้าน้ำมันจากรัสเซีย ที่ทางยุโรปไม่อาจดำเนินการได้อย่างมีประสิทธิภาพ

ในอีกด้านหนึ่งหากพิจารณาจากถ้อยแถลงของนางเจเนต เยเลน รัฐมนตรีคลังสหรัฐฯ ได้ระบุว่าทางวอชิงตันต้องการยกระดับในการจำกัดรายได้ของรัสเซีย จากการขายน้ำมันและต้องการจะสร้างเสถียรภาพของราคาน้ำมันในตลาดโลก

ในแถลงการของ G7 ระบุว่า การกำหนดเพดานน้ำมันดิบของรัสเซียนั้นยังครอบคลุมไปถึง การบริการอื่นๆที่เกี่ยวกับการซื้อขายน้ำมัน เช่น การขนส่ง การประกันภัย การโอนเงิน และรวมถึงการยืนยันแหล่งกำเนิดของน้ำมันดิบ เพื่อกำกับราคาซื้อไม่เกิน 60 ดอลลาร์สหรัฐฯ หรือน้อยกว่า ทั้งนี้ผู้เชี่ยวชาญอิสระคาดว่าจะก่อให้เกิดผลกระทบอย่างร้ายแรงต่อการขายน้ำมันดิบของรัสเซีย และจะมีผลกระทบแบบบูมเมอแรงต่อยุโรป เพราะจะทำให้ยุโรปเกิดการขาดแคลนพลังงาน ทำให้ระดับราคาสูงขึ้นอันส่งผลให้มาตรฐานการครองชีพของชาวยุโรป ย่ำแย่ลงไปอีก ด้วยปัญหาเงินเฟ้อ

ที่น่าแปลกใจก็คือน้ำมันดิบอูรัล จากรัสเซียนั้น ในตอนนี้ก็ขายอยู่ที่ 50-60 ดอลลาร์ต่อบาร์เรลอยู่แล้ว ยิ่งถ้าคิดถึงอัตราส่วนลด ราคาก็จะตกลงมาถึง 30-40 ดอลลาร์ต่อบาร์เรล แล้วเพดานราคามันจะมีผลอะไร

แล้วจะเกิดอะไรขึ้นกับราคาน้ำมันดิบในยุโรป อาจไม่มีอะไรเกิดขึ้น หรืออาจทำให้เกิดการหวั่นวิตกจนทำให้ระดับราคาเพิ่มขึ้นบ้าง โดยราคาน้ำมันดิบของรัสเซีย หลังหักค่าส่วนลดแล้ว อาจเพิ่มขึ้น 5-10 ดอลลาร์สหรัฐฯ อย่างนี้ใครเสียหาย ถ้าไม่ใช่ยุโรป

แต่ในความเป็นจริงน้ำมันดิบมิได้ขาดแคลน ทว่าที่ราคามันเพิ่มขึ้นจะเกิดจากการค้ากำไรของพ่อค้า และในที่สุดราคาเพดานก็อาจต้องเพิ่มขึ้นอีกเป็นประมาณ 60-70 ดอลลาร์ต่อบารืเรล

อย่างไรก็ตามเมื่อมีการประกาศเพดานราคาและยังครอบคลุมไปสู่การบริการต่างๆที่เกี่ยวกับการขายน้ำมันดิบรัสเซีย ทางการรัสเซีย ซึ่งเคยประกาศล่วงหน้าไว้แล้วว่าจะระงับการขายทั้งน้ำมันดิบและก๊าซให้กับประเทศที่ยึดหลักเพดานราคาตามประกาศ G7

ตอนนี้ทางเครมลิน โดยนายเปรสคอฟ โฆษกทำเนียบก็ได้ประกาศเป็นทางการแล้วว่าจะทำตามที่เคยเตือนแล้ว นั่นคือ ระงับการขายน้ำมันให้ยุโรปนับจากนี้ต่อไป และจะหันไปเพิ่มระดับการค้าขายกับเอเชียมากขึ้น ซึ่งลูกค้าใหญ่ก็คือจีน และอินเดีย

ส่วนน้ำมันดิบและก๊าซในยุโรป ก็จะถูกแทนที่โดยน้ำมันดิบและก๊าซธรรมชาติจากแหล่งอื่น เช่น ตะวันออกกลาง เวเนซุเอลลา ไนจีเรีย เป็นต้น ซึ่งแน่นอนราคาย่อมแพงกว่าน้ำมันดิบและก๊าซจากรัสเซีย

ถ้าอย่างนั้น G7 ออสเตรเลีย และหลายประเทศในยุโรปตั้งเพดานราคาน้ำมันดิบของรัสเซียไปเพื่ออะไร หรือจะเป็นการส่งสัญญาณอะไรบางอย่าง ซึ่งมีแนวทางการวิเคราะห์ได้หลายมุมมอง

ประการแรก G7 ต้องการส่งสัญญาณว่าราคาน้ำมันอาจจะเพิ่มขึ้น แต่ทางรัสเซียก็ไม่อาจจะขายน้ำมันดิบไว้เกินกว่าราคาเพดานหักส่วนลด

ประการที่ 2 การประกาศเพดานราคาน้ำมันดิบของG7 เพียงแต่ต้องการสร้างความลำบากให้กับการซื้อ-ขาย น้ำมันดิบรัสเซีย ด้วยการส่งสัญญาณให้บริการต่างๆที่เกี่ยวข้อง เช่น การขนส่ง การประกันภัยการโอนเงิน พิธีการทางกฎหมาย เพื่อให้บริการเหล่านี้ปรับราคาขึ้น อันจะเป็นผลทำให้ส่วนลดราคาน้ำมันดิบต้องเพิ่มขึ้น และทำให้รัสเซียต้องขายน้ำมันดิบในราคาที่ถูกลง เป็นการจำกัดรายได้ของรัสเซีย

การหาข้อสรุปในการวิเคราะห์ทั้ง 2 ประการก็ต้องพิจารณาภาวะความเป็นจริงของตลาดน้ำมันดิบในปัจจุบัน

ประการแรกราคาน้ำมันดิบ WTI และ BRENT แกว่งตัวอยู่ในระดับ 70-80 ดอลลาร์ ในขณะที่ราคาน้ำมันดิบดูไบอยู่ในระดบที่ 80-90 ดอลลาร์สหรัฐฯ และมีแนวโน้มที่จะลดลง

ประการที่ 2 มีความเป็นไปได้มากน้อยเพียงใดที่ OPEC หรือ OPEC PLUS จะลดกำลังผลิตลงอีก เพื่อทำให้ระดับราคาน้ำมันดิบโลกเพิ่มขึ้นหรือทรงตัวในระดับเดิม

ประการที่ 3 เศรษฐกิจโลกจะชะลอตัวมากน้อยเพียงใด ที่แน่ๆก็จะชะลอตัวในปีหน้า ซึ่งจะส่งผลทำให้ดีมานด์น้ำมันดิบลดลง มีผลทำให้ราคาน้ำมันดิบลดลง นอกจากทางโอเปคจะลดการผลิตลง แต่น้ำมันดิบของรัสเซียจะลดลงด้วยหรือไม่ ถ้ารัสเซียไม่ลดปริมาณการผลิตลง ปริมาณน้ำมันดิบจะเกินความต้องการอย่างน้อยในช่วง 2 ปีนี้ ผลคือราคาน้ำมันดิบโลกจะลดลง

ดังนั้นเมื่อพิจารณาจากสถานการณ์น้ำมันดิบโลกแล้ว ราคาน่าจะมีแต่ลดลง การตั้งราคาเพดานน้ำมันดิบรัสเซีย ที่ 60 ดอลลาร์ต่อบาร์เรล จึงไม่มีผลโดยตรงที่กระทบต่อราคาขายของรัสเซีย

แต่เมื่อรัสเซียประกาศเลิกขายน้ำมันดิบ และก๊าซให้ยุโรปในกรณีนี้ก็จะมีผลเสียต่อยุโรป คือ ต้องซื้อของแพงขึ้นนั่นเอง

อย่างไรก็ตามมีข้อพิจารณาเพิ่มเติม ที่อาจส่งผลกระทบต่อการขายน้ำมันดิบ และก๊าซธรรมชาติของรัสเซีย กล่าวคือเมื่อรัสเซีย ยุติการขายน้ำมันในยุโรป แต่หันมาขายให้เอเชียที่มีกำลังซื้อ และความต้องการพอควร

ทว่ามันมีข้อจำกัดอยู่บางประการ คือ

ประการแรก ถังเก็บน้ำมันดิบของจีนก็มีจำนวนจำกัด เพราะนโยบาย COVID-0 กับการชะลอตัวของเศรษฐกิจโลก นอกจากนี้คุณภาพน้ำมันดิบของรัสเซียมีกำมะถันสูงกว่าของดูไบ แต่โรงกลั่นของจีนถูกจัดตั้งระบบผลิตน้ำมันดิบที่มีกำมะถันต่ำของดูไบ การปรับกระบวนการผลิตจะเพิ่มต้นทุน

ด้วยเหตุผลดังกล่าวจะทำให้จีนต่อรองกดราคาน้ำมันดิบของรัสเซียลง

ประการที่ 2 ทั้งจีนและอินเดีย แม้จะมีกำไรในการซื้อของถูกและไปขายต่อในตลาดโลก ก็จะเผชิญกับปัญหาเศรษฐกิจชะลอตัว และข้อจำกัดเพดานราคาน้ำมันดิบของ G7 ทำให้มีโอกาสจะลดการนำเข้าลง หรือต่อรองราคาลงไปอีก

ประการสุดท้าย รัสเซียมีปัญหาเรื่องที่เก็บน้ำมันดิบและก๊าซที่เริ่มมีขอบเขตจำกัด จึงอยากระบายน้ำมันดิบออกประมาณ 2 ล้านบาร์เรลต่อวัน ซึ่งในสถานการณ์ทั่วไป จีนเคยนำเข้าถึง 10 ล้านตันต่อวัน และอินเดียประมาณ 5 แสน – 1 ล้านบาร์เรลต่อวันจากหลายแหล่ง ทั้งใช้ภายในประเทศและส่งออกเมื่อเกิดปัญหาเรื่องเพดานราคาของG7และการชะลอตัวทางเศรษฐกิจ

สิ่งที่อาจเกิดขึ้นคือรัสเซียอาจจำเป็นต้องระบายน้ำมันดิบออก โดยการลดแลกแจกแถม อันมีผลทำให้ราคาน้ำมันดิบโลกลดลงอย่างมาก

ทั้งนี้การประกาศเพดานน้ำมันของG7 จึงอาจมีผลดังกล่าว ส่วนที่นางเยเลน แถลงว่าจะสร้างเสถียรภาพของตลาดน้ำมันดิบนั้นคงเป็นไปได้ยาก