นายสุนทร สุนทรชาติ ผู้อำนวยการสำนักอนามัย (สนอ.) กทม. กล่าวกรณีกรมควบคุมมลพิษคาดการณ์ช่วงต้นปี 2566 สถานการณ์ฝุ่นละอองขนาดเล็ก PM2.5 จะรุนแรงมากขึ้นว่า กรุงเทพมหานคร โดย สนอ.ได้เตรียมพร้อมรับมือปัญหามลพิษทางอากาศที่เกิดจากฝุ่นละออง PM2.5 ในพื้นที่กรุงเทพฯ อย่างต่อเนื่อง โดยบูรณาการความร่วมมือกับสำนักงานเขตและหน่วยงานที่เกี่ยวข้องควบคุมตรวจสอบสุขลักษณะสถานประกอบกิจการเชิงรุก และตรวจสอบระบบบำบัดมลพิษอากาศให้กำจัดมลพิษได้อย่างมีประสิทธิภาพระหว่างเดือน ก.ย. - ต.ค.65 โดยเน้นกิจการที่ก่อให้เกิดปริมาณฝุ่นละอองสูง ได้แก่ กิจการผสมซีเมนต์ (แพลนท์ปูน) และกิจการหลอมโลหะ รวมจำนวน 256 แห่ง และตรวจติดตามในช่วงที่ฝุ่นละออง PM2.5 มีปริมาณสูงอย่างต่อเนื่อง

ขณะเดียวกันได้ดำเนินการตามแผนปฏิบัติการแก้ไขปัญหาฝุ่นละออง PM2.5 ในพื้นที่กรุงเทพฯ ปี 2566 ภายใต้แผนปฏิบัติการขับเคลื่อนวาระแห่งชาติ “การแก้ไขปัญหามลพิษด้านฝุ่นละออง” ซึ่งกำหนดมาตรการดำเนินงานตามปริมาณค่าฝุ่นละออง PM2.5 เป็น 4 ระดับ โดยระดับที่ 1 ปริมาณฝุ่นละออง PM2.5 มีค่าไม่เกิน 37.5 ไมโครกรัม/ลูกบาศก์เมตร (มคก./ลบ.ม.) จะดำเนินการตรวจสอบคุณภาพอากาศเชิงรุกในโรงงานและสถานประกอบกิจการ ที่ก่อให้เกิดฝุ่นละออง ควบคุมไม่ให้ปล่อยมลพิษออกสู่บรรยากาศเกินค่ามาตรฐานกำหนด มีกำหนดการตรวจระหว่างเดือน ต.ค.65 - มี.ค.66 ตรวจทุกแห่งอย่างน้อย แห่งละ 2 ครั้ง/เดือน พัฒนาพื้นที่ปลอดฝุ่น (BKK Clean Air Area) ด้วยต้นไม้สำหรับพื้นที่เปิด จัดหานวัตกรรม หรืออุปกรณ์สำหรับฟอกอากาศในพื้นที่ปิด เพื่อติดตั้งในบริเวณที่เหมาะสมในโรงเรียนสังกัด กทม. ศูนย์พัฒนาเด็กก่อนวัยเรียน ชมรมผู้สูงอายุของเขต

ระดับที่ 2 ปริมาณฝุ่นละออง PM2.5 มีค่าระหว่าง 37.6-50 มคก./ลบ.ม. พิจารณาใช้มาตรการทางกฎหมายออกคำสั่งให้โรงงานและสถานประกอบกิจการที่ก่อให้เกิดฝุ่น แก้ไขปรับปรุงในกรณีที่สถานประกอบกิจการไม่ปฏิบัติตามกฎหมาย ให้คำแนะนำและกำกับดูแลฌาปนสถานปฏิบัติตามขั้นตอนที่ถูกต้อง ควบคุมการเผาในที่โล่ง ขอความร่วมมือและรณรงค์ลดการจุดธูป เผากระดาษ หรือวัสดุในพิธีกรรม แนะนำให้ประชาชนเฝ้าระวังผลกระทบต่อสุขภาพจากการสัมผัสฝุ่นละออง PM2.5 เพิ่มความถี่การแจ้งเตือน ให้คำแนะนำการปฏิบัติตน (2 ครั้ง/วัน) เฝ้าระวังอาการและพฤติกรรมจากการรับสัมผัสฝุ่นละอองด้วย Web Application 4health พิจารณาเปิดห้องปลอดฝุ่นในศูนย์พัฒนาเด็กก่อนวัยเรียน โรงเรียน หรือสถานที่อื่น ๆ สำหรับกลุ่มเสี่ยง ผู้สูงอายุ และกลุ่มเปราะบาง ประชาสัมพันธ์สร้างความเข้าใจและการมีส่วนร่วมลดฝุ่นละออง PM2.5 ผ่านช่องทางต่าง ๆ ออกหน่วยบริการสาธารณสุข และหน่วยแพทย์เคลื่อนที่แจกหน้ากากอนามัยสำหรับกลุ่มเปราะบาง ระดับที่ 3 ปริมาณฝุ่นละออง PM2.5 มีค่าระหว่าง 51-75 มคก./ลบ.ม. ดูแลป้องกันผลกระทบในโรงเรียนและสนับสนุนหน้ากากอนามัยสำหรับกลุ่มเสี่ยง

และระดับที่ 4 ปริมาณฝุ่นละออง PM2.5 มีค่ามากกว่า 75 มคก./ลบ.ม. ลดปริมาณการใช้รถยนต์ส่วนบุคคลในชั่วโมงเร่งด่วนบริเวณ Low Emission Zone ขอให้สถานประกอบการหลอมโลหะ หรือกิจการที่มีการใช้หม้อต้มไอน้ำด้วยเชื้อเพลิงน้ำมันดีเซล ชีวมวล และถ่านหินในพื้นที่วางแผนลดการผลิต 100% พิจารณาออกประกาศพื้นที่ควบคุมเหตุรำคาญตามกฎหมายว่าด้วยการสาธารณสุขกรณีที่สถานการณ์ฝุ่นละออง PM2.5 มีแนวโน้มสูงขึ้นติดต่อกัน 3 วัน จนเกิดผลกระทบต่อสุขภาพของประชาชนในวงกว้าง รวมทั้งบูรณาการข้อมูลทั้งด้านสถานการณ์ฝุ่นละอองและด้านสุขภาพร่วมกันระหว่าง สนอ. สำนักการแพทย์ และสำนักสิ่งแวดล้อม เพื่อประเมินและเฝ้าระวังผลกระทบต่อสุขภาพของประชาชน