เกษตรกรในพื้น ตำบลม่วงเตี้ย อำเภอแม่ลาน จังหวัดปัตตานี มีอาชีพทำนาเป็นหลัก มีความเป็นอยู่แบบเรียบง่าย ในน้ำมีปลา ในนามีข้าว ห้อมล้อมไปด้วยกลิ่นไอของความสุข สงบ และมาทำความรู้จักกับ นางประดา ชนะชนม์ หรือ ป้าดา เกษตรกรต้นแบบ Smart Farmer ด้านข้าว เป็นผู้สูงอายุ แต่มากด้วยความรู้จะข้าวสามารถเรื่องข้าว รวมถึงการทำกับข้าวแสนอร่อยให้ได้ทาน

จากเมื่อก่อนมีการปลูกข้าวตามที่บรรพบุรุษได้ปลูกกันมา ใส่สารเคมี ใส่พันธุ์ข้าวเดิมๆ ใช้เวลาในการไถดะนานถึง 20 วัน ทางศูนย์วิจัยข้าวปัตตานี ได้เข้ามาส่งเสริมดูแลในการพัฒนาเกษตรกรให้มีศักยภาพในการใช้เทคโนโลยีในการผลิตข้าว ช่วยในการลดต้นทุนการผลิต ลดการใช้แรงงานคน ในการพัฒนาอย่างไม่หยุดยั้งของป้าดา ในการศึกษาองค์ความรู้ และรับเทคโนโลยีใหม่ๆเข้ามาปรับใช้ ในการเพิ่มประสิทธิภาพในการทำนาที่มองว่าเป็นเรื่องยาก ให้กายมาเป็นเรื่องง่าย โดยการหาเครื่องทุ่นแรง ซึ่งคุณป้าดามีการนำเครื่องหยอดข้าวงอกมาปรับใช้ ช่วยในการลดลงได้มากกว่าไร่ละ 1,000 บาทหรือ ประมาณ 20% ของต้นทุนการผลิต เมื่อเปรียบเทียบกับการปักดำ เนื่องจากไม่มีค่าใช้จ่ายในการเพาะต้นกล้าและค่าปักดำ มีแต่ค่าเมล็ดพันธุ์เท่านั้น

และจะประหยัดกว่า การหว่านด้วย ช่วยให้การใช้เมล็ดพันธุ์ข้าวลดลงได้เฉลี่ยต่อไร่ ไม่น้อยกว่า 10 กิโลกรัม คิดเป็นเงินประมาณ 140 บาทต่อไร่ ซึ่งราคาเมล็ดพันธุ์คุณภาพอยู่ที่กิโลกรัมละ 14 บาท สามารถประหยัดค่าใช้จ่ายในการดูแลบำรุงรักษาเพราะสามารถลดได้ ทั้งสารอาหารและสารเคมีปราบศตัรูพืชผลผลิต จะลดการปนเปื้อน และยังทำให้ต้นข้าวเป็นแถวเป็นแนวสวยงาม ได้ปริมาณผลผลิตเพิ่มขึ้น ซึ่งจากเดิมอยู่ที่ 450-500 กิโลกรัมต่อไร่ ปัจจุบันสามารถผลผลิตได้ถึง 550-561 กิโลกรัมต่อไร่ ที่สำคัญความสุขของป้าดามีแต่เพิ่มขึ้นจากการทำนา และพร้อมที่จะถ่ายทอดประสบการณ์ ให้กับเกษตรกรผู้ปลูกข้าวในตำบลม่วงเตี้ยต่อไป

นางประดา ชนะชนม์ หรือ ป้าดา เกษตรกรต้นแบบ Smart Farmer ด้านข้าว ตำบลม่วงเตี้ย อำเภอแม่ลาน จังหวัดปัตตานี เปิดเผยว่า การทำการเกษตรในปัจจุบันดีขึ้นกว่าเมื่อก่อน เนื่องจากว่าคนรุ่นถัดมามีความรู้ในเรื่องของการทำนามากขึ้น การใช้เวลาทำนาน้อยลง มีการปรับปรุงพันธุ์ข้าว แต่ก็ยังมีคงปลูกพันธุ์ข้าวเดิมอยู่ไม่ให้หายไป แต่ก็มีการใช้พันธุ์ข้าวจากที่อื่นมาเวียนปลูกในพื้นที่บ้าง เพราะว่าแต่ละช่วงนั้นน้ำก็ยังเป็นปัจจัยหลักในการทำนา จึงต้องมีการดูฝนฟ้า อากาศด้วย ตอนนี้จะมีชลประทานเข้ามาด้วย จากเดิมที่เคยปลูกข้าวปีละครั้ง ตอนนี้ปลูกได้ปีละ 2 ครั้ง พันธุ์ข้าวก็จะเปลี่ยนไป จากข้าวนาปี ก็จะมาใช้อีกพันธุ์นึงให้เหมาะสมกับช่วงฤดูกาล พอมาใช้ข้าวนาปังอีกพันธุ์หนึ่งซึ่งเหมาะสมกับช่วงฤดูกาลเช่นกัน เพราะว่าข้าวแต่ละสายพันธุ์ระยะเวลาไม่เท่ากัน ระยะหลังๆ มา เราจะมีความรู้ในเรื่องของพันธุ์ข้าวมากขึ้น ได้มีเจ้าหน้าที่ของหน่วยงานภาครัฐฝ่ายต่างๆ โดยเฉพาะ กรมการข้าว เข้ามาให้ความรู้ แลกเปลี่ยนเรียนรู้ในเรื่องของการทำนา สามารถที่จะลดต้นทุนด้วย ลดระยะเวลาด้วย แล้วผลผลิตก็ได้มากกว่า เพราะว่า จากระบบต้นข้าวที่งอกตรงนั้น สามารถที่จะไม่มีการดรอปของต้นกล้า หลายคนจึงหันมาทำตามที่เจ้าหน้าที่แนะนำกันหมด

ป้าดา กล่าวเพิ่มเติมว่า อาชีพทำนา มั่นคงที่สุดเลย เพราะว่า เราไม่มีเงิน เราก็สามารถอยู่ได้ เพราะว่าเรามีข้าว ข้าวในยุ้งข้าวของเรา แล้วเราก็ทำนาทำมาตลอด สามารถที่จะบอกได้เลยว่า ไม่ต้องเป็นห่วงในเรื่องของอาหาร สำหรับแม่นะ แม่คิดว่า เรื่องอาหาร เราไม่ต้องเป็นห่วงเลย ไม่ว่าจะเกิดยุคอะไร ยุคข้าวยากหมากแพง ยุคสงคราม หรือจะเรื่องของเชื้อโควิด จากที่ดูในข่าวสงสารคนในเมือง แต่เราไม่มีผลกระทบเลย เพราะทุกคนทำนา ในนาจะมีทั้ง ปลา ผักน้ำ นำมาทำเป็นอาหารโดยที่ไม่ต้องออกไปซื้อกิน นี่แหละคือความมั่นคง ของคนทำนา