เมื่อวันที่ 6 ธันวาคม 2565 ที่โรงแรมคราวน์พลาซ่า กรุงเทพฯ แนวร่วมการเงินที่เป็นธรรมเอเชีย (Fair Finance Asia) และ แนวร่วมการเงินที่เป็นธรรมประเทศไทย ( Fair Finance Thailand )ได้จัดสัมมนาในหัวข้อ การให้สินเชื่ออย่างมีความรับผิดชอบ กรณีโครงการเขื่อนหลวงพระบางบนแม่น้ำโขงสายประธาน ซึ่งจัดขึ้นเพื่อร่วมสำรวจและตรวจสอบความเสี่ยงของโครงการดังกล่าว รวมไปถึงกระบวนการ ‘การให้สินเชื่ออย่างมีความรับผิดชอบ’ของสถาบันการเงินในประเทศไทยในโครงการที่อาจมีผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อม
มาร์ทึน เวาสท์ (Maarten d Vuyst) ตัวแทนจากคณะทำงาน Fair Finance Asia องค์กร Oxfam Novib กล่าวถึงแนวร่วมการเงินที่เป็นธรรมเอเชียหรือ Fair Finance Asia ว่าเป็นเครือข่ายระดับภูมิภาคเริ่มต้นเมื่อ 4 ปีก่อน มีเครือข่ายขององค์กรมากกว่า 50 องค์กรในเอเชียที่ให้ความสำคัญกับสิ่งแวดล้อมและความยั่งยืนในเอเชีย เราเริ่มเห็นความเปลี่ยนแปลงบ้างแล้วจากการทำงานในช่วงครึ่งปีที่ผ่านมา
“ในการทำงานของพวกเรา สิ่งสำคัญที่สุดก็คือการทำให้ผู้ลงทุนมีการลงทุนอย่างเป็นธรรมและได้รับการตรวจสอบจากภาคประชาสังคมอย่างยุติธรรม เรื่องเหล่านี้ไม่ได้เกิดขึ้นได้ง่ายๆ แต่ต้องใช้เวลา ผมหวังว่าการประชุมครั้งนี้จะเป็นประโยชน์ในอนาคต” มาร์ทึน เวาสท กล่าว
ยอน ออสเตริม เกรินดาห์ล (Jon Åström Gröndahl) เอกอัครราชทูตสวีเดนประจำประเทศไทย กล่าวว่า ผู้คนตระหนักถึงความสำคัญขององค์กรภาคการเงินการธนาคารที่มีบทบาทต่อการตัดสินใจมากขึ้น ซึ่งจะทำให้เกิดการกดดันไปยังองค์กรเหล่านี้ให้ดำเนินการอย่างยั่งยืนและโปร่งใสมากขึ้นตามมา อย่างน้อยบางองค์กรเริ่มตระหนักถึงความจำเป็นที่จะต้องให้ความสำคัญกับการให้สินเชื่ออย่างยั่งยืน อีกทั้งยังเป็นโอกาสที่สำคัญอย่างยิ่งที่องค์กรภาคการเงินการธนาคารจะดำเนินงานในแนวทางการส่งเสริมวาระการพัฒนาที่ยั่งยืน 2030 (SDG) ขององค์การสหประชาชาติ เพื่อแก้ปัญหาท้าทายต่างๆ ทั้งเรื่องสิทธิมนุษยชน ความเท่าเทียมทางเพศ สิ่งแวดล้อม และการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ
“เมื่อเร็วๆ นี้ สหภาพยุโรปได้รับร่างกฎหมายการสอบทานธุรกิจด้านสิทธิมนุษยชนและสิ่งแวดล้อมที่ยั่งยืน (Corporate sustainability due diligence) ซึ่งเป็นการส่งเสริมให้เกิดองค์กรที่ยั่งยืนและมีความรับผิดชอบตลอดห่วงโซ่คุณค่า สำหรับผู้บริโภคและผู้ลงทุน กฎเกณฑ์เหล่านี้จะช่วยให้มีความโปร่งใสมากขึ้น กฎนี้เรียกร้องให้ภาคธุรกิจในยุโรปต้องตรวจสอบด้านสิทธิมนุษยชน ภาคการเงินในสหภาพยุโรปต้องเตรียมตัวเพื่อรับมือกับความท้าทายเหล่านี้ให้ได้ ธนาคารต่างๆ เริ่มมีการใช้แนวคิดการลงทุนที่ให้ความสำคัญในเรื่องสิ่งแวดล้อม สังคม และธรรมาภิบาล หรือ ESG เข้ามาใช้ในการลงทุนมากขึ้น” เอกอัคราชทูตสวีเดน กล่าว
เอกอัครราชทูตสวีเดนประจำประเทศไทย กล่าวต่อว่า ในสวีเดน แนวร่วมการเงินที่เป็นธรรมดำเนินการมาหลายปีแล้ว ล่าสุดเมื่อมิถุนายนปีนี้ พบว่า ธนาคารต่างๆ สามารถปรับปรุงแนวปฏิบัติต่างๆ มีการพิจารณาอย่างระมัดระวังมากขึ้นในการให้สินเชื่อแก่อุตสาหกรรมถ่านหินและก๊าซธรรมชาติ แม้จะยังมีบางธนาคารในนอร์เวย์ที่ยังไม่ได้นำเอากฎเกณฑ์เหล่านี้มาใช้พิจารณา ทั้งนี้ กลยุทธ์ในการทำงานของธนาคารเหล่านี้ต้องมี 2 ด้านคือ การพัฒนาที่ยั่งยืนและการตรวจสอบที่ชัดเจน
อิฐบูรณ์ อ้นวงษา รองเลขาธิการสภาองค์กรของผู้บริโภค กล่าวถึงโครงการสร้างเขื่อนหลวงพระบางว่า ไทยไม่มีความจำเป็นในการซื้อไฟฟ้าสำรองเพิ่มเติมจากเขื่อนหลวงพระบางเพราะปัจจุบันไทยมีกำลังผลิตไฟฟ้าอยู่ราว 50,000 เมกะวัตต์ มาจากโรงไฟฟ้าของรัฐ 33% และอีกเกือบ 70% มาจากผู้ผลิตเอกชน แต่ยอดการใช้ไฟฟ้าสูงสุดในไทย ซึ่งเกิดขึ้นเป็นช่วงเวลาไม่นาน ในค่ำคืนหนึ่งของเดือนเมษายน 2565 เพียง 32,000 เมกะวัตต์ ซึ่งนั่นเท่ากับว่าไทยมีพลังงานไฟฟ้าสำรองเหลือกว่า 16,000 เมกะวัตต์ หรือประมาณ 52%
“ประเทศไทยมีกำลังผลิตไฟฟ้าล้นระบบค่อนข้างสูง แต่ในแผนพัฒนากำลังผลิตไฟฟ้าของประเทศไทย 2561-2580 และในฉบับปรับปรุงครั้งที่ 1 มีการเปลี่ยนหลักคิดใหม่ด้วยการกระจายความต้องการการใช้ไฟฟ้าออกเป็นรายภาค ซึ่งทำให้ดูเหมือนบางภาคมีโรงไฟฟ้าไม่เพียงพอ และเขาก็ตัดระบบสายส่งออกไปจากหลักการระบบการผลิตไฟฟ้าของเมืองไทย ที่เชื่อมโยงระบบการผลิตไฟฟ้าของทั้งประเทศ แล้วขีดเส้นพรมแดนของโรงไฟฟ้าแต่ละภาคแยกออกจากกัน ทำให้เกิดการเปิดช่องให้พื้นที่ที่จะให้มีการรับซื้อไฟฟ้าจากประเทศลาวเข้ามาใส่ได้ ทั้งๆ ที่ความจริงแล้วไฟฟ้าล้นระบบอยู่ นี่คือการบิดเบือนข้อมูล และโกหกประชาชน” อิฐบูรณ์ กล่าว
รองเลขาธิการสภาองค์กรผู้บริโภค กล่าวว่า แม้ประเทศไทยจะมีไฟฟ้าสำรองล้นเกิน แต่ก็ปรากฏว่า กฟผ. ได้ลงนามซื้อขายไฟฟ้าโครงการเขื่อนหลวงพระบางเพิ่มเติมอีก โดยบริษัท CK Power ได้แจ้งต่อตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทยว่า ได้ลงนามบันทึกความเข้าใจการซื้อขายไฟฟ้าของโครงการเขื่อนหลวงพระบางกับ กฟผ. ซึ่งจะเป็นโรงไฟฟ้าเข้าระบบในปี 2573 โดยอ้างข้อมูลจากแผนพัฒนากำลังผลิตไฟฟ้าของประเทศไทย 2561-2580 ฉบับปรับปรุงครั้งที่ 1 ทั้งๆ ที่ในแผนพัฒนากำลังผลิตไฟฟ้าของประเทศไทย 2561-2580 ฉบับปรับปรุงครั้งที่ 1 มีรายชื่อของเขื่อนทุกเขื่อนในลาวที่ไทยจะซื้อไฟฟ้า ทั้งเขื่อนเซเปียน เขื่อนน้ำเงี๊ยบ 1 และเขื่อนไซยะบุรี แต่ไม่มีรายชื่อของเขื่อนหลวงพระบางอยู่ในแผนฉบับนี้เลย
“นี่คือสิ่งที่เราตั้งข้อสงสัยว่า เขื่อนหลวงพระบางถูกอนุมัติเข้ามาสู่ในแผนพัฒนากำลังผลิตไฟฟ้าของประเทศไทย 2561-2580 ฉบับปรับปรุงครั้งที่ 1 ได้อย่างไร”นายอิฐบูรณ์ กล่าว
อิฐบูรณ์ ระบุด้วยว่า คณะอนุกรรมการประสานความร่วมมือด้านพลังงานระหว่างไทยกับประเทศเพื่อนบ้าน 11 คน ประกอบไปด้วยคนของกระทรวงพลังงาน 7 คน และคนของหน่วยงานรัฐ เช่น สภาพัฒน์ฯ หรือพนักงานอัยการสูงสุด อีก 4 คน ไม่มีองค์ประกอบของภาคประชาชนและภาคเอกชนใดๆ ทั้งสิ้น แต่อนุกรรมการชุดนี้สามารถจะพิจารณานำเอาโรงไฟฟ้าจากประเทศลาวเข้ามาสู่ระบบของการผลิตไฟฟ้าของประเทศไทยได้ ตั้งแต่โครงการน้ำงึม 3 โครงการปากแบง โครงการปากลาย และโครงการหลวงพระบาง
“ปี 2565 ค่า FT ของไทย อยู่ที่ 93 สตางค์หรือประมาณ 1 บาทต่อหน่วย แต่เมื่อรวมกับค่าไฟฐานจะอยู่ที่ประมาณ 5-6 บาทต่อหน่วย ภาระทั้งหมดตกอยู่กับผู้บริโภค ซึ่งก็คือประชาชนชาวไทยทุกคน กับประเทศที่มีค่าแรงอยู่ที่ 300 กว่าบาท ซึ่งถือว่าแพงมาก และนี่คือสิ่งที่กำลังจะเกิดขึ้นในประเทศไทย หากมีการสร้างเขื่อนหลวงพระบางและซื้อไฟฟ้าจากเขื่อนหลวงพระบาง” อิฐบูรณ์กล่าว
ไพรินทร์ เสาะสาย ผู้ประสานงานการรณรงค์องค์กรแม่น้ำนานาชาติ ภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ กล่าวว่า โครงการดังกล่าวจะมีความเสี่ยงทั้งด้านสิ่งแวดล้อม สังคมและธรรมาภิบาล อาทิ ความเสี่ยงด้านสิ่งแวดล้อมข้ามพรมแดน ซึ่งในรายงานทบทวนด้านเทคนิคของคณะกรรมาธิการแม่น้ำโขง (MRC TRR) อันเป็นส่วนหนึ่งของการดำเนินงานตามกระบวนการปรึกษาหารือล่วงหน้า ระบุว่า โครงการดังกล่าวไม่ได้ระบุถึงมาตรการบรรเทาผลกระทบที่อาจเกิดจากการดักตะกอนและระบายน้ำของเขื่อนที่จะส่งผลกระทบต่อการพังของตลิ่งโดยเฉพาะในเขตเมืองหลวงพระบาง
ไพรินทร์กล่าวว่า มีข้อสังเกตว่า โครงการเขื่อนหลวงพระบางดำเนินการตามโครงการเขื่อนไซยะบุรี โดยไม่มีการทบทวนบทเรียนจากเขื่อนไซยะบุรีเลย โดยเฉพาะกระบวนการรับฟังความคิดเห็นของประชาชน 6 ประเทศ และผลกระทบข้ามพรมแดน ทั้งที่กรณีเขื่อนไซยะบุรี หลังดำเนินการในปี 2562 สิ่งที่เกิดขึ้นคือระดับน้ำลดลงผิดปกติ น้ำโขงใสไร้ตะกอน สอดคล้องกับรายงานร่วมเพื่อติดตามข้อมูลด้านสิ่งแวดล้อมของ MRC (Joint Environment Monitoring Report) ที่บอกว่า มีการลดลงอย่างมากของการสะสมของตะกอนบริเวณท้ายน้ำของเขื่อนไซยะบุรี และความหลากหลายทางชีวภาพด้านการประมงลดลงอย่างมากถึง 40-60%
“ความเสี่ยงที่สำคัญคือความปลอดภัยด้านแผ่นดินไหว เนื่องจากเขื่อนแห่งนี้จะตั้งอยู่ใกล้รอยเลื่อนเดียนเบียนฟู ซึ่งผู้เชี่ยวชาญด้านธรณีวิทยาขอให้มีการทบทวนด้านความปลอดภัย แต่ยังไม่มีการเปิดเผยเรื่องความคืบหน้า ขณะที่คณะกรรมการมรดกโลกเสนอให้ผู้พัฒนาโครงการชะลอการก่อสร้าง หรือย้ายที่ตั้งเขื่อนจากจุดเดิม เนื่องจากความเสี่ยงต่อผลกระทบต่อเมืองหลวงพระบาง เพราะเมืองหลวงพระบางไม่ได้เป็นเมืองมรดกโลกเพียงเพราะตัวเมืองเอง แต่เพราะอยู่บริเวณริมแม่น้ำโขง ซึ่งก่อให้เกิดเป็นวัฒนธรรมและวิถีชีวิตของผู้คน” ไพรินทร์ กล่าว
ไพรินทร์ กล่าวต่อถึงประเด็นความรับผิดชอบต่อการให้สินเชื่อของธนาคารไทยว่า แนวร่วมฯ ในฐานะภาคประชาสังคมได้มีโอกาสพูดคุยเพื่อให้ข้อมูลกับธนาคารที่เกี่ยวข้องที่คาดว่าจะให้กู้กับโครงการเขื่อนหลวงพระบาง เพื่อขอให้พิจารณาใช้กรอบด้านความเสี่ยงด้านสิ่งแวดล้อม สังคมและธรรมาภิบาล เป็นหนึ่งในการตัดสินใจ แต่จนถึงขณะนี้ยังไม่มีธนาคารไทยใดที่มีท่าทีชัดเจน
“อยากให้ผู้ลงทุนหรือผู้ให้สินเชื่อได้นำหลักการสิ่งแวดล้อม สังคม และธรรมาภิบาลเป็นกรอบการพิจารณาให้สินเชื่อ เพราะมีตัวอย่างจากเขื่อนไซยะบุรีที่มีผลกระทบไม่เฉพาะไทย แต่ยาวถึงเวียดนาม แม่น้ำโขงเป็นแม่น้ำนานาชาติสายสำคัญของคน 65 ล้านคน ไม่ควรมีใครแสดงความเป็นเจ้าของ เอาทรัพยากรไปทำกำไร ขณะที่ประชาชนต้องแบกรับผลกระทบทั้งทางสิ่งแวดล้อมและสังคม