วันที่ 7 ธ.ค.65 ศ.นพ.ยง ภู่วรวรรณ หัวหน้าศูนย์เชี่ยวชาญเฉพาะทางด้านไวรัสวิทยา คลินิกภาควิชากุมารเวชศาสตร์ คณะแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย โพสต์เฟซบุ๊ก Yong Poovorawan ระบุว่า...
โควิด 19 ประชากรไทยติดเชื้อไปแล้วร้อยละ 60 ถึง 70
ยง ภู่วรวรรณ
7 ธันวาคม 2565
จากการศึกษาของศูนย์เชี่ยวชาญเฉพาะทางด้านไวรัสวิทยาคลินิก จุฬา 2 โครงการ โครงการแรกเป็นการศึกษาในเด็กที่อายุ 5-6 ขวบ ในปีที่ผ่านมาโดยมีการตรวจเลือด 2 ครั้งห่างกัน 1 ปี จำนวนประมาณ 190 คน พบว่าในช่วงปีที่แล้ว หรือยุคเดลตา เด็ก อายุนี้ใน กทม ติดเชื้อไปแล้วประมาณ 10 เปอร์เซ็นต์ (2564) แต่เมื่อมาถึงปีนี้ (2565) มาถึงเดือนนี้ พบว่ามีการติดเชื้อไปแล้วเพิ่มสูงขึ้นอยู่ระหว่าง 60 ถึง 70 เปอร์เซ็นต์ของเด็กทั้งหมด และ ในจำนวนนี้ 35% เป็นการติดเชื้อแบบไม่มีอาการ หรือไม่รู้ว่ามีการติดเชื้อ จากการซักประวัติ ไม่ทราบว่ามีการติดเชื้อ แต่การตรวจเลือดพบหลักฐานของการติดเชื้อ แสดงให้เห็นว่ามีเด็กจำนวนมากที่เกิดการติดเชื้อไปแล้ว เป็นชนิดที่ไม่มีอาการ และไม่รู้ว่ามีการติดเชื้อไปแล้ว
ในขณะเดียวกันการศึกษาร่วมกับทางจังหวัดชลบุรี ทำการตรวจเลือดตั้งแต่ 6 เดือนจนถึง 80 ปี ขณะนี้ตรวจไปแล้ว ประมาณ 700 คน พบว่ามีการติดเชื้อไปแล้วจากหลักฐานของการตรวจเลือด และประวัติการติดเชื้อ อยู่ที่ประมาณ ร้อยละ 60-70 หลักฐานการตรวจเลือด ถ้าติดเชื้อมานานแล้ว โดยเฉพาะติดเชื้อเกินกว่าหนึ่งปี อาจให้ผลเป็นลบได้ การติดเชื้อส่วนใหญ่เกิดขึ้นในปีนี้ ในช่วงของการระบาดด้วยสายพันธุ์ โอมิครอน
เมื่อตรวจหาภูมิต้านทาน แอนติบอดี ที่เกิดจากการติดเชื้อหรือจากวัคซีน จะพบว่าประชากรประมาณร้อยละ 95 มีภูมิต้านทานที่ตรวจพบได้ มากบ้างน้อยบ้าง โดยเฉพาะขณะนี้ยังไม่สามารถบอกได้ว่าระดับภูมิต้านทานสูงแค่ไหน จึงจะป้องกันหรือลดความรุนแรงของโรคได้ ประชากรส่วนใหญ่เกือบทั้งหมดได้เคยสัมผัสหรือรู้จักไวรัสโควิด 19 จากการติดเชื้อ หรือวัคซีนมาแล้ว จึงเป็นเหตุผลหนึ่งที่ทำให้ความรุนแรงของโรคลดน้อยลง
การติดเชื้อมาแล้ว หรือได้รับวัคซีน ตรวจวัดภูมิต้านทานได้ ก็สามารถติดเชื้อซ้ำได้อีก เราจึงเห็นผู้ที่ติดเชื้อครั้งที่ 2 เพิ่มขึ้นมาโดยตลอด โดยหลักการของระบบภูมิคุ้มกัน การติดเชื้อครั้งที่ 2 น่าจะทำให้ความรุนแรงของโรคลดลง ทั้งนี้ก็คงขึ้นอยู่กับสภาวะของร่างกายในขณะนั้นด้วย
เมื่อมีการติดเชื้อซ้ำได้ เป็นแล้วเป็นอีกได้ จึงมีเหตุผลเพียงพอสำหรับผู้ที่เคยฉีดวัคซีนครบ 3 ครั้งแล้ว หรือมากกว่า และฉีดวัคซีนมานานแล้ว หรือเคยติดเชื้อมาแล้ว และเว้นช่วงมานานแล้ว เช่นนานเกิน 6 เดือน ก็สามารถรับวัคซีนเข็มกระตุ้นเพื่อฝึกให้ระบบภูมิต้านทาน รับรู้ในเรื่องของการป้องกันลดความรุนแรงของโรค
วัคซีนแต่ละชนิด ประสิทธิภาพในการลดความรุนแรงของโรคไม่แตกต่างกัน ขึ้นอยู่กับจำนวนครั้งในการให้ และการป้องกันลดความรุนแรง จะได้ดีหลังจากฉีดในเดือนแรกๆ และภูมิจะลดลงตามกาลเวลา
การให้เข็มกระตุ้น ควรเว้นระยะห่างจากครั้งสุดท้าย โดยหลักการแล้วยิ่งห่างยิ่งดี หรือรอให้ภูมิต้านทานลดลงก่อนแล้วค่อยกระตุ้น แต่ขณะเดียวกันถ้าเว้นนานเกินไป ก็จะเกิดการติดเชื้อเสียก่อน ระยะเวลาที่ผู้ได้รับครบ 3 หรือ 4 เข็มแล้ว หรือติดเชื้อ มารับการกระตุ้น ควรอยู่ที่ 6 เดือนหรือมากกว่า จะกระตุ้นระดับภูมิต้านทานได้ในระดับที่สูง ในกลุ่มเสี่ยงจะกระตุ้นเร็วกว่านี้สัก 1-2 เดือนก็มีสามารทำได้