นพ.ศุภกิจ ศิริลักษณ์ อธิบดีกรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ กล่าวถึงมาตรการรองรับการตรวจวิเคราะห์สารจากกัญชา ภายหลังจากที่กระทรวงสาธารณสุข(สธ.) มีประกาศเรื่องสมุนไพรควบคุม (กัญชา) ฉบับที่ 2 ซึ่งควบคุมเฉพาะ "ช่อดอกกัญชา"ว่า ขณะนี้กรมวิทย์ตรวจอยู่ 2 อย่าง คือ แบบที่ 1 ตรวจในคน เมื่อตอนที่กัญชาเป็นยาเสพติด หากเราจะตรวจว่าผู้ใดใช้กัญชาหรือไม่ ก็ตรวจจากปัสสาวะ บางรายสารอยู่ในร่างกายได้นานถึง 2 เดือน แต่ตอนนี้วัตถุประสงค์เปลี่ยนไปแล้ว เราจะตรวจกรณีที่แพทย์สงสัยว่าผู้ป่วยเป็นพิษจากกัญชาหรือไม่ โดยผู้ป่วยจะต้องมีประวัติการใช้กัญชาในรูปแบบต่างๆ แพทย์ก็จะเจาะเลือดตรวจ ซึ่งตรงนี้ศูนย์วิทยาศาสตร์การแพทย์ทุกแห่งทั่วประเทศ ตรวจได้ ฉะนั้น โรงพยาบาล (รพ.) ไหนมีผู้ป่วยจากการใช้กัญชา เช่น กินอาหารผสมกัญชา ก็ส่งมาตรวจได้ และแบบที่ 2 ตรวจในวัตถุดิบ เช่น อาหาร สินค้าที่ผสมกัญชาแล้วจะเอาไปขึ้นทะเบียนกับสำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา (อย.) ห้องปฏิบัติการ(แล็บ) ของเราสามารถตรวจได้ละเอียด

อธิบดีกรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ กล่าวอีกว่า ทั้งนี้ กรมวิทย์ฯ ได้ผลิตชุดตรวจสารสกัดกัญชาชนิดน้ำ เช่น น้ำมันกัญชา เครื่องดื่มผสมกัญชา เรียกว่า "เทสกัญ" ได้รับการจดสิทธิบัตรเรียบร้อยแล้ว เป็นชุดเร็วเพื่อให้รู้ว่ามีสาร THC เกิน 0.2% หรือไม่ ตอนนี้เราใช้งบประมาณแผ่นดินผลิตมา 2 หมื่นชุด แจกไปยังสำนักงานสาธารณสุขจังหวัด (สสจ.) ต่างๆ แล้ว แต่เราไม่มีหน้าที่ขาย หากผู้ประกอบการรายใดมีความสนใจอยากรับถ่ายทอดเทคโนโลยีไปผลิตเป็นสินค้าชุดตรวจกัญชา ก็ติดต่อมาที่กรมวิทย์ได้