วันที่ 2 ธ.ค.2565 นางสาวตรีนุช เทียนทอง รัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ ได้กล่าวถึงการนำหนังสือพระราชทาน “จิตตนคร นครหลวงของโลก” และ “สัมมาทิฏฐิ” ไปจัดการเรียนรู้ในสถานศึกษา สังกัดสำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (สพฐ.) ว่า ด้วยสำนึกในพระมหากรุณาธิคุณ พระบาทสมเด็จพระวชิรเกล้าเจ้าอยู่หัว ให้จัดพิมพ์หนังสือ เรื่อง “จิตตนคร นครหลวงของโลก” และหนังสือ เรื่อง “สัมมาทิฏฐิ ตามพระเถราธิบายของท่านพระสารีบุตรเถระ” ซึ่งเป็นหนังสือพระนิพนธ์ใน สมเด็จพระสังฆราชเจ้า กรมหลวงวชิรญาณสังวร (เจริญ สุวฑฺฒโน) เพื่อพระราชทานแก่พสกนิกรทั่วไป ในการนี้สถานศึกษาในสังกัดกระทรวงศึกษาธิการ ได้รับพระราชทานหนังสือ ทั้ง 2 เรื่องดังกล่าวด้วย
ดังนั้น ทางกระทรวงศึกษาธิการจึงขอน้อมนำรับสนองพระราชดำริ ให้เด็ก เยาวชน ครู และผู้บริหารสถานศึกษา ได้ศึกษาและนำไปจัดการเรียนการสอน โดยเฉพาะการจัดประสบการณ์ในลักษณะ Active Learning รวมถึงการนำพระบรมราโชบายด้านการศึกษา 4 ประการ มาเป็นเป้าประสงค์ในแต่ละกิจกรรม คือ เริ่มจากการมีทัศนคติที่ถูกต้องต่อบ้านเมือง มีพื้นฐานชีวิตที่มั่นคง-มีคุณธรรม มีงานทำ-มีอาชีพ และเป็นพลเมืองที่ดี
ทั้งนี้ นางสาวตรีนุช ยังกล่าวต่อว่า พระองค์ทรงมีพระวิสัยทัศน์ให้นำหนังสือทั้ง 2 เล่ม ไปจัดกิจกรรมการเรียนรู้และส่งเสริมการอ่าน ให้ผู้เรียนได้ศึกษาเข้าใจหลักธรรม เพื่อพัฒนาการศึกษาและพัฒนาตนเองให้มีความยั่งยืนสมบูรณ์พร้อม มีความรู้ควบคู่ธรรมะประจำตน ดังที่ทรงได้กล่าวถึงพระวิสัยทัศน์แห่งพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว และสมเด็จพระมหาสมณเจ้า กรมพระยาวชิรญาณวโรรส ซึ่งทรงเป็นกำลังอันสำคัญยิ่งในการพัฒนาการศึกษาของไทย โดยทรงเริ่มพัฒนาคน คือประชาชน ให้มีการศึกษาอย่างทั่วถึงเป็นอันดับแรก
โดย กระทรวงศึกษาธิการ ตระหนักถึงปัญหาและความจำเป็นที่ต้องเร่งแก้ไขคลี่คลายให้ลุล่วงโดยเร็วที่สุด เนื่องจากสภาพปัญหาปัจจุบันในสังคมที่เปลี่ยนแปลงไป ที่มีความรุนแรงเกิดขึ้น การนำหลักธรรมในหนังสือพระราชทานทั้ง 2 เล่มนี้ ไปต่อยอดการจัดการศึกษา จึงเป็นกุญแจสำคัญ ให้ผู้ที่ศึกษาได้เรียนรู้ เข้าใจ และกล่อมเกลาความคิดอ่านเชิงวิเคราะห์ โดยเฉพาะการนำศีลธรรมมาเป็นตัวชี้นำการดำเนินชีวิต สามารถปรับตัวพัฒนาตนเอง ตามสิทธิเสรีภาพของบุคคล และเป็นพลเมืองที่ดีของสังคมประเทศชาติ และสังคมโลกตลอดไป