วันที่ 2 ธ.ค. 2565 น.ส.สารี อ๋องสมหวัง เลขาธิการสภาองค์กรของผู้บริโภคและอนุกรรมการคุ้มครองสิทธิและส่งเสริมการมีส่วนร่วม สปสช. พร้อมด้วย ผศ.ภญ.ยุพดี ศิริสินสุข รองเลขาธิการ สปสช. แถลงข่าวแก้ปัญหาประชาชนถูกหน่วยบริการเรียกเก็บค่ารักษาเพิ่มเติม
โดย น.ส.สารี กล่าวว่า สปสช.ลงไปตรวจสอบพบว่า มีเรื่องร้องเรียนกรณีถูกเรียกเก็บเงินในรอบ 5 ปี รวม 3,329 เรื่อง เป็นมูลค่า 35.7 ล้านบาท เราพบการถูกเรียกเก็บเงินหลายกรณี เช่น กรณีปากมดลูกเปิดถือว่าจะต้องทำการคลอด ถูกเรียกเก็บเงินค่ารักษา 12,595.5 บาท ทั้งที่มีการส่งตัวถูกต้อง หรือกรณีคนพิการถูกเรียกเก็บเงิน กรณีเจ็บป่วยฉุกเฉิน กรณีการอ้างใช้ยานอกบัญชียาหลัก เป็นต้น
ทั้งนี้ การมีระบบหลักประกันสุขภาพฯ เพื่อป้องกันการล้มละลายของประชาชน การถูกเรียกเก็บเงินไม่ควรเกิดขึ้น อย่างไรก็ตาม หากถูกเรียกเก็บเงินแล้วสามารถยื่นเรื่องร้องเรียนเข้ามาได้ เราช่วยติดตามซึ่งเมื่อพิจารณาแล้วสุดท้าย รพ.ก็ต้องจ่ายเงินคืน ซึ่ง 100% ได้เงินคืนทั้งหมด เพราะถือว่าเป็นสิทธิของประชาชนได้รับบริการโดยไม่เก็บค่าใช้จ่าย แต่จะทำอย่างไรให้เหตุการณ์นี้เกิดน้อยที่สุดหรือไม่เกิดขึ้นเลย
จึงอยากให้ 1.ผู้บริโภคและประชาชนที่ไปใช้บริการบัตรทอง ถ้าไปใช้ในหน่วยบริการที่ขึ้นทะเบียนกับ สปสช. ยืนยันว่าไม่ควรจะมีการเรียกเก็บเงินเลย จะผ่าตัดหัวใจ ข้อเข่า รักษากรณีฉุกเฉิน คลอดลูก กายภาพบำบัด ใช้ยานอกบัญชี สิ่งเหล่านี้หน่วยบริการในระบบหลักประกันฯ ไม่สามารถเก็บเงินได้ และ 2.ส่วนของ รพ. ถ้าถูกร้องเรียนก็ต้องจ่ายเงินคืนพร้อมดอกเบี้ยร้อยละ 15 ซึ่งเป็นอัตราสูงสุดตามกฎหมาย ทำให้ต้องเสียเงินโดยไม่มีความจำเป็นและเป็นภาระของ รพ.
“ไม่ว่า รพ.รัฐหรือเอกชนที่ขึ้นทะเบียนกับระบบบัตรทองจะเรียกเก็บเงินไม่ได้ จะฉุกเฉินหรือไม่ฉุกเฉิน จะสีเขียวสีแดงเก็บเงินไม่ได้เลย จะเก็บพิเศษกรณีรักษาโรคใดๆ ก็เก็บไม่ได้ ประชาชนต้องตั้งสติของตัวเองด้วย ถ้าจะเก็บเงินก็ต้องสอบถามก่อนจ่ายเงิน เพื่อจะได้ไม่ต้องร้องเรียน ฝั่ง รพ.เพื่อลดความเสียหายต่อการจ่ายดอกเบี้ยก็ควรที่จะให้บริการตามสิทธิของผู้บริโภค” น.ส.สารีกล่าว
ด้าน ผศ.ภญ.ยุพดี กล่าวว่า ข้อมูลร้องเรียนกรณีถูกเรียกเก็บเงินปี 2561-2565 รวม 3,329 เรื่อง แต่ละปีอยู่ที่ประมาณ 500-1,000 เรื่อง พบมากสุดในเขตสุขภาพที่ 13 กทม. จำนวน 1,956 เรื่อง เพราะคน กทม.ไม่ค่อยใกล้ชิดหน่วยบริการ มีโอกาสเรียกเก็บเงินเยอะ ภาพรวมเกิดในหน่วยบริการปฐมภูมิ/ประจำ/รับส่งต่อ 33% ไม่ใช่หน่วยปฐมภูมิ/ประจำ/รับส่งต่อ 67%
ส่วน ประเภทรายการที่เรียกเก็บ ส่วนใหญ่เป็นค่ารักษาพยาบาล ค่ายาในบัญชี ค่าทำแผล 2,269 เรื่อง รวม 30.08 ล้านบาท รองงลงมาคือ การส่งเสริมสุขภาพป้องกันโรค 553 เรื่อง 2.89 ล้านบาท ซึ่งการไปรับบริการสร้างเสริมสุขภาพป้องกันโรค เช่น ไปฉีดวัคซีน เดินไปรับบริการที่ไหนก็ได้ เพราะเราจ่ายให้หน่วยบริการตามรายครั้งเมื่อให้บริการ มาเบิกจ่าย สปสช.เป็นรายครั้งได้
ทั้งนี้ ผศ.ภญ.ยุพดี กล่าวต่อว่า ส่วนกรณีคนไข้ฉุกเฉิน หากเป็นสีแดง อาการหายใจไม่ได้ หมดสติ เป็นต้น ประชาชนทุกสิทธิเข้ารักษาที่ไหนก็ได้ ไม่ว่า รพ.รัฐหรือเอกชน เพราะค่าใช้จ่ายต่างๆ เบิกจากต้นสังกัดของตัวเอง คือ สปสช. ประกันสังคม หรือกรมบัญชีกลาง ส่วนสีเหลืองผู้ป่วยมักไม่ค่อยทราบว่าต่างกับสีแดงอย่างไร แต่รู้ว่าฉุกเฉิน สามารถไปหน่วยบริการที่ขึ้นทะเบียน สปสช.ได้ทุกที่
โดยหน่วยบริการไม่สามารถเรียกเก็บเงินคนไข้ทั้ง 3 สี แต่หากสถานพยาบาลไม่อยู่ในระบบหลักประกันฯ แล้วเป็นกรณีที่ไม่ใช่สีแดง อาจถูกเรียกเก็บเงินได้ สำหรับกรณีคนพิการ เรามีข้อยกเว้นพิเศษเพราะกลุ่มนี้มีข้อจำกัดการเข้าถึงบริการ บัตรทองจึงให้คนพิการไปใช้บริการทุกที่ ไม่ว่าหน่วยบริการใดก็ตาม ซึ่งผู้ให้บริการบางรายคิดว่ารับบริการไม่ได้ ยืนยันว่าไม่จริง คนพิการใช้บริการได้ทุกที่
หรือกรณีถูกสุนัขกัดต้องไปฉีดวัคซีนพิษสุนัขบ้าแล้วถูกเรียกเก็บเงิน จริงๆวัคซีนเป็นยาในบัญชียาหลัก ไม่ใช่ยานอกบัญชี หน่วยบริการรับไปแบบเหมาจ่าย ซึ่งช่วงหนึ่งเราแจกจ่ายวัคซีน แต่ภายหลังเราให้เป็นเงินไปอยู่ในระบบ อาจมีเจ้าหน้าที่การเงินหรือส่วนของประกันสุขภาพของ รพ.เข้าใจผิดไป รพ.ส่วนใหญ่รับทราบข้อมูลตรงนี้ก็จะไม่เรียกเก็บเงิน อาจมีส่วนน้อยที่เก็บ
ซึ่ง สปสช.มีการออกคู่มือ Extra Billing ว่าอะไรทำได้ไม่ได้ อะไรเก็บได้ไม่ได้ มี 13 หมวดใหญ่ อย่างกรณีท้องฝากครรภ์ฟรีไม่ว่าสิทธิไหน บริการสร้างเสริมป้องกันโรคของคนทั้งประเทศ ประกันสังคม ข้าราชการฝากท้องฟรี ไม่มีสิทธิที่จะเรียกเก็บจากค่าใช้จ่ายผู้ป่วย
ทั้งนี้ เมื่อทำความเข้าใจแล้วเชื่อว่าปัญหาน่าจะลดลง การแก้ปัญหาไม่ควรอยู่ที่การเก็บเงินจากคนไข้ หากบริการใดที่ รพ.คิดว่า สปสช.จ่ายเงินไม่เป็นธรรม จ่ายน้อยเกินไป ผู้ให้บริการยังไม่สามารถมีรายได้เพียงพอหรือเป็นภาระค่าใช้จ่ายเกินไป ก็ควรร้องเรียนเข้ามา เพื่อ สปสช.จะได้ติดตามและตรวจสอบค่าใช้จ่ายและปรับปรุงเป็นระยะต่อไป
อย่างไรก็ตาม ผศ.ภญ.ยุพดี กล่าวต่ออีกว่า เมื่อร้องเรียนเข้ามาผ่าน 1330 ระบบจะนำเรื่องเข้าคณะทำงานคุ้มครองสิทธิ ถ้าอาจละเมิดสิทธิก็จะส่งเข้าระบบคุ้มครองสิทธิภายใต้คณะกรรมการคุ้มครองคุณภาพที่ดูมาตรฐานบริการ และจะมีการสอบสวน และถ้าหาก รพ.ยังยืนยันบอกว่าใช้สิทธิไม่ได้ เบิกไม่ได้ ต้องดูคนไปใช้บริการมีสิทธิอะไร ถ้าเป็นบัตรทอง และหน่วยบริการนั้นขึ้นทะเบียนกับ สปสช.จะเก็บเงินไม่ได้ ไม่ว่ากรณีใดๆ ทั้งสิ้น ถ้าจะเรียกเก็บเงินโทรมาสอบถาม 1330 หรือหน่วยรับเรื่องร้องเรียน
โดยจะมีขั้นตอนช่วยเหลือเจรจา ทำหนังสือถึงหน่วยงาน รพ.เหล่านั้นให้คืนเงินผู้บริโภค และกฎหมายจัดตั้งสภาองค์กรผู้บริโภคก็ให้สิทธิฟ้องคดีแทนผู้บริโภคได้ ใครเจอปัญหาอย่าเก็บไว้สามารถร้องเรียนได้ ส่วนประกันสังคมหลักการใกล้เคียงกับบัตรทอง อาจโทรสายด่วน 1506 อย่างไรก็ตาม หากประกันสังคมหรือราชการที่มีข้อจำกัดในการร้องเรียนต่อ สปสช. ก็มาร้องเรียนสภาองค์กรผู้บริโภคได้