กรมชลประทาน น้อมนำพระราชดำริ รัชกาลที่ 9 ดำเนินโครงการบรรเทาอุทกภัยเมืองจันทบุรีอันเนื่องมาจากพระราชดำริ ใช้คลองภักดีรำไพ ตัดยอดน้ำกว่า 300 ลูกบาศก์เมตร ลดผลกระทบพื้นที่ตัวเมือง 

วันที่ 2 ธ.ค.65 นายประพิศ จันทร์มา อธิบดีกรมชลประทาน เปิดเผยว่า จังหวัดจันทบุรี เป็นจังหวัดทางชายฝั่งทะเลภาคตะวันออกของประเทศไทย มีเนื้อที่ 6,388 ตารางกิโลเมตร ลักษณะภูมิประเทศทางตอนบนเป็นภูเขาที่มีความลาดชันสูง ส่วนตอนล่างเป็นที่ราบชายฝั่งทะเล ประกอบกับอยู่ในเขตลมมรสุมตะวันตกเฉียงใต้ จึงทำให้มีปริมาณฝนมาก เฉลี่ยถึง 2,600 มิลลิเมตร (มม.) ต่อปี เมื่อมีปริมาณฝนตกทางพื้นที่ตอนบน ปริมาณน้ำจะไหลลงสู่พื้นที่ตอนล่างผ่านกลางเมืองจันทบุรี ส่งผลให้เกิดภาวะน้ำท่วมเป็นประจำ รวมทั้งมีการขยายตัวของเมืองที่เพิ่มมากขึ้น จึงทำให้กีดขวางทางระบายน้ำ โดยเฉพาะในช่วงที่น้ำทะเลหนุน จึงไม่สามารถระบายน้ำได้ทันทำให้เกิดน้ำท่วมขัง    

พระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร รัชกาลที่ 9 ทรงมีพระราชดำรัสว่า “มีถนน 3 สายขนานกันที่กั้นน้ำ วิธีที่จะทำก็คือต้องดูว่าน้ำมันลงมาที่ไหนก็ดูได้ ถ้าผู้ว่าราชการจังหวัดไปดูก็จะเห็นได้ ไปสำรวจดูว่าน้ำจะลงทางไหน แล้วก็ได้ทำการระบายน้ำ คือช่องระบายน้ำที่สอดคล้องกัน และถึงเวลาฝนลงมา น้ำลงมา ก็สามารถที่จะระบายออกไปได้ ไม่มีปัญหา สามารถที่จะระบายน้ำออกไป ไม่ให้ประชาชนเดือดร้อน ถ้าถึงเวลาที่ต้องการน้ำเก็บเอาไว้ ก็ทำเป็นประตูน้ำกักเอาไว้ไม่ให้น้ำไหลไปโดยไร้ประโยชน์ แต่ถึงเวลาก็ปล่อยน้ำออกไปได้”

กรมชลประทาน ได้น้อมนำแนวทางการแก้ปัญหาตามพระราชดำรัส ดำเนินโครงการบรรเทาอุทกภัยเมืองจันทบุรีอันเนื่องมาจากพระราชดำริ ด้วยการขุดคลองผันน้ำสายใหม่ ยาว 11.661 กม. พร้อมปรับปรุงและขยายคลองเดิม 6 สาย ความยาว รวม 6.802 กม. รวมทั้งก่อสร้างสถานีสูบน้ำและประตูระบายน้ำ อาทิ ประตูระบายน้ำปากคลองผันน้ำ ประตูระบายน้ำคลองอ่าง สถานีสูบน้ำและประตูระบายน้ำคลองตะเคียน สถานีสูบน้ำและประตูระบายน้ำขนาดเล็ก จำนวน 4 แห่ง และก่อสร้างประตูระบายน้ำขนาดเล็ก อีกจำนวน 4 แห่ง รวมทั้งสิ้น 11 แห่ง สามารถผันและระบายน้ำในแม่น้ำจันทบุรี ช่วยตัดยอดน้ำที่จะไหลผ่านตัวเมืองจันทบุรีให้ระบายออกสู่ทะเลได้มากกว่า 300 ลูกบาศก์เมตรต่อวินาที ทำให้ปริมาณน้ำในแม่น้ำจันทบุรีไม่ส่งผลกระทบต่อตัวเมืองจันทบุรี นอกจากนี้ยังเป็นแหล่งเก็บกักน้ำจืด สำหรับการเกษตรไม้ผลและอื่นๆ พื้นที่ประมาณ 5,000 ไร่ รวมทั้งยังเป็นแหล่งท่องเที่ยวและสันทนาการสำหรับประชาชนทั่วไปอีกด้วย

นับเป็นอีกหนึ่งโครงการในพระราชดำริที่แสดงให้เห็นถึงน้ำพระราชหฤทัยของพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช บรมนาถบพิตร ที่ทรงมุ่งมั่นแก้ไขให้ราษฎรมีชีวิตความเป็นอยู่ที่ดีขึ้น ไม่ต้องประสบกับปัญหาน้ำท่วมในพื้นที่อีกต่อไป และยังได้พระราชทานชื่อว่า “คลองภักดีรำไพ” มีความหมายว่า คลองที่แสดงความจงรักในสมเด็จพระนางเจ้ารำไพพรรณี พระบรมราชินี ในรัชกาลที่ 7 นับเป็นพระมหากรุณาธิคุณอย่างหาที่สุดมิได้