บทความพิเศษ ทีมงานหญ้าแห้งปากคอก(ท้องถิ่น)

ยกเลิก ศบค.และให้โควิดเป็นโรคประจำถิ่น ตั้งแต่ 1 ตุลาคม 2565

ประเทศไทยอยู่ภายใต้กฎหมายพิเศษภายใต้การนำของ พล.อ. ประยุทธ์ จันทร์โอชา นานถึง 2 ปี 6 เดือน ได้ประกาศสถานการณ์ฉุกเฉินทุกเขตท้องที่ทั่วราชอาณาจักร เพื่อควบคุมและป้องกันโรคโควิด-19 มีผลบังคับใช้มาตั้งแต่ 26 มีนาคม 2563 ซึ่ง ศบค. และครม. มีมติให้ต่ออายุ พ.ร.ก.ฉุกเฉิน รวม 19 ครั้งถึงวันที่ 30 กันยายน 2565

สถานการณ์โควิดไทยดีขึ้น มีการติดเชื้อไปแล้วคาดว่าถึง 70 เปอร์เซ็นต์ของประชากรทั้งหมด ยอดฉีดวัคซีนสะสม (28 กุมภาพันธ์ 2564-24 กันยายน 2565) รวม 143,266,311 โดส ใน 77 จังหวัด เมื่อ 23 กันยายน 2565 ที่ประชุมศูนย์บริหารสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (ศบค.) มีมติให้ยกเลิกการประกาศใช้ พ.ร.ก.ฉุกเฉิน ทั่วประเทศ และยุบ ศบค. และ ประกาศกระทรวงสาธารณสุขยกเลิกโควิด-19 จากการเป็นโรคติดต่ออันตราย และกำหนดให้เป็นโรคติดต่อที่ต้องเฝ้าระวัง ตั้งแต่ 1 ตุลาคม 2565 เป็นต้นไป ถือเป็นจุดเริ่มต้นของการเปิดประเทศแล้ว

มีการเสนอควรหยุดยาทานฟาวิพิราเวียร์ (Favipiravir) รักษาผู้ป่วยโควิด ให้ใช้ยาโมลนูพิราเวียร์ (MoInupiravir) และเริ่มฉีดวัคซีน ”เด็ก 6 เดือนถึง 4 ปี“ เริ่มตั้งแต่ 12 ตุลาคม 2565 สำหรับบุคคลทั่วไปและกลุ่มเสี่ยงยังมีวัคซีนเข็มกระตุ้น ประชาชนทั่วๆ ไปยังคงมีการเฝ้าระวังอยู่ต่อไป โควิดยังไม่หายไปไหน การตรวจ ATK การใส่หน้ากาก วัคซีนโดยเฉพาะเข็มกระตุ้น วัคซีนโควิดเด็ก ยังจำเป็นอยู่ ยังคงรณรงค์รับวัคซีนอยู่ ซึ่งวัคซีนทางเลือกมีตลอด การเข้าถึงวัคซีนเข็มกระตุ้น และยาของชาวบ้านทั่วไปย้งมีปกติ เพื่อลดความเสี่ยง นอกจากนี้สถาบันวิจัยระบบสาธารณสุข (สวรส.) เปิดตัวผลิตภัณฑ์ “สเปรย์พ่นจมูก” (ไม่ใช่วัคซีน) ดักจับและยับยั้งโควิด-19 ทางกายภาพเริ่มใช้ 1 ตุลาคม 2565  

ยังปรากฏข่าวการตายจากโควิดในบ้าน ที่พักอาศัยอยู่ ทั้งในคนวัยแรงงานปกติ หรือในคนกลุ่มเสี่ยง 608 หรือ ผู้ป่วยติดเตียง การระวังข่าวปลอมโควิดที่จะสร้างความปั่นป่วนไม่มั่นใจให้แก่ประชาชน เช่นข่าวปลอมว่า ให้งดจัดเทศกาลปีใหม่ 2566 เพราะพบโควิดสายพันธุ์ใหม่ หรือ มีการปล่อยข่าวยาผีบอก หรือ เสนอโฆษณาเกินจริงสเปรย์ล้างจมูก อ้างฆ่า โควิด-ไข้หวัดใหญ่ ฯลฯ ในส่วนสวัสดิการขวัญกำลังใจของบุคลากรด่านหน้า บุคลากรวิชาชีพทางการแพทย์ ค่าเสี่ยงภัยโควิดยังมีความจำเป็นของรัฐ

6 สาเหตุหลักที่คนติดโควิดเพิ่ม คือ

(1) น่าจะเป็นจากการมีกิจกรรมที่ใกล้ชิดกันมากขึ้น บวกกับการผ่อนคลายการใส่หน้ากาก (2) ยังไม่เห็นว่ามีกลายพันธุ์ไวรัสใหม่ทำให้เกิดการระบาด จากข้อมูลศูนย์โรคอุบัติใหม่ด้านคลินิก (สนับสนุนจาก WHO) BA.5 ยังเป็นสายพันธุ์ที่พบมากที่สุด รองลงมาเป็น BA.4 และมี BA.2.75 ปนมาประมาณ 5% (ข้อมูล จนถึงต้นเดือน พ.ย.) แต่ยังคงต้องติดตามการเปลี่ยนสายพันธุ์ไปอีก (3) คนที่ติดในรอบนี้บางคนเคยติดโควิดมาก่อนในระลอกที่มี ไวรัส delta หรือ omicron BA.2 ระบาด รอบนี้ติดซ้ำ ซึ่งพบคนที่ติดซ้ำรอบนี้ประมาณ 8% คาดว่าจะมีการติดเชื้อซ้ำๆ ได้อีก (4) จับตาการกลายพันธุ์ของ BA.5 เป็น BQ.1 ซึ่งอาจจะลดการตอบสนองต่อ EVUSHELD คาดว่าอีกสักพักอาจจะเห็น BQ.1 เพิ่มขึ้นในประเทศ แต่ขึ้นช้าๆ แนวโน้มอาจจะเห็นการระบาดของไวรัสหลายสายพันธุ์พร้อมกัน แต่อาการมักไม่รุนแรงในคนที่ยังมีภูมิจากวัคซีน (5) จากที่ได้มีโอกาสตรวจระดับภูมิคุ้มกันในงานวิจัย พบว่าคนที่ฉีดวัคซีนเข็มสุดท้ายเกินหกเดือนบางคน ภูมิตกลงอาจจะไม่พอป้องกัน ไวรัสสายพันธุ์ BA.5 ดังนั้นคนสูงอายุที่มีความเสี่ยงโรครุนแรงน่าจะต้องรีบไปกระตุ้น เพื่อป้องกันอาการหนัก โดยเฉพาะก่อนปีใหม่ที่การระบาดมีโอกาสเพิ่มมากขึ้น (6) รอบนี้คนติดที่ไม่ได้มาตรวจอาจจะมีจำนวนมาก เนื่องจากตรวจได้เองที่บ้านกับรักษาตามอาการได้เอง คนที่อาการรุนแรงจะยังไม่มีจำนวนมาก แต่จะค่อยสูงขึ้นช้าๆ มีโอกาสเตียงแน่นในบางโรงพยาบาล

การกลายพันธุ์ของสายพันธุ์ดั้งเดิม “อู่ฮั่น”

ข้อมูลศูนย์จีโนมทางการแพทย์ คณะแพทยศาสตร์โรงพยาบาลรามาธิบดี มหาวิทยาลัยมหิดล (7 ตุลาคม 2565)ว่า การวิวัฒนาการของโควิด-19 ต่างสายพันธุ์ที่มาบรรจบกัน (convergent evolution) เราเริ่มเห็นหลายตำแหน่งของการกลายพันธุ์ของสายพันธุ์ในอดีต “รีไซเคิล” มาใช้ใหม่ในสายพันธุ์ที่เพิ่งอุบัติขึ้นทั้ง 4 สายพันธุ์ BQ.1.1, BA.2.3.20, BA.2.75.2, และ XBB ที่กลายพันธุ์มาจากบรรพบุรุษโอไมครอนที่ต่างกลุ่มกัน มีกลายพันธุ์ต่างไปจากไวรัสดั้งเดิม “อู่ฮั่น” ถึงกว่า 100 ตำแหน่ง คาดว่าจะระบาดเข้ามาแทนที่ BA.5 ในสิ้นปีนี้หรือต้นปี 2566 และพบว่า สายพันธุ์ XBB ดื้อต่อภูมิคุ้มกันกว่าทุกสายพันธุ์

สถานการณ์ปัจจุบันโควิด-19 ไทยเข้าสู่ระลอก 6

องค์การอนามัยโลก (WHO) ได้เปลี่ยนชื่อเรียกไวรัสโควิดกลายพันธุ์ จากเดิมที่เรียกตามชื่อประเทศเป็นอักษรกรีก เพื่อลดการกล่าวโทษประเทศที่พบครั้งแรก สรุปการระบาดโควิดตั้งแต่แรกถึงปัจจุบันได้ 6 ระลอก/ครั้ง คือ ครั้งที่ 1 เป็นสายพันธุ์ S (Serine) หรือ สายพันธุ์อู่ฮั่น ช่วงปี 2563 ระบาดครั้งที่ 2 เป็นสายพันธุ์ GH (Histidine) ปลายปี 2563-ต้นปี 2564 ระบาดครั้งที่ 3 เป็นสายพันธุ์ Alpha ต้นปี 2564 ระบาดครั้งที่ 4 เป็นสายพันธุ์ Delta กลาง-ปลายปี 2564 ระบาดครั้งที่ 5 เป็นสายพันธุ์ Omicron ต้นปี 2565 ระบาดครั้งที่ 6 เป็นสายพันธุ์ Omicron BA.5 กลางปี 2565 (กรกฎาคม-สิงหาคม 2565) เป็นสายพันธุ์ Omicron ที่แพร่เร็ว สถิติการติดเชื้อสูงถึงวันละหมื่นเศษ

ข่าวการระบาดสายพันธุ์ใหม่โควิด (Delta, Omicron, Deltacron) ที่ดื้อหลบเลี่ยงภูมิคุ้มกันสูง ยังมีอยู่ตลอด เช่น สายพันธุ์ BQ.1, XBB, XBC (เดลตาครอน โควิดลูกผสม พบที่ฟิลิปปินส์) เป็นต้น ที่น่าเป็นห่วงคือพบว่า โควิด-19 จากคนไปติดสัตว์ได้

ภาวะลองโควิด (Long COVID)

สถานการณ์โควิดในระยะหลังๆ เช่นในคนที่ติดเชื้อซ้ำ เป็นภาวะที่คนเคยติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 และได้รับการรักษาอย่างถูกวิธีจนหายแล้ว แต่ยังคงมีอาการที่เหมือนขณะที่ติดเชื้อ เรียก “ภาวะลองโควิด” (Long COVID) สหรัฐอเมริกามียอด “ลองโควิด” สูงถึงหนึ่งในสาม ชาวยุโรปอย่างน้อย 17 ล้านคน ส่วนไทยคาดว่ามียอดหลายแสนคน อาการลองโควิดที่พบ ได้แก่ อ่อนเพลียง่าย หายใจลำบาก สมองล้า สูญเสียความสามารถในการเรียนรู้ สับสน หลงลืม เครียด รวมไปถึงหดหู่ซึมเศร้า เป็นต้น ยอดผู้ป่วยโควิดยังพุ่ง ข่าวการระบาดทั่วโลกยังมีอยู่ (พฤศจิกายน 2565) เช่น ยอดโควิดญี่ปุ่นยังเป็นที่กังวล ยังพุ่งสูง จีนมียอดผู้ป่วยโควิดทะลุ 3 หมื่น และนโยบายล็อกดาวน์ซีโร่โควิดทำให้มีการประท้วงรัฐบาลจีนอย่างหนัก

ภาวะ “ลองโควิด” หรือ Post-COVID Syndrome เป็นภาวะที่เกิดจากการเจ็บป่วยจากการติดเชื้อ COVID-19 ซึ่งอาการเหล่านี้อาจจะเกิดตั้งแต่เริ่มเป็น COVID-19 ต่อเนื่องเป็นระยะยาว หรืออาจจะเกิดขึ้นภายหลังที่หายจากอาการทั้งหมดแล้ว อาจมีอาการคล้ายๆ เดิมที่เคยเป็นตอนที่ติดเชื้อโควิด-19 อยู่ หรืออาจจะเป็นอาการใหม่ที่ไม่เคยเป็นตอนที่ติดเชื้อเลยก็ได้ แน่นอนว่าผู้ติดเชื้อที่มีอาการหนักต้องนอนโรงพยาบาลนานๆ อาจมีผลกระทบต่อสุขภาพในระยะยาวมากกว่า แต่อาการ “ลองโควิด” นี้ก็ยังสามารถเกิดได้ในผู้ติดเชื้อที่มีอาการน้อย หรือแทบไม่มีอาการเลยก็ได้ โดยอาการที่เกิดขึ้นนั้นอาจยาวนานได้ถึง 3 เดือนขึ้นไป

ผลกระทบโควิดทำให้คนเกิดภาวะเนือยนิ่ง

ดร.วริศ วงศ์พิพิธ อาจารย์สาขาสุขศึกษาและพลศึกษา คณะครุศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย (28 ตุลาคม 2565) เตือนว่า ทางหลักวิชาการแล้วหมายถึง พฤติกรรมที่เป็นการนั่งเอนหลัง หรือการนอนอยู่บนเตียง ขณะที่ตื่นนอนอยู่ รวมไปถึง ภาวะที่ต้นขาอยู่ขนานกับพื้นขณะที่ตื่นนอน ซึ่งพฤติกรรมต่างๆ เหล่านี้เป็นพฤติกรรมหรือเป็นกิจกรรมที่ ร่างกายมีการใช้พลังงานที่ค่อนข้างต่ำกว่าปกติ คนไทยเป็นกันมาก เป็นผลพวงในช่วงเวลาโควิด 2 ปีที่ผ่านมา คือทำให้ผู้คนทุกช่วงวัยมีการใช้ชีวิตเปลี่ยนไปจากเดิม โดยมีการใช้ชีวิตแบบ “ติดที่ ติดโต๊ะ ติดจอ” ซึ่งทำให้ไม่ได้ขยับเขยื้อนร่างกายเป็นเวลานานๆ จนทำให้เกิดภาวะที่เรียกว่า “เนือยนิ่ง” มากขึ้น คนทำงานออฟฟิศก็เปลี่ยนไปทำงานบ้าน (WFH) ได้ มีพฤติกรรมการทำงานที่เปลี่ยนไป

สถานการณ์เศรษฐกิจไทยช่วงโควิดขาลง

แม้จะเชื่อว่าโควิดขาลง และการเฝ้าระวังยังจำเป็นเพื่อป้องการติดเชื้อเพิ่ม ช่วงนี้ตัวเลขว่างงานต่ำสุด นับแต่โควิดระบาด ถือเป็นปรากฏการณ์ทางเศรษฐกิจไทยที่ดีขึ้น แม้ว่าข้อมูลเงินเฟ้อเดือนสิงหาคมอยู่ที่ 6.8% ในขณะที่ก่อนโควิด-19 (ปี 2562) เงินเฟ้อไม่ถึง 2% ราคาผักเพิ่มขึ้นมากแม้กระทั่งผักทั่วไปอย่างผักกาดหอม และปัญหาไม่อยู่เฉพาะราคาอาหารแต่สร้างผลกระทบเป็นลูกโซ่ เช่น ต้องเพิ่มเงินเดือนพนักงาน

กทม.เริ่มฟื้นจากโควิด ไซต์งานก่อสร้างเปิด-คนกลับมาเดินทาง มีผลต่อนักลงทุน ความเสี่ยงต่อการลงทุน โพล ม.กรุงเทพ (13 กันยายน 2565) เผยคนไทยตั้งใจเป็นเจ้าของธุรกิจหลังโควิด แต่ไม่กล้าเพราะทุนไม่พอ ความเห็นต่อสถานการณ์โควิด-19 คลี่คลายจะทำให้อยากเริ่มต้นธุรกิจใหม่มากน้อยเพียงใด ส่วนใหญ่ร้อยละ 60.5 ทำให้อยากเริ่มต้นธุรกิจใหม่ค่อนข้างมากถึงมากที่สุด ขณะที่ร้อยละ 39.5 ทำให้อยากเริ่มต้นธุรกิจใหม่ค่อนข้างน้อยถึงน้อยที่สุด

ด้านการท่องเที่ยว เอกชนเรียกร้องรัฐขยายต่ออายุมาตรการ “เราเที่ยวด้วยกัน” เพื่อหนุนการท่องเที่ยวให้ฟื้นตัวจากโควิด เชื่อว่า จะเป็นประโยชน์กับธุรกิจโรงแรม และธุรกิจที่เกี่ยวเนื่องอย่างมาก มีการคาดการณ์จำนวนนักท่องเที่ยวจะทะลุ 10 ล้านคน สร้างรายได้มากกว่า 2 แสนล้านบาท เพราะรายได้ GDP หลักของไทยคือ การท่องเที่ยว แต่ช่วงที่ผ่านมาจีนปิดประเทศตามนโยบายซีโร่โควิด ทำให้ไม่มีนักท่องเที่ยวจีน (ประมาณปีละ 11 ล้านคน) หายไปมาก ให้การท่องเที่ยวหลังโควิดกระจายไปเมืองรอง ไทยจัดประชุมรัฐมนตรี SME วิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม “เอเปก” ที่ภูเก็ต (9-10 กันยายน 2565) เร่งฟื้นฟูหลังพิษโควิด เร่งฟื้นฟูผู้ประกอบการเอสเอ็มอีจากผลกระทบโควิด19 ผ่านการเข้าถึงเงินทุน ปรับตัวสู่ดิจิทัลและ BCG Model

ศูนย์วิเคราะห์เศรษฐกิจ ทีทีบี (ttb analytics) ประเมินว่า (12 กันยายน 2565) จำนวนผู้เยี่ยมเยือนชาวไทยที่เดินทางท่องเที่ยวในประเทศในปี 2565 จะอยู่ที่ 188.1 ล้านคน-ครั้ง สร้างรายได้จากการท่องเที่ยวราว 7.2 แสนล้านบาท ในช่วงเวลากว่า 2 ปีที่มีการแพร่ระบาดของโควิด-19 ทำให้เห็นการเปลี่ยนแปลงด้านการเดินทางอย่างต่อเนื่อง โดยเฉพาะในด้านการท่องเที่ยวจะเห็นนักท่องเที่ยวมีความกระตือรือร้นออกเดินทางไปสำรวจจุดหมายปลายทางใหม่ๆ กระจายตัวออกไปยังพื้นที่อื่นๆ อย่างต่อเนื่อง โดยไม่กระจุกตัวอยู่แค่แหล่งท่องเที่ยวชื่อดังเท่านั้น ซึ่งเทรนด์ที่เกิดขึ้นนี้ช่วยให้คนในท้องถิ่นสร้างรายได้เพิ่มจากการเป็นผู้ให้บริการที่พัก และช่วยให้สามารถรับมือกับค่าครองชีพที่สูงขึ้น

APEC โอกาสทองของไทยพลิกฟื้นเศรษฐกิจจากโควิด

โควิดเป็นสาเหตุหลักที่ทำให้เศรษฐกิจทั้งโลกตกต่ำ ข้อมูลเงินเฟ้อ 6.8% ณ เดือนสิงหาคม 2565 ในขณะที่ก่อนโควิด-19 เงินเฟ้อไม่ถึง 2% เริ่มเดินหน้าขับเคลื่อนฟื้นเศรษฐกิจตามปกติ ด้วยหวังว่าเศรษฐกิจไทยซึ่งกำลังฟื้นตัวต่อเนื่อง จะคืนสู่ระดับช่วงก่อนโควิดภายในสิ้นปี 2565-ต้นปีหน้า 2566

การประชุมผู้นำเขตเศรษฐกิจเอเปค (APEC) ครั้งที่ 29 (18-19 พฤศจิกายน 2565) ถือเป็นเวทีโอกาสทองของไทย การส่งออกขยายตัวโต 7.8% คนว่างงานลดลงเหลือ 4.91 แสน นักท่องเที่ยวสามารถเดินทางท่องเที่ยวได้ตามปกติ แต่อย่าลืมการ์ดป้องกันโควิดไว้ก่อน และในขณะเดียวกันมีการดำเนินนโยบายสวัสดิการประชารัฐช่วยเหลือประชาชน ทั้งโครงการคนละครึ่ง และ การลงทะเบียนบัตรสวัสดิการแห่งรัฐ (บัตรคนจน) รวมยอดสูงถึง 21.4 ล้าน

สตง.ยังเป็นห่วงการทุจริต ชำแหละโครงการเงินกู้แก้โควิด  “1 ตำบล 1 มหาวิทยาลัย”

ข่าวจากสำนักข่าวอิศรานี้น่าสนใจ เพราะในรอบปีที่ผ่านมามีการใช้งบประมาณในการควบคุมป้องกันโควิดเป็นจำนวนมาก ในพื้นที่ 3,000 ตำบล ระยะเวลาการดำเนินโครงการตั้งแต่วันที่ 1 มกราคม 2564-31 ธันวาคม 2564 หน่วยงานหลักที่รับผิดชอบ ได้แก่ สำนักงานปลัดกระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (สป.อว.) ใช้งบประมาณเงินกู้ดำเนินงานโครงการ จำนวนทั้งสิ้น 9,373.09 ล้านบาท กำหนดช่วงระยะเวลาการตรวจสอบตั้งแต่วันที่ 13 ธันวาคม 2564-26 สิงหาคม 2565 เพราะผลการตรวจสอบผลสัมฤทธิ์และประสิทธิภาพการดำเนินงาน พบว่า โครงการยังไม่สัมฤทธิผล ยังไม่มีการวัดผลลัพธ์เชิงเศรษฐกิจและสังคมในปีที่ 2 ในข้อมูลจากระบบ Project Based Management: PBM

การดำเนินการกระตุ้นเศรษฐกิจ แต่รัฐยังห่วงเช็กบิลการทุจริตจากกระบวนการจัดซื้อจัดจ้างโครงการต่างๆ โดยเฉพาะการตรวจสอบท้องถิ่น อปท. นี่คือผลงานการดำเนินการของรัฐในช่วง “โควิดขาลง” หวังว่าหน่วยตรวจสอบทั้งหลายคงได้ผลงานจาก อปท.ไปเป็นรางวัล เพราะ อปท.มีมากถึง 7 พันแห่งต้องเจอข้อผิดพลาดบกพร่องแน่นอน