สัปดาห์พระเครื่อง / อ.ราม  วัชรประดิษฐ์

พระครูอรรถธรรมรส หรือ "พ่อท่านซัง สุวัณโณ" วัดวัวหลุง จังหวัดนครศรีธรรมราช นามเดิมชื่อซัง เป็นบุตร คนสุดท้ายของขุนวิน ศักดาวุธ (บุศจันทร์ ศักดาวุธ) มารดาชื่อนางส้ม ศักดาวุธ เกิดเมื่อวันอังคาร ขึ้น 15 ค่ำ ปีกุน ตรงกับวันที่ 6 มกราคม พ.ศ. 2394 ณ บ้านพัง หมู่ที่ 2 ต.ควนพัง อ.ร่อนพิบูลย์  จ.นครศรีธรรมราช  เมื่อท่านอายุได้ 11 ปี ได้ไปศึกษาเล่าเรียนในสำนักท่าน อาจารย์นาค เจ้าอาวาส วัดพัง ต่อมาย้ายไปศึกษาในสำนักของท่าน อุปัชฌาย์รักษ์ วัดปัง ต.ควรชุม อ.ร่อนพิบูลย์  ท่านเรียนวิชาเลข และคัดลายมือ ขณะที่หลวงพ่อซัง ท่านศึกษาอยู่ท่านเป็นคนฉลาดความจำดี มีความขยันอดทนเป็นเลิศ อุปัชฌาย์รักษ์ เห็นแววและอนาคตจะไปไกลเลย จึงบวชเณรให้เมื่ออายุ 16 ปี หลังจากบวชเณรแล้วท่านก็ได้ศึกษาธรรมวินัยและวิปัสสนาธุระเพิ่มขึ้น พอเป็นแนวทางปฏิบัติท่านอยู่ต่อมาจนครบปี เผอิญข้าราชการชั้นผู้ใหญ่ของจังหวัดตรัง เดินทางไปนมัสการพระอุปัชฌาย์รักษ์ พบสามเณรน้อยผู้มีสติปัญญาไหวพริบดี จึงขอตัวไปให้รับราชการในตำแหน่งเสมียนตรา อยู่ที่อำเภอห้วยยอด จังหวัดตรัง ท่านรับใช้ประเทศชาติในตำแหน่งเสมียนตรา อยู่ 3 ปี จึงลาออกจากราชการเมื่ออายุ 20 ปี

พ่อท่านซัง สุวัณโณ วัดวัวหลุง จังหวัดนครศรีธรรมราช

พ่อท่านซัง อุปสมบท เมื่อเดือน 8 ขึ้น 13 ค่ำ วันพุธ พ.ศ. 2414 อุปสมบทที่วัดปัง โดยมี อุปัชฌาย์รักษ์ เป็นพระอุปัชฌาย์ ท่านอาจารย์นาค เจ้าอาวาสวัดพัง เป็นพระกรรมวาจาจารย์ ท่านอาจารย์ทองดี วัดพัง เป็นพระอนุสาวนาจารย์ ได้รับฉายาว่า “สุวัณโณ” เมื่ออุปสมบทแล้วหลวงพ่อซัง ท่านไปศึกษาอยู่ในสำนัก อาจารย์นาค วัดพัง ศึกษาเพิ่มเติมทางด้านคาถาอาคมอยู่หนึ่งพรรษา  พ่อท่านซัง จึงกราบลาอาจารย์นาค ไปอยู่กับท่านอาจารย์โฉม เจ้าอาวาสวัดวัวหลุง เพื่อศึกษาคันถธุระและอบรมวิปัสสนาธุระ กับอาจารย์ชู อาจารย์สด วัดวัวหลุง ทำให้ท่านมีอาจารย์ที่เก่งกล้าทางด้านวิปัสสนา ไสยศาสตร์และพุทธศาสตร์ทีเดียวพร้อมกันถึงสามองค์

เมื่อตำแหน่งสมภารวัดวัวหลุงว่างลง พ่อท่านซังจึงได้รับแต่งตั้งให้เป็นสมภารสืบแทน ต่อมาเมื่อ พระศรีธรรมมุณี (พระรัตนธัชมุณี) เจ้าอาวาสวัดท่าโพธิ์ นครศรีธรรมราช ได้รับตำแหน่งเป็นเจ้าคณะมณฑลนครศรีธรรมราช  เห็นว่าพ่อท่านซัง วัดวัวหลุง เป็นผู้มีความสามารถในการบริหารหมู่คณะสงฆ์ดี ปฏิบัติน่าเลื่อมใส จึงให้ประทานตราตั้งเป็นพระครู เจ้าคณะแขวง ให้เป็นผู้ปกครองวัด ในอำเภอร่อนพิบูลย์ทั่วทุกวัด จนได้รับพระราชทานสมณศักด์เป็น “พระครูอรรถธรรมรส”

หลวงพ่อซัง บริหารคณะสงฆ์สืบต่อมาจนเจริญรุ่งเรื่อง โดยบูรณะถาวรวัตถุต่างๆเช่น โบสถ์ วิหาร ศาลาการเปรียญ หลายแห่ง ในอำเภอร่อนพิบูลย์ ประชาชนพากันมาหาสู่ท่าน เพื่อขอพรจากท่าน ให้ท่านรดน้ำมนต์ ขอลูกอมชานหมาก และของที่ท่านแจกให้เป็นของที่ห่วงแหนกันมาก หลวงพ่อซัง ชราภาพมากจนไม่สามารถปฏิบัติงานได้โดยสะดวก และท่านเริ่มอาพาธด้วยโรคชรามาตั้งแต่ต้นปี ต่อมาโรคได้กำเริบหนัก จนถึงวันที่ 26 มีนาคม 2478 ท่านมรณภาพลงด้วยอาการสงบ สิริรวมอายุได้ 84 ปี     

     

"เหรียญพ่อท่านซังรุ่นแรก" สร้างขึ้นเมื่อปี 2480 ซึ่งเหรียญได้สร้างหลังจากที่พ่อท่านซังมรณภาพไปแล้ว 2 ปี บรรดาลูกศิษย์ที่นับถือในตัวของท่านต้องการเหรียญรูปเหมือนไว้เป็นที่ระลึก คณะกรรมการจึงได้ประชุมกันและนิมนต์ให้ "พระครูธรรมธร" วัดโพธิ์ท่าเตียน กรุงเทพมหานคร เป็นประธานฝ่ายสงฆ์ ซึ่งท่านเป็นศิษย์ที่พ่อท่านซังบวชเณรให้ พร้อมทั้งสนับสนุนให้ได้เรียน ส่วนฝ่ายคฤหัสถ์มอบหมายให้ "ท่านขุน" นายอำเภอร่อนพิบูลย์เป็นประธาน โดยตกลงพร้อมใจกันจัดสร้างเหรียญขึ้นจำนวนหนึ่ง เพื่อแจกในงานพระราชทานเพลิงศพ เมื่อปี 2480 พระครูธรรมธร ได้รับภาระในการหาช่างแกะบล็อกตามรูปถ่ายพร้อมทั้งออกแบบยันต์ด้านหลังเหรียญ เป็นยันต์ที่พ่อท่านซังใช้เขียนผ้ายันต์ลงตะกรุดพิสมร และที่ใช้ทำน้ำมนต์เป็นประจำ ยันต์และพระคาถาสี่ตัวด้านหลังเหรียญนั้นถอดมาจากพระธรรมในพระไตรปิฎก สามารถนำมาใช้ได้ตามปรารถนาพ่อท่านซัง หลังจากที่ช่างได้ปั๊มเหรียญเสร็จเป็นที่เรียบร้อยแล้ว เมื่อถึงอุดมฤกษ์มงคลมิ่ง พระครูธรรมธรได้จัดพิธีพุทธาภิเษก "เหรียญพ่อท่านซัง" ภายในอุโบสถวัดโพธิ์ท่าเตียน กรุงเทพมหานคร นิมนต์พระเถระและพระเกจิ ที่มีชื่อเสียงเมื่อปี 2480 มาร่วมในพิธีปลุกเสก พร้อมทั้งอัญเชิญดวงวิญญาณหลวงพ่อซังมาประทับร่วมในพิธีด้วย โดยได้จัดเตรียมอาสนะไว้ให้ท่านด้วย

เมื่อเสร็จพิธีเรียบร้อย พระครูธรรมธรได้นำเหรียญกลับมายังวัดเทพนิมิต (วัวหลุง) และได้ประกอบพิธีพุทธาภิเษกอีกครั้ง โดยครั้งนี้ได้นิมนต์ "พระครูกาชาด" วัดใหญ่ชัยมงคล ซึ่งเป็นสหธรรมมิกของท่าน ไปมาหาสู่แลกเปลี่ยนความรู้กันเสมอ พร้อมทั้งพระครูกาแก้ว วัดหน้าพระบรมธาตุฯ และพระเถรานุเถระชื่อดังในขณะนั้นร่วมพิธีพุทธาภิเษก อย่างพร้อมเพรียงและยิ่งใหญ่ เมื่อถึงวันพระราชทานเพลิงศพพ่อท่านซัง คณะกรรมการวัดได้นำรูปเหรียญมาแจก เป็นที่ระลึกแก่ผู้เข้าร่วมพิธีในวันนั้น ปรากฏว่าประชาชนต่างแย่งชิงเหรียญกันจนหมด และไม่พอแจกจ่าย

"เหรียญพ่อท่านซังรุ่นแรก" เกิดประสบการณ์และอภินิหารมากมาย ทั้งแคล้วคลาด คงกระพันชาตรี และมหาอุด จึงเป็นที่หวงแหน ได้ชื่อว่าเป็นเหรียญแจกงานศพ หรือที่เรียกว่า "เหรียญตาย" เนื่องจากสร้างหลังจากที่ท่านมรณภาพไปแล้วในวงการมักจะเรียกว่าเป็นเหรียญตาย ซึ่งถือได้ว่าเป็นเหรียญตายที่มีราคาค่านิยมเล่นหากันแพงที่สุดก็ว่าได้ครับผม