วันที่ 2 ธันวาคม 2565  รัฐบาลไทยและผู้ให้บริการอินเทอร์เน็ตผนึกกำลังก่อตั้งภาคีความร่วมมือระหว่างภาครัฐและภาคเอกชน เพื่อต้านภัยจากการแสวงประโยชน์และล่วงละเมิดทางเพศเด็กผ่านช่องทางออนไลน์ที่กำลังพุ่งสูงขึ้น และเพื่อสร้างสภาพแวดล้อมดิจิทัลที่ปลอดภัยสำหรับเด็กและเยาวชน และเสริมพลังให้เด็กสามารถท่องโลกออนไลน์ได้อย่างปลอดภัยและมั่นใจ

ผู้บริหารระดับสูงและผู้เชี่ยวชาญกว่า 40 คนจากหน่วยงานภาครัฐด้านการคุ้มครองเด็ก สาธารณสุข การศึกษา การบังคับใช้กฎหมาย และเทคโนโลยีโทรคมนาคม รวมทั้งตัวแทนจากภาคเอกชนและบริษัทผู้ให้บริการอินเทอร์เน็ตเข้าร่วมการประชุมผู้บริหารระดับสูงในกรุงเทพเมื่อวันที่ 29 พฤศจิกายนที่ผ่านมา โดยที่ประชุมมีมติรับเอากรอบแนวคิดความร่วมมือแบบองค์รวมเพื่อแก้ไขปัญหาภัยคุกคามออนไลน์ต่อเด็กและวัยรุ่นที่พุ่งสูงขึ้นอย่างน่าเป็นห่วง โดยเฉพาะอย่างยิ่งในช่วงการแพร่ระบาดของโรคโควิด-19

นางคยองซอน คิม ผอ. องค์การยูนิเซฟ ประเทศไทย - นายจุติ ไกรฤกษ์ รมว.พม.

ภายใต้การนำของกระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ และการสนับสนุนโดยยูนิเซฟ ที่ประชุมฯมีมติจัดตั้งภาคีเครือข่าย Thailand Safe Internet Coalition ซึ่งเป็นนวัตกรรมความร่วมมือระหว่างภาครัฐและภาคเอกชน โดยมีบริษัทโทรคมนาคมชั้นนำของประเทศ ได้แก่ เอไอเอส ดีแทคและทรู แสดงความพร้อมที่จะทำงานร่วมกับภาครัฐ เอกชน และภาคประชาสังคมเพอร่วมสร้างพื้นที่ดิจิทัลที่ปลอดภัยสำหรับเด็กและเยาวชน

 

ภาคี Thailand Safe Internet Coalition เกิดจากแนวคิดการทำงานแบบบูรณาการและการคำนึงถึงสิทธิเด็กเป็นที่ตั้ง โดยมีวัตถุประสงค์มเพื่อยกระดับการคุ้มครองเด็กในโลกออนไลน์ในด้านต่าง ๆ เช่น พัฒนาระบบการแจ้งเหตุการล่วงละเมิดออนไลน์ ส่งเสริมความร่วมมือระหว่างภาคส่วนต่างๆ รวมถึงผู้ให้บริการไอซีทีและภาคเอกชน  ปรับปรุงระบบการให้บริการช่วยเหลือผู้เสียหาย หนุนเสริมเพื่อให้เด็ก เยาวชนและผู้ปกครองมีศักยภาพในการรับมือภัยคุมคามและความเสี่ยงออนไลน์ที่เด็กต้องเผชิญ  โดย ภาคี Thailand Safe Internet Coalition ประกอบด้วยหลักการสำคัญ 5 ประการ ได้แก่ ประสบการณ์ที่ปลอดภัยบนโลกดิจิทัล การมีส่วนร่วมของเด็กและเยาวชน บริการที่เข้าถึงได้และตอบสนองความต้องการของเด็ก ความร่วมมือและการสื่อสารที่สอดคล้องไปในทางเดียวกัน และการมีส่วนร่วมของภาคเอกชน

“ในขณะที่อินเทอร์เน็ตหยิบยื่นโอกาสการเรียนรู้ การสื่อสาร และความคิดสร้างสรรค์ที่ไร้ขีดจำกัดให้กับเด็กและเยาวชน แต่มันนำมาซึ่งความเสี่ยงและภัยคุกคามที่เด็กอาจต้องประสบ” นางคยองซอน คิม ผู้อำนวยการองค์การยูนิเซฟ ประเทศไทย กล่าวในงาน “การแพร่ระบาดของโควิดยิ่งทำให้ความเสี่ยงบนโลกออนไลน์เหล่านี้เลวร้ายลง เพราะเด็ก ๆ ต้องใช้เวลาออนไลน์มากขึ้นเรื่อย ๆ อย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ เพราะอินเทอร์เน็ตเป็นพื้นที่ไร้พรมแดนจึงไม่มีหน่วยงานหรือองค์กรแห่งใดแห่งหนึ่งจะสามารถรับมือกับภัยคุกคามออนไลน์ได้เพียงลำพัง ยูนิเซฟจึงให้การสนับสนุนการร่วมมือระหว่างภาครัฐและเอกชนที่ไม่เพียงจะร่วมกันสร้างสภาพแวดล้อมดิจิทัลที่ปลอดภัยสำหรับเด็ก แต่ยังสนับสนุนสิทธิเด็กบนโลกออนไลน์อีกด้วย”

“วันนี้ถือเป็นโอกาสที่ดีเมื่อภาคี Thailand Safe Internet Coalition ได้ก่อตั้งขึ้น” นายจุติ ไกรฤกษ์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ กล่าว “ถือเป็นจุดเริ่มต้นของความร่วมมือจากภาครัฐและเอกชนที่จะร่วมสร้างพื้นที่บนโลกอินเทอร์เน็ตที่ปลอดภัยยิ่งขึ้นสำหรับเด็ก ๆ ทุกคนในประเทศไทย และเราจะก้าวต่อไปข้างหน้าได้หากทุกฝ่ายมุ่งมั่นและร่วมลงมือทำทันที ผมขอให้การหารือครั้งนี้เป็นจุดเริ่มต้นของความร่วมมือต่อเนื่องไปในอนาคต”

รายงานผลการศึกษาวิจัยโครงการ Disrupting Harm in Thailand ที่จัดทำขึ้นโดยองค์การเอ็คแพท องค์การตำรวจสากล (หรืออินเตอร์โพล) และองค์การยูนิเซฟ พบตัวเลขที่น่ากังวลว่ามีเด็กอายุ 12-17 ปีในประเทศไทยร้อยละ 9 หรือประมาณ 400,000 คน ตกเป็นเหยื่อการถูกแสวงหาประโยชน์ทางเพศและล่วงละเมิดทางเพศผ่านทางออนไลน์ในช่วงปี 2564 ที่ผ่านมา โดยเหตุการณ์เหล่านี้รวมถึงการเผยแพร่ภาพที่ส่อไปในทางเพศของเด็ก การถูกแบล็กเมล การถูกบังคับให้มีส่วนร่วมในกิจกรรมทางเพศเพื่อแลกกับเงินหรือสิ่งของ

ยูนิเซฟช่วยปกป้องเด็กและเยาวชนในโลกดิจิทัลในประเทศผ่านการส่งเสริมการปฏิรูปกฎหมายและทำงานร่วมกับพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ กระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ กระทรวงยุติธรรม กระทรวงศึกษาธิการ และหน่วยงานด้านการบังคับใช้กฎหมาย เพื่อให้มั่นใจว่าระบบการคุ้มครองเด็กจะครอบคลุมทุกด้านความปลอดภัยออนไลน์ รายงานDisrupting Harm in Thailand เผยให้เห็นหลักฐานสำคัญและขั้นตอนอันเป็นแนวทางให้ทุกภาคส่วน ไม่ว่าจะเป็นรัฐบาล หน่วยงานบังคับใช้กฎหมาย การบริการทางสังคม ภาคธุรกิจ โรงเรียน และชุมชนต้องร่วมกันลงมือทำในทันที

 

หน่วยงานและองค์กรต่าง ๆ ที่เข้าร่วมการประชุมผู้บริหารระดับสูง ได้แก่ กระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ กระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม สำนักงานคณะกรรมการดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ กระทรวงกลาโหม กระทรวงยุติธรรม กระทรวงสาธารณสุข สำนักงานคณะกรรมการการรักษาความมั่นคงปลอดภัยไซเบอร์แห่งชาติ กองทุนพัฒนาสื่อปลอดภัยและสร้างสรรค์ สำนักงานคณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ ทรู คอร์ปอเรชั่น ดีแทค และ เอไอเอส