ปากกาขนนก / สกุล บุณยทัต
“วิถีแห่งแมวในความเป็นสัตว์โลกนั้น ยิ่งใหญ่ในความเป็นที่รักมายาวนาน เป็นความอัศจรรย์แห่งความผูกพันที่อยู่เหนือความเข้าใจใดๆ บางครั้งมันดูลึกลับ แต่หลายๆขณะกลับเป็นความเฉยเมย แต่กับภาพรวมแห่งข้อสรุประหว่างชีวิตต่อชีวิต ทั้งหมดคือการโอบประคองของความรัก คือมิตรไมตรีอันลึกซึ้งที่สัมผัสและรู้สึกได้ระหว่างกัน...มันคือสถานภาพแห่งจิตใจที่แฝงฝังไว้ด้วยจริตวิถีอันยากยิ่งต่อการตีความ”
“ปรัชญาแมว ปัญญาเหมียว:แมวและความหมายของชีวิต”(Feline Philosophy:Cats and Meaning of Life)...คือหนังสือแห่งความหมายของสัมพันธภาพ ที่หยั่งลึกถึงจิตวิญญาณของการสื่อสารสัมพันธ์ ที่ยากแก่การตีความ เหมือนจะเข้าใจ แต่ก็เต็มไปด้วย ความซับซ้อนของแก่นสารอันไม่รู้จบ ทั้งหมดในสิ่งทั้งหมดล้วนเป็นรหัสนัยของโลกแห่งชีวิตที่ต้องขบคิดและขับขานออกมาเพื่อแสวงหาคำตอบอันจริงแท้....
“แมวมีความสุขที่ได้เป็นตัวเอง ขณะที่มนุษย์พยายามมีความสุขด้วยการหนีจากสิ่งที่ตัวเองเป็น”
นั่นคือข้อเปรียบเทียบที่ชวนใคร่ครวญยิ่ง...เพราะในขณะที่มนุษย์เฝ้าเสาะหาความหมายจนพร้อมจะสูญเสียความเป็นมนุษย์ แมวกลับไม่เคยหยุดความเป็นแมว และที่สุดแล้ว...คำตอบที่มนุษย์ผู้ทุกข์ทนขบคิดมาเนิ่นนาน อาจซุกซ่อนอยู่ในอุ้งเท้าของนักปราชญ์ ที่คลอเคลียเราในทุกค่ำเช้านี่เอง..
“ในอดีต สัญชาตญาณเรา ไม่ได้แบ่งแยกคนกับสัตว์ออกจากกันชัดเจนดั่งเช่นที่เรารู้สึกกันในทุกวันนี้ ทั้งยังไม่พบว่ามีการจัดกลุ่มของสัตว์อีกด้วย....พูดอีกอย่างก็คือ”สิ่งมีชีวิต”นั้น...หมายรวมถึงพระเจ้า ผู้คน และสัตว์”
ตำราเกี่ยวกับเทพเจ้าจากรัชสมัยฟาโรห์ซาบาโก(Shabago:716-702ปีก่อนคริสตกาล)ระบุว่า...เทวะทุกองค์ มนุษย์ทุกคน วัวควายทุกตัว หนอนทุกตัว และ ชีวิตทุกชีวิต...เป็นผลงานของพระผู้สร้าง สัตว์ก็เป็นเช่นเดียวกับมนุษย์ พวกมันต่างบูชาพระเจ้าในแบบของพวกมันเอง และได้รับการดูแลจากพระองค์/ ในกรณีพิเศษ....สายสัมพันธ์ของสัตว์กับพระผู้เป็นเจ้ายังอาจใกล้ชิดยิ่งกว่ามนุษย์
ข้อวินิจฉัยของอดีตข้างต้น แม้จะดูเป็นมายาคติ...แต่ก็น่าศึกษารับรู้ในเชิงเปรียบเทียบ...มายาคติของอียิปต์ดั้งเดิมนั้น เป็นสังคมที่คิดและเชื่อในเรื่องไสยศาสตร์ ผู้คนของอดีตกาลไม่อาจแยกแยะความเชื่อในเรื่องไสยศาสตร์ ไม่อาจแยกแยะความเชื่อของตัวเองออกจากโลกธรรมชาติ พวกเขาจึงไม่ได้แบ่งแยกชีวิตกับความตายหรือเทพเจ้ากับผู้ปกครองออกจากกันอย่างชัดเจน ทว่าการคิดแบบนี้ก็คือ การทำความเข้าใจมนุษย์ยุคโบราณด้วยกรอบคิดและความเชื่อของพวกเราปัจจุบัน...ชาวอียิปต์ถือคติความเชื่อแบบวิญญาณนิยม โดยมองว่า โลกใบนี้เต็มไปด้วยวิญญาณ ส่วนมนุษย์ไม่ได้สูงส่งเหนือสัตว์อื่น ระเบียบของสรรพสิ่งที่ไม่ได้แบ่งแยกออกจากกันเป็นสองประเภท คือวัตถุ ที่ไร้ความรู้สึก กับจิตวิญญาณที่จับต้องไม่ได้...ทว่าจิตวิญญาณของสัตว์และมนุษย์ต่างอยู่ในระเบียบเดียวกัน ชุดความคิดดูเหมือนจะชัดเจนจนไม่ต้องการคำอธิบาย และเป็นความคิดพื้นฐานที่สุดของพวกเราหลายอย่าง ไม่ปรากฏเลยในยุคสมัยนั้น
ปรัชญาทั้งหลายในสองสามศตวรรษที่ผ่านมาอธิบายว่า ...อารยธรรมของมนุษย์รุดหน้าอย่างเกรียงไกร จนนำมาสู่มนุษย์เช่นทุกวันนี้ แนวคิดโบร่ำโบราณถูกแทนที่ด้วยแนวคิดสมัยใหม่ ตำนานและพิธีกรรมจำต้องหลีกทางให้คำอธิบายทางวิทยาศาสตร์ และ การใช้เหตุผลในเชิงปฏิบัติ ความเชื่อใดๆ ที่บอกว่า...แมวเป็นสัตว์วิเศษ ย่อมต้องเป็นความคิดจากยุคบรรพกาลแน่นอน
“ในขณะที่มนุษย์เฝ้าเสาะหาความหมายจนพร้อมจะสูญเสียความเป็นมนุษย์ แมวกลับไม่เคยหยุดความเป็นแมว และที่สุดแล้ว...คำตอบที่มนุษย์ผู้ทุกข์ทนขบคิดมาเนิ่นนาน อาจซุกซ่อน อยู่ในอุ้งเท้าของนักปราชญ์ ที่คลอเคลียเราทุกค่ำเช้านี่เอง”
จริงๆแล้ว..แมวเป็นสัตว์แปลกหน้าในโลกของมนุษย์ เพราะพวกมันมีเสรีภาพ และ ความสุขในแบบที่มนุษย์ไม่เคยรู้จัก แมวถูกมองว่าเป็น “สิ่งมีชีวิตที่ไม่เป็นธรรมชาติ” ก็เพราะพวกมันใช้ชีวิตตามธรรมชาติของตัวเอง เมื่อมนุษย์ไม่อาจมีขีวิตเช่นนั้นได้ แมวจึงถูกมองว่าเป็นปีศาจ หรือไม่ก็พระเจ้า..
ส่วนในความเป็นมนุษย์ ...มนุษย์เชื่อว่า ...ตนรู้จักความตายดีกว่าสัตว์ชนิดใด เพราะคิดว่าตนใคร่ครวญถึงจุดจบของชีวิตได้ แต่สิ่งที่มนุษย์รู้เกี่ยวกับความตาย ที่กำลังมาถึง เป็นเพียงมโนภาพอันเกิดจากสำนึกถึงเวลาที่กำลังล่วงเลยไป แมวรับรู้ชีวิตของพวกมันตามที่ใช้ชีวิตไปในแต่ละวัน พวกมันจึงเป็นสิ่งอมตะที่มีชีวิต(mortal immortal) ซึ่งจะคิดถึงความตายก็ต่อเมื่อใกล้ถึงวาระสุดท้ายแล้วเท่านั้น..เหตุนี้จึงเข้าใจได้ไม่ยากเลยว่า..เหตุใดแมวจึงกลายเป็นที่สักการบูชา...
อย่างไรก็ดี...หากว่าแมวย้อนกลับไปทบทวนชีวิตของพวกมันได้...พวกมันจะแอบคิดบ้างไหมว่า “ไม่น่าเกิดมาเลย”ตั้งแต่แรก พวกแมวโอบรับชีวิตเสมือนเป็นของขวัญ...และหากแมวเข้าใจการแสวงหาความหมายของชีวิตแบบมนุษย์ พวกมันคงร้องครางออกมาด้วยความสุขใจ ว่า... “ทำไมช่างไร้สาระกันนักนะ” ชีวิตแบบแมวๆ อย่างที่พวกแมวมีก็เปี่ยมความหมายเพียงพอแล้วสำหรับพวกมัน ในทางกลับกัน มนุษย์ไม่อาจหยุดค้นหาความหมายที่มากไปกว่าชีวิตของตัวเอง...
“การตามหาความหมายของชีวิต เกิดขึ้นพร้อมการตระหนักถึงความตาย อันเป็นผลพวงของการสำนึกรู้ตัวของมนุษย์ ด้วยความกลัวว่าชีวิตกำลังจะสิ้นสุดลง มนุษย์จึงสร้างศาสนาและปรัชญาขึ้นมาเพื่อให้ความหมายของชีวิตดำเนินต่อไป แม้หลังหมดลมหายใจ แต่เพราะความหมายที่มนุษย์สร้างขึ้นแสนเปราะบาง พวกเขาจึงต้องใช้ชีวิตด้วยความหวาดกลัวมากกว่าเก่า อีกทั้งเมื่อเรื่องราวที่พวกเขาปั้นแต่งขึ้นให้กับตัวเองกลับมาครอบงำชีวิต มนุษย์จึงต้องเพียรพยายามเป็นคนตามรูปแบบที่พวกเขาสร้างขึ้นเองอยู่เรื่อยไป ชีวิตของมนุษย์ไม่ได้เป็นของมนุษย์เอง แต่กลับเป็นของรูปลักษณ์ที่มนุษย์เสกสร้างขึ้นด้วยจินตนาการ”...
ผลพวงประการหนึ่งของการใช้ชีวิตในลักษณะนี้ก็คือมนุษย์ได้แต่หมกมุ่นอยู่กับช่วงเวลาที่เรื่องราวที่พวกเขาปั้นแต่งไว้ถูกขัดจังหวะลง พวกเขาอาจสูญเสียคนที่ตนรัก ชีวิตตกอยู่ในอันตราย ....มนุษย์ผู้เปลี่ยนชีวิตของตนเองให้กลายเป็นโศกนาฏกรรม ต้องรับมือกับประสบการณ์การสูญเสียที่ไม่อาจเยียวยา แต่วิธีการเช่นนี้ มีราคาที่ต้องจ่าย แม้การมองชีวิตเป็นโศกนาฏกรรมอาจสร้างคุณค่าความหมายให้ชีวิต แต่มันก็ทำให้จมปลักอยู่กับความทุกข์ด้วย...ซึ่งผิดกับแมว...แม้ว่าจะประสบกับความทุกข์แสนสาหัส และมีชีวิตที่แสนสั้น...แต่แมวส่วนใหญ่ก็รู้จักความเจ็บปวดและชีวิตของมันก็หาใช่โศกนาฏกรรมไม่ ....
“พวกมันหาญกล้าใช้ชีวิตอย่างมีความสุข แม้จะต้องเจ็บปวด ....มนุษย์ใช้ชีวิตเช่นนี้ได้หรือไม่ หรือเราจะบอบบางเกินไปสำหรับการใช้ชีวิตเหมือนพวกแมว”
กล่าวโดยสรุป...แมวไม่ได้สนใจจะสั่งสอนว่า มนุษย์ควรใช้ชีวิตอย่างไร...และถึงมันจะสนใจ พวกมันก็คงไม่ทำด้วยการออกบทบัญญัติ แต่เราก็พอจะจินตนาการได้ว่า พวกแมวจะแย้มเคล็ดลับการใช้ชีวิตให้กระอักกระอ่วนน้อยลง แน่นอนว่า แมวไม่ได้คาดหวังให้เราทำตามคำแนะนำของพวกมัน ทั้งๆที่แมวจะให้คำแนะนำอย่างมีลูกล่อลูกชน เป็นความบันเทิงอย่างหนึ่งสำหรับตัวพวกมันเองและเหล่ามนุษย์...อย่างเช่น...
“อย่าพยายามโน้มน้าวให้มนุษย์ใช้เหตุผล” เพราะการพยายามโน้มน้าวให้มนุษย์ใช้เหตุผลก็เหมือนกับการพยายามบอกให้แมวเลิกกินเนื้อสัตว์...มนุษย์ใช้เหตุผลเพื่อสนับสนุนอะไรที่ตนเองต้องการจะเชื่อ แต่มันน้อยครั้งนักที่พวกเขาจะใช้เหตุผล
“การบ่นว่าตัวเองมีเวลาไม่มากพอ เป็นเรื่องไม่ฉลาดเอาเสียเลย”...หากคิดว่าตัวเองมีเวลาไม่มากพอ แปลว่า คุณไม่รู้ว่าควรใช้เวลาอย่างไร จงทำในสิ่งที่ควรแก่การใช้เวลา ทำสิ่งที่คุณรู้สึกสนุก โดยไม่หวังประโยชน์อื่นใด แล้วคุณจะมีเวลาเหลือเฟือ
“อย่ามองหาความหมายในความทุกข์ของตัวเอง.”..เมื่อไม่มีความสุข คุณอาจใช้ความทุกข์เป็นเครื่องปลอบประโลมใจ แต่ก็ควรระวังไว้ เพราะคุณอาจกำลังให้ความทุกข์นั้นกลายเป็นความหมายของชีวิต ...จงอย่ายึดติดกับความทุกข์ทรมาน และจงหลีกเลี่ยงผู้ที่ทำเช่นนั้น
“รู้สึกเฉยๆบ้างก็ได้ อย่ารักใครเพราะรู้สึกว่าต้องรัก..”.แทบไม่มีอุดมคติใด ที่เป็นอันตรายยิ่งกว่า แนวคิดเรื่องความรักอันเป็นสากล ฝึกตัวเองให้รู้สึกเฉยๆบ้างก็ดี เพราะความรู้สึกนั้นอาจเติบโตไปเป็นความเอื้ออารีได้
“คุณอาจพบความสุขได้ หากลืมไปว่ากำลังตามหาความสุข.”..คุณไม่อาจมีความสุข ถ้ามัวแต่ไขว่คว้าหาความสุข เพราะคุณไม่มีทางรู้ว่าสิ่งใดจะทำให้คุณสุขใจ จงทำในสิ่งที่คุณสนใจอยากจะทำ แล้วคุณจะมีความสุข จากการไม่รู้ว่าความสุขคืออะไร
“ชีวิตไม่ใช่เรื่องเล่า”...ถ้าคิดว่าชีวิตของตัวเองเป็นเรื่องเล่า คุณก็มักจะอยากเขียนเติมแต่งมันไปจนกว่าชีวิตจะหาไม่...แท้จริงแล้ว ชีวิตที่ไม่ได้ลิขิตไว้ ควรค่าแก่การใช้มากกว่าชีวิตที่ปั้นแต่งขึ้นมามากมายนัก..
“จงอย่ากลัวความมืด เพราะคุณมักพบสิ่งล้ำค่าในยามที่ท้องฟ้าอับแสง”..การทำตามความรู้สึก ณ ขณะนั้น อาจไม่ต่างจากการฟังปรัชญาล้าสมัย...แล้ว...เชื่อโดยไม่ทันได้ยั้งคิด แต่บางครั้งการทำตามความเฉลียวใจที่ส่องประกายในเงามืดก็อาจเป็นเรื่องดีได้เช่นกัน...คุณไม่รู้หรอกว่าจะพบเจออะไรในนั้นบ้าง
“จงนอนเพราะมีความสุขที่จะนอน” การนอนเพื่อจะได้มีแรงทำงานหนักกว่าเดิมในวันรุ่งขึ้น เป็นวิถีชีวิตที่น่าเวทนา จงนอนเพื่อให้หัวใจกระชุ่มกระชวย ไม่ใช่เพื่อผลประโยชน์ใด
“จงระวังผู้ที่บอกว่าจะคืนความสุขให้คุณ”...คนที่บอกว่าจะทำให้คุณมีความสุขกล่าวเช่นนั้น ก็เพราะว่า พวกเขาจะได้เป็นทุกข์น้อยลงบ้าง ความทุกข์ของคุณจำเป็นสำหรับคนเหล่านั้น เพราะหากคุณไม่ทุกข์ ความหมายของชีวิตพวกเขาจะลดลง จงอย่าไว้ใจผู้ที่บอกว่าตนใช้ชีวิตเพื่อผู้อื่น
“ถ้าการใช้ชีวิตแบบแมวๆ มันยากนัก กลับไปใช้ชีวิตแบบมนุษย์ ที่อาศัยการเบี่ยงเบนก็ไม่ใช่เรื่องเสียหาย”...เพราะการใช้ชีวิตแบบแมวๆ หมายถึงการไม่ปรารถนาสิ่งใด นอกเหนือไปจากชีวิตที่คุณมี นั่นหมายถึงการใช้ชีวิตโดยไม่มีคำปลอบใจใดๆ...ซึ่งอาจเป็นชีวิตหนักหนาเกินกว่าจะรับไหว หากเป็นเช่นนั้น ลองหันหน้าเข้าหาศาสนาอันล้าสมัย ถ้าเป็นไปได้ขอให้เลือกศาสนาที่มากไปด้วยพิธีกรรม แต่ถ้าไม่มีศาสนาไหนตรงใจเลย ..ลองกลับไปใช้ชีวิตแบบคนธรรมดาๆดูก็ดี...เพราะความรู้สึกว่างเปล่าใดๆจะเลือนหายไปในไม่ช้า เมื่อคุณได้ตื่นเต้น และผิดหวังกับความรักโรแมนติก เมื่อต้องทำมาหากินและเดินตามความฝัน หรือเมื่อคุณ ต้องรับชมละครปาหี่ทางการเมืองและข่าวเด็ดเอ็ดตะโรใดๆ
“.....นักปรัชญาสายพันธุ์แมวเหมียว คงไม่สนับสนุนให้มนุษย์แสวงหาปัญญา หากการใช้ชีวิตไม่ได้ทำให้มีความสุข ก็จงหาความสุขจากมายาอันไม่จีรังทั้งหลาย อย่าฝืนสู้กับความกลัวตาย แต่ควรปล่อยให้ความกลัวนั้นๆค่อยๆตายจากไปเสีย ...ยิ่งโหยหาความเงียบสงบ ชีวิตก็มีแต่ต้องพบกับความวุ่นวาย แทนที่จะหันหลังให้กับโลก...จงเผชิญหน้ากับมัน และโอบรับความโง่งมของโลกใบนี้...”
นี่คือหนังสือ...ที่ให้คุณค่าต่อชีวิตในวิถีแห่งการเรียนรู้ชีวิตอันแยบยล เป็นองค์ความรู้ในเชิงเปรียบเทียบที่เปี่ยมเต็มไปด้วยแก่นสารสาระที่เปรียบเสมือนผลึกย้อนแสงทางความคิด หนักแน่นไปด้วยเหลี่ยมมุมทางความคิดอันเป็นการสะท้อนถ่ายระหว่างสัจจะของชีวิตกับมายาคติอันเหลื่อมซ้อนวกวน เป็นนัยแห่งการถอดรื้อกลไกระหว่างชีวิตต่อชีวิต อันยากต่อการสรุปความ...จนกว่าเรา...จะขึงพืดตัวตนเอาไว้กับมโนสำนึกแห่งการหยั่งเห็นและเข้าใจในโลกย์แห่งโลกอันแท้จริงนี้ได้..!
“จอห์น เกรย์”(John Gray)นักปรัชญาชาวอังกฤษค้นคว้าและเขียนหนังสือเล่มนี้ขึ้นมาอย่างหยั่งลึกและเต็มไปด้วยภูมิรู้...เช่นเดียวกับผู้แปลและถ่ายทอดหนังสืออันมีค่านี้เป็นภาษาไทย “ภาคิน นิมมานนรวงศ์”และมนภัทร จงดีไพศาล...ที่สร้างคุณค่าให้แก่หนังสือ “ปรัชญา แมวปัญญาเหมียว”เล่มนี้ได้อย่างล้ำลึกไม่ผิดกัน...
“นับแต่โบราณกาล มนุษย์แสวงหาหนทางพ้นทุกข์ เติมเต็มความสุข เยียวยาความเปลี่ยวเหงา ฟูมฟักรักแท้ และกระทั่งหลีกหนีความตาย....จากอริสโตเติลถึงเลนิน เหลาจื่อถึงสปิโนซา เดการ์ตถึงเบอร์ดิเยฟ เหล่านักปรัชญาผู้รักความรู้ต่างใคร่ครวญ หาสมการเพื่อตอบคำถามสำคัญของชีวิต และปลดเปลื้องภาระอันหนักอึ้ง ที่มาพร้อมกับความเป็นมนุษย์...แต่คำถามและสมการเหล่านั้น...ช่างน่าขันในสายตาของ “เผ่าพันธุ์แมวเหมียว”......”