..ผังเมืองรวมกรุงเทพมหานคร จะมีการปรับปรุงในทุก 5 ปี เพื่อกำหนดอนาคตว่าผังเมืองจะพัฒนาไปทิศทางใด อย่างไร บริเวณใด เป็นหลักประกันให้ประชาชนเข้าใจบริบทเมืองในถิ่นที่ตนอาศัยอยู่ รวมถึงส่งเสริมพื้นที่สำคัญทางประวัติศาสตร์ ทางธรรมชาติ และพื้นที่อ่อนไหวทางสิ่งแวดล้อม โดยเน้นเรื่องการเดินทางสะดวก ปลอดภัย มีสวัสดิการ ควบคู่การพิจารณาร่างผังเมืองฉบับใหม่..
และเมื่อเร็วๆ นี้ ผู้ว่าฯกทม.ได้ประชุมสัญจรกับสำนักการวางผังและพัฒนาเมือง กทม.เพื่อรับฟังข้อเสนอแนะและแนวทางพัฒนาผังเมืองให้ร่วมสมัย โดยเฉพาะผังถนน ปัจจุบันพบว่าไม่สอดคล้องกับผังเมือง ทำให้ติดปัญหาการเวนพื้นที่คืนเพื่อการก่อสร้างของรัฐ จึงพยายามเร่งหารือกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเพื่อให้ได้ข้อสรุปทันกระบวนการปรับปรุงกฎหมายร่างผังเมืองฉบับใหม่ โดยคาดว่าจะแล้วเสร็จภายในปี พ.ศ.2566
นายชัชชาติ สิทธิพันธุ์ ผู้ว่าฯกทม.กล่าวว่า หัวใจของการพัฒนาเมืองคือการร่างผังเมือง และการอัพเดทข้อมูลร่วมสมัย จำเป็นต้องประสานกับสำนักต่างๆ มากขึ้น เพื่อแชร์ข้อมูลซึ่งกันและกัน เนื่องจากมีหลายฝ่ายที่เกี่ยวข้องกับการวางผังเมือง ทั้งด้านจราจร สิ่งแวดล้อม ความปลอดภัย รวมถึงพื้นที่สีเขียวต่างๆ ปัจจุบันเมืองพัฒนาไปมาก แต่ละพื้นที่มีมูลค่าสูง กระทบต่อผู้มีรายได้น้อย เนื่องจากมีการก่อสร้างหลายโครงการ โดยเฉพาะที่อยู่อาศัย ส่งผลให้ราคาที่ดินสูงขึ้น ผู้มีรายได้น้อยจำเป็นต้องถอยร่นไปอยู่ในพื้นที่คุณภาพชีวิตต่ำกว่าเดิม ไม่สามารถอาศัยใกล้แหล่งงานได้ เพราะสู้ราคาค่าเช่าไม่ไหว จึงจำเป็นต้องทบทวนแนวทางผังเมือง และการก่อสร้างต่างๆ ไม่ให้ลิดรอนสิทธิ์ผู้มีรายได้น้อยในระยะยาว และเพื่อให้ประชาชนทั่วไปสามารถใช้ประโยชน์จากพื้นที่ได้เท่าเทียมกันมากขึ้น
จากการประชุมหารือ ได้ข้อเสนอเรื่องการเอื้อพื้นที่ให้ผู้มีรายได้น้อยและสาธารณะโดยทางใดทางหนึ่ง ยกตัวอย่าง คอนโดมิเนียมสามารถเอื้อพื้นที่จอดรถให้กับบุคคลภายนอก โดยเก็บเงินค่าบริการตามสมควร หรือการแบ่งพื้นที่สร้างที่อยู่อาศัยราคาถูกควบคู่การก่อสร้างโครงการขนาดใหญ่ เพื่อให้ประชาชนทั่วไปสามารถอาศัยในพื้นที่ร่วมกันได้ รวมถึงการแบ่งพื้นที่สร้างสวนสาธารณะให้แก่ประชาชนทั่วไป การสร้างแหล่งรองรับน้ำเพื่อประโยชน์ต่อพื้นที่ส่วนรวม ก็จะได้รับสิทธิ์พิเศษในการพิจารณาก่อสร้างเพิ่มเติม เป็นต้น
นางสาววันเรารวี ธนสัญญา นักผังเมืองชำนาญการ สำนักการวางผังและพัฒนาเมือง กทม. กล่าวว่า ปัจจุบันสำนักการวางผังฯ กำลังปรับปรุงร่างผังเมืองรวม กรุงเทพมหานคร ฉบับที่ 4 โดยเริ่มจากผังระบบนิเวศและผังพื้นที่เสี่ยงน้ำท่วม ตามข้อกำหนด พรบ.ผังเมืองปี 2562 จากการประชุมใหญ่ของคณะกรรมการผังเมืองรวมกรมโยธาธิการและผังเมือง โดยมีรัฐมนตรีกระทรวงมหาดไทยเป็นประธานการประชุม ซึ่งมีแผนส่งเสริมการลดใช้รถยนต์ เพื่อแก้ปัญหาสิ่งแวดล้อมและการจราจรติดขัด การปล่อยก๊าซคาร์บอนต่างๆ เน้นการส่งเสริมพัฒนารอบสถานีรถไฟฟ้า รวมถึงตามแนวรถไฟฟ้าที่มีตึกสูง
ทั้งนี้ ผังเมืองฉบับที่ 4 เน้นการใช้แนวคิดพัฒนาพื้นที่รอบสถานีขนส่งมวลชน เพื่อทำให้การเดินทางง่ายขึ้น ลดการใช้พลังงาน และลดค่าใช้จ่ายประชาชน โดยการส่งเสริมให้เกิดการใช้ประโยชน์ที่ดินแบบผสมผสานและมีความหนาแน่นสูงในพื้นที่โดยรอบสถานีรถไฟฟ้าขนส่งมวลชน ด้วยการกำหนดเงื่อนไขขนาดกิจการที่ตั้งอยู่ในระยะ 500 650 และ 800 เมตร โดยรอบ พร้อมเพิ่มโบนัสสำหรับผู้ประกอบการที่เอื้อพื้นที่เป็นสาธารณประโยชน์ เช่น 1.จัดให้มีพื้นที่อำนวยความสะดวกบริเวณเปลี่ยนถ่ายการสัญจรของระบบรถไฟฟ้าขนส่งมวลชน 2.จัดให้มีพื้นที่เพื่อใช้ประโยชน์สาธารณะ/สวนสาธารณะริมแหล่งน้ำสาธารณะ 3.จัดให้มีสถานรับเลี้ยงเด็กหรือสถานดูแลผู้สูงอายุในเวลากลางวัน เป็นต้น
“หากผู้เป็นเจ้าของที่ดินต้องการสร้างคอนโดมิเนียมแล้วแบ่งพื้นที่บางส่วนให้เป็นที่อยู่อาศัยของผู้มีรายได้น้อย จะได้รับสิทธิ์การก่อสร้างความสูงเพิ่มขึ้น 20% จากเดิม 10 ชั้น เพิ่มเป็น 12 ชั้น หรือจากเดิม 20 ชั้น เพิ่มเป็น 24 ชั้น โดยการคำนวณความสมดุลระหว่างสิ่งที่ผู้ประกอบการให้กับผู้ที่ได้รับ นอกจากนี้ หากผู้ประกอบการไม่ต้องการเพิ่มความสูงของตึก แต่ต้องการสร้างสวนสาธารณะในบริเวณรอบพื้นที่ของตนเอง ผู้ประกอบการอาจเสนอว่า คอนโดมิเนียมของตนเองมีสวนสาธารณะ สามารถเปิดให้คนทั่วไปเข้าไปใช้ได้ กรณีนี้ผู้ประกอบการจะได้รับสิทธิ์ในการก่อสร้างเพิ่ม 20% เช่นกัน ซึ่งโครงการสิทธิพิเศษ 20% นี้มีการเปิดใช้มานานแล้ว แต่คนไม่ค่อยรู้จัก เนื่องจากทางสำนักฯไม่ได้ให้ข้อมูลอย่างทั่วถึง ปัจจุบันมีการเพิ่มสิทธิ์ให้ผู้ประกอบการจาก 5 ข้อ เป็น 8 ข้อ ตามแผนร่างผังเมือง กรุงเทพมหานคร ฉบับปรับปรุงครั้งที่ 4”
โดยภาพรวม ผังเมืองฉบับที่ 4 มีสาระประการหนึ่งเพื่อมุ่งเน้นการกระจายพื้นที่ใช้สอยต่อส่วนรวม เนื่องจาก กทม.ไม่เหลือพื้นที่มากพอจะสร้างประโยชน์แก่สาธารณะตามนโยบายกรุงเทพฯน่าอยู่ จึงมีแผนส่งเสริมและประชาสัมพันธ์ให้ผู้ประกอบการเอื้อเฟื้อพื้นที่ตนเองแลกกับผลประโยชน์ที่จะได้รับตามสมควร ในรูปแบบที่เรียกว่า FAR BONUS (Floor to Area Ratio: อัตราส่วนพื้นที่อาคารรวมต่อพื้นที่ดิน) ในสภาวะที่เมืองมีความหนาแน่นและมีมูลค่าที่ดินสูง ประชาชนผู้มีรายได้น้อยไม่สามารถเข้าถึงที่อยู่อาศัยได้ รวมถึงพื้นที่สาธารณะหรือพื้นที่สีเขียวไม่เพียงพอต่อสภาพความเป็นจริงในปัจจุบัน จึงมีการส่งเสริมและปรับปรุงผังเมืองฉบับที่ 4 ขึ้น ซึ่งปัจจุบัน กำลังอยู่ในขั้นตอนการรับฟังข้อคิดเห็นของประชาชน เพื่อผลักดันให้เกิดผลเป็นรูปธรรมตามกระบวนการทางกฎหมาย และจะประกาศใช้อย่างสมบูรณ์ภายในปี 2567 หรือโดยเร็วที่สุดต่อไป