ปัญหาราคาวัตถุดิบพุ่งสูงขึ้นทุกประเภท ตั้งแต่ก่อนมีสงครามรัสเซีย-ยูเครน พอเกิดสงครามขึ้น ระดับราคาวัตถุดิบต่างๆ ก็ยิ่งทวีความรุนแรงมากขึ้นตาม บรรดาผู้ประกอบการอาหารสัตว์และเกษตรกรที่ผสมอาหารสัตว์เอง ต่างส่งสัญญาณเตือนไปยังภาครัฐที่กำกับดูแลราคาอาหารสัตว์ให้รู้ตัวและเตรียมการป้องกัน แต่ทุกอย่างก็เงียบหายเข้ากลีบเมฆ แม้จะเกิดปัญหาโรงงานอาหารสัตว์บางแห่งต้องปิดกิจการลงเพราะแบกต้นทุนสูงและถูกควบคุมให้ขายในราคาต่ำ ต่อไปอีกไม่ไหว ก็ยังไม่สามารถเรียกความสนใจให้ภาครัฐหันกลับมาทบทวนนโยบายหลายๆอย่างที่เป็นอุปสรรคและเสี่ยงที่จะทำให้อุตสาหกรรมอาหารสัตว์ทั้งระบบล่มสลายได้เลย

ฤาจะลืมไปว่า นี่คือต้นน้ำของห่วงโซ่การผลิตอาหารทั้งระบบ ไม่มีผู้ผลิตอาหารสัตว์ เกษตรกรคนเลี้ยงสัตว์ก็ไม่มีอาหารสัตว์หล่อเลี้ยงฟาร์ม ไม่มีฟาร์มเลี้ยงสัตว์ คนไทยก็ไม่มีเนื้อสัตว์รับประทาน กระทบระบบเศรษฐกิจและความมั่นคงอาหารของประเทศ  รวมไปถึงต้องย้อนกลับไปต้นทางของโรงงานอาหารสัตว์ด้วย ถ้าไม่มีผู้ผลิตอาหารสัตว์ ใครจะรับซื้อ ข้าวโพด-มันสำปะหลัง จากพ่อค้าพืชไร่ และจะเหลือพ่อค้าพืชไร่ที่ไหน มารับซื้อผลผลิตจากเกษตรกรผู้ปลูกพืชไร่ ... นี่มันคือความ(เรือ)หาย ของห่วงโซ่การผลิตอาหารของทั้งประเทศชัดๆ

สิ่งที่ผู้ผลิตอาหารสัตว์ ร้องขอก็ไม่ใช่เรื่องที่เข้าใจยาก โดยมีการร่างหนังสืออย่างเป็นทางการ อธิบายสถานการณ์วัตถุดิบอาหารสัตว์ทั้งในประเทศและในตลาดโลกเสนอรัฐอย่างต่อเนื่องตั้งแต่กลางปี 2564 แล้วกระทรวงพาณิชย์ก็ผ่อนปรนมาตรการนำเข้าข้าวสาลีและข้าวโพดเลี้ยงสัตว์แบบขอไปที ด้วยการจำกัดกรอบเวลา จนทำให้การผ่อนปรนนั้นไม่ได้ช่วยอะไรให้ดีขึ้น กระทั่งช่วงต้นกันยายน 2565 จึงทำหนังสืออีกครั้ง ส่งถึงรองนายกรัฐมนตรี (พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ) รักษาราชการแทนนายกรัฐมนตรีในขณะนั้น และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ โดยย้ำเตือนว่ารัฐต้องเร่งปรับนโยบายเพื่อช่วยเหลือผู้ประกอบการอาหารสัตว์และผู้ประกอบการภาคปศุสัตว์ แล้วทั้งหมดก็เหมือนโยนก้อนกรวดลงแม่น้ำ ไม่มีความช่วยเหลือใดๆ ออกมา

ในที่สุดก็เหลืออด 10 พฤศจิกายน 2565 นายกสมาคมผู้ผลิตอาหารสัตว์ไทยถึงกับต้องทวงถามความคืบหน้าไปยัง นายกรัฐมนตรี และ รมว.พาณิชย์ ที่รับหนังสือร้องเรียนไปแล้วทำเงียบเฉยไปถึง 2 เดือน ไม่มีแนวทางช่วยแก้ปัญหา สวนทางราคาวัตถุดิบอาหารสัตว์ที่ยังคงอยู่ในระดับสูง และไม่มีท่าทีลดลง จากปัจจัยสำคัญคือสงครามรัสเซีย-ยูเครนยังไม่สิ้นสุด รวมถึงค่าเงินบาทที่อ่อนตัว

จากกราฟแสดงสถานการณ์ราคาวัตถุดิบอาหารสัตว์ จะเห็นว่าราคาในปี 2565 สูงขึ้นกว่าปี 2564 ในทุกประเภทวัตถุดิบ และยังคงมีแนวโน้มอยู่ในเกณฑ์สูงอย่างต่อเนื่อง คาดว่าจะสูงไปจนถึงครึ่งปีหน้าเป็นอย่างน้อย เมื่อต้นทุนการผลิตสูง แต่ผู้ประกอบการถูกตรึงราคาขายอาหารสัตว์ในราคาเดิม ไม่ผันแปรตามต้นทุนที่เปลี่ยนแปลง ย่อมไม่มีใครอยู่รอดได้หากต้องขายของในราคาเข้าเนื้อหรือขาดทุน ในเมื่อรัฐเพิกเฉยและไร้ความสามารถในการแก้ปัญหาวัตถุดิบต้นทาง ตลอดจนไม่สามารถหามาตรการเพื่อช่วยลดต้นทุนการผลิตได้ ก็ควรต้องเปิดช่องทางรอดให้ผู้ประกอบการสามารถประกอบอาชีพต่อไป โดยขยับราคาขายให้สอดคล้องต้นทุน จึงจะสมเหตุสมผลและช่วยให้ห่วงโซ่การผลิตอาหารของประเทศเดินต่อได้อย่างไม่สะดุด เช่นเดียวกับ เกษตรกรผู้เลี้ยงสัตว์ (ทั้งที่ผสมอาหารสัตว์เองและใช้อาหารสัตว์สำเร็จรูป) ซึ่งต้องแบกรับต้นทุนวัตถุดิบแพงก็ควรสามารถขายผลผลิตในราคาสอดคล้องต้นทุนเช่นกัน

ทั้งนี้ ผู้ประกอบการอาหารสัตว์หลายบริษัทต่างดิ้นรนหาทางออก ยื่นเสนอโครงสร้างต้นทุนต่อ “คณะกรรมการกลางว่าด้วยราคาสินค้าและบริการ” ถึง 3 ครั้ง 3 ครา เพื่อขอปรับราคาจำหน่ายอาหารสัตว์ (Price list) ตามต้นทุนที่ปรับสูงขึ้น ก่อนที่โรงงานของพวกเขาจะต้องปิดตัวลง แต่ผลที่ได้รับคือการถูกปฏิเสธ!!  ทั้งๆที่ การขอปรับราคาจำหน่ายอาหารสัตว์ครั้งสุดท้ายเกิดขึ้นในปี 2555 หรือ 10 ปีที่แล้ว ขณะที่เงินเฟ้อและค่าบาทใน 10 ปีต่อมานั้นเปลี่ยนแปลงอย่างสุดโต่ง นับว่าไม่เป็นธรรมต่อผู้ประกอบการอย่างยิ่ง

ลองดูเฉพาะราคาวัตถุดิบหลักในการผลิตอาหารสัตว์อย่างข้าวโพด และกากถั่วเหลือง ซึ่งมีสัดส่วนเป็น 70% ในการผลิตอาหารสัตว์ ตามที่แสดงในกราฟนั้น พบว่าในปี 2555 มีราคาต้นทุนต่ำกว่าปัจจุบันมาก ขณะที่ค่าเงินบาทในปี 2555 นั้นอยู่ที่ 30-31 บาท/ดอลล่าร์สหรัฐ แต่ปี 2565 เงินบาทอ่อนค่าไปอยู่ที่ 36-37 บาท/ดอลล่าร์สหรัฐ สะท้อนให้เห็นต้นทุนการผลิตที่สูงขึ้นมากอย่างไม่ต้องอธิบายอะไรอีก รวมถึงปี 2555 ไม่มีสงครามดังเช่นที่ปีนี้โลกต้องเผชิญปัญหาสงครามรัสเซีย-ยูเครน แหล่งผลิตพืชอาหารสัตว์แหล่งใหญ่ของโลกด้วย  

ขณะที่ตลาดโลกกำลังเดินหน้าสู่ Green Economy เศรษฐกิจที่คำนึงถึงสิ่งแวดล้อม เริ่มมีข้อจำกัดในการซื้อสินค้า เนื้อสัตว์ว่าต้องใช้พืชวัตถุดิบอาหารสัตว์ที่ไม่ทำลายสิ่งแวดล้อมและลดการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์  หน้าที่ของกระทรวงพาณิชย์ ควรต้องวางแผนส่งเสริมและผลักดันการปลูกพืชไร่อย่างยั่งยืน ตรงตามความต้องการของตลาด ป้องกันการเสียลูกค้าของประเทศ แต่ก็ไม่เคยเห็นวิสัยทัศน์ในสิ่งเหล่านี้ ทั้งๆที่มันเป็น “มหันตภัย” จ่อรออยู่ข้างหน้าแล้ว

ลำพังเหตุผลและปัจจัยแวดล้อมเหล่านี้ เป็นใครก็คงมองออกว่าเกิดปัญหาหนักหนาสาหัสเพียงใดในห่วงโซ่ต้นน้ำของการผลิตอาหารของประเทศ และถ้าคนระดับรัฐมนตรีมองไม่ออกหรือยังเพิกเฉยจนสายเกินเยียวยา ... จะรับผิดชอบความเสียหายของประเทศอย่างไร?

โดย : สมรรถพล ยุทธพิชัย